Last Updated on 7 เมษายน 2015 by puechkaset
ไม้ยมหอม เป็นไม้โตเร็ว เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามคล้ายไม้สัก น้ำหนักเบา สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ปัจจุบันถือเป็นไม้ขาดแคลน และมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดไม้แปรรูป
ไม้ยมหอม (Toona ciliata M. Roem.) หรือชื่ออื่น ยมฝักดาบ เล้ย สะเดาดง สีเสียด เป็นไม้โตเร็ว ลำต้นตรงสูงชะลูด มีกิ่งลำต้นน้อย มีความสูงได้มากกว่า 20 เมตร เปลือกมีลักษณะสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องตามแนวยาวของลำต้น เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบดกหนาสีเขียว ใบมีลักษณะเป็นรูปดาบ มนตรงต้นใบ และเรียวแหลมปลาย ดอกมีขนาดเล็กเป็นช่อสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน แทงออกตามตามง่ามใบ และปลายยอด เมล็ดเมื่อแก่ และแตกออกจะมีลักษณะมีปีก และเบาสามารถลอยตามลมได้
ไม้ยมหอมในประเทศไทยมักพบบริเวณป่าเขาใกล้แหล่งน้ำลำคลอง สามารถเติบโต และขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน เป็นพืชที่ต้องการความชื้นพอประมาณ แต่สามารถเจริญเติบโต และทนต่อภาวะแห้งแล้งได้
ประโยชน์ของไม้ยมหอม
1. เนื้อไม้
ไม้ยมหอมมีลักษณะเนื้อไม้เป็นลาย มีสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาล มีกลิ่นหอม มีความแข็งแรงทนทาน นิยมนำมาทำเป็นฝากระดาน ไม้วงกบ หน้าต่าง ไม้ฝ้าเพดาน ไม้บุผนัง ทำหีบใส่ของ เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา ต่อเรือ เป็นต้น ซึ่งไม้ยมหอมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำมาเป็นไม้ต่อเรือใบของพระองค์เอง
2. สมุนไพร
– ยางที่ได้จากไม้ยมหอมใช้สำหรับสมานแผล รักษาแผล ห้ามเลือด
– ดอก และผลใช้ต้มแก้ไข้ และเป็นยาขับระดู
การปลูก
การเพาะขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ยมหอมจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดเท่านั้น เพราะง่าย สะดวก และได้ปริมาณมาก ด้วยการเก็บเมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะต้นสูงใหญ่ มีกิ่งน้อย ใบดกหนา ไม่มีรอยโรค รอยแมลงทำลาย
เมล็ดที่เก็บควรเป็นเมล็ดที่ร่วงจากต้นแม่หรือเป็นเมล็ดแก่ที่ยังติดอยู่กับช่อดอก พร้อมนำมาตากแห้งประมาณ 2-3 วัน ก่อนนำมาเพาะในกระบะเพาะชำหรือเพาะในถุงพลาสติกโดยตรง ซึ่งควรใช้ดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ ขุ๋ยมะพร้าว แกลบ ขี้เถ้า เป็นต้น ในอัตราส่วนดินกับอินทรีย์วัตถุ 1:1 หรือ 2:1 และรดน้ำให้ชุ่มเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
การเตรียมพื้นที่ปลูก และวิธีการปลูก
การปลูกไม้ยมหอมเป็นที่ทราบกันดีทั้งนักวิชาการ บริษัทเอกชนที่ปลูกไม้ รวมถึงเกษตรกรผู้เคยปลูกไม้ยมหอมว่า ไม่ควรปลูกไม้ยมหอมในแปลงขนาดใหญ่เป็นพื้นที่หลายไร่ แต่ควรปลูกเป็นหย่อมๆ แซมกับไม้ชนิดอื่น หรือให้ปลูกตามหัวไร่ปลายนาจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
เนื่องด้วยไม้ยมหอมเมื่อเติบโต และแทงยอดอ่อนในช่วงปีถึงสองปีแรกจะมีโอกาสสูงที่จะได้รับความเสียหายจากหนอนผีเสื้อเจาะยอด ชนิด Hypsipyla spp. ที่มักเข้าทำลายเจาะกินยอดอ่อนจนหมด ซึ่งการระบาดแต่ละครั้งจะระบาดเป็นวงกว้างในทุกต้น มีการเจาะทำลายอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง ทำให้กำจัด และควบคุมได้ยากมากยมหอมบางต้นที่ยังอายุน้อยหากได้รับการทำลายอย่างหนัก และต่อเนื่องจะทำให้ต้นไม่สามารถเติบโตได้ดี ต้นแคระแกร็น และตายได้ง่าย
เมื่อยอดอ่อนของต้นถูกทำลายภายใน 1-2 อาทิตย์จะมีการแทงยอดอ่อนขึ้นมาใหม่หลายยอด ทำให้แตกกิ่งสาขาออกเป็นทรงพุ่มในขณะที่ต้นยังเตี้ยอยู่ ซึ่งจะทำให้ต้นมีลักษณะเตี้ย ไม่สูงชะลูด ไม่เหมาะสำหรับนำมาเป็นไม้แปรรูป
สำหรับแปลงหรือพื้นที่ที่ใช้ปลูก อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การปลูกในแปลง ซึ่งควรมีการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกเสียก่อน พร้อมขุดหลุม และโรยด้วยปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 3-5 กำมือ ปลูกต่อกัน 2-4 ต้น ในระยะ 4×4 หรือมากกว่า และให้ปลูกแซมเว้นชนิดกับไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น กระถินเทพา สะเดา มะฮอกกานี คูน เป็นต้น
2. การปลูกบนหัวไร่ปลายนา อาจปลูกเป็นแถวต่อกันหรือปลูกโดยเว้นสลับกับพืชชนิดอื่นข้างต้น ในระยะ และใช้แนวทางเดียวกันกับการปลูกในแปลง
การดูแลรักษา
การปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อลดภาระในเรื่องการให้น้ำ และเพื่อให้ยมหอมปลูกติด และเติบโตได้จนถึงฤดูถัดไป
การดูแลรักษายมหอมที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันการกัดกินยอดอ่อนของหนอนผีเสื้อที่เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ซึ่งจะออกวางไข่ในเวลากลางคืน พบแพร่ระบาดมากในช่วงต้นฤดูฝนหรือในระยะที่มีการแตกยอดอ่อนของต้นไม้ต่างๆ
แนวทางการจัดการ
1. ก่อนถึงระยะแทงยอดอ่อนหรือเริ่มแทงยอดอ่อนให้ฉีดพ่นยากำจัดแมลงชนิดดูดซึม เช่น ฟูราดาน ทามารอน พอสซ์ เป็นต้น ฉีดทุกๆ 15 วัน บริเวณยอดอ่อน
2. ควรปลูกในจำนวนน้อยกระจายเป็นจุดๆ และปลูกแซมด้วยไม้ยืนต้นชนิดอื่น
3. ไม้ด้านล่างควรปลูกแซมด้วยไม้ชนิดออกยอดอ่อนที่หนอนเจาะยอดสามารถกินกินได้
4. ปลูกในแนวตั้งฉากกับดวงอาทิตย์เพื่อให้เกิดร่มเงาแก่ต้นอื่น เนื่องจากผีเสื้อกลางคืนชอบวางไข่ในต้นไม้ที่ถูกแสงมากกว่าต้นไม้ที่มีร่มมาก
5. มั่นตัดแต่งยอดอ่อนที่แทงขึ้นใหม่ให้เหลือเพียงยอดเดียว เพื่อให้ยมหอมเติบโตเป็นลำต้นสูง ไม่แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มก่อน
6. หากดูแลรักษาให้ลำต้นสูงตั้งแต่ 6-8 เมตร ขึ้นไปได้ ก็สามารถให้ยอดแตกทรงพุ่มได้
การตัดต้นใช้ประโยชน์
– ไม้ยมหอมที่มีขนาด หน้า 4-6 สามารถเริ่มตัดฟันมาใช้เป็นไม้แปรรูปได้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี ขึ้นไป
– ไม้ยมหอมที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี สามารถมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25-30 ซม. ซึ่งจะมีลวดลาย และสีที่เข้ม เหมาะสำหรับนำมาแปรรูป
– ไม้ยมหอมปัจจุบัน ราคาคิวละประมาณ 8,000-10,000 บาท ซึ่งอาจมีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปลูก และดูแลยาก เกษตรผู้ปลูกมีไม่มาก และความต้องการทางตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
– ไม้ยมหอมอายุ 10 ปี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 ซม. สูง 6 เมตร จะใช้ต้นยมหอม 3 ต้น ดังนั้น เมื่อปลูกที่ 10 ปี จะขายได้ราคาประมาณ 3,000 บาท/ต้น