การปักชำ

Last Updated on 27 กุมภาพันธ์ 2015 by puechkaset

การปักชำ หมายถึง การนำส่วนต่างๆของพืชด้วยการตัดมาปักชำในดินหรือวัสดุเพาะเพื่อให้ได้ต้นใหม่ โดยการเกิดรากแขนงบริเวณโคนกิ่งที่ปักชำ

การปักชำแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. การปักชำกิ่ง
• การปักชำกิ่งแก่ เป็นวิธีที่ใช้กับไม้พลัดใบมากที่สุด โดยใช้กิ่งแก่ที่ไม่มีใบหรือตาที่กำลังแตกใหม่ กิ่งมีลักษณะสมบูรณ์ ไม่เหี่ยวแห้ง ตัดกิ่งยาวประมาณ 15-20 ซม. เป็นรูปปากฉลามเฉียงประมาณ 45-60 องศา ทั้งด้านบน และด้านล่าง ด้านบนตัดให้ห่างจากข้อหรือตากิ่งสุดท้ายยาวประมาณ 1-1.5 ซม.

• การปักชำกิ่งปานกลางหรือกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน เป็นวิธีที่ใช้กับไม้เนื้อแข็งที่ไม่พลัดใบหรือไม้ผลัดใบ ด้วยการตัดกิ่งที่ไม่แก่เต็มที่ กิ่งมีลักษณะอวบ สีกิ่งมีสีไม่เข้มมาก กิ่งมีความสมบูรณ์ ไม่เหี่ยว ไม่เป็นโรค กิ่งอาจมีใบติด 2-3 ใบ สำหรับพืชบางชนิดหรือใช้กิ่งที่ไม่มีใบติด ส่วนการตัดจะตัดในลักษณะเดียวกันกับการปักชำโดยใช้กิ่งแก่

• การปักชำกิ่งอ่อน เป็นวิธีที่นิยมใช้สำหรับการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการตัดกิ่งอ่อน กิ่งมีลักษณะสมบูรณ์ อาจมียอด และใบติดหรือไม่มีก็ได้ ยอดที่ติดควรเจริญเติบโตดี ไม่เป็นโรค ตัดกิ่งหรือปลายยอดยาว 5-10 ซม. ตัดในลักษณะที่กล่าวข้างต้น ส่วนพืชบางชนิดที่ต้องการปักชำโดยมีใบ และยอดติดให้ตัดที่โคนกิ่งเพียงข้างเดียว

• การปักชำกิ่งไม้เนื้ออ่อน เป็นวิธีที่ใช้สำหรับพืชบางชนิด ส่วนมากเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ที่มีลักษณะกิ่งหรือลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ฤาษีผสม เบญจมาศ คาร์เนชั่น การเลือก และการตัดกิ่งจะใช้วิธีการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น

การปักชำกิ่ง

2. การปักชำราก เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม มักใช้กับพืชบางชนิดที่แตกหน่อตามกิ่งรากหรือมีตาเกิดตามรากพบมากในพืชน้ำหรือพืชที่เป็นเครือ เช่น บัว มันบางชนิด เป็นต้น ซึ่งควรเลือกรากที่มีตาหรือหน่อติดมาด้วย

3. การปักชำใบ เป็นวิธีที่ใช้กับไม้ที่มีใบลักษณะหนาหรืออวบน้ำ มักใช้มากสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ โดยราก และยอดจะแตกออกบริเวณโคนก้านใบเหนือฐานรอยตัด โดยเฉพาะบริเวณของเส้นใบ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ

• การปักชำแผ่นใบ ทั้งใบที่มีตายอด และใบที่ไม่มีการแตกตายอด ด้วยการตัดใบเป็นแผ่นๆ และนำมาปักชำ เช่น ต้นคว่ำตายหงายเป็น เป็นต้น

• การปักชำก้านใบ โดยใช้ใบที่มีก้านใบติดอยู่นำมาปักชำ โดยให้ส่วนก้านใบชำลงดิน เช่น ใบเพปเพอโรเมีย ใบมะนาว เป็นต้นการตัดจะใช้วิธีตัดให้ชิดโคนก้านใบมากที่สุด

ปักชำใบ

4. การปักชำใบที่มีตา เป็นวิธีที่ใช้กับพืชพืชเนื้ออ่อนพวกไม้ประดับ และพืชเนื้อแข็งบางชนิด เช่น โกศล ยางอินเดีย เป็นต้น ด้วยการตัดกิ่งด้านล่าง และด้านบนของตา และยอดที่มีใบติดมาด้วย

การปักชำ
• วัสดุ อุปกรณ์
– กรรไกรตัดกิ่ง
– ดิน และวัสดุเพาะ
– กระถางดินเผาหรือพลาสติกหรือวัสดุไม่ได้ใช้ต่างๆ เช่น กะละมัง ถังพลาสติก เป็นต้น
– ยาป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทน เบนเลท เป็นต้น
– ฮอร์โมนเร่งราก เช่น ออกซิน เป็นต้น

• การเตรียมดิน และวัสดุเพาะ
ดินที่ใช้ผสมควรเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน ด้วยการผสมกับวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เช่น แกลบ ขี้เถ้า ขุ๋ยมะพร้าว เป็นต้น ในอัตราส่วนดินกับวัสดุ 2:1 หรือ 1:1

เมื่อเตรียมวัสดุเพาะเสร็จให้บรรจุใส่กระถางดินเผาหรือพลาสติก หรืออาจก่ออิฐบล็อกกั้นเป็นแปลงเพาะชำหรือทำการยกร่องแปลงสูงด้วยการใส่วัสดุเพาะที่เตรียมไว้

• วิธีการปักชำ
ก่อนทำการปักชำกิ่งทุกชนิดให้กรีดบริเวณโคนกิ่งยาว 1-2 ซม. ตามแนวยาว 1-2 ด้าน และแช่ฮอร์โมนเร่งราก และยาป้องกันเชื้อราเสียก่อนด้วยการจุ่มโคนกิ่งปักชำตามระยะโคนกิ่งที่ปักชำในดินนาน 10-30 นาที
– การปักชำกิ่ง จะใช้วิธีการเสียบกิิ่งลึกประมาณ 5-10 ซม. ขึ้นอยู่กับความยาวของกิ่ง และชนิดพืช
– การปักชำราก จะใช้วิธีการชำในลักษณะการปักชำกิ่งหรือการชำโดยการกลบทั้งราก
– การปักชำใบ จะใช้วิธีปักชำใบบางส่วนหรือการชำก้านใบลงดินโดยมีใบบางส่วนอยู่พื้นเหนือดิน
– การปักชำใบที่มีตา จะใช้วิธีการปักชำเฉพาะส่วนที่เป็นโคนกิ่งที่มีตาให้ฝังลงดิน โดยส่วนใบหรือตาจะพ้นเหนือดินด้านบน

• การดูแลรักษา
การให้น้ำจำเป็นต้องให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้น โดยระวังไม่ให้น้ำมากเกินไปจนน้ำท่วมขังหรือดินเปียกมาก เพราะอาจทำให้กิ่งเน่าได้ง่าย ส่วนการใส่ปุ๋ยไม่จำเป็นในระยะแรก แต่อาจใส่ปุ๋ยก่อนระยะย้ายกล้าออกปลูกประมาณ 1-2 อาทิตย์ ด้วยการละลายปุ๋ยหรือใช้ปุ๋ยน้ำ สูตร 16-20-0

รากปักชำ

การเกิดราก
การเกิดรากของวิธีการปักชำ พืชจะกระตุ้นให้เกิดรากบริเวณเส้นใยของกิ่ง ก้านใบ และใบ แทงออกมาเป็นรากแทนในสภาวะความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยรากที่เกิดอาจเกิดมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นใยของกิ่ง และการกระตุ้น เช่น การกรีดโคนกิ่ง การแช่ฮอร์โมน เป็นต้น