กล้วยน้ำว้า สรรพคุณ และการปลูกกล้วยน้ำว้า

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

กล้วยน้ำว้า (Klui Namwa) จัดเป็นกล้วยพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไปในทุกภาค เป็นกล้วยที่นิยมปลูกไว้ในทุกครัวเรือนเพื่อการรับประทานผลสุก และแปรรูปผลดิบ รวมถึงการนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะใบตองที่ใช้สำหรับห่ออาหารหรือประกอบอาหาร ปลีกล้วย และหยวกกล้วยสำหรับนำมาปรุงอาหาร

กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ของกล้วยป่า 2 ชนิด ได้แก่
1. Musa acuminate
2. Musa balbisaina

• วงศ์ : Musaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musa sapientum Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Banana blossom
– Pisang Awak
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กล้วยน้ำว้า
ภาคเหนือ
– กล้วยใต้
– กล้วยเหลือง
ภาคอีสาน
– กล้วยตานีอ่อง
– กล้วยอ่อง
ภาคตะวันออก
– กล้วยมะลิอ่อง
ต่างประเทศ
ฟิลิปินส์ : Katali
อินโดนีเซีย และมาเลซีย : Pisang Awak
ปาปัวนิวกินี : Yava
ควีนแลนด์ : Ducasse
พม่า : Yakhine
อินเดีย :
– Pey kunnan Kostha bontha
– Monohar
– Sail kolo
ศรีลังกา : Seenikehel
เคนยา : Nyeupe

พันธุ์กล้วยน้ำว้าที่พบในไทย ได้แก่
– กล้วยน้ำว้าแดง
– กล้วยน้ำว้าค่อม
– กล้วยน้ำว้าเหลือง
– กล้วยน้ำว้าขาว
– กล้วยน้ำว้านวล

ผลกล้วยน้ำว้า
ขอบคุณภาพจาก pantip.com

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้นกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นสูง 3.0- 4.5 เมตร ลำต้นแท้จะเป็นส่วนหัว/เหง้าที่อยู่เหนือดินเล็กน้อย หรือ ฝังอยู่ใต้ดิน เหง้ากล้วยน้ำว้าสามารถแตกหน่อแยกเป็นต้นใหม่ได้ ส่วนลำต้นเหนือดินที่เป็นลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบ และใบ โดยกาบใบจะแทงออกจากเหง้าเรียงซ้อนกันแน่นเป็นวงกลมจนกลายเป็นลำต้นตามที่มองเห็น แผ่นกาบด้านนอกที่มองเห็นจะมีสีเขียว และมีสีดำประเล็กน้อย กาบใบเป็นแผ่นโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม โดยมีแกนกลางเป็นกาบอ่อนเรียงซ้อนกัน แต่เมื่อกล้วยออกปลี/ดอก แกนกลางจะกลายเป็นแก่นกล้วยแทน ขนาดของลำต้นเทียมประมาณ 15-25 ซม.

ส่วนรากล้วยจะมีเพียงระบบรากแขนงที่แตกออกจากเหง้ากล้วย รากแขนงนี้มีลักษณะเป็นเปลือกหุ้มสีดำ แก่นรากมีสีขาว ขนาดของรากประมาณ 0.5-1 ซม. หรือ ขนาดประมาณเท่านิ้วก้อย

ใบกล้วย/ใบตอง
ใบกล้วยเป็นส่วนที่ถัดจากกาบกล้วย ประกอบด้วยส่วนก้านใบ และใบ ก้านใบมีความยาวประมาณ 0.5-1 เมตร ถัดมาจะเป็นส่วนใบ หรือเรียก ใบตอง ซึ่งเป็นแผ่นเดียวกัน ซ้าย-ขวา ที่ถอดยาวไปจนถึงปลายใบยาว 1.5-2 เมตร แผ่นใบหรือใบตองที่เป็นยอดอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และตั้งตรง เมื่อแก่จะมีสีเขียวสด และก้านใบโน้มลงด้านล่าง แผ่นใบมีลักษณะเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวสด และเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวอมเทา ความยาวของแผ่นใบแต่ละข้างจะยาวเท่ากันประมาณ 25-30 ซม.

ดอก และผลกล้วยน้ำว้า
ดอกกล้วยจะแทงออกที่ปลายยอด มีลักษณะเป็นช่อห้อยลง เรียกว่า เครือกล้วย โดยเครือกล้วยประกอบด้วยใบประดับสีแดงหุ้มดอกไว้ เรียกว่า ปลีกล้วย มีลักษณะค่อนข้างป้อมเมื่อเทียบกับปลีกล้วยชนิดอื่น ใบประดับส่วนปลายม้วนงอ แผ่นใบประดับด้านนอกบริเวณส่วนบนมีสีแดงม่วง ส่วนล่างมีสีแดง แผ่นใบประดับด้านในมีสีครีม ส่วนดอกที่อยู่ด้านในจะมีหลายดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นแผง เรียกว่า หวี โดยกล้วยน้ำว้า 1 เครือ จะมีหวีกล้วยประมาณ 7-12 หวี แต่ละหวี มีผลกล้วยประมาณ 10-16 ผล

ผลกล้วยจะเจริญจากดอก ผลอ่อนมีลักษณะเปลือกผลสีเขียว และเป็นเหลี่ยม ผลห่ามจะมีเหลี่ยมน้อยหรืออวบกลม ไม่มีเหลี่ยม และจะมีสีเขียวอมเทา ส่วนผลสุก เปลือกผลจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

เนื้อกล้วยที่ถัดจากเปลือกผล เมื่อยังอ่อนจะมีสีขาว เนื้อแน่นเหนียว แต่หากสุกจะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม ให้รสหวาน แต่ไม่ส่งกลิ่นหอมเหมือนกล้วยชนิดอื่น เช่น กล้วยหอม

สวนกล้วยน้ำว้า

การนำมาใช้ประโยชน์
เนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีลักษณะลำต้น และใบที่มีขนาดใหญ่กว่ากล้วยชนิดอื่นๆ จึงนิยมนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
1. กล้วยน้ำว้าสุก
– กล้วยน้ำว้าสุก นำมารับประทานเป็นผลไม้
– กล้วยน้ำว้าสุกใช้ทำเป็นขนม ของหวานต่างๆ อาทิ กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี มีลักษณะสีเหลืองทั้งเปลือก และเนื้อ มีรสหวาน เหนียวนุ่ม นำมารับประทานเป็นผลไม้ และทำขนมหวาน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กล้วยตาก หรือ ข้ามต้มมัด เป็นต้น
– นำมาใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญบ้าน พิธีเข้าพาขวัญ/สู่ขวัญ เป็นต้น
– กล้วยดิบหรือกล้วยห่าม นำมาปอกเปลือก และนำผลไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงกล้วยสำหรับใช้ประกอบอาหารหรือทำขนมหวาน
2. กล้วยน้ำว้าดิบ
– นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ ทอด และโรยน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม
– ผลกล้วยน้ำว้าดิบนำมาปอกเปลือก หั่นผลบางๆ แล้วนำมาตำรวมกับมะยม
3. ลำต้นหรือหยวกกล้วยอ่อน
– นำมาปรุงอาการ เช่น หมกหยวกกล้วย แกงหยวกกล้วย เป็นต้น
– นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ ที่ส่วนมากนิยมใช้เลี้ยงสุกร
4. ปลีกล้วย
– ปลีกล้วย นำมาประกอบอาหาร เช่น ยำหัวปลี แกงหัวปลีใส่ปลา ห่อหมกหัวปลีใส่ไก่ เป็นต้น
– ผลอ่อนที่ได้จากการตัดปลีกล้วย ใช้จิ้มน้ำพริกหรือรับประทานสดเป้นเครื่องเคียง
5. ใบกล้วยหรือใบตอง
– นำมาห่ออาหารหรือห่อปรุงอาหาร เช่น ห่อหมกต่างๆ
– ใบกล้วยทีเหลือจากการตัดเครือหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น ใช้เลี้ยงสุกร และโค เป็นต้น
– ใบกล้วยใช้ทำเครื่องเล่นเด็ก
– ใบกล้วยใช้ทำเครื่องพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ใช้ทำพานบายศรีสู่ขวัญ หรือ ใช้ห่อกระทง เป็นต้น
– ใบกล้วยที่แห้งคาต้น คนโบราณหรือคนในชนบทนิยมในปัจจุบันนำมาใช้มวนยาสูบ
6. กาบกล้วย
– กาบกล้วยสด นำมาฉีกแบ่งเป็นเส้นเล็กๆ สำหรับใช้แทนเชือกรัดของ
7. ก้านกล้วย
– ใช้ทำเครื่้องเล่นให้แก่เด็ก เช่น ม้าก้านกล้วย

คุณค่าทางโภชนาการ
– น้ำ 75.7 กรัม
– พลังงาน 85 แคลอรี่
– โปรตีน 1.1 กรัม
– ไขมัน 0.2 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 22.2 กรัม
– เถ้า 0.8 กรัม
– แคลเซียม (Ca) 8.0 กรัม
– เหล็ก (Fe) 0.7 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม (K) 370 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม (Mg) 33 มิลิกรัม
– วิตามินเอ 190 IU
– วิตามินซี 10 มิลลิกรัม
– ไทอามีน (Thiamine) 0.05 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) 0.06 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน (Niacin) 0.7 มิลลิกรัม

องค์ประกอบเคมีของเปลือกกล้วยน้ำว้า
– คาร์โบไฮเดรต 63.6%
– เยื่อใย 8.6%
– เถ้า 11.7%
– ไขมัน 8.6%
– อื่นๆ 7.5

กล้วยน้ำว้า

สารสำคัญที่พบในกล้วยน้ำว้า
ปลีกล้วย
– serotonin
– noradrenalin
– dopamine
– dopa
– cinnamic acid
– p-coumaric acid
– ferulic acid
– protocatechuic acid
– caffeic acid
– gallic acid
– beta-sitosterol
– stigmasterol
– campesterol
– cyclomusalenol

สรรพคุณกล้วยน้ำว้า
ปลีกล้วย
– ช่วยเพิ่มน้ำนมแม่หลังคลอดบุตร
– ช่วยป้องกันโรคลำไส้อักเสบ
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– ปลีกล้วยมีสารที่ออกฤทธิ์เป็นด่าง ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร
– ป้องกันโรคท้องร่วง ทำหน้าที่ต้านเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร
– มีสารต้านอนุมูลอิสระ ออกฤทธิ์ต้านการออกซิเดชันจากสารในกลุ่มฟีนอลิก (Phenolics)

การเพาะขยายพันธุ์กล้วยน้ำว้า
1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีเพิ่มจำนวนกล้าพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่เป็นวิธีที่นิยมใช้ในบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะเกษตรกรหรือบริษัทที่ต้องการเหง้าพันธุ์จำนวนมาก ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ต้องการปลูกในพื้นที่ไม่มากจะนิยมปลูกจากเหง้าพันธุ์ที่ขุดจากกอกล้วยเป็นหลัก

2. การแยกหน่อหรือเหง้าปลูก
การแยกหน่อหรือเหง้าปลูก เป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และปัจจุบันยังเป็นที่นิยมของเกษตรกร ซึ่งเกษตรอาจหาซื้อเหง้าพันธุ์จากแปลงเกษตรกรอื่นที่ปลูกกล้วยอยู่แล้วหรือขุดเหง้าพันธุ์จากแปลงตัวเองออกขยายปลูกเป็นกอใหม่

การปลูกกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่ชอบดินร่วน มีอินทรีย์วัตถุ และความชื้นสูง ระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง หลังจากการปลูกกล้วยน้ำว้าแล้วจะให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อปลูกได้ 8-10 เดือน และสามารถแตกหน่อเติบโตให้ผลผลิตทั้งปี
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
– พื้นที่ใช้ปลูกหรือแปลงปลูกควรไถพรวนดิน และตากดิน นาน 1-2 อาทิตย์ และกำจัดวัชพืชก่อนปลูก หากปลูกเพียงไม่กี่ต้นให้เตรียมได้เลย
– วางแนว และขุดหลุมปลูกในระยะ 4×4เมตร หรือมากกว่า หากที่ระยะถี่กว่านี้จะทำให้ต้นที่แตกใหม่เบียดกันแน่นในปีที่ 2 ขึ้นไป
– ขุดหลุมปลูกกว้าง x ยาว x ลึก ที่ 50x50x50 ซม. หรือเกือบ 2 ไม้บรรทัด
– กลบหรือโรยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กก./หลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัม/หลุม พร้อมปรับดินผสมดินให้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม
– คลุกผสมดินกับปุ๋ยให้เข้ากัน

วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า
นำต้นพันธุ์ลงหลุมปลูก และกลบดินต่ำกว่าผิวดินประมาณ 10 ซม. สำหรับให้น้ำขัง และสำหรับการใส่ปุ๋ยในครั้งต่อไป

การดูแลรักษากล้วยน้ำว้า
การให้น้ำ
การปลูกล้วยน้ำว้า หรือการปลูกกล้วยโดยทั่วไปเกษตรกรจะปล่อยให้ได้รับน้ำจากน้ำฝน แต่หากพื้นที่ปลูกมีสภาพแห้งแล้งจัด และมีระบบชลประทานเข้าถึง เกษตรมักจะสูบน้ำเข้าแปลงเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง

การใส่ปุ๋ย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
– ระยะเตรียมหลุมปลูก ด้วยการรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กก./หลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัม/หลุม หรือประมาณ 1-2 กำมือ
– ปุ๋ยคอก หลังการปลูกประมาณ 1-3 เดือน แรก ควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้น อัตรา 2-3 กก./หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม/หลุม
– ปุ๋ยเคมี ระยะหลังปลูกเดือนที่ 5 และ 7 หรือระยะก่อนออกปลี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-24 อัตรา 100-200 กรัม/หลุม โดยการหว่านรอบๆกอ

การตัดต้น และไว้หน่อ
การไว้หน่อจะไว้หน่อเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นต้น ซึ่งกล้วย 1 กอหรือ 1 หลุม ให้ไว้หน่อหรือต้น 4 ต้น เท่านั้น ด้วยวิธี ดังนี้
– หน่อแรกที่ขึ้นหลังจากการปลูกต้นแรกให้ปล่อยไว้ไม่ตัด
– หน่อที่ขึ้นต่อมาในระยะ 1-2 เดือน หลังจากการปล่อยหน่อแรกแล้ว ให้ตัดทิ้ง
– เมื่อหน่อแรกอายุครบ 3 เดือน ให้ปล่อยหน่อที่ 2 ขึ้น ส่วนหน่ออื่นๆตัดทิ้ง
– ทำในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะได้หน่อ และต้นทั้งหมดใน 1 กอ ประมาณ 4 ต้น/ปี จนถึงการตัดเครือกล้วยจากต้นแรก ซึ่งจะทำให้มีหน่อหรือต้นเหลือ 3 ต้น/กอ

การเก็บปลี และผลกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าที่ปลูกจากหน่อจะเริ่มออกปลีหรือดอกเมื่อมีอายุหลังการปลูกประมาณ 8 เดือน หลังจากแทงปลีจนสุดแล้วจะเหลือส่วนปลายของดอกที่เรียกว่า ปลีกล้วย และมีระยะหลังการแทงดอก/ปลีกล้วย จนถึงดอกกล้วยบานจนหมดจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน

ปลีกล้วยน้ำว้าจะมีลักษณะเป็นกาบหุ้มดอกหรือใบประดับดอกที่สีแดง หุ้มปกคลุมดอกไว้ โดยดอกที่เหลือจะเป็นดอกที่ไม่พัฒนาเป็นผล ดังนั้น การตัดปลีจะเริ่มตัดได้ เมื่อเห็นผลกล้วยของหวีสุดท้ายหรือที่เรียกว่า หวีตีนเต่า แล้ว

หวีตีนเต่า เป็นหวีที่มีผลกล้วยพัฒนาจนมีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งจะอยู่เหนือหวีกล้วยที่มีลักษณะผลเติบโตหรือพัฒนาไม่เท่ากัน ผลมีขนาดเล็กไม่สม่ำเสมอ

การตัดปลีกล้วยน้ำว้า เกษตรกรจะตัดปลีออกตรงบริเวณข้อด้านล่างของหวีตีนเต่าหรือเหนือหวีกล้วยที่มีผลเติบโตไม่เท่ากันออก

เหตุผลการตัดปลีกล้วยน้ำว้า
– ป้องกันไม่ให้ปลีกล้วยบานต่อ ซึ่งหากปลีกล้วยบานต่อจะเกิดการแย่งอาหารจากผลกล้วยด้านบน
– ป้องกันไม่ให้ผลกล้วยในหวีที่มีผลขนาดเล็กเจริญต่อ ทำให้สารอาหารถูกส่งไปเลี้ยงเฉพาะปลีกล้วยที่มีผลเติบโตสม่ำเสมอ
– เพื่อนำปลีกล้วยไปประกอบอาหารหรือเพื่อการจำหน่าย ซึ่งอาจเป็นผลพลอยได้จากการป้องกันปลีกล้วยบานหรือเป็นวัตถุประสงค์หลักสำหรับนำมาประกอบอาหารหรือการจำหน่าย

การเก็บผลกล้วยน้ำว้า
การเก็บผลดิบจะเก็บในขณะที่ยังเห็นเหลี่ยมของผลชัดเจน ซึ่งระยะนี้กล้วยจะแก่ประมาณ 75% ระยะนี้เหมาะสำหรับการนำกล้วยดิบไปแปรรูป หรือส่งออกต่างประเทศ

หลังการตัดปลีแล้ว กล้วยจะเริ่มแก่เต็มที่ และเริ่มสุกภายในเวลาประมาณ 70-80 วัน การเก็บกล้วยก่อนระยะสุก จะเก็บเมื่อผลอวบ ไม่มีเหลี่ยม เป็นระยะสำหรับเก็บจำหน่ายในประเทศเพื่อรับประทานผลสุก ซึ่งผลจะสุกเหลืองภายใน 3-7 วัน

การตัดเครือกล้วยจะใช้วิธีตัดต้นกล้วย ให้ค่อยๆล้มลงแล้วจึงตัดเครือออก การตัดเครือควรตัดที่ต้นเครือหรือให้เครือยาวประมาณ 20-30 ซม.

ตัดปลีกล้วย

ระยะการสุกของกล้วยน้ำว้า
ระยะที่ 1 ผลแข็ง เป็นเหลี่ยมชัดเจน เปลือกสีเขียว ทิ้งไว้จะไม่สุก
ระยะที่ 2 ผิวเปลือกเริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวออกเหลืองเล็กน้อย
ระยะที่ 3 ผิวเปลือกเปลี่ยนสีเป็นเหลืองมากขึ้น แต่ยังมีสีเขียวมากกว่า
ระยะที่ 4 ผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมากขึ้น และมีสีเหลืองมากกว่าสีเขียว
ระยะที่ 5 ผิวเปลือกบริเวณต้นผลเป็นสีเหลือง ส่วนปลายผลเป็นสีเขียว
ระยะที่ 6 ผิวเปลือกทั่วผลจะมีสีเหลืองทั้งหมด เป็นระยะผลสุกพอดี แต่ยังไม่มีกลิ่น
ระยะที่ 7 ผิวเปลือกมีสีเหลือง และเริ่มมีจุดสีดำหรือน้ำตาล เป็นระยะผลสุกเต็มที่ และเริ่มมีกลิ่นหอม
ระยะที่ 8 ผิวเปลือกมีสีเหลือง และมีสีดำหรือน้ำตาลกระจายทั่วผล เป็นระยะที่ผลสุกมากเกินไป เนื้อกล้วยจะอ่อนนิ่ม มีกลิ่นแรง และจะเริ่มเน่าภายใน 2-3 วัน

โรค และศัตรูกล้วยน้ำว้า
1. โรคตายพราย เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มักเกิดกับกล้วยที่ปลูกได้ 3-4 เดือน ลักษณะจะพบใบล่างหรือใบแก่จะมีสีเหลืองบริเวณใบ และเหี่ยวแห้งตาย

2. โรครากเน่า เกิดจากเชื้อรา phytophthora หรือ sclerotium โดยจะเกิดใบเหลืองซีด และใบม้วนงอเมื่อถูกแดดจัด ใบและก้านใบเหี่ยวแห้งตาย ผลจะมีสีเหลืองคล้ายผลสุก และร่วงง่าย เมื่อขุดโคนต้นจะพบรากฝอยเน่า ถอดปลอก และลุกลามทำให้หัวกล้วยเน่า จนต้นล้มตาย

3. แมลงศัตรูต่างๆ เช่น ด้วงงวงไซเหง้า และต้น มวนร่างแห ด้วงเต่าทอง หนอนกระทู้ แมลงวันผลไม้ เป็นต้น