สนสามใบ (Benguet pine) ประโยชน์ และสรรพคุณ

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

สนสามใบ (Benguet pine) จัดเป็นไม้สนเขาที่พบได้เฉพาะในพื้นที่เขาสูง มีทำประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ เนื้อไม้ใช้ผลิตเยื่อกระดาษ แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างบ้าน น้ำยางใช้สำหรับการทำสบู่ ยารักษาโรค รวมถึงน้ำมันสนใช้ทำสบู่ และทำน้ำมันชักเงา เป็นต้น

• วงศ์ (family): Pinaceae
• อันดับ/ตระกูล (Order) : Coniferales
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinus kesiya Royle ex Gordon
• ชื่อสามัญ :
– Benguet pine
– Khasya pine
– Pinus kesiya
– Pinus insularis
– Baguio pine
– Khasia pine
– Luzon pine
– Three-needled pine
– Son sam bai (สนสามใบ)
– Khasi pine (อินเดีย)
– Simao song (จีน)
– Thong ba la (เวียดนาม)

• ชื่อท้องถิ่น :
กลาง
– สนเขา
– สนสามใบ
เหนือ
– จ๋วงเกี๊ยะเปลือกแดง
– เกี๊ยะเปลือกบาง (เชียงใหม่)
– เชี้ยงบั้ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
– ถูเลี๊ยะ (ม้ง-เชียงใหม่)
– แปก (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน,เพชรบูรณ์)
ภาคอีสาน
– จ๋วง

ที่มา : [1] อ้างถึงในสุธรรม อารีกุล และคณะ, 2551

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ไม้สนสามใบ เป็นไม้สนเขาที่มีแหล่งกำเนิด และพบได้ทั่วไปในแถบประเทศเขตร้อนจนถึงเขตอบอุ่น ตั่งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงเขต timber line แต่พบได้มากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม โดยเฉพาะแถบที่มีฝนตกเฉลี่ย 1,780-2ม030 มม./ปี และพบได้บางส่วนในประเทศอินเดีย จีน ฟิลิปปินส์

ในประเทศไทยการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้สนสามใบ มีอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง และแห้งแล้ง โดยพบมากทางภาคเหนือ และพบบ้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยพบที่ระดับความสูงในช่วง 800-1,700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่พบมากที่ระดับความสูง 1,000-1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดยจะพบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง และป่าสนสองใบที่ระดับความสูง 800-1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และพบขึ้นปนกับป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,000-1,700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ที่มา : [1],[3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นสนสามใบ
สนสามใบจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูงได้ในช่วง 35-45 เมตร และขนาดวัดรอบลำต้น 80-200 เซนติเมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เมื่ออายุน้อยรูปทรงคล้ายกรวยคว่ำ เมื่อเติบโตเต็มที่จะมีเรือนพุ่มแผ่กว้างออก และกลม เปลือกลำต้นบาง มีสีน้ำตาลอมแดง (ต่างจากสนสองใบที่มีเปลือกหนา และสีค่อนข้างดำ) เมื่อลำต้นมีอายุมาก เปลือกจะแตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น

ใบสนสามใบ
ใบสนสามใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เล็ก และเรียวยาว มีรูปเข็ม ใบออกเป็นช่อ ช่อละ 3 ใบ และอาจพบบางช่อจะมีใบ 2 ใบ หรือ 4 ใบบ้าง ใบยาว 12-21 เซนติเมตร ตัวใบมีสีเขียวเข้ม ปลายใบแหลม แต่ละใบมีท่อน้ำมัน 3-5 ท่อ บริเวณโคนใบจะมีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลหุ้มอยู่

ดอกสนสามใบ
ดอกสนสามใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ ออกดอกแยกเพศ แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และคอกตัวเมียแยกกันคนละช่อดอก โดยช่อดอกเพศผู้ออกเป็นช่อดอกแบบหางกระรอกสั้นๆ และเป็นกลุ่มๆ บริเวณปลายกิ่ง ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นช่อเดี่ยวๆ หรือย่างมากไม่เกิน 3 ดอก บริเวณปลายกิ่ง การออกดอกจะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

ผลสนสามใบ
ผลประกอบด้วยหลายกลีบซ้อนกัน และอัดแน่นเป็นวงกลมหรือกลมรี เมื่อผลแก่ กลีบที่ติดกันจะแยกออกจากกัน เพื่อโปรยเมล็ดที่มีกลีบบางๆออกไปตามลม ทั้งนี้ เมล็ดแก่เต็มที่จะใช้เวลาประมาณ 13-14 เดือน หลังติดผล นั่นคือ จะสามารถเก็บเมล็ดได้ก็ประมาณในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของปีถัดไป

ที่มา : [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

คุณลักษณะของเนื้อไม้
เนื้อไม้สนสามใบจะประกอบด้วยไฟเบอร์เป็นหลัก มีไฟเบอร์ยาว ผนังบาง และมีความเหนียวสูง เหมาะสำหรับนำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ

ประโยชน์สนสามใบ (เหมือนกับสนสามใบ)
ไม้สนสามใบ เป็นไม้ที่โตเร็ว ใช้เวลาในการเติบโตจนถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 15-20 ปี โดยมีอัตราการเติบโตของเส้นรอบวงประมาณ 2.5-4.0 เซนติเมตร/ปี

1. เนื้อไม้
– เนื้อไม้มีลวดลายที่สวยงามเกิดจากวงรอบปี และท่อน้ำมัน ในส่วนที่เป็นกระพี้ แก่นมักเป็นสีน้ำตาลอมชมพู ใช้ตกแต่งและขัดเงาได้ดี ในต่างประเทศนิยมใช้เนื้อไม้สนโดยกว้างขวาง เช่น ใช้ในการก่อสร้างภายในร่ม ทำเครื่องเรือน ไม้อัด และเฟอร์นิเจอร์ ภาชนะบรรจุสินค้าต่างๆ เพราะมีน้ำหนักเบา ราคาถูก และมีความคงทนพอสมควร นอกจากนี้ ยังเป็นไม้ชนิดที่ใช้ทำเยื่อกระดาษกันเป็นส่วนมาก
– เนื้อไม้มีคุณภาพดี มีเส้นใยยาว เหมาะสำหรับใช้ผลิตเป็นเยื่อกระดาษ
– แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
– เนื้อไม้ใช้ทำเชื้อสำหรับจุดไฟให้ความสว่างยามค่ำคืนหรือจุดไฟในการหุงต้ม กิ่งก้านใช้ทำฟืน
– เนื้อไม้มีขายทั่วไปตามท้องตลาดในภาคเหนือของไทยเพื่อใช้เป็นเชื้อจุดไฟ กิ่งก้านใช้ทำฟืน ลำต้นใช้สำหรับก่อสร้างภายใน เช่น พื้นกระดาน เครื่องเรือน โต๊ะ เป็นต้น
2. น้ำยาง
– น้ำยางใช้ทำเป็นน้ำมันสนผสมกับยารักษาโรค การบูรเทียม ผสมสี และทำสบู่
3. น้ำมันสน และชันสน ถูกใช้ในการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการทาสีน้ำมัน ทำน้ำมันชักเงา ทำสบู่ และใช้ผสมทำยารักษาโรค เป็นต้น

ที่มา : [1], [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณสนสามใบ (เหมือนกับสนสามใบ)
– กระพี้ของลำต้นนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไข้สันนิบาต ใช้แก่นต้มหรือฝนกับน้ำรับประทานเป็นยากระจายลม บำรุงกระดูก ไขข้อ ระงับประสาท แก้ฟุ้งซ่าน อ่อนเพลีย เป็นไข้มีเสมหะ คลื่นไส้อาเจียนและอาการท้องเดิน
– ชาวไทยใหญ่ และจีนฮ่อใช้กิ่ง ใบ และดอก ลนไฟให้เกิดไอสำหรับสูดดมแก้โรคปอดบวม และปอดอักเสบ
– น้ำมันใช้ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม หยดในน้ำร้อนประคบแก้ท้องบวม แก้มดลูก และลำไส้อักเสบ
– ยางสนหรือชันจากลำต้นใช้เป็นยาสมานแผล ผสมยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย แก้โรคบิด
– ใบและเปลือกใช้ต้มกับน้ำเป็นยาแก้ผดผื่นคัดตามผิวหนัง
ที่มา : [1]อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

เอกสารอ้างอิง
[1] สายน้้าผึ้ง ชูชื่น, 2561, ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดเปลือกสนสามใบและสนสามใบ.
[2] จิราภรณ์ บำรุงศักดิ์, 2546, การตอบสนองของวงปีไม้สนสามใบต่อสภาพภูมิอากาศ-
กรณีศึกษา : จังหวัดแม่ฮ่องสอน สุพรรณบุรี และเพชรบุรี.
[3] อนิวรรต ธันยธร, 2532, การกำหนดความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกสร้าง-
สวนป่าไม้สนสามใบและสักบริเวณชั้นคุณภาพลุ่มน้ำแม่แจ่ม-
จังหวัดเชียงใหม่
[4] อรพรรณ สายลาม, 2541, ผลของการคายระเหยน้ำของสวนสนสามใบ-
ที่มีต่อลักษณะการไหลของน้ำในลำธาร-
บนลุ่มน้ำที่สูง จังหวัดเชียงใหม่.