สนสองใบ (Merkus pine) ประโยชน์ และสรรพคุณ

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

สนสองใบ (Merkus pine) จัดเป็นไม้สนเขาที่พบได้เฉพาะในพื้นที่เขาสูง มีทำประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง น้ำยางใช้สำหรับการทำสบู่ ยารักษาโรค รวมถึงน้ำมันสนใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆหลากหลายชนิด

• วงศ์ (family): Pinaceae
• อันดับ/ตระกูล (Order) : Coniferales
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinus merkusii Jungh. & de Vriese
• ชื่อสามัญ :
– Merkus pine.
• ชื่อท้องถิ่น :
กลาง
– สนเขา
– สนหางม้า
– สนสองใบ
เหนือ
– เกี๊ยะเปลือกดำ
– เกี๊ยะเปลือกหนา
– จ๋วง
– เชียงเซา (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
อีสาน
– ไต้ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ)
– สะรอล (เขมร สุรินทร์)

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ไม้สนสองใบเป็นไม้สนเขาที่มีแหล่งกำเนิด และพบได้ทั่วไปในแถบกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม เกาะแซมเบลเลส เกาะมินโดโร ประเทศฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย

ในประเทศไทยการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้สนสองใบ มีอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง โดยมีอยู่มากทางภาคเหนือ และมีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคกลางมีลงมาถึงจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้
1. ด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ไปจนถึงเขตติดต่อพรมแดนประเทศเมียนม่า สูงจากระดับนํ้าทะเล 700-1,000 เมตร
2. บริเวณระหว่างอำ เภอเมือง และอำ เภอแม่สอด จังหวัดตาก
3. แถบจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี พบขึ้นกระจัดกระจายเป็นกลุ่มพื้นที่เล็กน้อยบนภูเขาที่ไม่สูงมากนัก และที่มีป่าเต็งรัง ทางด้านตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี
4. เขตติดต่อระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง จะพบสนสองใบระหว่างจังหวัดพิษณุโลก บริเวณอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดเพชรบูรณ์ (สูงจากระดับนํ้าทะเล 760 เมตร) บริเวณอุทยานแห่งชาตินํ้าหนาว และที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย (สูงจากระดับนํ้าทะเล 1,500 เมตร)
5. ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ พบได้ในที่ราบสูงโคราช ได้แก่ พื้นที่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ที่ระดับความสูงจากระดับนํ้าทะเลระหว่าง 150-200 เมตร

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

นิเวศวิทยาของไม้สนสองใบ
ลักษณะการขึ้นของไม้สนสองใบจะขึ้นเป็นกลุ่มไม้สนสองใบล้วนๆ หรือปนอยู่กับไม้สนสามใบ หรือไม้ใบกว้างอื่นๆ ตามภูเขาที่แห้งแล้ง กระจายพันธุ์ผสมกับป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarps Forest) โดยมีไม้สนสองใบเป็นไม้เด่น มีไม้เหียง (Dipterocarpus obtusifolius Teijsm.ex Mig.) และพลวง (D. tuberculatus Roxb.) เป็นไม้รองลงมาเป็นสังคมพืชของสังคมพลวง-สนสองใบ และสังคมเหียง-สนสองใบ แต่บางครั้งก็ขึ้นเป็นหมู่ไม้สนสองใบล้วนๆ ในพื้นที่ที่เป็นป่าสนเขา

ลักษณะภูมิอากาศในพื้นที่ที่พบสนสองใบขึ้นอยู่ มักอยู่ในพื้นที่แบบมรสุมที่มีช่วงฤดูแล้งสั้น ประมาณ 4-5 เดือนต่อปี ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,100-4,000 ม.ม. และอุณหภูมิประมาณ 18-30 องศาเซลเซียส สนสองใบตามปกติชอบขึ้นในที่มีอากาศร้อนและชื้นส่วนในพื้นที่ที่ค่อนข้างเย็นและมีช่วงความเย็นยาวนานพอควรแต่ไม่ชื้นจัดเกินไป มักจะเป็นถิ่นกระจายของป่าสนเขา ซึ่งอาจพบสังคมที่เป็นสนล้วนๆ สำ หรับอุณหภูมิตํ่าในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม อุณหภูมิจะแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่จะมีผลต่อการออกดอกออกผลของไม้สนสองใบ

สภาพดินของป่าสนทางเขตร้อนมีความอุดมสมบูรณ์ไม่มาก และมีความชื้นในดินน้อยกว่าป่าไม้ใบกว้าง จะพบสนสองใบอยู่บนดินที่แตกสลายมาจากวัตถุต้นกำเนิดต่างๆ กัน และมักทนอยู่ได้ในที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั้งบนที่ราบและที่ภูเขา ดินในป่าสนสองใบส่วนมากเป็นดิน podzolic เกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิต ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ดินส่วนใหญ่มีสภาพเป็นกรดpH อยู่ระหว่าง 5.5-5.7 บริเวณผิวดิน และ 4.8-5.2 บริเวณชั้นล่างถัดลงไป ดินตื้น ดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย หรือเป็นดินทราย มีการระบายนํ้าดีในสังคมพลวง-สนสองใบ ดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง มีปริมาณ clay และ silt อยู่ในระดับสูง และมีปริมาณของโปรแตสเซียมอยู่ในระดับสูงแต่ปริมาณฟอสฟอรัสอยู่ในระดับค่อนข้างตํ่า แต่สำหรับสังคมเหียง-สนสองใบ ดินจะมีปริมาณ clay อยู่ในระดับสูง มีปริมาณของโพแตสเซียมอยู่ในระดับต่ำ การที่พบไม้สนสองใบในที่ดินเลว
และแห้งแล้งมีไม้อื่นๆ ขึ้นอยู่น้อยชนิด เพราะว่าไม้สนสองใบเป็นไม้โตเร็วที่ชอบแสงสว่าง ไม่สามารถขึ้นแข่งกับไม้ชนิดอื่นได้โดยเฉพาะพวกไม้ใบกว้าง จึงต้องขึ้นอยู่ในที่โล่งกว้าง หรือที่ดินตามไหล่เขา

ลักษณะทางด้านภูมิประเทศ สามารถพบสนสองใบได้ในพื้นที่ความสูงตั้งแต่ 30-2,000 เมตร จากระดับนํ้าทะเล โดยสนสองใบที่อยู่ในสังคมพลวง-สนสองใบ จะขึ้นอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีระดับความสูงและความลาดชันอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนสนสองใบที่ขึ้นในสังคมเหียง-สนสองใบ จะพบอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีระดับสูงและตามสันเขาเป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากไม้สนขึ้นได้ดีในสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างเย็นและมีช่วงความเย็นยาวนานพอควร แต่ไม่ชื้นจัดจนเกินไป ทำให้พบสังคมที่เป็นสนสองใบล้วนๆ ขึ้นในพื้นที่ที่มีระดับสูง

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นสนสองใบ
สนสองใบจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เมื่ออายุน้อยรูปทรงคล้ายกรวยคว่ำ เมื่ออายุมากขึ้นเรือนพุ่มแผ่กว้างออก เปลือกลำต้นสีค่อนข้างดำหรือน้ำตาลปนดำ และหนา อาจมีความหนาถึง 6-8 ซม. เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลาต้น และมีรอยทางขวางเป็นระยะ ๆ เมื่อโตเต็มที่อายุ 80-90 ปี มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (ในระยะสูงเพียงอก 1.30 เมตร) ประมาณ 50-110 เซนติเมตร เปลือกหนา มีสีนํ้าตาลเข้มจนถึงดำคลํ้า เปลือกแตกเป็นร่องลึก

ใบสนสองใบ
ใบสนสองใบใบเป็นใบเดี่ยว เล็กเรียวยาวเป็นรูปเข็ม ออกเป็นช่อ ช่อละ 2 ใบ ใบยาว 12-25 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีกาบหุ้มกลุ่มใบกลุ่มละ 2 ใบ

ดอกสนสองใบ
ดอกสนสองใบออกดอกแยกเพศ แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และคอกตัวเมียแยกกันคนละช่อดอก การออกดอกจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ดอกตัวเมียจะเจริญเป็นผล

ผลสนสองใบ
ความยาวของผลเมื่อแก่ประมาณ 9-14 เซนติเมตร กว้าง 4-6 เซนติเมตร และภายในแต่ละชั้นของกลีบมีเมล็ดติดเปลือก ทั้งนี้ ในหนึ่งปีจะให้ผลเพียงครั้งเดียว โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน

ผลสด
ผลแห้ง

เนื้อไม้สนสองใบ
สนสองใบมีเนื้อไม้สีเหลืองปนนํ้าตาลอ่อน มีลวดลายสีนํ้าตาลเป็นเส้นสวยงามเนื้อละเอียด เสี้ยนตรง มีเส้นใย (fiber) ยาว เนื้อไม้มีความหนาแน่นปานกลาง มีนํ้ายาง (resin) มาก

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ประโยชน์สนสองใบ
1. เนื้อไม้
– เนื้อไม้มีลวดลายที่สวยงามเกิดจากวงรอบปีและท่อน้ามัน ในส่วนที่เป็นกระพี้ แก่น มักเป็นสีน้ำตาลอมชมพู ใช้ตกแต่งและขัดเงาได้ดี ในต่างประเทศนิยมใช้เนื้อไม้สนโดยกว้างขวาง เช่น ใช้ในการก่อสร้างภายในร่ม ทำเครื่องเรือน นำเนื้อไม้ไปใช้เป็นเยื่อกระดาษ ไม้อัด และเฟอร์นิเจอร์ ภาชนะบรรจุสินค้าต่างๆ เพราะมีน้ำหนักเบา ราคาถูก และมีความคงทนพอสมควร นอกจากนี้ ยังเป็นไม้ชนิดที่ใช้ทำเยื่อกระดาษกันเป็นส่วนมาก
– เนื้อไม้ใช้ทำเชื้อสำหรับจุดไฟให้ความสว่างยามค่ำคืนหรือจุดไฟในการหุงต้ม กิ่งก้านใช้ทำฟืน
– เนื้อไม้มีขายทั่วไปตามท้องตลาดในภาคเหนือของไทยเพื่อใช้เป็นเชื้อจุดไฟ กิ่งก้านใช้ทำฟืน ลำต้นใช้สำหรับก่อสร้างภายใน เช่น พื้นกระดาน เครื่องเรือน โต๊ะ เป็นต้น
2. น้ำยาง
– น้ำยางใช้ทำเป็นน้ำมันสนผสมกับยารักษาโรค การบูรเทียม ผสมสี และทำสบู่
3. น้ำมันสน และชันสน ถูกใช้ในการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการทาสีน้ำมัน การทำสบู่และใช้ผสมทำยา เป็นต้น

ที่มา : [2]อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณสนสองใบ
– กระพี้ของลำต้นนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไข้สันนิบาต ใช้แก่นต้มหรือฝนกับน้ำรับประทานเป็นยากระจายลม บำรุงกระดูก ไขข้อ ระงับประสาท แก้ฟุ้งซ่าน อ่อนเพลีย เป็นไข้มีเสมหะ คลื่นไส้อาเจียนและอาการท้องเดิน
– ชาวไทยใหญ่ และจีนฮ่อใช้กิ่ง ใบ และดอก ลนไฟให้เกิดไอสำหรับสูดดมแก้โรคปอดบวม และปอดอักเสบ
– น้ำมันใช้ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอก อักเสบบวม หยดในน้ำร้อนประคบแก้ท้องบวม แก้มดลูก และลำไส้อักเสบ
– ยางสนหรือชันจากลำต้นใช้เป็นยาสมานแผล ผสมยาทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย แก้โรคบิด
– ใบและเปลือกใช้ต้มกับน้ำเป็นยาแก้ผดผื่นคัดตามผิวหนัง

ที่มา : [2]อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

เอกสารอ้างอิง
[1] จิราภรณ์ บำรุงศักดิ์, 2546, การตอบสนองของวงปีไม้สนสองใบต่อสภาพภูมิอากาศ-
กรณีศึกษา : จังหวัดแม่ฮ่องสอน สุพรรณบุรี และเพชรบุรี.
[2] สายน้้าผึ้ง ชูชื่น, 2561, ฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดเปลือกสนสองใบและสนสามใบ.

ขอบคุณภาพจาก
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่เสรียง http://www.fca16mr.com/webblog/blog.php?id=506, สารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ), http://sonsongbai.blogspot.com/