มะพอก ไม้ป่าเด่นสรรพคุณ ปลูกเป็นไม้ล้อมลำต้นแปลกสวย

Last Updated on 17 พฤษภาคม 2023 by puechkaset

มะพอก เป็นไม้ป่ายืนต้นที่พบได้มากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ให้ผลที่นำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งเป็นอาหาร และนำเมล็ดผลมาสกัดน้ำมันสำหรับงานเคลือบ และพิมพ์ธนบัตร ส่วนเนื้อไม้ ก็นิยมใช้ประโยชน์ในด้านก่อสร้างบ้านเรือน ลำต้นสวยแลดูแปลกตา ทำให้นายทุนขุดเป็นไม้ล้อมจำหน่ายหลักหมื่นบาท

อนุกรมวิธาน
Family (วงศ์) : CHRYSOBALANACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parinari anamense Hance

ชื่อท้องถิ่น :
เหนือ
– มะมื่อ
– หมักมื่อ
– หมักมอก
– จัด จั๊ด (ลำปาง)
– ท่าลอก
– มะคลอก (สุโขทัย อุตรดิตถ์)

ตะวันออก
– พอก กระท้อนรอก (ตราด)

อีสาน
– ท่าลอก
– มักมื่อ
– พอก
– ตะโลก ตะเลาะ เหลอะ (ส่วย สุรินทร์)

ใต้
– หมากรอก (ประจวบคีรีขันธ์)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มะพอกเป็นไม้ยีนต้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ ทั้งนี้ พบมากในจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 50-500 เมตร
ที่มา : [3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะพอกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10 – 20 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล เปลือกแตกเป็นร่อง กิ่งอ่อนที่ปลายยอดมีขนสีน้ำตาลปกคลุม

ใบ
ใบมะพอกมีรูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 3 – 6.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือ แหลม โคนใบกลมหรือรูปหัวใจตื้นๆ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม สีขาวปกคลุม เส้นใบ 12 – 13 คู่ ซ้าย-ขวา อย่างชัดเจน

ดอก
ดอกมะพอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองดอกมี 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.5 เซนติเมตร กลีบดอกจำนวน 5 กลีบ สีขาว ภายในตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6 – 15 อัน เกสรสมบูรณ์ 6 – 7 อัน รังไข่มีขน สีน้ำตาลปกคลุมหนา

ผล
ผลมะพอกมีรูปร่างไม่แน่นอน แต่โดยทั่วไปมักมีรูปกลมรีหรือเกือบกลม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล เปลือกผลมีจุดสีขาวหรือ เทาทั่วไป

ทั้งนี้ มะพอกจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน และติดผลในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน

สารสำคัญที่พบ
– น้ำมันมะพอก เป็นน้ำมันที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด conjugate ประกอบด้วยกรดที่สำคัญคือ กรด α-eleostesric ร้อยละ 38.8

ที่มา : [2]

สรรพคุณ
เปลือก
– เปลือกอังไฟ ใช้ประคบแก้ช้ำใน แก้อาการบวมช้ำ

แก่น
– แก่นไม้มีรสเฝื่อนเมา ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ประดง แก้ปวดแสบ ปวดร้อน แก้น้ำเหลืองเสีย ใช้อาบหรือผ้าชุบทาตัว แก้ผื่นคันตามตัว

ผล
– น้ำมันจากผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นสำหรับแก้หืด

ที่มา : [1]

ประโยชน์
เนื้อไม้
– เนื้อไม้มะพอก กระพี้จะมีสีเหลืองอ่อน แก่นสีชมพูเรื่อ ๆ เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง และสม่ำเสมอ เนื้อไม้เหนียวพอประมาณ เลื่อยไสง่าย นิยมเลื่อยทำไม้แผ่น วงกบ และไม้ฝ้า เป็นต้น

ผล
– ผล เนื้อเยื่อภายใน ใช้รับประทานได้
– เมล็ด เนื้อในเมล็ดใช้รับประทาน
– น้ำมันจากเมล็ด ใช้ทาเครื่องเขินให้เป็นเงา ทากระดาษร่มกันน้ำซึม
– น้ำมันจากผลนำมาทากระดาษทำร่ม
– น้ำมันมะพอกใช้ทดแทนนำมันทังสำหรับเป็นส่วนผสมของหมึกพิมพ์
– น้ำมันจากเมล็ดใช้ทดแทนน้ำมันทัง สำหรับเป็นสารเคลือบธนบัตร ให้มีความทนทาน และเป็นเงา

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ต้นมะพอกยังมีลักษณะลำต้นดูแปลกตา ต้นเตี้ย แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น เปลือกลำต้นมีร่อง ผิวเปลือกขุขระ แตกกิ่งมาก ไม่พลัดใบ ให้ร่มเงาทั้งปี จึงนิยมขุดปลูกสำหรับเป็นไม้ล้อมนำมาปลูกตามบ้าน สถานที่ราชการ ปั้มน้ำมัน ทำให้มีราคาสูงพอสมควรหลายหมื่นบาท

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

เอกสารอ้างอิง
[1] อุดมเดชา พลเยี่ยม และอัญชนา ขัตติยะวงศ์. การศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัด
จากมะพอกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืช
ในนาข้าวเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่า
ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน.
[2] พิสมัย และคณะ. คุณสมบัติและองค์ประกอบของน้ำมันมะพอกจากมะพอก (Parinari anamense Hance) ที่ปลูกในประเทศ.
[3] สุมาลัย ศรีกำไลทอง. 2535. การศึกษาคุณสมบัติและองค์ประกอบของน้ำมันมะพอก
และสารประกอบบางอย่างในใบประยงค์.
[4] สัมฤทธิ์ เฟื่องจันทร์ และคณะ. 2540. โครงการการรวบรวมและการใช้ประโยชน์เชื้อพันธุ์มะพอก. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.