Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ยางอินเดีย หรือ ต้นยางลบ (Rubber plant) จัดเป็นไม้ประดับต้นหรือประดับใบ มีลักษณะเด่นที่ใบมีสีเขียวเข้ม ขนาดใหญ่ หรือ บางชนิดมีลายสีขาวประสวยงาม ใบไม่ร่วงหล่นง่าย นอกจากนั้น ต้นยางอินเดียไม่ว่าจะเป็นส่วนใดๆ หากเกิดมีบาดแผลขึ้นก็จะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมาทันที และเมื่อยางแข็งตัวจะมีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม สามารถนำไปใช้เป็นยางลบดินสอได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ต้นยางลบ
• วงศ์ : MORACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus elastica Roxb. Ex Hornem
• ชื่อสามัญ :
– Rubber plant
– Indian rubber tree
– Decora tree
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และในบางท้องที่
– ยางอินเดีย
เหนือ และอีสาน
– ต้นยางลบ
ที่มา : [1]
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ต้นยางอินเดีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย และแถบหมู่เกาะมาลายู พบในป่าแถบร้อน บางชนิดขึ้นได้ดีในที่กลางแจ้ง แพร่เข้ามาในประเทศไทยเพื่อใช้ปลูกเป็นไม้ประดับต้น และใบ
ชนิดยางอินเดียในไทย
ต้นยางอินเดียมี 2 สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย คือ ชนิดใบด่าง และชนิดใบสีเขียว ซึ่งนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยที่ชนิดใบด่างมักจะนิยมปลูกเพื่อประดับตกแต่งสถานที่ ส่วนชนิดใบสีเขียวมักปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากใบในการทำพวงหรีด แต่พบปลูกเพื่อการประดับต้นหรือใบในสถานที่ต่างๆเช่นกัน แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ และสูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นยางอินเดีย
ยางอินเดียจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีใบเขียวตลอดปี (Evergreen) สูงได้กว่า 30 เมตร แต่บางชนิดมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ ไม้เลื้อย ทั้งนี้ ลำต้นยางอินเดียที่มีอายุมากหรือเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีรากอากาศห้อยย้อยออกมาเห็นเห็นได้
ใบยางอินเดีย
ใบยางอินเดียมีทั้งชนิดใบเล็ก และใบใหญ่ มีหลากหลายสี อาทิ สีเขียว สีเขียวอมดำ สีน้ำตาล และสีเขียวประขาว เป็นต้น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยยางอินเดียชนิดสีเขียว ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบหนา ปลายในแหลม ส่วนใบยางอินเดียชนิดใบด่าง ใบจะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่แผ่นใบด้านบนมีสีขาวประเป็นลายสวยงามกว่า ทั้งนี้ ยอดอ่อนของยางอินเดียจะมีจะมีลักษณะกลมยาว สีแดงเรื่อ และเมื่อแผ่นใบกางออก แผ่นใบด้านบนจะมีสีแดงน้ำตาล จากนั้น ค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว
ดอกยางอินเดีย
ดอกยางอินเดียจัดเป็นดอกแยกเพศ ตัวดอกมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยกลีบดอกสีขาวเรียงสลับกัน 2 ชั้น ภายในประกอบด้วยเกสรตัวผู้ล้อมด้านนอก ด้านในเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่
ผลยางอินเดีย
ผลยางอินเดียมีลักษณะเป็นผลสด ผลมีลักษณะกลมรี คล้ายกับผลหมาก เปลือกผลสีเขียว ด้านในเป็นเนื้อเมล็ด
ประโยชน์ยางอินเดีย
– ยางอินเดีย นิยมใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับเป็นหลัก โดยเฉพาะยางอินเดียใบด่างที่มีลักษณะใบสีเขียวประด่างด้วยลายสีขาว ใบไม่ร่วงล่นง่าย และดูสวยงามตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ต้นที่เกิดจากการตอนกิ่งหรือปักชำยังมีขนาดเล็ก ทำให้ปลูกได้ในทุกสถานที่
– ใบยางอินเดีย นิยมนำใบมาตกแต่งประกอบเป็นพวงหรีดสำหรับงานศพ
– น้ำยางจากต้นยางอินเดีย สามารถใช้เป็นยางลบดินสอได้ ซึ่งบางครั้งหรือบางท้องที่จึงเรียกว่า ต้นยางลบ
– ประโยชน์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของยางอินเดีย คือ เมื่อนำไปวางประดับไว้ในอาคารหรือสำนักงาน ต้นยางอินเดียจะช่วยคอยดูดสารพิษ และช่วยฟอกอากาศ รวมถึงให้ความชื้นแก่อากาศโดยรอบได้
ที่มา : [1]
วิธีกรีดน้ำยางของยางอินเดีย
น้ำยางของยางอินเดียสามารถนำน้ำยางออกจากต้นได้ด้วยวิธีเช่นเดียวกับการกรีดยางพารา คือ กรีดร่องหน้ายางให้ลึกในแนวเฉียง จากนั้น น้ำยางจะไหลออกลงตามแนวร่องกรีด ก่อนนำภาชนะหรือถ้วยมารองน้ำยาง ก่อนที่น้ำยางจะแห้งเป็นก้อนยางนิ่มๆ หรือ วิธีง่ายๆที่เด็กๆสมัยก่อนทำกันเพื่อนำก้อนยางมาใช้เป็นยางลบ คือ ใช้ของแหลมหรือมีกรีดเป็นร่องให้น้ำยางไหลออกเป็นทาง ก่อนน้ำยางจะแห้งเป็นแนวเส้นยาง แล้วค่อยดึงเอาก้อนน้ำยางมาบีบรวมกัน
การขยายพันธุ์ และการปลูก
การขยายพันธุ์ ปัจจุบัน นิยมใช้วิธีการปักชำ และการตอน เพราะสามารถทำได้ง่าย ได้ต้นพันธุ์พร้อมปลูกได้เร็ว อีกทั้ง ต้นพันธุ์มีขนาดเล็ก สามารถนำไปปลูกได้ในทุกสถานที่
วิธีการปักชำหรือการตอน นิยมใช้กับส่วนยอดของต้น เพราะจะได้ต้นใหม่ที่มีรูปร่างทรงสวยงามทันใจ โดยการตอนจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน ส่วนการปักชำจะใช้เวลานานกว่า 3-5 วัน เพราะต้องใช้เวลาในการแตกรากที่นานกว่า และใช้เวลาตั้งต้นได้นานกว่า
สำหรับต้นยางอินเดียที่ได้จาก 2 วิธี เมื่อนำลงปลูกในแปลงหรือในกระถาง เมื่อต้นสามารถตั้งต้นได้แล้วจะใช้วิธีการตัดยอดเพื่อให้มีการแตกทรงพุ่มเพิ่ม และป้องกันไม่ให้ยอดเติบโตสูงชะลูดมากจนเกินไป ทั้งนี้ ยางอินเดียสามารถเติบโตได้ดีทั้งในที่กลางแจ้งหรือที่มีร่มรำไร จึงปลูกได้ทั้งในแปลง และปลูกในกระถางสำหรับวางตั้งประดับให้ห้องหรือภายในอาคาร
ดินสำหรับปลูกยางอินเดีย โดยเฉพาะการปลูกในกระถางนั้น ควรใช้ดินร่วนผสมกับมูลสัตว์หรืออินทรียวัตถุอื่น เช่น แกลบดำ ขุ๋ยมะพร้าว เป็นต้น
การให้น้ำ เนื่องจากยางอินเดียเป็นพืชที่ต้องการน้ำหรือความชื้นตลอด จึงให้รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ 2-3 ครั้ง ไม่ควรให้ดินให้ เพราะใบจะเหลือง และร่วงได้ง่าย
เอกสารอ้างอิง
[1] สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, [ออนไลน์], ยางอินเดีย.