เร่วหอม สรรพคุณ และการปลูกเร่วหอม

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

เร่วหอม เป็นพืชท้องงถิ่นของภาคตะวันออก นิยมใช้เป็นเครื่องเทศสำหรับประกอบอาหาร โดยเฉพาะส่วนเหง้าหรือหน่อใต้ดิน เนื่องจาก มีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ลำต้นส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นหน่ออ่อน แก่นลำต้น และยอดอ่อน ยังนิยมใช้ประกอบอาหารได้อย่างอร่อยเช่นกัน

• วงศ์ : Zingiberaceae วงศ์เดียวกับ ขิง ข่า กระวาน และเร่ว
• สกุล : Etlingera สกุลเดียวกับกาหลา และปุด
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Etlingera pavieana (Pierre ex Gagnep.) R.M.Sm.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
เร่วหอม ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1870 ที่ประเทศกัมพูชา โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Pierre J.B.L.Pierre โดยได้ให้ชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Amomumpavieanum Pierre ex Gagnep. ต่อมา L.E.T.Loesener ได้ย้ายเร่วหอมจากสกุล Amomum มาอยู่สกุล Achasma ตั้งชื่อใหม่ว่า Achasmapavieanum (Pierre ex Gagnep.) Loes.

ในปี ค.ศ. 1986 R.M.Smith ได้ย้ายเร่วหอมมาอยู่ในสกุล Etlingera ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน (Burtt & Smith, 1986) เร่วหอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศกัมพูชาลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบเร่วหอมได้มากในภาคตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณเขาชะเมา จังหวัดระยอง บริเวณเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และเกาะช้าง จังหวัดตราด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ลำต้นใต้ดิน มีลักษณะเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน เรียกว่า ลำต้นจริง มีลักษณะเป็นกระเปราะ แตกไหลสีขาวอมชมพูออกจากเหง้าเป็นหลายแฉกเพื่องอกเป็นต้นใหม่ เนื้อเหง้ามีกลิ่นหอม
2. ลำต้นเหนือดิน เป็นส่วนที่โผล่อยู่เหนือดินแทงออกจากเหง้าใต้ดิน มีลักษณะวงกลมสีเขียวอมน้ำตาล ซึ่งประกอบด้วยส่วนของกาบใบจำนวนหลายชั้นเรียงซ้อนกันแน่น เรียกว่า ลำต้นเทียม มีความสูงประมาณ 2-4 เมตร เมื่อลูบคลำลำต้นจะรู้สึกสากมือ

โดยเหง้า และลำต้นเหนือดินจะแตกกอกระจายห่างๆ ประมาณ 30-50 เซนติเมตร กอไม่แน่นเหมือนกับข่าหรือกระวาน ทั้งนี้ ต้นเร่วหอมจะไม่มีการทิ้งต้นตายหรือเหี่ยวแห้งเหมือนไม้ล้มลุกชนิดอื่น ซึ่งจะยังคงเขียวสดอยู่ได้นานหลายปี

ใบ
เร่วหอมจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกออกเรียงสลับตรงข้ามกันบนลำต้นส่วนเหนือดิน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกาบใบ เป็นส่วนกาบที่ห่อหุ้มแกนลำต้น โดยห่อเป็นชั้นร่วมกับกาบใบของใบอื่น ถัดมาเป็นก้านใบ มีขนาดสั้น และถัดมาเป็นแผ่นใบ มีลักษณะเรียวยาว แผ่นใบเรียบ หนา มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน แผ่นใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ขอบใบเรียบเรียบหรืออาจพบมีการโค้งเล็กน้อย มีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ และมองเห็นชัดเจน ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ปลายใบมีติ่งสั้น 1-1.5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกเร่วหอม จะแทงออกจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกสั้น ตัวช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนสลับกันตามความยาวของก้านดอก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีแดงสดใส ขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร

ผล
ผลเร่วหอม มีผลขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดสีดำเรียงตัวอัดแน่น

ประโยชน์เร่วหอม
1. เหง้าของเร่วหอมมีกลิ่นหอม และมีรสเผ็ด ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติของอาหารได้เป็นอย่างดี จึงนิยมนำมาบดเป็นผงสำหรับใช้เป็นเครื่องเทศผสมในการทำอาหารหลายชนิด อาทิ ผัดเผ็ด แกงป่า แกงเลียง ต้มพะโล้ และก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ทั้งนี้ ชาวจังหวัดจันทบุรี และจังหวดอื่นในภาคตะวันออกนิยมปลูกเร่วหอมเป็นผักสวนครัวภายในบ้านหรือหัวไร่ปลายนาสำหรับใช้ประกอบอาหาร และเก็บจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน
2. แก่นลำต้นอ่อนหรือยอดอ่อน มีกลิ่นหอม และกรอบ นิยมใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก แกงเลียง ผัดฉ่า และผัดเผ็ด เป็นต้น
3. รากมีกลิ่นหอม ใช้ทำหรือเป็นส่วนผสมของยาเส้น และยาหอมเย็น

ทั้งนี้ เร่วหอมจะมีลักษณะพิเศษที่ส่วนที่อยู่ใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นเหง้า ไหล หรือรากจะมีกลิ่นหอมมากโดยเฉพาะในขณะสด กลิ่นจะหอมมากไม่เหมือน ลูกเร่ว หรือลูกกระวานที่จะต้องตากแห้งแล้วป่นให้ละเอียดจึงส่งกลิ่นหอม ซึ่งเร่วหอม มีกลิ่นหอมกลมกล่อมหรือหอมละมุน ไม่หอมฉุดเหมือนเครื่องเทศทั่ว ๆ ไป และมีรสออกหวาน ซึ่งหวานกว่าอบเชยและโป๊ยกั๊กรวมกัน [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สารสำคัญที่พบ [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– สาร 4-methoxycinnamyl 4-coumarate
– สาร p-anisic acid
– สาร p-hydroxy benzaldehyde
– สาร 4-methoxycinnamyl alcohol
– สาร p-coumaric acid
– สาร trans-4-methoxycinnamaldehyde
– สาร (E)-methyl isoeugenol
– สาร trans-anethole
– สาร p-anisaldehyde

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
– ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการผลิตไนตริกออกไซด์ได้ โดยเฉพาะสาร 4-methoxycinnamyl p-coumarate ที่มีเป็นสารมีประสิทธิภาพสูง

สรรพคุณเร่วหอม
ราก และเหง้าใต้ดิน
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยลดไข้
– แก้หอบหืด
แก่นอ่อนลำต้น ยอดอ่อน และใบ
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ดอก
– ช่วยลดไข้
– แก้ผดผื่นคัน
ผล
– ช่วยแก้ไข
– แก้ริดสีดวง
– แก้ไอหืด ไอมีเสมหะ

ที่มา [1], [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ, [3]

การปลูกเร่วหอม
เร่วหอมนิยมปลูกด้วยการแยกหน่อหรือเหง้าเป็นหลัก เพราะเร่วหอมตามธรรมจะขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อจากเหง้าเป็นหลักเช่นกัน

การขยายพันธุ์เร่วหอม ทำได้ด้วยการขุดเหง้าพร้อมกับให้มีลำต้นเหนือดินติดมาด้วย ก่อนนำลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย หรือ อาจเพาะให้ตั้งต้นได้ก่อนที่ถุงเพาะชำ แล้วค่อยนำลงปลูกก็ได้เช่นกัน

แหล่งอ้างอิง
[1] ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์การต้านจุลชีพ-
ของน้ำมันหอมระเหยจากเร่วหอม.
[2] กล่าวขวัญ ศรีสุข และเอกรัฐ ศรีสุข, 2558, รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การประเมินศักยภาพ-ของ 4-methoxycinnamyl 4-coumarate ที่แยกได้จากเหง้าเร่วหอม-
ในการเป็นสารต้านอักเสบชนิดใหม่.
[3] www.wisdomking.or.th/tree/109 (สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)