บัวบกโขด/บัวบกโคก ไม้ป่าประดับยอดนิยม ใบทำวุ้น และสรรพคุณเด่น

Last Updated on 9 มิถุนายน 2023 by puechkaset

บัวบกโขด หรือ บัวบกโคก เป็นพันธุ์ไม้ป่าที่นิยมนำใบมาขยำน้ำทำเป็นวุ้นรับประทาน นอกจากนั้น ปัจจุบันนิยมใช้ปลูกเป็นไม้กระถางประดับในห้องหรืออาคาร เนื่องจากลำต้นมีหัวทรงกลม ใบมีรูปทรงกลมสีเขียวที่ถูกประด้วยลายสีขาวของเส้นใบ ทำให้แลดูแปลกตา และสวยงาม นิยมกันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

อนุกรมวิธาน
Kingdom (อาณาจักร) : Planate
Division (ดิวิชัน) : Anthophyta
Class (ชั้น) : Dicotyledonae
Order (อันดับ) : Ranales
Family (วงศ์) : Menispermaceae
Genus (สกุล) : Stephania
Species (ชนิด) : erecta

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stephania erecta Lour. หรือ Stephania erecta Craib
• ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– โกฏฐ์หัวบัว
– บัวบก
– บัวบกโขด

ตะวันออก
– บัวบก

อีสาน
– บัวบกโคก
– บัวโคก

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
บัวบกโขด/บัวโคก มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศแอฟริกา และเอเชีย พบได้ทั้งในอินเดีย เอสเตรเลีย ไทย พม่า ลาว และเวียดนาม

ที่มา : เพิ่มเติมจาก [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หัว และลำต้น
บัวบกโคก เป็นไม้เลื้อย ชนิดมีเนื้อไม้ โดยลำต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลำต้นใต้ดินหรือเรียกว่าหัว ทำหน้าที่สะสมอาหาร มีลักษณะทรงกลม เปลือกหัวสีน้ำตาล ผิวเปลือกขรุขระ เนื้อหัวมีสีขาวอมเหลือง ส่วนลำต้นเหนือดินจะแทงออกจากตรงกลางของหัว มีลักษณะเป็นเถาสั้นๆ อาจมี 1 ลำต้น หรือมากกว่า 1 ลำต้น

ใบ
ใบบัวบกโคกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับติดกับลำต้น แผ่นใบมีลักษณะวงกลม สีเขียวประด้วยสีขาวของเส้นใบ ขนาดประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หยาบ และเหนียว

ดอก
ดอกบัวบกโคกแทงออกเป็นช่อ ที่ซอกใบตลอดตามลำต้น ดอกมีสีเหลือง ขนาดเล็ก ดอกมีกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5-6 กลีบ เช่นกัน ส่วนตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน และรังไข่ 1 อัน

ผล และเมล็ด
ผลบัวบกโคกมีลักษณะโค้งงอรูปเสี้ยวพระจันทร์ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเทาอมดำ เปลือกผลแข็ง ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็ก สีดำ

สารสำคัญที่พบ
– ใบพบสาร Pectin

ที่มา : [3], [5]

สรรพคุณ
ใบ
– ใบขยำทำเยลลี่รับประทาน หรือ ต้มน้ำดื่ม แก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย แก้พิษจากโลหะหนัก
– นำใบมาขยำ ใช้ประคบแผล ช่วยห้ามเลือด และสมานแผล

ที่มา : [2]

การใช้ประโยชน์
1. ต้นบัวบกโขด เป็นไม้ป่าที่คนอีสานรู้จัก ใช้ประโยชน์ในด้านอาหารคล้ายกับใบเครือหมาน้อย บางครัวเรือนถึงกับนำมาปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในบ้านตัวเอง นิยมนำใบมาขยำกับน้ำ แล้วปรุงรส หรือ ใส่ผักอื่นร่วมด้วย แล้วตั้งทิ้งไว้สักพัก ซึ่งจะได้ของเหลวข้น มีลักษณะคล้ายวุ้นหรือเยลลี่ มักเรียกกันว่า ยาเย็น

2. ต้นบัวบกโขด มีอายุนานหลายปี มีหัวเป็นลำต้นทรงกลมแลดูแปลก มีลำต้นส่วนบนเป็นเถา ส่วนใบทรงกลม แผ่นใบสีเขียว ลายประสีขาวด้วยเส้นใบสวยงาม ส่วนดอกออกเป็นช่อ ขนาดเล็กสีเหลือง จึงนิยมปลูกเป็นไม้แปลกประดับในกระถาง ทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

ที่มา : [2]

แหล่งบังบกโขดตามธรรมชาติ
บัวบกโขดตามธรรมชาติพบได้มากในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เหนือ และตะวันออก โดยจะพบเป็นหัวในดิน หรือโผล่พ้นดิน ซึ่งหน้าแล้งใบจะร่วง ลำต้นจะเหี่ยวแห้งหรือแต่หัว แต่เมื่อฝนลงช่วงก่อนหน้าฝนจึงเริ่มแทงลำต้นใหม่ขึ้นมา พร้อมเติบโต ลำต้นยาวเป็นเถา และ แตกใบเขียวจนเห็นเด่นชัด จากนั้นจึงเหลือแต่หัวในหน้าแล้ง

วิธีปลูก วิธีเลี้ยง
1. การปลูกด้วยหัว
เป็นวิธีปลูกขยายพันธุ์ด้วยหัวพันธุ์ สามารถหาได้ตามป่าต่างๆ หรือหาซื้อตามร้านไม้ประดับ หรือ ทางออนไลน์ วิธีนี้รวดเร็ว และนิยมที่สุด ส่วนการปลูกสามารถปลูกหัวลงได้ทั้งในแปลงหรือในกระถางตั้งโชว์ประดับ โดยให้หัวโผล่พ้นดินมากกว่าครึ่งส่วนของหัว

2. การปลูกด้วยเมล็ด
นำเมล็ดแห้งลงเพาะในกระถาง จากนั้น รดน้ำเป็นระยะ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ รอจนเมล็ดงอก

3. วัสดุเพาะปลูก
วัสดุที่ใช้เพาะกล้าหรือปลูกหัวจะมีอัตราส่วน ดิน:ทราย:คอก ที่ 1:2:1

4. การเลี้ยงดูแล
เนื่องจากบัวบกโคก เป็นพืชชอบน้ำน้อย เติบโตได้ดีในที่แห้ง แสงแดดรำไร จึงควรรดน้ำเพียง 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ ไม่ควรรดให้ดินเปียกหรือมีน้ำขัง ส่วนจัดวางกระถางนั้น ให้ตั้งวางในที่แสงแดดรำไร สถานที่แดดไม่ร้อนจัด

เอกสารอ้างอิง
[1] 11-การสกัดเพคตินจากใบบัวโคก (Tephania erecta lour.).
[2] เทียนศักดิ์ เมฆพรรณนาโอกาส. เพคตินจากใบหมาน้อยและใบบัวโคก.