ชายผ้าสีดา ประโยชน์ และการปลูกชายผ้าสีดา

Last Updated on 5 ตุลาคม 2016 by puechkaset

ชายผ้าสีดา หรือ เฟิร์นชายผ้าสีดา (Staghorn fern) จัดเป็นเฟิร์นประดับชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกมากทั้งตามบ้านเรือน และแปลงจัดสวนหรือสวนหย่อม เนื่องจาก เป็นไม้ที่มีลำต้น และใบสวยงาม แลดูแปลกตา และช่วยให้ภูมิทัศน์ดูร่มรื่น คล้ายกับธรรมชาติตามป่าเขามาก แต่ทั้งนี้ ถือเป็นไม้ประดับที่มีราคาสูง เนื่องจากเพาะพันธุ์ได้ยาก

• อันดับ : Polypodiales
• วงศ์ : Polypodiaceae
• สกุล : Platycerium
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platycerium holttumii Joncheere & Hennipman
• ชื่อสามัญ : Staghorn fern
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ชายผ้าสีดา
– ช้าง
ภาคเหนือ
– กระเช้าสีดา
– ข้าวห่อพญาอินทร์
ภาคอีสาน
– สไบสีดา
– กระเช้าสีดา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เฟิร์นชนิดนี้เป็นเฟิร์นจำพวกอิงอาศัย ชอบแดด ลำต้นตั้งตรง และมีขนาดสั้น มีราก และใบคลุมรอบลำต้น โดยมีส่วนของลำต้นเป็นกาบอวบหนา ซึ่งจะโอบพันกับโขดหินหรือต้นไม้ ลำต้นอาจแตกแขนงหรือไม่แตกแขนงก็ได้ แผ่นลำต้นไม่มีเปลือก แต่มีขนปกคลุม ส่วนด้านในไม่เป็นเนื้อไม้ แต่เป็นเพียงเยื่อที่สานกันเป็นร่างแห

ส่วนรากจะเจริญออกมาบริเวณฐานของลำต้นหรือจากฐานใบด้านล่าง ประกอบด้วยรากฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก และแตกรากแขนงได้ยาวพันโอบล้อมโขดหินหรือต้นไม้ไว้ โดยรากอ่อนจะสังเกตได้จากปลายรากจะมีสีเหลือง

ในส่วนของใบจะประกอบด้วยใบ 2 ส่วน คือ ใบส่วนแรก เรียกว่า ใบกาบ หรือใบโล่ ถือเป็นใบที่ไม่สร้างสปอร์ ใบจะเติบโต และชูขึ้นด้านบน ใบมีขนาดใหญ่ ไม่มีก้านใบความกว้าง และความยาวของใบมีขนาดเท่าๆกัน ใบที่เกิดใหม่จะปิดทับใบเก่า ซึ่งใบเก่าจะโอบยึดลำต้นไว้ ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บใบไม้ผุพังสำหรับเป็นอาหาร และป้องกันรากของจากแสงแดดส่อง และลมพายุ

ใบส่วนที่สอง เรียกว่า ใบชายผ้า ทำหน้าที่สร้างสปอร์ ใบจะแตกออกแล้วห้อยลงล่างในแนวด้านข้าง พร้อมแตกแยกเป็นแผ่นอีก 3-4 ครั้ง ซึ่งบริเวณปลายใบจะเป็นบริเวณที่ทำหน้าที่สร้างอับสปอร์สำหรับขยายพันธุ์

ชนิดชายผ้าสีดาที่ในประเทศไทย 4 ชนิด
1. ชายผ้าสีดาอีสาน (Platycerium holttumii de Jonch. & Hennipm.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายในภาคเหนือ และภาคอีสาน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเลื้อยสั้น ปกคลุมด้วยเกล็ด ยาวประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร ขอบเกล็ดหยักเป็นซี่ฟัน ใบกาบเป็นแผ่นหนา ปลายบนเว้าลึกเป็นแฉกหลายชั้น ส่วนใบชายผ้า ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โคนก้านสั้น โคนใบเป็นแผ่นกว้าง แตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่ใกล้โคนใบ ขนาดเล็ก และอยู่เหนือส่วนที่สอง โดยแผ่นใบแต่ละส่วนมีลักษณะแผ่กว้าง ขอบแผ่นใบเรียบ ตรงกลางแผ่นใบโค้งเว้า ซึ่งด้านล่างเป็นบริเวณที่สร้างสปอร์ และมีขนรูปดาวปกคลุมอับสปอร์

ชายผ้าสีดาอีสาน
ชายผ้าสีดาอีสาน

2. ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้ (Platycerium coronarium (Koen.) Desv.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายในพม่า เขมร ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออกของไทย มีลักษณะเด่น คือ ใบกาบตั้งห่อแน่น สีเขียว ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายแตกเป็นริ้ว มีลอนร่องลึกประมาณ 25 เซนติเมตร มีลำต้นอวบสั้น และขนสีน้ำตาลปกคลุมที่ส่วนปลาย ส่วนใบชายผ้ามีสีเขียวเข้ม และเป็นมันเงา ริ้วใบบิดเป็นเกลียว และห้อยลงมา ความยาวประมาณ 1 เมตร มีแขนงสร้างสปอร์รูปร่างครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวใบมีขนรูปดาวปกคลุมอับสปอร์

ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้
ชายผ้าสีดาปักษ์ใต้

3. ชายผ้าสีดาเขากวางใบตั้ง (Platycerium ridleyi Christ, Ann. Buitenz.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายในพม่าตอนใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย มีลักษณะเด่น คือ ใบที่ไม่สร้างสปอร์เป็นพูบางๆ ขอบใบด้านบนสั้นแน่นคล้ายผักกาด ใบเขากวางจะชูตั้งขึ้น แตกแฉกเป็นกิ่งหลายชั้น อวัยวะที่สร้างสปอร์จะเกิดเป็นกิ่งแยกออกจากโคนใบ เขากวาง ซึ่งมีลักษณะรูปกลมรี คล้ายช้อนคว่ำ

ชายผ้าสีดาเขากวางใบตั้ง
ชายผ้าสีดาเขากวางใบตั้ง

4. ชายผ้าสีดาห่อข้าวย่าบา หรือ ห่อข้าวสีดา (Platycerium wallichii Hook.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายใน อินเดีย พม่า และทางภาคเหนือของไทย ซึ่งมักเกิดเป็นกระจุกอยู่ตามคบไม้ เช่น ป่าสัก ป่าเต็งรัง มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสั้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ลำต้นปกคลุมด้วยเกล็ดแข็ง ใบกาบชูตั้งขึ้น และปลายขอบเป็นแฉกลึก ใบชายผ้ามีเส้นใบนูนเด่นชัด บนผิวใบด้านบนเป็นพู ใบหลักมี 1 ใบ ขนาดใหญ่ ซึ่งแยกเป็นแฉก และห้อยลงด้านล่าง โดยมีแผ่นอับสปอร์ขนาดใหญ่ติดอยู่ด้วย นอกจากนี้ อาจพบพูย่อยเกิดที่ด้านข้างพร้อมแผ่นอับสปอร์ขนาดเล็กติดอยู่อีกชิ้นหนึ่ง

ชายผ้าสีดาห่อข้าวย่าบา
ชายผ้าสีดาห่อข้าวย่าบา

ชนิดชายผ้าสีดาที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย
1. ชายผ้าสีดาฮิลลิอาย (Platycerium hillii T. Moore)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายตามชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ มีลักษณะเด่น คือ ใบกาบสีเขียวอ่อนกลมมน ห่อแนบปลายใบไม่เผยอขึ้น เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบชายผ้าสีเขียวเข้ม ชูตั้งขึ้น แต่บางครั้ง ปลายใบอาจพับลง มีขนปกคลุมบางๆ โคนใบแคบ ส่วนปลายแผ่ออกกว้าง แตกริ้วได้มาก มีทั้งหยักลึก และตื้น แถบอับสปอร์เกิดบริเวณปลายใบ ไม่ชอบแสงแดดจัด

ชายผ้าสีดาฮิลลิอาย
ชายผ้าสีดาฮิลลิอาย

2. เขากวางออสเตรเลีย (Platycerium bifurcatum (Cav.) C.Chr.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายในทางตอนใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ มักพบเกาะเติบโตบนก้อนหินใหญ่หรือตามหน้าผาหิน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นเป็นเหง้า แตกสาขาได้กว้างขวาง ใบกาบตั้ง ปลายหักเป็นพูลึก ใบจริงตั้งกึ่งเอียง แต่จะห้อยลงด้านล่าง ใบหากมีอายุมาก รูปทรงสามเหลี่ยมแคบ ปลายใบแตกเป็นพูคู่ พูคู่สุดท้ายมักห้อยลง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร และมีความกว้าง 3 เซนติเมตร อับสปอร์อยู่ตามปลายพู

เขากวางออสเตรเลีย
เขากวางออสเตรเลีย

3. ชายผ้าสีดาวิตชิอาย (Platycerium veitchii C. Chr.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายตามภูเขาบริเวณตอนกลาง และทางตอนเหนือในรัฐควีนส์แลนด์ ถือเป็นพันธุ์ที่ทนความร้อน และความแห้งแล้งได้ดี เพราะมีขนหนาที่ปกคลุมผิวใบเพื่อเก็บความชุ่มชื้น มีลักษณะเด่น คือ ผิวใบปกคลุมด้วยขนละเอียด สีขาวหรือสีเทาเงิน ปลายใบกาบชูตั้ง และแตกริ้วฝอยเป็นเส้นแคบยาว ใบชายผ้าแคบชูขึ้น ปลายใบแตกเป็นแฉก แต่ไม่บานนออกมากนัก แถบอับสปอร์เกิดบริเวณปลายใบ

ชายผ้าสีดาวิตชิอาย
ชายผ้าสีดาวิตชิอาย

4. ชายผ้าสีดาซูเปอร์บัม (Platycerium superbum de Jonch. & Hennipm.)
เป็นชายผ้าสีดาที่พบแพร่กระจายตามแนวชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์ และรัฐนิวเซาท์เวลส์ จัดเป็นพันธุ์ที่ทนอากาศหนาวได้ดี มีลักษณะเด่น คือ ตาหรือจุดแตกยอดของเขากวางจะมีสีเขียวอ่อน และปกคลุมด้วยเกล็ดสีเขียว ส่วนใบมีลักษณะเป็นโล่แผ่ตั้งขึ้น และแตกปลายเป็นแฉกพูลึก ซึ่งจะมีความยาวได้ถึง 1.3 เมตร ขอบใบด้านบนแบะออกด้านนอก ส่วนด้านในเป็นแอ่งคล้ายตะกร้า ส่วนใบชายผ้าจะห้อยยาวลงด้านล่าง และยาวได้ถึง 2 เมตร ส่วนอับสปอร์จะเกิดเป็นผืนใหญ่แผ่นเดียว ซึ่งจะอยู่บริเวณโคนตรงง่ามที่แตกสาขาคู่แรก

ชายผ้าสีดาซูเปอร์บัม
ชายผ้าสีดาซูเปอร์บัม

ประโยชน์ชายผ้าสีดา
1. ชายผ้าสีดาเป็นเฟิร์นที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับมาก เนื่องจาก เป็นเฟิร์นที่มีรูปร่างแปลก สวยงาม และหายาก ซึ่งนิยมนำมาปลูกด้วยการผูกรัดติดกับต้นไม้ที่ปลูกไว้ภายในบ้านเป็นหลัก ทำให้ภูมิทัศน์ภายในบ้านดูร่มรื่นคล้ายกับสภาพแวดล้อมในป่า
2. ข้อมูลบางตำรา กล่าวว่า บางส่วนของชายผ้าสีดา โดยเฉพาะชายผ้าจากต้อนอ่อนสามารถนำมาประกอบอาหารหรือรับประทานได้

การปลูก และขยายพันธุ์ชายผ้าสีดา
ชายผ้าสีดา เป็นพืชไม่มีดอก ไม่มีผลหรือเมล็ด แต่มีส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ คือ สปอร์ ซึ่งจะสร้างสปอร์ได้เมื่อต้นเติบโตเต็มที่ โดยจะสร้างอับสปอร์ขึ้นบริเวณด้านล่างของใบที่ด้านในบรรจุสปอร์ขนาดเล็กจำนวนมาก และเมื่อสปอร์แก่ อับสปอร์จะปริออก พร้อมปล่อยให้สปอร์ลอยตามแรงลมออกไป ซึ่งหากสปอร์ตกใส่เปลือกไม้หรือกาบไม้ที่มีความชื้นเหมาะสม สปอร์ก็จะพัฒนาจนถึงระยะ แกมีโตไฟต์ ซึ่งจะมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของสเปิร์ม และรังไข่ ผสมกันจนเกิดเป็นต้นอ่อนของชายผ้าสีดาขึ้น

การขยายพันธุ์ชายผ้าสีดาถือเป็นเรื่องยากมากกว่าการปลูก เนื่องจาก เป็นพืชที่เติบโตได้ด้วยสปอร์ขนาดเล็ก และกว่าจะได้สปอร์ และสร้างภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้สปอร์งอกเป็นต้นใหม่นั้นจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงมกพบชาวบ้านเข้าเก็บต้นอ่อนชายผ้าสีดาจากป่าตามธรรมชาติมาจำหน่ายแทน แต่ทั้งนี้ ก็มีการเพาะขยายพันธุ์ได้มาก และรวดเร็วขึ้นในปัจจุบันด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่

การขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ
1. การชำตา
เฟินชายผ้าสีดา สามารถสร้างตาหรือแตกหน่อได้จากส่วนราก โดยต้นอ่อนจะยังติดอยู่กับต้นแม่ และเริ่มสร้างระบบราก ก้านที่ติดกับต้นแม่จะทำหน้าที่เป็นทางลำเลียงน้ำ และอาหารไปเลี้ยงต้นเฟิร์นต้นใหม่ที่กำลังสร้างราก เมื่อมีขนาด 2-3 นิ้ว ก็สามารถตัดแยกต้นอ่อนออกจากต้นแม่ และนำไปชำดูแลต่อได้ ด้วยการนำกระถางชำไปวางในที่ร่มที่มีแสงแดดรำไรจนกว่าต้นอ่อนจะออกรากดีแล้วจึงเพิ่มแสงให้มากขึ้น

2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เฟินชายผ้าสีดา สามารถนำชิ้นส่วนต่างๆ อาทิ ใบอ่อน มาเพาะเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์เพื่อให้เกิดเป็นต้นใหม่ได้ แต่ต้องใช้อาหารสังเคราะห์ที่เหมาะเท่านั้นถึงจะขึ้นได้ ทั้งนี้ พบการศึกษาใช้อาหารสังเคราะห์ Murashige and Skoog (MS) เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อชายผ้าสีดาออสเตรเลียที่เติม 6-Benzyladenine (BA) ขนาด 0 1.12 มิลลิกรัม/ลิตร พบว่า สามารถชักนำให้เนื้อเยื่อชายผ้าสีดาออสเตรเลียเกิดรากได้มาก และเร็วขึ้น

การขยายพันธุ์แบบใช้เพศ
1. การเพาะสปอร์ด้วยวัสดุเพาะ
ภาชนะที่เหมาะที่สุดในการใช้เพาะสปอร์ชายผ้าสีดาหรือเฟิร์นทุกชนิด คือ กระถางดินเหนียว ส่วนยวัสดุเพาะที่เหมาะสม คือ ดินเหนียว ด้วยการสับส่วนของใบชายผ้าสีดาบริเวณที่มีอับสปอร์ให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกบางๆกับหน้าดินเหนียวในกระถาง ก่อนใช้ผ้าปิดกระถางไว้ แล้วนำกระถางมาตั้งไว้ในที่แสงรำไร สภาพแวดล้อมภายนอกค่อนข้างเย็น ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งมักเพาะบริเวณพื้นที่สูงที่มีอากาศเย็น หรือ เพาะในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิหรืออาจเพาะในบางช่วงฤดูที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ได้ และเมื่อชายผ้าสีดาโตได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร ค่อยนำลงปลูกบนวัสดุ ซึ่งจะพ่นละอองน้ำให้ชุ่มชื้นเสมอ และเมื่อเฟินโตจนแตกใบจริงแล้ว ค่อยทำการแบ่งกอ และย้ายปลูกเป็นต้นเดี่ยวๆ ต่อไป

2. การเพาะสปอร์ในสภาพปลอดเชื้อ
เป็นการเพาะในลักษณะคล้ายวิธีแรก แต่จะใช้อาหารเลี้ยงที่ผสมขึ้นเอง Murashige and Skoog ที่เติมซูโครส 15 กรัม/ลิตร และต้องทำในห้องที่ควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการเติบโต อาทิ สภาพความเป็นกรด-ด่าง ความชื้น แสง และอุณหภูมิ

ที่มา : 1) กล่าวถึงในเอกสารหลายฉบับ

ข้อเสนอแนะ
ชายผ้าสีดาที่มีจำหน่าย บางส่วนเป็นชายผ้าสีดาที่ชาวบ้านออกหา และเก็บมาจากป่าธรรมชาติ ซึ่งหากมีการเก็บมาจำหน่ายมาก ป่าบริเวณนั้น มักสุ่มเสี่ยงที่จะไม่พบชายผ้าสีดาให้เห็นอีก เนื่องจากต้นชายผ้าที่ดาที่เก็บมา มักเป็นต้นที่ยังไม่โตเต็มที่ และยังไม่มีการสร้างสปอร์ ทำให้ไม่มีสปอร์หลงเหลือตามป่าอีก

ขอบคุณภาพจาก http://www.siamexotica.com, www.actaplantarum.org

เอกสารอ้างอิง
untitled