ต้อยติ่ง/อังกาบ ประโยชน์ และสรรพคุณต้อยติ่ง

Last Updated on 5 ตุลาคม 2016 by puechkaset

ต้อยติ่ง (Cracker plant) จัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่ครั้งนำเข้ามาแต่ก่อนเพียงเพื่อการปลูกประดับดอก แต่เนื่องจากเป็นพืชที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว จึงกลายเป็นวัชพืชที่สำคัญชนิดหนึ่ง แต่ทั้งนี้ บางครัวเรือนก็มีการปลูกเพื่อชมดอก รวมถึงใช้ในด้านสมุนไพรร่วมด้วย

• วงศ์ : Acanthaceae
• ชื่อสามัญ :
– Popping pod
– Minnie root
– Cracker plant
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ruellia tuberosa Linn.
• ชื่อท้องถิ่น :
– ต้อยติ่ง
– ต้อยติ่งเทศ
– อังกาบ
– อังกาบฝรั่ง
– เป๊าะแป๊ะ

ชนิด และการแพร่กระจาย
พืชในวงศ์ต้อยติ่งมีมากกว่า 240 สกุล และมีชนิดย่อยมากถึง 2,200 ชนิด ซึ่งพบแพร่กระจายมากที่สุดในประเทศเขตร้อนชื้น โดยเชื่อว่ามีแหล่งแพร่กระจายในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้

ส่วนต้อยติ่งที่พบในประเทศไทยนั้นมีหลายชนิดเช่นกัน แต่มีพืชหลายชนิดที่เรียกชื่อว่า ต้อยติ่ง ได้แก่
1. ต้อยติ่ง หรือ อังกาบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ruellia tuberosa Linn. เป็นพืชในวงศ์ต้อยติ่งที่นิยมเรียกชื่อว่า ต้อยติ่งมากที่สุด พบแพร่กระจายในทุกภาค มักพบบริเวณที่โล่งที่มีหญ้าขึ้นน้อย ทั้งลานดิน พื้นที่ว่างตามชุมชนหรือบ้านเรือน มีลักษณะเด่นที่ดอกมีสีม่วง เมล็ดเรียวยาว เปลือกเมล็ดสีดำ เมื่อนำเมล็ดมาแช่น้ำจะปริแตกอย่างรวดเร็ว และมีเสียงดัง

ต้อยติ่ง/อังกาบ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ เชื่อว่าถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อในประเทศไทยเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามแปลงจัดสวนหรือพื้นที่ว่างๆต่างๆ แต่ภายหลังมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นสำหรับชาวไร่ชาวสวนมาจนถึงทุกวันนี้

2. ต้อยติ่ง หรือ ต้อยติ่งน้ำ หรือ ต้อยติ่งนา รวมถึงชื่ออื่นๆ อาทิ ทุ่งฟ้า , ปิงปัง, ปุงปิง และหญ้าดีดไฟ ต้อยติ่งชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hygrophila erecta (Burn.) Hochr. ลำต้นมีลักษณะแตกต่างจากชนิดแรก คือ ลำต้นเล็ก ลำต้นตั้งตรง ลำต้นมีความสูงมากกว่าชนิดแรก ซึ่งสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ผิวลำต้นมีสีม่วง ใบเรียวแหลม แผ่นใบมีสีเขียวเข้มถึงอมม่วง มักพบในที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขังบางครั้งคราว

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3

3. ต้อยติ่งเครือ หรือ ต้อยติ่งเถา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dipteracanthus repens (L.) Hassk. ซึ่งจะมีสว่นของใบ และดอกคล้ายกับต้อยติ่งชนิดแรก แต่ดอกเล็กกว่า และมีสีม่วงจางกว่า รวมถึงลำต้นเป็นประเภทกึ่งเลื้อย ส่วนฝักมีส่วนปลายพองออก ซึ่งไม่เรียวแหลมเหมือนกับชนิดแรก

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad

ที่มา : 1)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้อยติ่ง/อังกาบ
ลำต้น
ต้นต้อยติ่ง/อังกาบ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่โคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ ลำต้น และกิ่งมีขนาดเล็ก เปลือกลำต้น และกิ่งมีสีเขียว และมีขนอ่อนปกคลุม

ใบ
ใบต้อยติ่ง/อังกาบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ ๆตรงข้ามกันตามลำต้น และกิ่ง ใบมีรูปไข่ มีสีเขียวสด กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตรโคนใบสอบแคบ ปลายใบค่อนข้างมน แผ่นใบ และขอบใบเป็นลูกคลื่นเล็กน้อย

ดอก
ดอกต้อยติ่ง/อังกาบ ออกเป็นช่อหรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ บริเวณซอกใบตามปลายยอด แต่ละช่อมีดอกเดียวหรือ 2-3 ดอก/ช่อ ดอกมีก้านดอกยาว 3-4 เซนติเมตร ตัวดอกมีขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบมีลักษณะมน ขนาดกลีบดอกประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นกรวย หน้าตัวดอกเป็นรูปปากแตร ถัดมากลางดอกจะมีเกสรตัวผู้ 4 อัน แยกกันเป็น 2 คู่ แต่ละคู่ยาวไม่เท่ากัน ส่วนเกสรตัวเมียจะยาวกว่าเกสรตัวผู้ทั้ง 2 คู่ ส่วนรังไข่จะมี ovule 24 อัน

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87

ผล
ผลต้อยติ่ง เรียกว่า ฝัก ที่มีลักษณะทรงกระบอก และเรียวยาว ปลายทั้งสองด้านแหลม ขนาดฝักประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีเปลือกฝักสีเขียว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และสีดำเมื่อแก่เต็มที่ ฝักแก่มีเปลือกฝักสีดำ มีร่องฝักแบ่งออกเป็น 2 ซีก ด้านในมีเมล็ด 8-15 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน คล้ายเหรียญบาท เปลือกเมล็ดมีสีดำ และมีขนยาวขนาดเล็ก (ตาเปล่ามองไม่เห็น) ทั้งนี้ ฝักแก่เมื่อถูกน้ำหรือสัมผัสความชื้นก็จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก ตามร่องแบ่งแกนฝัก

%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87

ประโยชน์ต้อยติ่ง
1. ใช้ปลูกเพื่อประดับดอก เนื่องจากดอกมีสีม่วงสวยงาม ลำต้นไม่สูงมาก ซึ่งนิยมปลูกด้วยการหว่านเมล็ดลงแปลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเวลาออกดอก จะออกดอกบานสะพรั่งพร้อมกันทั่วแปลง
2. ใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน ลดการกัดเซาะหน้าดิน
3. ใช้ปลูกเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด ซึ่งจะไถกลบในระยะออกดอกหรือหลังการติดฝักใหม่ ทั้งนี้ ไม่ควรไถกลบในระยะที่เมล็ดแก่แล้ว เพราะเมล็ดจะงอก และเติบโตแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชของพืชผักหรือพืชหลักได้
4. เมล็ดแก่ของต้อยติ่ง ในสมัยก่อนเด็กๆมักนำแกล้งกันเล่น ด้วยการนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำ แล้วยัดใส่เสื้อของเพื่อน หลังจากนั้น เมล็ดก็จะปริแตกออกอย่างรวดเร็ว และมีเสียงดัง เป๊าะแป๊ะ คล้ายระเบิดเล็กๆ ซึ่งเปลือกเมล็ดจะกระทบผิวหนังทำให้รู้สึกแสบ และตกใจได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมักนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำ เพื่อให้เมล็ดปริแตก ทำให้น้ำกระเด็น และเกิดเสียงดัง เป็นที่น่าเพลิดเพลินของเด็กๆ

สรรพคุณต้อยติ่ง
ราก นำมาต้มดื่ม
– ใช้ดับพิษไข้ ลดอาการร้อนใน
– ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเล็ด
-ช่วยขับเลือดประจำเดือน
– บรรเทาอาการไอ และแก้เสมหะ
– ช่วยให้เจริญอาหาร
– ช่วยกระตุ้นทำให้อาเจียน

ใบ
– ใบนำมาบดหรือขยำ ก่อนใช้ทาพอกรักษาแผล ทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลมีน้ำหนอง
– ใบนำมาเคี้ยว ช่วยแก้อาการปวดฟัน
– ใบนำมาขยำ ใช้ทาบริเวณแมลงกัดต่อยเพื่อช่วยลดอาการบวม
– ใบนำมาต้มน้ำอาย ช่วยแก้ผื่นคัน รักษาโรคผิวหนัง

ดอก นำมาต้มหรือชงดื่ม
– ป้องกัน และรักษามะเร็ง
– ช่วยดับพิษไข้
– บรรเทาอาการไอ
– ช่วยบำรุงสายตา
– ช่วยให้ผ่อนคลาย และนอนหลับง่าย
– ช่วยให้ผิวพรรณแลดูสดใส

เมล็ด
– สมัยโบราณ นิยมนำเมล็ดแก่มาแช่น้ำจนปริแตก และเก็บเปลือกเมล็ดรวมกัน ก่อนนำมาโปะแผลที่มีน้ำหนอง ซึ่งเปลือกเมล็ดจะช่วยดูดซับน้ำหนอง ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว นอกจากนั้น ยังนำไปใช้กับแผลสด แผลเปื่อย หรือแผลอักเสบได้อย่างดีด้วย
– เมล็ดสด นำมาบด และผสมน้ำ ก่อนใช้ทารักษาฝ้า หรือ ช่วยลดเรือนริ้วรอยบนใบหน้า

เพิ่มเติมจาก : 2)

ข้อเสียต้อยติ่ง
1. ต้อยติ่งเป็นพืชล้มลุกที่ฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เมื่อฝักร่วงลงดิน และมีความชื้นเพียงพอ ฝักจะปริแตกอย่างรวดเร็ว ทำให้เมล็ดกระเด็นไปได้ไกล ประกอบกับเมล็ดมีอัตราการงอกสูง จนทำให้เกิดต้นใหม่ และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจึงกลายเป็นวัชพืชในแปลงเกษตร โดยเฉพาะแปลงผัก และไม้ผลต่างๆ แต่ทั้งนี้ ต้อยติ่งมีระบบรากไม่ลึก ลำต้นแตกเป็นกอจึงสามารถถอนง่ายด้วยมือ แต่หากแพร่กระจายมาก ก็ควรใช้วิธีไถกลบ ซึ่งควรไถกลบในระยะออกดอกหรือฝักยังมีสีเขียวอยู่เพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยพืชสดต่อไป
2. ต้อยติ่ง เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ไม่ทนต่อดินเค็ม รวมถึงสามารถทนต่อการเหยียบย่ำได้ดี และแพร่กระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่แพร่ปกคลุมบริเวณได้ทั่ว ทำให้พืชประจำถิ่นบางชนิดไม่สามารถแพร่กระจายหรือเติบโตได้ตามปกติ

ขอบคุณภาพจาก www.biogang.net, catalog.digitalarchives.tw, www.nanagarden.com

เอกสารอ้างอิง
1) วิไลวรรณ เชาวนโยธิน และณรงค์ โฉมเฉลา. 2516. การศึกษาทางพฤกษศาสตร์ของต้อยติ่ง.
2) เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. 2508. ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณของยาเทศและยาไทย.