กระดังงาไทยหรือกระดังงาใหญ่

Last Updated on 20 มีนาคม 2015 by puechkaset

กระดังงาไทย จัดเป็นพืชสมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากให้ดอกกที่มีกลิ่นหอม ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีสารสำคัญที่ช่วยบรรเทาโรคได้หลายชนิด อาทิ แก้วิงเวียนศรีษะ บำรุงหัวใจ บำรุงระบบประสาท เป็นต้น

กระดังงาไทย (Ylang-ylang tree, Ilang-ilang ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lamk) Hook. f. Thomson var ordorata ในวงศ์ Annonaceae จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่น อาทิ กระดังงา (ใต้) กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (กลาง) สะบันงา สะบันงาต้น (เหนือ)

ลักษณะทั่วไป
• ลำต้น
กระดังงาไทยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกผิวเรียบ แตกกิ่งตามลำต้น กิ่งแรกๆจะหลุดร่วง เหลือเฉพาะกิ่งที่อยู่สูงใกล้ปลายยอด มีรูปทรงสามเหลี่ยม กิ่งมีลักษณะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง

ต้นกระดังงาไทย

• ใบ
ใบรูปทรงรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนเล็กน้อย มีเส้นใบประมาณ 5-9 เส้น ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร

• ดอก
ดอกแทงออกบริเวณตั้งแต่กลางกิ่งจนถึงปลายกิ่ง แต่จะพบออกมากที่ปลายกิ่ง แทงออกเป็นกลุ่ม 1-6 ดอก ดอกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 3 กลีบ เรียงกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ เมื่อบานเต็มที่ดอกกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเรียวแหลมโค้งงอ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

•ผล
ผลออกเป็นกลุ่ม ลักษณะทรงกลม 4-15 ผล/พวง เมื่อแก่จะมีสีเขียวคล้ำเกือบดำ ด้านในประกอบด้วยเมล็ดรูปไข่ ทรงแบนสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร

ผลกระดังงาไทย

สารสำคัญที่พบ
ในกระดังงามีสารเคมีที่ชื่อ Linalool ซึ่งเป็น terpene alcohol สารเดียวกับที่พบในดอกลาเวนเดอร์ที่ช่วยให้นอนหลับ และพบน้ำมันหอมที่เรียกว่า Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด ได้แก่ Benzyl acetate, Benzyl alcohol, Borneol, Geranyl acetate, Safrol, Caryophyllene, Farnesol, Terpineol, Linalol, Limonene, Methyl salicylate เป็นต้น

ประโยชน์
• น้ำมันหอมระเหยมีสีเหลืองเรื่อๆ ใช้ในด้านความสวยความงาม ใช้บำรุงผิว บำรุงผมให้ดกดำ ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง และเป็นส่วนผสมของน้ำหอมต่าง ๆ
• น้ำมันหอมระเหยใช้ทาแก้ผดผื่น ทานวดแก้แมลงกัดต่อย
• น้ำมันหอมระเหยใช้ทานวดแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
• น้ำมันหอมระเหยใช้ปรุงขนม และประกอบอาหาร เช่น ใช้ผสมในการทำขนมปัง ใช้เป็นน้ำมันทอด เป็นต้น
• น้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นสารไล่แมลง
• เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น
• เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้ทำฟืน ต้นขนาดใหญ่แปรรูปเป็นไม้แผ่นใช้สำหรับการก่อสร้าง

สรรพคุณ
• ใบ และเนื้อลำต้นไม้ใช้ต้มดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ
• เปลือกมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย
• เนื้อไม้มีรสขมเฝื่อน ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
• ดอก รสหอมสุขุม บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้เป็นลม วิงเวียนศรีษะ และนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค แก้อาการซึมเศร้า แก้อาการกระวนกระวาย ช่วยสงบประสาท บำรุงประสาท ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ขับลม แก้หืดหอบ
• เปลือก ใบ และดอก พบสารที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส รวมถึงมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง

ต้นกล้ากระดังงาไทย

การปลูก
กระดังงาไทยเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ไม่ชอบดินเค็ม และดินเป็นกรดจัด และน้ำท่วมขัง นิยมปลูกใกล้ตัวบ้าน เพราะจะให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ในตอนเช้า และเย็นตอนดอกบาน ต้นที่ปลูกได้ประมาณ 3 ปี จะเริ่มให้ดอกได้