ข่า สรรพคุณ และการปลูกข่า

Last Updated on 13 มิถุนายน 2016 by puechkaset

ข่า จัดเป็นพืชสมุนไพร และเครื่องเทศที่มีนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านอาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ และความงาม เนื่องจากประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาโรค และสารต้านอนุมูลอิสระ

เหง้าข่าอ่อนมีอายุประมาณ 4-7 เดือน มักใช้นำมาประกอบอาหาร และบริโภค เช่น เป็นผักลวกร่วมกับน้ำพริก ประกอบอาหารประเภทแกง ต้ม ส่วนข่าแก่นิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพร ทั้งในรูปสารสกัด ผงข่า และน้ำมันหอมระเหย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เหง้า/ลำต้นใต้ดิน
ข่ามีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า เหง้า (Rhizome) แตกออกเป็นแง่งแผ่ไปกับพื้นดิน แต่ละแง่งจะมีรากแขนงขนาดใหญ่ไม่กี่เส้นแทงลึกลงใต้ดิน

ข่า

ใบ และกาบใบ
ส่วนที่อยู่เหนือดินมักเข้าใจ และเรียกเป็นลำต้น แต่ความจริงเป็นก้านใบ และใบ ที่แตกออกจากเหง้าใต้ดินเรียงซ้อนเป็นวง ซ้อนทับกันแน่น เรียกว่า ลำต้นเทียม มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร  ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบมีลักษณะรูปไข่ ยาวรี ปลายใบแหลม มีสีเขียวเข้ม เป็นมัน และออกสลับข้างกัน

ต้นข่า

ดอก
ดอกข่าเป็นแบบช่อ แทงออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาวตรง ช่อดอกประกอบด้วยดอก 10-30 ดอก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น และสายพันธุ์ ดอกมีขนาดเล็กคล้ายดอกกล้วยไม้ ประกอบด้วยกลีบดอกสีขาว ขาวนวล หรือขาวอมชมพู ช่อดอกที่แทงขึ้นใหม่จะมีกาบ (Spathe) สีเขียวอ่อนหุ้มอยู่ แต่เมื่อดอกบานกาบนี้จะหลุดไป

ดอกข่า

ผล
ผลมีรูปร่างกลมรี เปลือกแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีแดงส้ม ภายในมีเมล็ดสีดำ 1 ดอก จะติดเพียง 1 ผล

ข่าชนิดอื่นที่พบในประเทศไทย
1. ข่าเล็ก
เป็นข่าพื้นเมืองของเกาะไหหลำ พบปลูกในบางพื้นที่ของภาคใต้ ลำต้นมีขนาดเล็ก เหง้ามีสีน้ำตาลปนแดง เนื้อเหง้ามีสีเหลือง มีกลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อนมาก นิยมมาประกอบอาหารบ้าง แต่ส่วนมากใช้ประโยชน์ทางยา โดยพบน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.3-1.5% พบสารประกอบฟีนอล 4 ชนิด คือ trans-p-Coumaryl diacetate, 4-Hydroxycinnamoylaldehyde, 1´-Acetoxychavicol acetate และ β–Sitosterol

2. ข่าป่า เป็นข่าที่พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีลักษณะลำต้นสูง ลำต้น และใบคล้ายกับข่าที่ปลูกทั่วไป หัวมีกลิ่นฉุนน้อย

3. ข่าลิง (ข่าน้อย)
มีลักษณะลำต้นเล็ก มีสารประกอบฟีนอลหลายชนิด เช่น 1, 7-diphenyl-3,5-heptanedione, flavonoids, diarylheptanoids และ phenylpropanoids

4. ข่าคม
มีลักษณะใบมน มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกมีใบประดับ กลีบดอกสีขาว แผ่เป็นแผ่น และมีแถบสีเหลืองส้มบริเวณกลางกลีบดอก

5. ข่าน้ำ (เร่ว, กะลา)
เป็นข่าพื้นบ้านที่ปลูกเพื่อจำหน่ายของ อ.ปากเกล็ด จ. นนทบุรี เหง้ามีรสจืดกว่าข่า ช่อดอกสีชมพู

พันธุ์ข่า และแหล่งปลูก
– ข่า : เลย นครนายก ลพบุรี ชลบุรี ตราด
– ข่าใหญ่ : นครพนม หนองคาย ขอนแก่ อำนาจเจริญ มุกดาหาร ลพบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช หนองลำภู พิษณุโลก
– ข่าเล็ก : นครศรีธรรมราช พิจิตร
– ข่าน้อย : สกลนคร
– ข่าหยวก : สุโขทัย เลย พิจิตร ขอนแก่น นครสวรรค์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี อำนาจ แพร่ เชียงราย
– ข่าเหลือง : ชัยนาท ตาก
– ข่าตาแดง : กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี กะบี่ ตรัง
– ข่าหลวง : กะบี่
– ข่าแกง : ลพบุรี อยุธยา ชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ เลย
– ข่ากลาง : ขอนแก่น
– ข่าลิง : ชลบุรี ปราจีนบุรี

สารสำคัญที่พบ
1. น้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหย (Essential oils) ประกอบด้วยสารสำคัญส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นสารประกอบ Terpene alcohols, Ketones, Esters, Aldehydes และสารอนุพันธ์ Phenylpropane ในเหง้าข่าแก่มีน้ำมันหอมระเหยประมาณร้อยละ 0.2-1.5 ของน้ำหนักแห้ง ส่วนในเหง้าสดมีประมาณร้อยละ 0.1 โดยพบสาร 1´-Acetoxychavicolacetate (ACA) ในปริมาณมาก ร้อยละ 76.5 สารเคมีที่พบรองลงมา คือ p-Coumaryl diacetate ร้อยละ 8.0, กรด Palmitic ร้อยละ 3.2 และ 1´-Acetoxyeugenol acetate (AEA) ร้อยละ 3.1 สารออกฤทธิ์ที่พบมากสุดในน้ำมันหอมระเหยในเหง้า คือ 1,8-Cineole ร้อยละ 64.2 รองลงมา คือ Limonene ร้อยละ3.7

นอกจากนั้น เหง้าข่า (A. galanga) มีสารประกอบในกลุ่ม Tetraterpenes  คือ Carotenoids ประมาณ 0.6-1.1 mg% และ Tannins 17.7 mg% และยังพบกรด  Ascorbic 7.9 mg% และ α–Tocopherols เพียงเล็กน้อย 0.004 mg%

น้ำมันหอมระเหยในลำต้นเทียมมีสาร trans-Caryophyllene ร้อยละ 40.9 และ β-Siliene ร้อยละ 15.8 เป็นองค์ ส่วนเปลือกลำต้นเทียมมี β-Carotenes ประมาณ 0.7 μg/g

2. สารให้กลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อน
สารให้กลิ่นฉุน และรสเผ็ดร้อนในเหง้าข่า โดยทั่วไปเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสารประกอบ O-methoxyphenols และPropylphenols เช่น Gingerols, Galangol และ Eugenol สารที่ให้กลิ่นข่าจะมีลักษณะเป็นผลึกสีเหลือง ไม่มีรส ประกอบด้วยสาร 3 ชนิด คือ
– Kaempferid (C16H12O6) (อนุพันธุ์ของ Flavonol) สามารถเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับกรดไนตริก ได้กรด Anisic
– Oxalic Galangin (C15H10O5) เป็นสารตั้งต้นของกรด Benzoic และ Oxalic
– Alpinin (C17H12O6)

นอกจากนั้น ยังพบสารให้กลิ่นที่สำคัญ คือ Darylheptanoids และ Phenyl alkanones

3. สารประกอบฟีนอล
สารประกอบฟีนอลพบได้ทั่วไปในพืชหลายชนิด โครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยวงแหวนเบนซีน (C6) และมีกลุ่ม Hydroxyl เกาะอยู่ตั้งแต่ 1 กลุ่ม ขึ้นไป เรียกว่า Simple phenols เช่น Catechol Guaiacol และ Hydroquinone นอกจากนี้ยังมีสารประกอบอื่นที่มาเกาะบนวงแหวนเบนซีน เช่น กลุ่มกรด Phenolic (C6-C1), กลุ่ม Phenylacetic (C6-C2), กลุ่ม Cinnamic Phenylpropenes, กลุ่ม Coumarins (C6-C3) และกลุ่ม Naphthoquinones (C6-C4)

สารประกอบฟีนอลเรียกโดยรวมว่า Simple polyphenols พบมากในพืชผักประเภทหัวหรือรากที่สะสมอาหาร สารนี้มีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และทำให้เกิดสีน้ำตาลของกระบวนการที่มีเอนไซม์เข้ามาเกี่ยวข้อง (Enzymatic browning)

ประโยชน์
1. ใช้ประกอบอาหาร
ข่านิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงรสอาหาร แต่งกลิ่น หรือดับคาว เป็นส่วนผสมของเครื่องต้มยำและพริกแกงชนิดต่างๆ โดยใช้ส่วนต่างๆ เช่น เหง้าอ่อน เหง้าแก่ แกนลำต้นเทียม และช่อดอกอ่อน
– เหง้าแก่นิยมนำมาบดให้ละเอียดเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของพริกแกง
– เหง้าแก่ และเหง้าอ่อน นิยมใส่ในอาหารประเภทต้มหรือแกง เพื่อใช้ลดกลิ่นคาวของอาหาร เช่น ต้มยำ และแกงป่า ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมฉุน และเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนให้แก่อาหาร
– แกนลำต้นเทียม ช่อดอกอ่อน และเหง้าอ่อน นิยมนำมาบริโภคโดยตรงเป็นผักลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก
– แกนลำต้นเทียมที่อ่อน นิยมนำมาประกอบอาหารประเภทผัด เช่น ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดเผ็ดปลาดุก ผัดเผ็ดไก่ เป็นต้น

คุณค่าทางอาหารของข่า
• พลังงาน
– เหง้าอ่อน และเหง้าแก่ 20 กิโลแคลอรี

• โปรตีน
– เหง้าอ่อน พบน้อยมาก
– เหง้าแก่ 1.3 กรัม

• ไขมัน
– เหง้าอ่อน พบน้อยมาก
– เหง้าแก่ 0.3 กรัม

• คาร์โบไฮเดรต
– เหง้าอ่อน พบน้อยมาก
– เหง้าแก่ 3.1 กรัม

• เส้นใย
– เหง้าอ่อน 1.1 กรัม
– เหง้าแก่ พบน้อย

• แคลเซียม
– เหง้าอ่อน และเหง้าแก่ 5 มิลลิกรัม

• ฟอสฟอรัส
– เหง้าอ่อน และเหง้าแก่ 27 มิลลิกรัม

• เหล็ก
– เหง้าอ่อน และเหง้าแก่ 0.1 มิลลิกรัม

• เบต้าแคโรทีน
– เหง้าอ่อน 18 ไมโครกรัม
– เหง้าแก่ 2.41 ไมโครกรัม

• วิตามินบี 1
– เหง้าอ่อน 0.13 มิลลิกรัม
– เหง้าแก่ 0.24 มิลลิกรัม

• วิตามินบี 2
– เหง้าอ่อน 0.15 มิลลิกรัม
– เหง้าแก่ 0.06 มิลลิกรัม

• ไนอาซิน
– เหง้าอ่อน และเหง้าแก่ 0.4 มิลลิกรัม

• วิตามินซี
– เหง้าอ่อน 23 มิลลิกรัม
– เหง้าแก่ 22 มิลลิกรัม

2. ทางอุตสาหกรรมอาหาร
สารสกัดฟีนอลลิกมักใช้ในการถนอมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ป้องกันการบูดเน่า การเหม็นหืน สามารถยืดอายุการเก็บรักษาที่ 4°C

ผงจากเหง้าข่าแห้ง และสารสกัดจากเหง้าข่า ใช้ผสมกับเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูบดสุกบรรจุถุง จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น

ลูกชิ้นหมูที่เติมสารสกัดจากเหง้าข่า สามารถยืดอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4°C ได้เป็นเวลา 10 วัน นอกจากนี้การใช้ผงข่าผสมในการทำขนมปัง เค้ก จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้นานมากกว่า 6 วัน

3. ประโยชน์ใช้สอย
– ใบ ใช้เป็นวัสดุห่อขนม ของหวาน หรือรองอาหาร
– ลำต้นหรือกาบใบ ใช้ทำเป็นเชือกรัดของ
– ใช้เป็นส่วนผสมของสารกำจัด และป้องกันศัตรูพืช

สรรพคุณข่า
คนไทยยังนำเหง้าข่ามาผลิตเป็นตำรับยาแผนโบราณและใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาเป็นเวลานาน เช่น ยาระบายขับลม ยาขับเลือดเสีย ยาแก้บ่วง ยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และลมพิษ
– ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น กลาก เกลื้อน
– เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ เช่น Streptococcus cerevisiae, Streptococcus epidermidis, Bacillus cereus และ Bacillus megaterium
– น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ และลดอาการจุกเสียด
– น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– น้ำมันหอมระเหยในราก และเหง้าข่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็ง
– สารประกอบฟีนอล ACA เป็นสารให้รสเผ็ดร้อนที่พบในเหง้าข่า มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดเนื้องอก และเซลล์มะเร็งได้
– สารประกอบฟีนอลในเหง้าข่าช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ต้านเชื้อวัณโรค ต้านภูมิแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ
– สารประกอบฟีนอลช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ เช่น ยับยั้งเอนไซม์ protease จากเชื้อไวรัส HIV-1 และ Human cytomegalovirus (HCMV)

• เหง้าแก่ เหง้าอ่อน :
– ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน
– รักษาโรคเบาหวาน
– แก้หอบหืด แก้เสมหะ ลดไข้
– ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร
– ช่วยขับเหงื่อ ทำให้ร่างกายสดชื่น
– แก้บิด แก้ท้องร่วง
– ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวพรรณแลดูอ่อนเยาว์
– ต้านเชื้อไวรัส ลดปริมาณเชื้อเอดส์

• แกนอ่อนต้นเทียม :
– แก้ท้องร่วง
– ขับปัสสาวะ
– ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร

ต้นข่าอ่อน

• ใบ:
– แก้ฟกช้ำ
– แก้นิ่ว ช่วยขับปัสสาวะ
– บำรุงสายตา

• ดอก :
– บำรุงประสาท
– แก้ขัดปัสสาวะ
– ช่วยย่อยอาหาร และเจริญอาหาร

• ราก:
– แก้จุกเสียดแน่นท้อง
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ท้องเสีย
– ลดอาการไอ ขับเสมหะ

• ผล :
– ลดไข้ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ
– ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ต้านอนุมูลอิสระ

ข้อควรระวัง
1. การรับประทานจำนวนมากมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
2. อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางรายที่มีภูมิไวต่อข่า เช่น ผื่นแดงตามตัว วิงเวียนศรีษะ เป็นต้น
3. หญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทานมาก อาจมีผลทำให้แท้งได้
4. ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ในการขับน้ำดี

การปลูกข่า
ข่าจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะเนื้ออ่อน เหมือนขิง ขมิ้น เป็นพืชที่มีอายุมากกว่า 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ดินชุ่มชื้น และไม่มีน้ำท่วมขัง

เหง้าอ่อน

การปลูกนิยมปลูกด้วยการแยกเหง้า โดยปลูกช่วงต้นฝนหรือในฤดูฝน เตรียมแปลงด้วยการไถดะ และตากดิน ประมาณ 7 วัน  พร้อมกำจัดวัชพืช จากนั้น ไถพรวนดินให้ละเอียดอีกครั้ง และตากแดดประมาณ 2-5 วัน ก่อนปลูก

การเตรียมเหง้าปลูก เหง้าที่ใช้ควรเป็นเหง้าแก่ อายุมากกว่า 1 ปี โดยให้ตัดต้นเทียมออก โดยให้เหลือต้นเทียม 1-2 ต้น ที่ติดกับเหง้าสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร เหง้ามีแง่งประมาณ 1-2 แง่ง และให้ตัดรากที่ยาวทิ้ง

การปลูกในแปลงใหญ่หรือในพื้นที่ว่างที่ปลูกจำนวนน้อย ระยะปลูก ประมาณ 80×80 เซนติเมตร ด้วยการขุดหลุม ขนาด 20×20×20 เซนติเมตร (กว้าง×ยาว×ลึก) ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมเล็กน้อยพร้อมคลุกกับดินล่างให้เข้ากัน ใช้เหง้าพันธุ์อายุประมาณ 1 ปี ขึ้นไป ใส่หลุมละ 1-2 เหง้า

สวนข่า

การปลูกในแปลงใหญ่ นิยมไถยกร่องลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ระยะห่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร จากนั้น โรยด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เล็กน้อยตามแนวยาวของร่อง ก่อนวางเหง้าข่า 1-2 เหง้า ตามความยาวของร่องที่ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 70-80 เซนติเมตร แล้วจึงคราดดินบนกลบตลอดแนว

การเก็บผลผลิต
– ต้นอ่อน ให้เก็บที่อายุ 6-10 เดือน โดยการขุดทั้งกอ ตัดลำต้นเทียม ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และลอกกาบใบออกจนเหลือแกนอ่อนสำหรับขาย แบ่งเหง้าออกล้างให้สะอาดก่อนการบรรจุจำหน่ายเป็นข่าอ่อน

– ต้นแก่ ให้เก็บที่อายุ 1 ปี หรือเริ่มออกดอก โดยการขุดทั้งกอ ตัดลำต้นเทียม ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และลอกกาบใบออกจนเหลือแกนอ่อนสำหรับขาย แบ่งเหง้าออกล้างให้สะอาดก่อนการบรรจุจำหน่ายสำหรับการสกัดน้ำมันหรือแปรรูปอื่นๆ

การแปรรูปข่า
1. เครื่องดื่มข่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข่าบดแห้งชงน้ำดื่ม ผสมกับน้ำตาล น้ำมะนาว ให้ได้รสชาติตามต้องการ
2. ข่าแห้ง นิยมผลิตจากข่าแก่เพื่อเก็บรักษาให้ได้นาน ด้วยการทำแห้ง เช่น ใช้เครื่องเป่าลมร้อนหรือตากแดด หรืออบแห้ง
3. ผงข่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข่าแห้ง และนำมาบดให้เป็นผงสำหรับนำมาชงน้ำดื่มหรือใช้สำหรับประกอบอาหาร เป็นเครื่องเทศ เป็นผงข่าสำเร็จรูปที่สะดวก และง่ายต่อการบริโภค