ลีลาวดีหรือลั่นทม

Last Updated on 23 พฤษภาคม 2015 by puechkaset

ลีลาวดี หรือ ลั่นทม เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกทั่วไปในสวนหรือปลูกในกระถาง เนื่องด้วยดอกที่มีสีสันสวยงาม ทั้งสีเดียว และสีผสมในดอกเดียว ได้แก่ ดอกขาว เหลืองอ่อน แดงชมพู เป็นต้น พบมากตามธรรมชาติในทางตอนเหนือของประเทศไทย และปัจจุบันพบปลูกทั่วไปในทุกจังหวัด

ลีลาวดี หรือ ลั่นทม (Frangipani, Plumeria, Temple tree) เป็นไม้ดอกยืนต้นในสกุล Plumeria สมัยก่อนนิยมเรียกว่า “ลั่นทม” ทำให้บางคนมีความเชื่อว่า ไม่ควรปลูกต้นชนิดนี้ในบ้าน เนื่องจากมีชื่อเป็นอัปมงคลที่พ้องกับคำว่า ‘ระทม’ ที่แปลว่า เศร้าโศก หรือ ทุกข์ใจ ปัจจุบันจึงเรียกชื่อใหม่ ว่า “ลีลาวดี” ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (“ดอกไม้ป่ามหาราชินี” นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2601 ปีที่ 50) มีชื่อเรียกในพื้นเมืองอื่นๆ เช่น จำปา, จำปาลาว และจำปาขอม เป็นต้น ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศลาว

คำว่า ลีลาวดี เป็นคำที่ได้มาจากลักษณะท่วงท่าที่สวยงาม และอ่อนช้อยของกิ่ง และลำต้น รวมถึงความสวยงามของดอกที่หลากสีสัน

ลีลาวดี

ประวัติ
ลีลาวดี/ลั่นทม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ สำรวจพบครั้งแรกโดย ชาลส์ ปลูมีเย (Charles Plumier) นักสำรวจพรรณไม้ และนักเขียนชาวฝรั่งเศส (ระหว่าง ค.ศ. 1646 – 1706) เมื่อครั้งเดินทางไปหมู่เกาะคาริบเบียน เพื่อหาพันธุ์ไม้แปลกใหม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หลังจากนั้น นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ โจเซฟ ปีตง เดอ ตูร์เนอฟอร์ (Joseph Pitton deTournefort) ได้ตั้งชื่อให้ว่า Plumieria เพื่อเป็นเกียรติแก่ชาลส์ ปลูมีเย แต่ภายหลังได้เพี้ยนเป็นชื่อสกุล Plumria สำหรับชื่อสามัญ คือ Frangipani, Plumeria, Temple Tree, Noegay, West Indian Jasmine, Pagoda Tree ในอินโดนีเซียเรียก Kembang หรือ Kemboja ออสเตรเลียรียก Dead Man’s finger

ลีลาวดีหรือลั่นทม พบหลักฐานการจดบันทึกใดประวัติพ่อขุนผาเมืองที่รวบรวมไว้โดยเจ้าอาวาสวัดตาล อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ ที่มีบันทึกว่า พ่อขุนผาเมืองที่ขณะนั้นได้รวบรวมกองทัพขับไล่ขอมที่เรืองอำนาจได้สำเร็จ เมื่อความทราบถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ทรงเกรงว่าพ่อขุนผาเมืองจะกลายเป็นเสี้ยนหนามที่สำคัญ จึงยกพระธิดาให้เป็นพระชายา (พระนางสิงขรมหาเทวี) ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ปลูกต้นจำปาขอมสองต้นเพื่อบูชาพระธาตุขึ้น ปัจจุบันก็คือ พระธาตุพ่อขุนผาเมือง อ. หล่มสัก จ. เพชรบูรณ์ คนในพื้นที่เรียกกันว่า ลั่นทมพันธุ์โบราณ, ลั่นทมพันธุ์พื้นเมือง หรือลั่นทมพันธุ์ชนบท (Plumeria rubra var.acuminata) ปัจจุบันบางคนเรียก “ลั่นทมพันปี” ถือเป็นลั่นทมที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย

ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (กรุงศรีอยุธยา) พระองค์ได้ทรงปลูกลั่นทม 15 ต้น ร่วมกับพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ที่บริเวณพระธาตุศรีสองรัก อ. ด่านซ้าย จ. เลย เพื่อเป็นสักขีพยานทางพระราชไมตรีที่ทั้งสองอาณาจักรได้ร่วมกันต่อสู้กับพม่า (สมัยพระเจ้าตะเบงชะเวงตี้ต่อเนื่องถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง) ชาวบ้านเรียกว่า “จำปาลาว”

จดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวถึงลั่นทมในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า เป็นไม้ที่ไม่ค่อยนิยมปลูกมากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง แต่พบลั่นทมขาวพวง (Plumeria obtusa)ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ และในบริเวณวัดระศรีรัตนมหาธาตุ จ. ลพบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นลั่นทมที่มาจากการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เช่น ฮอลันดา และฝรั่งเศส

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงปลูกลั่นทมขาวไว้บนพระนครคีรีหรือเขาวัง จ. เพชรบุรี และสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ทรงปลูกลั่นทมขาวที่นำมาจากอินโดนีเซีย และลั่นทมพันธุ์โบราณมาปลูกไว้ที่พระราชวังจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง จ. ชลบุรี ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ยังมีบันทึกการใช้ลั่นทมในพระราชพิธีต่างๆ เช่น การใช้ลั่นทมสีขาวในการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) (ประมวล รอนยุทธ, 2549)1

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
ลีลาวดี เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 6-12 เมตร เรือนยอดมีรูปไข่หรือรูปร่ม แตกกิ่งแผ่กว้าง ลำต้นมีลักษณะกลม เปลือกสีเขียวอมเทา เมื่ออายุมาก บริเวณแผลที่ก้านใบหลุดร่วงจะเกิดเป็นตุ่มนูนทั่วลำต้น ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว มีพิษต่อเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ดวงตา ริมฝีปาก ใบหู เป็นต้น

ต้นลีลาวดี

• ใบ
ใบลั่นทมเป็นใบเดี่ยว ใบมีรูปไข่กลับหัว รูปหอกแกมรูปไข่กลับหัว ออกบริเวณกิ่ง และเรียงสลับเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง มีเส้นใบแบบขนนก เส้นใต้ใบนูนเด่นชัด ใบมีสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวเข้มเป็นมัน บางพันธุ์ใบไม่เป็นมันเงา

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

• ดอก
ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 8-16 ดอก จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้เชื่อมติดกับโคนกลีบดอก เกสรเพศเมียมีสีเหลือง และประกอบด้วยรังไข่อยู่เหนือกลีบดอก โคนกลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอด ภายในมีขนอ่อนปกคลุม กลีบดอกมักพบทั่วไป 5 กลีบ หรืออาจมีถึง 11 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปไข่หัวกลับเรียงซ้อนเป็นวงเหลื่อมกัน ปลายกลีบดอกมน และโค้งออก มีหลายสี เช่น สีขาว ชมพู เหลือง ส้ม แดง ม่วง หรือสีผสมในดอกเดียวกัน ส่งกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี แต่ดกมากในช่วงหน้าแล้ง หรือตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม– พฤษภาคม

• ผล
ผลเป็นฝักคู่ รูปรียาว ตรงกลางโป่งพองเล็กน้อย บริเวณขั้ว และปลายแหลม กว้าง 2-3 เซนติเมตร ผิวเปลือกมีสเขียว เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มหรือสีแดง และเป็นสีน้ำตาลจนถึงดำเมื่อแก่จัด และจะแตกเป็นสองซีกเมื่อแก่จนฝักแห้ง ภายฝักมีเมล็ดประมาณ 25 – 100 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน มีปีกติดที่ด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด

ชนิดลั่นทม
ลีลาวดีทั่วโลกมีเพียง 8 ชนิด และมีเพียง 4 ชนิด ที่นิยมปลูก คือ
1. ลีลาวดีดอกขาวหรือ West Indian Jasmine (P. alba L.) ลำต้นสูงตั้งแต่ 2-6 เมตร แตกกิ่งแผ่กว้างประมาณ 4 เมตร ใบมีรูปใบหอก ยาว 30 เซนติเมตร ขอบใบเป็นคลื่น ดอกมีสีเหลือง กลางดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร
2. ลีลาวดีขาวพวง (P. obtusa L. ) ต้นสูง 8 เมตร ใบมีรูปใบหอกกลับ ปลายใบมน มีสีเขียวเข้ม ยาว 18 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว กลางดอกสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร
3. ลีลาวดีใบลูกศร (P. pudica L.) ลำต้นต้นสูง 2-3 เมตร ใบสีเขียวเข้ม ปลายใบแหลมคล้ายลูกศร ยาว 30 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวนวล กลางดอกสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร เป็นลีลาวดีชนิดเดียวที่ไม่มีกลิ่นหอม
4. ลีลาวดีดอกแดง (P. rubra L.) ลำต้นสูง 4-7 เมตร ใบมีรูปไข่กลับหัว รูปทรงรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ดอกมีสีชมพูเข้มถึงแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร

แต่ปัจจุบันมีการพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์ให้มีดอกหลายสีในดอกเดียวหรือหรือสีแปลกใหม่เพิ่มขึ้น

สารสำคัญที่พบ
วิญญู จิตสัมพันธเวช ได้ศึกษาสกัดน้ำมันระเหยของดอกลีลาวดี พบสารอินทรีย์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์, แอลดีไฮด์, เอสเทอร์ และ เทอร์พีน สารที่พบมาก ได้แก่ L-Linalool พบในดอกลีลาวดีพันธุ์ขาวพวงร้อยละ 64.3, ดอกสีขาวเหลืองร้อยละ 52.9 และดอกสีชมพูร้อยละ 37.6 นอกจากนั้นยังพบสาร Benzaldehyde ร้อยละ 22.1 ในดอกสีขาวเหลือง และสาร trans-β-Ocimene ร้อยละ 48.4 ในพันธุ์เหลืองอ่างทอง

สรรพคุณ
ลีลาวดีสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรทั้งส่วนลำต้น, ยางจากต้น, เปลือกต้น, เนื้อไม้, ใบ, ดอก และราก
• ลำต้น ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบ แผลในลำไส้ ทั้งคน และสัตว์
• ใบ ใช้ใบตากแห้งหั่นชงน้ำร้อนดื่ม สำหรับรักษาโรคหืด หรือนำใบสดลนไฟใช้ประคบแผลหรือบริเวณฟกช้ำ
• ราก ใช้ฝนประคบหรือต้มน้ำดื่มรักษาโรคหนองใน ใช้เป็นยาถ่าย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฝื้อ อาการท้องเสีย
• เปลือกต้น นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย ช่วยขับระดู ลดไข้ แก้โรคโกโนเลีย หรือใช้ผสมกับน้ำมันมะพร้าว สำหรับเป็นยาแก้ท้องเดิน ยาถ่าย ยาขับปัสสาวะ
• ดอก ใช้เป็นส่วนผสมทำธูปหอม ใช้ผสมกับพลูต้มหรือรับประทานสดสำหรับเป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาเลเรีย รวมถึงสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้สำหรับแก้วิงเวียนศรีษะ นวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
• เนื้อไม้ ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ ใช้เป็นยาถ่าย และยาขับพยาธิ
• ยางจากต้น ผสมเป็นยาถ่าย ใช้ทารักษาแผล แก้ผดผื่น ใช้ผสมกับไม้จันทน์ และการบูร เป็นยาแก้คัน แก้ผดผื่น แก้ปวดฟัน ใช้ทารักษาแผล

การปลูก
การปลูกลีลาวดีสามารถปลูกได้ทั้งในแปลงจัดสวน และในกระถาง แต่ทั่วไปนิยมปลูกในแปลงจัดสวนมากกว่า เนื่องจากเมื่อโตเต็มที่จะมีลำต้นค่อนสูง และแตกกิ่งออกกว้าง อีกทั้ง การปลูกในแปลงยังทำให้ต้นสามารถเติบโต และออกดอกได้อย่างสมบูรณ์ดีกว่าการปลูกในกระถาง

การปลูกนิยมปลูกด้วยการปักชำ การตอน และการเพาะเมล็ด แต่ใช้การปักชำ และการตอนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากทำให้ลำต้นไม่สูง และทรงก้านไม่แผ่กว้างมาก

กิ่งพันธุ์ลีลาวดี

การปักชำจะใช้กิ่งพันธุ์ของต้นที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี ที่เริ่มออกดอกแล้ว ด้วยการตัดกิ่งพันธุ์ขนาด 50-80 เซนติเมตร สำหรับการปักชำในกระถาง แต่อาจตัดทั้งกิ่งยาวมากกว่า 1 เมตร สำหรับปักชำในแปลงดิน

การตอนจะเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีอายุเหมือนกับการปักชำกิ่ง

เอกสารอ้างอิง
untitled