ผักเคล (Curly kale) ราชินีผักใบเขียว คุณค่าทางโภชนาการสูง สรรพคุณ และวิธีปลูก

Last Updated on 15 มิถุนายน 2023 by puechkaset

ผักเคล (Curly kale) ถูกขนานนามว่าเป็น The new beaf (เนื้อรูปแบบใหม่) หรือ The queen of green (ราชินีแห่งผักใบเขียว) เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผักใบสีเขียวชนิดอื่นๆ รวมถึงมีความหวาน และกรอบ เป็นที่ชื่นชอบของคนรักสุขภาพ

อนุกรมวิธาน
Kingdom (อาณาจักร) : Plantae
Phylum (ไฟลัม) : Tracheophyta
Class (ชั้น) : Magnoliopsida
Order (อันดับ) : Brassicales
Family (วงศ์) : Brassicaceae (วงศ์เดียวกับคะน้า กะหล่ำ)
Genus (สกุล) : Brassica L.

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica oleracea var. sabellica L.
• ชื่อสามัญ : Curly kale
• ชื่อท้องถิ่น : ผักเคล

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถิ่นกำเนิดของผักเคล พบมีหลักฐานว่า ผักเคลเป็นพืชดั้งเดิมที่มาจากภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและเอเชียไมเนอร์ ปัจจุบัน พบแพร่กระจายปลูกทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่อากาศเย็น

ที่มา : [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นผักเคลมีลักษณะทรงกลม ตั้งตรง สีเขียวอ่อน ลำต้นเป็นข้อปล้องตามตำแหน่งของใบ มีความยาวตั้งแต่ 20-60 เซ็นติเมตร

ใบ
ใบผักเคลมีลักษณะหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แตกออกจากลำต้นเรียงสลับกันทำมุม 45 องศา กับลำต้น ประกอบด้วยก้านใบกลม สีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบจะมีรูปร่างที่แตกต่างกัน ทั้งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปหอก รูปเรียวแหลม ส่วนสีมีทั้งที่เป็นสีเขียวหรือสีม่วง ความกว้างของใบ 5-15 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 10-30 เซ็นติเมตร ขอบใบทุกสายพันธุ์เป็นลอนหยัก อาจเป็นลอนหยักถี่หรือห่าง แผ่นใบมีลักษณะเป็นคลื่น และผิวเป็นมัน

ดอก
ดอกผักเคลออกเป็นช่อที่ปลายลำต้น มีลักษณะคล้ายผักกาดดอก ตัวดอกมีขนาดเล็ก มีสีขาวจนถึงเหลืองอ่อน มีกลีบดอก 4 กลีบ

ผล
ผลมีลักษณะเป็นฝัก ผลอ่อนหรือผลดิบมีสีเขียวสด ผลแก่แห้งมีสีน้ำตาลอมดำ ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็ก มีลักษณะกลมสีน้ำตาลเข้ม ขนาดความยาวประมาณ 0.15-0.2 เซ็นติเมตร

คุณค่าทางโภชนาการ
โดยในองค์ประกอบของผักเคล 100 กรัม ประกอบไปด้วย

คุณค่าทางโภชนาการ

ปริมาณ

พลังงาน

คาร์โบไฮเดรต

เส้นใย

ไขมัน

โปรตีน

วิตามินเอ

วิตามิน B 1

วิตามิน B 2

วิตามิน B3

วิตามิน B6

วิตามิน C

วิตามิน A

วิตามิน K

แคลเซียม

เหล็ก

โพแทสเซียม

35 กิโลแคลอรี

4.42 กรัม

4.1 กรัม

1.49 กรัม

2.92 กรัม

241 ไมโครกรัม

0.113 มิลลิกรัม

0.347 มิลลิกรัม

1.180 มิลลิกรัม

0.147 มิลลิกรัม

93.4 มิลลิกรัม

0.66 มิลลิกรัม

389.6 ไมโครกรัม

254 มิลลิกรัม

1.60 มิลลิกรัม

348 มิลลิกรัม

(www.ndb.nal.usda.gov)

นอกจากนั้น ผักเคลยังอุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคมะเร็งบางชนิด

สารสำคัญที่พบ
– ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)

ที่มา : [1]

สรรพคุณ
– ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– ช่วยต้านการอักเสบ
– ช่วยต้านความเป็นพิษของสารพิษ
– ช่วยการขับถ่าย ป้องกันโรคในระบบทางเดินอาหาร
– ช่วยต้านมะเร็ง
– ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร

ที่มา : [2]

ประโยชน์ผักเคล
1. ประกอบอาหาร
ผักเคลใช้รับประทานสดหรือต้มลวกคู่กับอาหารอื่น หรือ ใช้ทำเมนูอาหาร อาทิ สลัด แกงจืด ต้มเลือดหมู ซุป ผัด เป็นต้น

2. เครื่องดื่ม
ผักเคลใช้ปั่นเป็นเครื่องดื่มน้ำผักเคล

3. แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมผลิตภัณฑ์
ผักเคลแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ผักเคลอบ ผักเคลผง ผักเคลดอง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ เครื่องสำอาง แชมพู สบู่ เป็นต้น

สภาพการเติบโตที่เหมาะสม
ผักเคลสามารถเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิในช่วง 20 – 25 องศาเซลเซียส หากปลูกในสภาพอากาศหนาวเย็น
หรือที่มีอุณหภูมิน้อยกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้ต้นเจริญเติบโตช้า สีใบเข้มผิดปกติ ลำต้นสั้น มีข้อถี่ ใบสั้น กว้าง และอวบใหญ่กว่าปกติ แต่หากปลูกในสภาพอากาศร้อนหรือที่มีอุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส จะทำลำต้น และใบยืดยาว เนื้อมีเส้นใยสูง และเหนียว สีชืดจาง และมีความกรอบน้อย

ส่วนความสูงจากน้ำทะเลที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ในช่วง 300 – 800 เมตร โดยช่วงเดือนปลูกสามารถเริ่มได้ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงก่อนฤดูร้อนในกุมภาพันธ์ ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

สำหรับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกควรเป็นดินร่วนปนทราย ดินมีอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารสูง ดิน และแปลงปลูกสามารถระบายน้ำได้ดี ค่าความเป็นกรด-ด่างดิน อยู่ในช่วง 5.5 – 6.5 หากพื้นที่ปลูกมีความเป็นกรด สามารถแก้ไขด้วยการเติมปูนขาวหรือโดโลไมด์ ส่วนพื้นที่หรือแปลงปลูกที่มีความชื้นสูงกว่า 80% แปลงปลูกจะต้องได้รับแสงแดดทั้งวัน

การปลูก และดูแลรักษา
สำหรับการปลูกผักเคลจะใช้วิธีปลูกจากเมล็ดเท่านั้น ซึ่งผลิตเมล็ดในปัจจุบันมาจากต่างประเทศเป็นหลัก

การเพาะกล้า มี 2 วิธี ได้แก่
1. เพาะเมล็ดลงแปลงเพาะ/กะบะ
วิธีเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะสามารถทำได้ทั้งแปลงยกร่อง และแปลงเพาะในกระบะ ด้วยการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก/ขุ๋ยมะพร้าว+ทราย+ดิน อัตราส่วน 2 : 1 : 1 จากนั้น หยอดเมล็ดหรือโรยเมล็ดให้ห่างๆ ลงในกระบะเพาะ รดน้ำ และเมื่อต้นกล้ามีอายุ 5 วัน จึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงปลูก หรือ กระถาง


2. เพาะเมล็ดบนถาดเพาะ
เป็นการเพาะกล้าบนถาดเพาะกล้า โดยใช้วัสดุเพาะเช่นเดียวกับวิธีแรก จากนั้น หยอดเมล็ดลงในแต่ละหลุม รดน้ำ จนต้นกล้ามีอายุประมาณ 18 – 21 วัน หรือมีใบจริงอย่างน้อย 2- 3 ใบ จึงย้ายลงปลูกในแปลงปลูก หรือ กระถาง

การเตรียมแปลง
กรณีปลูกลงแปลง ให้ทำการขุดพรวนดินให้ลึกประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช จากนั้น ตากแดดทิ้งไว้ 7 -14 วัน ทำการเพิ่มปุ๋ยคอก แกลบ หรือ ขี้เถ้าแกลบ 2-3 กิโลกรัม/ตารางเมตร ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 อัตรา 120 กรัม/ตารางเมตร ขุดพรวนผสมให้เข้ากันทั่วแปลง แล้วยกร่องแปลงกว้าง 1 – 1.2 เมตร ยาวตามขนาดที่ต้องการ

วิธีปลูก
1. ให้ขุดแยกต้นกล้าหลังการเพาะตามประเภทการเพาะกล้า
2. การปลูกลงแปลงปลูก ปลูกในระยะห่าง 25-30 x 25-30 เซนติเมตร การปลูกลงกระถาง ปลูกที่ 1 ต้น/กระถาง ขึ้นอยู่กับขนาดต้นพันธุ์ และขนาดกระถาง


3. ช่วงแรกหลังปลูก 1-7 วัน ให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง จากนั้น ให้น้ำ 1-2 วัน ต่อ/ครั้ง
4. การใส่ปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 (7 วันหลังปลูก) สูตร 46– 0 – 0 หรือ 21 – 0 – 0 อัตรา 120 กรัม/ตารางเมตร
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (14 วันหลังปลูก) สูตร 46 – 0 – 0 ผสม 15 – 15 – 15 อัตรา 1 : 2 ใช้อัตรา 120 กรัม/ตารางเมตร
– ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 (21 วันหลังปลูก) สูตร 30 – 20 – 10 อัตรา 20 กรัม/ตารางเมตร
5. การเก็บเกี่ยว จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 60 วันหลังปลูก แต่หากต้องการต้นอ่อนๆ ต้นกรอบ ใบกรอบสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ 45 วันหลังปลูก

นอกจาก วิธีปลูกแบบลงแปลง และแบบลงกระถางแล้ว ยังสามารถปลูกในระบบไฮโดรโปรนิกส์ได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
[1] อภิชัย ศักดิ์อาภา. 2564. การพัฒนาปัจจัยการผลิตจากวัสดุเหลือใช้
ทางการเกษตรภายในฟาร์มสำหรับผลิตผักเคลอินทรีย์.
[2] กัลยา คุณาธิป. 2564. การศึกษาสารประกอบฟีนอลิกรวมและ
ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของผลิตภัณฑ์ผักเคลผง.