ผักบุ้งทะเล ดอกสวย สรรพคุณแก้อักเสบ แก้พิษแมงกระพรุน

Last Updated on 19 กันยายน 2023 by puechkaset

ผักบุ้งทะเล (beach morning-glory) มีลักษณะลำต้น ใบ และดอก คล้ายกับผักบุ้งบก พบได้บริเวณแถบชายทะเล ชายหาด เนินทราย และที่โล่งแจ้งใกล้ชายทะเล ยอดอ่อนใช้ทำอาหารคล้ายกับผักบุ้งทั่วไป และทุกส่วนมักใช้แก้พิษแมงกระพรุน

• Family (วงศ์) : CONVOLVULACEAE

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea pes-caprae (L.) R.Br.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Ipomoea biloba Forssk. subsp. Pescaprae, Convolvulus pes-caprae L.
• ชื่อสามัญ :
– beach morning-glory
– goat’s foot creeper
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ผักบุ้งทะเล
– ผักบุ้งต้น
– ผักบุ้งขน
ใต้
– ผักบุ้งทะเล
– ผักบุ้งต้น
– ผักบุ้งขน
– ละบูเลาห์ (มาลายู-นราธิวาส)

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักบุ้งทะเลเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี พบได้ในพื้นที่ใกล้ทะเลเท่านั้น โดยพบแพร่กระจายในแถบชายทะเลในเขตร้อนทั่วโลก ส่วนประเทศไทยพบได้ในภาคตะวันออก และภาคใต้ บริเวณแถบชายทะเล ชายหาด เนินทราย และที่โล่งแจ้งใกล้ชายทะเล

ที่มา : [3]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
รากผักบุ้งทะเลประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอย และแตกรากฝอยบริเวณข้อของลำต้น ส่วนต้นผักบุ้งทะเลมีลักษณะเป็นเถากลม ยาวได้กว่า 10-30 เมตร สีเขียวอมแดง ด้านในกลวง

ใบ
ใบผักบั้งทะเลออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อของลำต้น มีก้านใบกลมสีเขียว ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบ กว้างประมาณ 7-11 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียว และเป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนา และเรียบ โคนใบ และปลายใบเว้าลึกเข้ด้านในเป็นรูปหัวใจ ใบมียางสีขาว

ดอก
ดอกผักบุ้งทะเลออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 4-6 ดอก กลีบดอกสีม่วงอมชมพู หรือ สีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นถ้วย เมื่อดอกบาน ปลายกลีบจะคลี่ออกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะคล้ายปากแตร ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ด้านในตรงกลางดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 5 อัน และรังไข่ด้านล่าง

ผล
ผลผักบุ้งทะเลมีลักษณะกลมรี ขนาดผลประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลสดมีสีม่วงอมชมพูจางๆ ภายในมีเมล็ดทรงกลมสีเหลือง ผลแห้ง มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแห้งจัดผลจะปริแตกได้

สารสำคัญที่พบ
1. ลำต้น และทั้งต้น
– Behenic acid
– Benzoic acid
– Butyric aci
– Essential Oil
– Potassium Chloride
– Myristic acid
– Sodium chloride
– ß-Sitosterol
– Citric acid
– Fumaric acid
– Hyperoside
– Malic acid
– Isoquercitrin
– Succinic acid
– Tartaric acid

2. ใบ
– Fumaric acid
– Succinic acid
– Citric acid
– Maleic acid
– Curcumene
– Ergotamine

3. เมล็ด
– naphthalenone
– (-)- mullein, eugenol
– 4-vinyl-quaiacol
– lipophilic glycosides
– 2-methylpropionic
– (2S)-methylbutyric
– n-hexanoic
– n-decanoic acid
– Dehydrocacalohastine
– Cacalol methyl ether
– Ergotamine
– Matorin
– Matorin acetate

ทั้งนี้ พบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ Beta-damascenone และ E-ehytol ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ทำให้ลดการอักเสบ สารออกฤทธิ์ลดการอักเสบอื่น ได้แก่ 2-hydroxy-4,4,7-trimethyl-1-(4H)-naphthalenone, (-)-mellein, eugenol, 4-vinyl guaiacol, actinidols Ia และ Ib ซึ่งออกฤทธิ์ต้านพรอสตาแกลนดิน

ที่มา : [1]อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณ
ใบสด
– ใช้ต้มน้ำอาบ หรือ ตำพอก ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยแก้ปวดบวมตามไขข้อ

ราก
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
– แก้โรคเท้าช้าง
– บรรเทาอาการปวดฟัน
– แก้ผดผื่นคัน
– แก้น้ำเหลืองเสีย

เมล็ด
– ช่วยป้องกันโรคตะคริว
– ใช้เป็นยาถ่าย
– ใช้เป็นยาระบาย

ปัจจุบัน มีการใช้ใบหรือทั้งต้นนำมาตำบดผสมน้ำ ใช้ทาพอก แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกะพรุนไฟ และอาการผื่นคันตามผิวหนัง รวมถึงใช้แก้อาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังจากพิษอื่นๆ

ผักบุ้งทะเลกับพิษแมงกะพรุน
ผักบุ้งทะเลเป็นพืชที่พบตามชายทะเลทั่วไป และได้ถูกนำมาใช้เพื่อการรักษาพิษของแมงกะพรุนมานานแล้ว เพราะมีฤทธิ์ต้านพิษแมงกะพรุน และต้านฮีสตามีน แต่ยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ที่สนับสนุนผลของการใช้ผักบุ้งทะเล บางการศึกษาได้ทำการทดสอบโดยใช้สารที่สกัดจากใบผักบุ้งทะเลโดยใช้อีเธอร์ และทำเป็นรูปของครีม ร้อยละ 1 นำมาทำการทดสอบคือทดสอบการเกิดปฏิกิริยาของครีมต่อผิวหนังคนปกติโดยทำ closed patch test ในคนปกติ 50 คน(ชาย 20 คน และ หญิง 30 คน) อ่านผลภายใน 48 ชั่วโมง ได้ผลลบหมด แสดงให้เห็นว่า พบว่า ครีมนี้ไม่เกิดปฏิกิริยาการแพ้ในคนที่ทำการทดสอบ และไม่ใช่สารก่อการระคายเคือง

นอกจากนี้ยังนำครีมไปทาบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน โดยแบ่ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกแมงกะพรุนในวันแรกแล้วทายาทันทีและมีเพียงตุ่มแดง จำนวน 5 คน ปรากฏว่า อาการแดงและอาการคัน หายไปภายใน 2 วัน อีก
กลุ่มคือกลุ่มที่ถูกแมงกะพรุนมานาน 3-30 วัน และเกิดผื่นแดง รอยไหม้หรือแผลแล้ว 7 คน ปรากฏว่า แผลหายร้อยละ 50 ภายใน 1 สัปดาห์และหายสนิท ภายใน 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง โดยที่มีแผลเป็นเนื้อนูนน้อยมาก โดยสรุปแล้ว การทาครีมผักบุ้งทะเล ความเข้มข้นร้อยละ 1 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในผื่นที่เกิดจากแมงกะพรุนทุกระยะ โดยทำให้แผลหายสนิทและเกิดแผลเป็นเนื้อนูนน้อยมาก

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่า สารสกัดจากผักบุ้งทะเล ให้ผลดีในการออกฤทธิ์ต้านการแพ้การศึกษาผลทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรผักบุ้งทะเลพบว่าสารสกัดจากใบในรูปครีม 1 % ออกฤทธิ์ต้านฮีสตามีนต่ำกว่า diphenhydramine hydrochloride และยาantazoline methane sulfonate แต่มีฤทธิ์ต้านพิษแมงกระพรุนใกล้เคียงกัน

งานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนสกัดที่เป็น unsaponifiable fraction และสารที่มีผลึกรูปเข็มสีขาวที่ได้จากการสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบ 4 % มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อทดสอบบนผิวหนัง ส่วนสกัดอื่น ๆที่ได้จากสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบ และส่วนสกัดที่เป็น crude mucilage จากสารสกัดน้ำ 8.75 % ไม่มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนเมื่อทดสอบบนผิวหนัง

สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินในหลอดทดลองได้เหมือนกับยา
แอสไพริน แต่น้อยกว่ายาอินโดเมทาซิน สารที่ออกฤทธิ์เด่นคือ Eugenol และ 4-vinyl-guaiacol
สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบมีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินเช่นกัน

สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ในการยับยั้งการอักเสบเฉพาะที่และทั่วร่างกายในสัตว์ทดลอง โดยพบว่าการทาสารสกัดยับยั้งการบวมของหูหนู ยับยั้ง arachidonic acid และ Phospholipase A2 ขึ้นกับขนาดของสารที่ทดสอบ สารสกัดที่ให้โดยการกินยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เล็กในหมูเมื่อเหนี่ยวนำด้วย acethylcholine และ histamine แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบสามารถยับยั้งการอักเสบและการบีบตัวของลำไส้ได้

สารประกอบจากผักบุ้งทะเลที่ออกฤทธิ์ลดการ-อักเสบ โดยการยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน ได้แก่2-hydroxy-4, 4, 7-trimethyl-1-(4H)-naphthalenone, (-)-mellein, eugenol, 4-vinyl guaiacol actinidols la และ lb Beta-damascenone และ e-phytol ซึ่งสกัดได้จากผักบุ้งทะเล มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้การอักเสบลดลง

จากการศึกษาส่วนสกัดจากส่วนเหนือดินด้วย ethyl acetate และ น้ำในการลดอาการปวดเมื่อทดสอบโดยทำให้ปวดด้วยกรดอะซิติกและฟอร์มาลินในหนูถีบจักร ขนาดอย่างละ 10 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้องหนู ในหนูที่ทำให้ปวดด้วยกรดอะซิติกส่วนสกัดด้วย Ethyl acetate และส่วนสกัดด้วยน้ำ สามารถลดปวดได้63.1 % และ 71.0 % ตามลำดับ ส่วนสกัดด้วย Ethyl acetate เมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องจะลดปวดเฉพาะจากการผ่านระบบประสาท แต่ส่วนสกัดด้วยน้ำเมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องจะลดปวดได้ทั้งจากการผ่านระบบประสาทและจากการอักเสบ

สารสกัดเมทานอลที่ความเข้มข้นที่ทำให้หนูลดปวดได้จำนวนครึ่ง (ID50) เท่ากับ 33.8 มก./กก. เทียบเท่าได้กับแอสไพรินหรือพาราเซตามอล และการให้หนูกินสารสกัดเมทานอล 200 มก./กก. จะลดปวดได้68.4 % สารสกัดเมทานอลทั้งที่ให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องและให้กินในหนูและสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินขนาด 10 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรที่ทำให้ปวดด้วยฟอร์มาลิน จะลดปวดได้ทั้งจากการผ่านระบบประสาทและจากการอับเสบ

หลักฐานการทดสอบความระคายเคืองของใบผักบุ้งทะเลสารสกัดอีเทอร์จากใบ ไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองเบื้องต้นต่อผิวหนังธรรมดาและผิวหนังขูดถลอกของกระต่ายภายใต้สภาวะปิด ป้องกันการระเหยของตัวยานาน 24 ชม. และสารสกัดอีเทอร์จากใบในรูปครีม 1% ทดสอบด้วยวิธีclosed patch test ในคนปกติ50 คน ไม่พบปฏิกิริยาการแพ้ภายใน 24 ชม.

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การใช้ประโยชน์
1. ยอดอ่อนใช้ทำกับข้าว อาทิ ผัด และแกงต่างๆ คล้ายกับเมนูผักบุ้งบกทั่วไป
2. ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายตามแนวชายหาด
3. ทั้งต้นใช้เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพ อาทิ มีการศึกษาใช้ผักบุ้งทะเลผสมในสูตรอาหารสัตว์ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่า ผักบุ้งทะเลไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตให้ลดลง แต่กลับมีผลทำให้สีของไข่แดงมีความเข้มขึ้น ที่มา : [2]

เอกสารอ้างอิง
[1] ณัฎฐิณี ธีรกุลกิตติพงศ์.2562. การพัฒนาเภสัชภัณฑ์ต้นแบบนาโนอิมัลชั่นสเปรย์
จากน้ำมันDamascenone ในสารสกัดใบผักบุ้งทะเลส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการรักษาอาการแพ้ผื่นคันและพิษจากแมงกะพรุน
[2] สมศักดิ์ เหล่าเจริญสุข และชาญวิทย์ เบญจมะ. การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ผักเบี้ยทะเล และผักบุ้งทะเลในอาหารนกกระทาไข่.
[3] สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช.2551.