ผักเขียด/ผักขาเขียด/ผักอฮิน ผักวัชพืชตามหนองนา และสรรพคุณเด่น

Last Updated on 13 มิถุนายน 2023 by puechkaset

ผักเขียด หรือ ผักขาเขียด อีสานผักอิฮิน จัดเป็นวัชพืชน้ำชนิดหนึ่ง และจัดเป็นพืชผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง นิยมนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก มารับประทานเป็นผักสด หรือ ลวกให้สุก รับประทานคู่น้ำพริก เมนูลาบ ยำ ซุปหน่อไม้ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบอาหารโดยตรง อาทิ ใส่ในเมนูแกงต่างๆ อาทิ แกงเปอะ แกงส้ม แกงปลา/เนื้อ แกงอ่อม เป็นต้น

อนุกรมวิธาน
• Family (วงศ์) : Pontederiaceae (วงศ์ผักตบชวา)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monochoria vaginalis (Burm.f.) C.Presl ex Kunth
• ชื่อสามัญ : Pickerel weed
• ชื่อท้องถิ่น :
• ภาคกลาง และทั่วไป
– ผักเขียด
– ขาเขียด
– ขากบขาเขียด
– นิลบล

• เหนือ
– ผักฮิ้น
– ผักฮิ้นน้ำ

• ตะวันออก
– ผักเป็ด (ชลบุรี)

• อีสาน
– ผักอีฮิน
– ผักอีฮินใหญ่
– ผักริ้นน้ำ
– ผักฮิ้น

• ใต้
– ผักริ้น

ที่มา : [4]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักเขียด จัดเป็นพืชในวงศ์ผักตบชวา (Pontederiaceae) พบได้ในแถบประเทศเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ อินเดีย พม่า จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เป็นต้น พบเจริญเติบโตแบบรากฝอย ทั้งที่ลอยน้ำ หยั่งยึดลงดินที่เป็นโคลตม พบได้มากบริเวณที่ชื้นแฉะ มีโคลนตม หรือ มีน้ำขังตื้นๆ อาทิ ในนาข้าว ที่ลุ่มน้ำขังตามคลอง หนองบึงต่าง ๆ

ที่มา : [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักเขียด (M. Vaginalis) มีระบบรากเป็นรากฝอยจำนวนมาก และยาว สีรากค่อนข้างขาวอมน้ำตาลแดง รากแขนงที่เกิดขึ้นรอบๆ มีขนาดเล็ก และเกิดห่างๆกัน

ส่วนลำต้นมีลักษณะเป็นเหง้า (Rhizome) แตกลำต้นย่อยจำนวนมาก แต่ละลำต้นมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน ตั้งตรง หรือ บางต้นอาจเลื้อยทอดนอนเล็กน้อย

ใบ
ใบแตกออกตั้งแต่บริเวณโคนลำต้น ประกอบด้วยก้านใบ มีลักษณะเรียวยาว สีเขียวสด ยาวประมาณ 10-40 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบที่วางในลักษณะตั้งฉากกับก้านใบ แผ่นใบมีรูปร่างแตกต่างกัน มีทั้งที่เป็นรูปร่างเรียวยาว (Linear) รูปไข่ (Ovate) เป็นรูปหอกแกมรูปไข่ (Ovate lenceolate ) และรูปหัวใจแกมรูปไข่ (Ovate cordate) ตรงปลายใบแหลม ขนาดใบกว้าง 2.5-10 เช็นติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เช็นติเมตร

ดอก
ดอกผักเขียดออกเป็นช่อแบบ Raceme ก้านดอกยื่นออกจากก้านใบด้านบน ยาว 1-2 เซ็นติเมตร ตัวช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อย 2-3 ดอก หรือ มากกว่า กลีบดอกมีสีขาว หรือ สีน้ำ เงิน จำนวน 6 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1-2 เซ็นติเมตร ด้านนอกของกลีบดอกมีสีเขียว ตรงกลางประกอบด้วยเกสรตัวผู้ มี 6 อัน โคนติดกันเป็นแผงตั้งอยู่บนฐานรองดอก (Receptacle) ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่อยู่เหนือโคนกลีบรวม (Superior overy) สีเขียวรูปร่างยาวรี เกสรตัวเมีย 1 อัน มีสีม่วง ยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ปลายเกสรโค้งงอ ตรงกลางคอดเล็กน้อย ยอดเกสรตัวเมียแยกเป็น 6 แฉก มีสีม่วงอ่อน

ผล และเมล็ด
ผลมีลักษณะเป็นแคปซูล กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 1 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ด้านในประกอบด้วยเมล็ดทรงกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ผลแก่จะปริแตกออกเป็น 3 ฉีก

นิเวศวิทยาผักเขียด
ผักเขียด เป็นพืชอวบน้ำขนาดเล็ก อาจพบแบบรากและลำต้นลอยน้ำ หรือ รากและลำต้นแทงยึดกับดินที่เป็นโคลนตม โดยมักพบมากในนาข้าวที่มีน้ำขัง ตามที่รกร้าง ที่โล่ง หรือ หนองน้ำที่มีน้ำขังตื้นๆ ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากน้ำแห้งจนดินแห้งจะทำให้ผักเขียดเหี่ยวตายทันที

เมื่อเจริญเติบโตจนถึงช่วงติดเมล็ด เมล็ดผักเขียดที่แก่จะตกหล่นอยู่ในดิน และบางส่วนจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ แล้วจมลงดินเมื่อน้ำนิ่ง จากนั้น เมล็ดจะงอกเป็นต้นอ่อน และเติบโตแตกเป็นกออย่างรวดเร็ว ส่วนพื้นที่ที่บางช่วงมีการแห้งของน้ำ เมล็ดผักเขียดจะพักตัวฝังอยู่ในดิน และเมื่อฝนตกจนน้ำขัง เมล็ดจะงอกเป็นต้นใหม่อีกครั้ง

สารสำคัญที่พบ
1. linoleic acid
2. palmitic acid
3. 9-cis-oleic acid methyl linolenate
4. acetic acid
5. stearic acid
6. neophytadiene
7. trans-oleic acid

ที่มา : [1]

สรรพคุณ
ลำต้น ใบ และดอก ใช้รับประทาน หรือ ต้มน้ำดื่ม
– แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
– แก้ไอ แก้เจ็บคอ
– ช่วยขับปัสสาวะ

ที่มา : [1]

ประโยชน์
ผักเขียด จัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง สามารถหารับประทานได้ทั้งปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือชื้นแฉะตลอด ส่วนพื้นที่แห้งในหน้าแล้งจะหารับประทานได้เฉพาะฤดูฝน ส่วนที่นิยมใช้เป็นผักรับประทาน คือ ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก โดยรับประทานเป็นผักสด หรือ ลวกให้สุก รับประทานคู่น้ำพริก เมนูลาบ ยำ ซุปหน่อไม้ นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบอาหารโดยตรง อาทิ ใส่ในเมนูแกงต่างๆ อาทิ แกงเปอะ แกงส้ม แกงปลา/เนื้อ แกงอ่อม เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการ
ผักเขียด 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
– พลังงาน : 13 กิโลแคลอรี
– เส้นใย : 0.8 กรัม
– แคลเซียม : 13 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 6 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 2 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 3000 IU
– วิตามิน B1 : 0.04 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.10 มิลลิกรัม
– ไนอาซิน : 0.1 มิลลิกรัม
– วิตามิน C :18 มิลลิกรัม

ที่มา : [1]

เอกสารอ้างอิง
[1] อชิรวิทย์ จันทร์แก้ว. 2558. องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของผักเขียด.