โลดทะนงแดง ทานอาเจียน เด่นช่วยผิวขาว ขัดเซลล์ผิว ลดรอยหมองคล้ำ

Last Updated on 6 กรกฎาคม 2023 by puechkaset

โลดทะนงแดง หรือ นางแซง เป็นพันธุ์ไม้ป่า เด่นที่รากอูมใหญ่ เปลือกมีสีน้ำตาลอมแดง แก่นมีสีเหลือง มีกลิ่นหอม แต่มีพิษ ออกฤทธิ์ทำให้อาเจียนอย่างรุนแรง ถูกใช้สำหรับแก้พิษเบื่อเมา ใช้สำหรับออกเหล้า ออกบุหรี่ แต่ที่โดดเด่น คือ นิยมใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางสำหรับช่วยให้ผิวขาว ช่วยผลัดเซลล์ผิว ช่วยลดริ้วรอย และจุดด่างดำ

อนุกรมวิธาน
Family (วงศ์) : Euphorbiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trigonostemon reidioides (Kurz) Craib
ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– โลดทะนง
– โลดทะนงแดง

เหนือ
– หนาดคำ

ตะวันตก
– ข้าวเย็นเนิน (ราชบุรี)

อีสาน
– ทะนง รักทะนง (นครราชสีมา)
– นางแซง (อุบลราชธานี)
– โลดทะนงแดง (บุรีรัมย์)
ใต้
– ทะนงแดง, ข้าวเย็นเนิน (ประจวบคีรีขันธ์)
– ดู่เบี้ย ดู่เตี้ย (เพชรบุรี)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
โลดทะนงแดง พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบมากในภาคอีสาน โดยเฉพาะในป่าเต็งรัง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
รากโลดทะนงแดงเป็นระบบรากแก้ว และรากฝอย โดยรากแก้วมีลักษณะเป็นแท่งกลม อาจตรงหรือโค้งงอแทงลึกลงดิน 30-50 เซนติเมตร หรือลึกมากกว่า ขึ้นอยู่กับอายุลำต้น รากอายุน้อยมีขนาดเล็ก 0.5 เซนติเมตร รากอายุมากกว่า 1 ปี มีขนาดใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้นตามอายุ ขนาดตั้งแต่ 1-5 เซนติเมตร

เปลือกรากด้านนอกมีลักษณะขรุขระ สีน้ำตาลอมดำ ผิวเปลือกชั้นในมีสีแดงอมน้ำตาล ส่วนแก่นหรือเนื้อมีสีเหลือง และมีกลิ่นหอม มีสรรพคุณทางยาหลายด้าน

โลดทะนงเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะเป็นต้นเดี่ยวเมื่อมีอายุน้อย หรือแตกกอหลายต้น เมื่อมีอายุหลายปี โดยลำต้นมีลักษณะกลม เปลือกลำต้นมีสีเขียว มีขนสั้นๆสีขาวปกคลุมทั่ว ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ทั้งนี้ จะพบลำต้นแทงออกจากเหง้ารากในต้นฤดูฝน และจะทิ้งใบ พร้อมกับลำต้นแห้งตายในช่วงหน้าแล้ง ก่อนจะแตกใบอีกครั้งในต้นฤดูฝนถัดไป

ใบ
ใบโลดทะนงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเยื้องสลับตามความสูงของลำต้น มีก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปหอก กว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมองเห็นเส้นใบเด่นชัด แผ่นใบหนา มีขนสีขาวนุ่มหนาปกคลุมทั้งสองด้าน

ดอก
โลดทะนงแดงออกดอกตลอดปี ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ ออกเป็นช่อตามซอกใบ และตามกิ่งก้าน มีก้านดอกสีแดงเรื่อ ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายช่อประกอบด้วยดอกย่อย 3-5 ดอก ดอกมีสีขาวอมชมพู หรือม่วงเข้ม

ผล
ผลโลดทะนงแดงมีลักษณะเป็นพู 3 พู ผลสดมีสีเขียวอ่อน ผลสุกมีสีชมพูอมแดง ผลแก่หรือแห้งมีสีดำ แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมื่อผลแห้งเต็มที่ ผลจะปริแตกออก พร้อมกับเมล็ดร่วงลงดิน

สารสำคัญที่พบในโลดทะนงแดง (ราก)
– Rediocidee A
– Rediocidee B
– Rediocidee C (+)-Syringaresinol
– Scopoletin
สารสำคัญกลุ่ม Novel Falvonoidas Indole Alkaloid ซึ่งประกอบไปด้วย
– Afzelechib – (4α8) – Afzelechin
– Trigonostemone
– Phenantherenone
– Lotthanongine
– Daphane Ditherpenoid (Redioside A) Daphnane Ditetpenes (Rediocides B-F และ Redioside G)

ส่วนโลดทะนงขาว พบสารประกอบสำคัญทางเคมีจากราก ได้แก่
– Rediocide B
– Rediocide C (+)-Syringaresinol
– Coumarin Tomentin

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณ (ราก)
ต้มหรือฝนน้ำดื่ม
– ออกฤทธิ์ทำให้อาเจียนอย่างหนัก นิยมใช้ถอนพิษ ถอนยาเบื่อ ยาเมา ใช้สำหรับออกเหล้า ออกบุหรี่
– แก้พิษสำแดง แก้พิษจากสัตว์ พิษจากเห็ดหรือพืช
– ช่วยขับพยาธิ
– ขับปัสสาวะ
– ใช้เป็นยาระบาย

ฝนทาภายนอก ใช้ทาผิว
– แก้พิษแมลงกัดต่อย แก้พิษงู โดยใช้ทาหรือประคบบริเวณแผล
– ใช้ทาล้างแผล
– ใช้ทาฝี ช่วยลดอาการปวด และอาการบวมของฝี
– ใช้ทาบริเวณฟกช้ำ ช่วยลดอาการปวดบวม
– ใช้ฝนทาในช่องคลอด สำหรับคลุมกำเนิด
– ฝนผสมน้ำกับแป้ง ใช้สำหรับทาพอกหน้า ช่วยผลัดเซลล์ผิว ช่วยลดรอยหมองคล้ำ ทำให้ผิวขาว

ทั้งนี้ รากโลดทะนงพบมีสารพิษ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ออกฤทธิ์ทำให้อาเจียนอย่างรุนแรง จึงควรศึกษา และพึงระวังหากรับประทานหรือต้มดื่ม

ที่มา : [1], [2]

ประโยชน์
โลดทะนง ส่วนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด คือ ราก นอกจากถูกใช้เป็นยาสมุนไพรภายในแล้ว ยังนิยมใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด มีคุณสมบัติในการขัดผิว ลดรอยหมองคล้ำ รอยด่างดำ ช่วยให้ผิวขาว อาทิ สบู่ และครีมบำรุงผิว เป็นต้น

ขอบคุณภาพจากโพส Facebook คุณ My Aomsin

https://www.facebook.com/YTmyaomsin/posts/574920643919911/?locale=ur_PK

นอกจากนั้น คุณสมบัติความเป็นพิษต่อระบบประสาทสามารถนำมาใช้สำหรับพ่นไล่ หรือ กำจัดแมลงได้

เอกสารอ้างอิง
[1] ทิพเนตร เขียววิจิตร. 2560. การศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอของโลดทะนง.
[2] กรรณิกา สุขนิตย์ และคณะ. 2543. การสกัดและทดสอบหาสารเคมีจากพืชสมุนไพรเบื้องต้น.