Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
ว่านสี่ทิศ (Amaryllis) จัดเป็นไม้ดอกประดับชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันทั่วโลก เนื่องจากให้ดอกใหญ่ และที่มีหลากสีสวยงาม จัดเป็นไม้ดอกส่งออกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรมาก
ว่านสี่ทิศ เป็นไม้ดอกไม้ประดับประเภทหัว เป็นพืชล้มลุกนานหลายปี และจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูล Amaryllidaceae มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ และทวีปอัฟริกา มีชื่อสกุลแรกเป็น Amaryllis ตั้งโดย Linnacus ในปี ค.ศ.1753 และต่อมามีการผสมว่านสี่ทิศข้ามสายพันธุ์ ระหว่าง African species กับ American species ทำให้มีลักษณะเปลี่ยนไป Herbert จึงเสนอชื่อสกุลเพิ่มอีกเป็น Hippeastrum ในปี ค.ศ. 1821 ดังนั้น ว่านสี่ทิศจึงมีชื่อ 2 สกุล ตามถิ่นกำเนิด และลักษณะของก้านช่อดอก คือ สกุล Amaryllis มีถิ่นกำเนิดในแถบอัฟริกาใต้ ที่มีลักษณะก้านช่อดอกตัน ส่วนสกุล Hippeastrum มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ มีลักษณะก้านช่อดอกกลวง แต่ทั่วไปมักใช้ชื่อสกุล Amaryllis มากกว่า และ Hippeastrum ยังนิยมใช้บ้างในประเทศเนเธอร์แลนด์ และหลายประเทศในยุโรป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หัวหรือลำต้น
ว่านสี่ทิศมีหัวเป็นลำต้นใต้ดิน ประกอบด้วยข้อสั้นๆ อัดแน่นอยู่บริเวณส่วนล่างของหัว ที่เรียกว่าฐานหัว (basal plate) หัวด้านบนเป็นแบบ tunicate bulb ประกอบด้วยกาบใบ (scale) หลายอัน เชื่อมติดกันเป็นวง (concentric) และเรียงซ้อนกันเป็นชั้น จนมีลักษณะเป็นหัวกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บสะสมอาหาร กาบใบชั้นนอกสุดจะแห้งคล้ายเยื่อกระดาษห่อหุ้มรอบหัว ทำหน้าที่ป้องกันการระเหยน้ำของเนื้อเยื่อภายในจากสภาพแวดล้อมภายนอก บริเวณโคนกาบเป็นจุดกำเนิดตา และตาข้างที่เจริญ และพัฒนาเป็นหัวใหม่
ราก
ระบบรากประกอบด้วยรากฝอยจำนวนมาก เจริญออกจากฐานหัว รากมีลักษณะกลมเรียว มีขนาดใกล้เคียงกันทุกราก บริเวณปลายรากแตกกิ่งรากย่อยออกเป็นแขนง รากเมื่ออายุน้อยจะมีสีขาว และเป็นสีน้ำตาลอ่อนเมื่ออายุมากขึ้น
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว แตกออกเรียงสลับจากกาบใบ (หัว) บริเวณโคนใบโค้งงอเข้าหากันจนถึงกลางใบ ทำให้มองดูคล้ายลำต้น แต่ละใบจะแผ่ออกเป็นแผ่นในช่วงปลายใบ มีรูปร่างเรียวยาว อวบน้ำ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม (acute) รูปทรงคล้ายดาบจีน กลางใบมีเส้นขนาดใหญ่ 1 บริเวณ หัวว่านสี่ทิศ 1 หัว จะมีใบประมาณ 3-10 ใบ สีของใบจะมีสีเขียว ยกเว้นบางพันธุ์ที่มีสีครีมหรือแดงเข้มตามขอบหรือปลายใบ เช่น พันธุ์ดอกสีแดงเข้ม (ใบสีแดง)
ดอก
ดอกออกเป็นช่อ แบบ umbel มีดอกย่อยตั้งแต่ 2 ถึง 15 ดอก ขึ้นอยู่กับชนิด และพันธุ์ ก้านช่อดอก (peduncle) มีสีเขียว ขนาดใหญ่ตั้งตรง ยาว มีลักษณะอวบน้ำ มีทั้งก้านช่อดอกกลวง และตัน ผิวก้านช่อดอกมีไขเคลือบ ก้านของดอกย่อย (pedicel) จะแตกออกส่วนปลายก้านช่อ มีลักษณะกลมหรือเหลี่ยมเล็กน้อย ขนาดเท่าๆกัน บริเวณโคนก้านของดอกย่อยจะมีกาบรองดอก (bract) เรียกว่า bracteole ดอกตูมจะมีกาบรองดอกสีเขียวหรือสีต่างๆตามพันธุ์คล้ายใบ 2 อัน ห่อหุ้มช่อดอกไว้ ระยะนี้ เรียกว่า spathe valve
ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยฐานรองดอก (receptacle) และกลีบดอก กลีบดอกเกิดจากการรวมตัวของ sepal และ petal เรียกว่า tepal เชื่อมติดกันเป็นกรวยบริเวณโคนดอก ส่วนปลาย tepal ฉีกแยกจากกันเป็นกลีบ ส่วนโคนที่เป็นกรวยเรียกว่า tepal tube ส่วนปลายที่แยกออกจากกันเป็นกลีบหลายกลีบ เรียกว่า tepal seg รูปร่างกลีบเป็นสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมมนหรือทรงเรียวยาวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สีกลีบดอกมีหลายสี เช่น แดง ส้ม ชมพู ขาว บานเย็น และสีผสมในดอกเดียว ตรงกลางดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้มี 6 อัน ที่ออกจากก้านชูเกสรที่เชื่อมรวมกันบริเวณโคนดอก เกสรตัวผู้มีละอองเกสร (pollen) สีเหลืองจำนวนมาก ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน ยอดเกสรตัวเมีย (stigma) แยกเป็น 3 แฉก (trifurcate stigma) รังไข่เป็นแบบ inferior ovary มี 3 ช่อง (locule) มีไข่อ่อน (ovule) เกาะติดผนังรังไข่แบบ axile placentation โดยเรียงตัวเป็น 2 แถว ในแต่ละ locule
ผล
ผลเป็นแบบ capsule แบ่งเป็น 3 ส่วน ภายในประกอบเมล็ดมีขนาดใหญ่ และแบน มีสีดำเมื่อแก่จัด
ชนิดว่านสี่ทิศตามสีดอก
1. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีขาวบริสุทธิ์ ครีม และขาวปนเขียว เช่น White Dazzlc (pure whitc), Dazzle (pure whitc) และ Christmas Gift (white)
2. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีแสด ชนิดดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน เช่น Orange Sovercign (pure orangc), Bouquct (salmon) และ Lydia (palc salmao)
3. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีชมพู ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม ชมพูปนม่วง และชมพูปนแดง เช่น Susan (soft pink), Beautiful Lady (pale mandarin red) และ Byjou (soft burnt apricot)
4. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีแดง แดงสด แดงเข้ม และแดงดำ ได้แก่ Cantate (milky deep red), Dutch Bcllc (opal rose), Ludwig’s Goliath (bright scarlct), Oskar (rich deep red) และ Rcd lion (dark red)
5. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีเหลือง เป็นว่านสี่ทิศพื้นเมืองในแถบลาตินอเมริกัน
6. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีม่วงปนน้ำเงิน เป็นว่านสี่ทิศพื้นเมืองที่พบตามหน้าผาแถบทะเลใต้
7. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีเขียว เป็นว่านสี่ทิศพื้นเมืองในแถบอเมริกากลาง ซึ่งหายากมาก
8. ว่านสี่ทิศที่มีดอกสีประ และลาย เช่น Apple blossom (white flushed pink), United Nationss (white striped vermilion), Cinderella (orange with white stripc) และ Valentine (white with pink veins)
ชนิดว่านสี่ทิศตามสีใบ
1. กลุ่มว่านสี่ทิศที่มีใบเขียว เป็นว่านสี่ทิศที่มีใบเรียวยาวสีเขียว ออกดอกปีละครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ขณะออกดอกจะไม่มีใบ ดอกขนาดเล็ก รูปทรงของดอกเป็นแบบปากแตรสั้น และมักไม่ติดผลในธรรมชาติ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีแดง ครีม ชมพู และส้ม
2. กลุ่มว่านสี่ทิศที่มีแถบเส้นกลางใบ เป็นว่านสี่ทิศที่มีใบกว้างหนา มีแถบเส้นกลางใบ สีขาว เขียวอ่อน และเขียวปนเหลือง ออกดอกตลอดปี ดอกขนานเล็กถึงกลางรูปทรงของดองเป็นแบบปากแตรยาว กลีบดอกสีพื้นขาวมีร่างแหสีชมพูปนม่วง ชมพูเข้ม หรือชมพูปนส้ม และไม่ติดผลในธรรมชาติ ได้แก่ รางนาค รางเงิน และรางทอง
การเติบโต
การเติบโตของว่านสี่ทิศ แบ่งเป็น 3 ระยะ
• ระยะเติบโตทางดอก (reproductive phase) เป็นระยะที่มีการเจริญเติบโตของก้านดอก ดอก ผล และเมล็ด
• ระยะเติบโตทางใบ (vegetative phase) เป็นระยะที่มีการเจริญเติบโตของราก หัว และใบ
• ระยะพักตัว (dormancy) เป็นระยะพักตัวที่ส่วนต่างๆ ของลำต้นเทียมเหนือดิน และส่วนราก แห้งตาย คงเหลือแต่ส่วนหัวที่ยังมีชีวิตอยู่ใต้ดิน เหมือนพืชตระกูลว่านชนิดอื่น โดยทั่วไปเมื่อถึงช่วงต้นฤดูฝนจะเข้าสู่วงจรเจริญเติบโตของดอกอีกครั้ง แต่บางสายพันธุ์อาจพบการเจริญของช่อดอก และใบในระยะไล่เลี่ยหรือพร้อมกัน
ว่านสี่ทิศเป็นไม้ดอกประเภทหัวที่มีลักษณะของการเจริญเติบโตเป็นแบบหลายฤดู (herbaceous perennial) วงจรการเจริญเติบโตของว่านสี่ทิศ ถ้าปลูกจากหัวพันธุ์ขนาดใหญ่ที่สามารถให้ดอกได้และเป็นหัวที่หมดระยะพักตัวแล้วจะมีการเจริญเติบโตของช่อดอกขึ้นสู่เหนือดินก่อน ช่อดอกนี้เป็นช่อดอกที่ได้รับการสร้างขึ้นมาในช่วงปลายของระยะการเจริญเติบโตทางใบของต้นแม่ไปจนถึงช่วงที่หัวใหม่มีการพักตัว
ช่อดอกที่แทงออกมาจะเจริญ และพัฒนามาจากตาข้าง (axillary bud) ของกาบใบที่อยู่บริเวณวงที่ 4 ของหัวนับจากใจกลางหัวออกมา ซึ่งอาจเจริญ และพัฒนาได้มากกว่า 1 ช่อดอกในหัวเดียว โดยเฉพาะหัวที่มีขนาดใหญ่ ตาดอกที่เจริญเป็นช่อดอกจะเจริญอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะอยู่ในระยะพักตัวก็ตาม เมื่อหัวมีการเติบโต ช่อดอกจะเริ่มขยายขนาด และยืดตัวเป็นก้านโผล่เหนือดินอย่างรวดเร็ว หลังจากดอกบานจะมีการเจริญเติบโตของใบตามมา
ในขณะที่ใบมีการเติบโตจะมีการเติบโตของหัวใหม่ควบคู่กัน จนกระทั่งเมื่อดอก และใบแห้งตาย และสิ้นสุดการเจริญเติบโต หัวใหม่จึงจะหยุดขยายขนาดเข้าสู่ระยะพักตัวอีกครั้ง
ว่านสี่ทิศบางสายพันธุ์ไม่มีระยะพักตัว มีการสร้างดอก และใบได้ตลอดปี แต่ว่านสี่ทิศโดยทั่วไปจะมีระยะพักตัวในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ภายใน 1 ปี จะเติบโตได้มากถึง 3 ช่วง คือ ออกดอก และเติบโตได้ปีละ 3 ครั้ง
การปลูกว่านสี่ทิศ
การเพาะขยายพันธุ์ นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการตัดแบ่งหัวปักชำหรือใช้เหง้าหัวใหม่ที่แตกออกแบ่งปลูก
1. การตัดแบ่งหัว
การตัดหัวแบ่งเพาะชำจัดเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และให้ผลดีที่สุด ด้วยการผ่าหัวว่านออกเป็นส่วนๆ 4-8 ส่วน ขึ้นอยู่กับขนาดหัว ตามแนวจากล่างจนสุดปลายหัว โดยในส่วนล่างต้องให้มีแขนงรากติดอยู่ทุกส่วนที่แบ่ง การตัดแบ่งให้หันด้านล่างที่มีรากติดขึ้น และตัดแบ่งโดยกะระยะให้มีรากติดทุกส่วน
หลังจากนั้น นำส่วนที่ตัดแบ่งปักชำลงดินในกระถางหรือแปลงเพาะชำที่เตรียมได้จากการผสมดินกับอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ขี้เถ้า ขุยมะพร้าว เป็นต้น อัตราส่วนดินกับวัสดุอินทรีย์ที่ 1:1 หรือ 2:1
ขั้นตอนการปักชำจะใช้นิ้วหรือพลั่วเล็กตักเปิดหน้าดินลึก 3-5 เซนติเมตร แล้วนำส่วนหัวที่ตัดแบ่งวางลงในร่อง พร้อมกลบเกลี่ยดินกลบ โดยไม่ต้องแน่น หลังจากนั้นทำการรดน้ำเพียงเล็กน้อยพอดินชุ่ม วันละ 1-2 ครั้ง จนหัวมีการเติบโตของใบประมาณ 7-10 สัปดาห์ แล้วจึงแยกปลูกในกระถางเพื่ออนุบาลให้โต
2. การแบ่งหัวย่อย
เป็นวิธีการแยกหัวย่อยออกจากหัวหลักแล้วนำมาปลูก ซึ่งแต่ละหัวจะมีขนาดแตกต่างกัน หัวหลักที่เติบโตประมาณ 1-2 ปี จะสามารถแตกหัวย่อยได้ 2-3 หัว/ปี แต่อาจพบบางสายพันธุ์ที่แตกหัวย่อยได้มากกว่า 5 หัว/ปี
3. การเพาะเมล็ด
เป็นการขยายพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ โดยการถ่ายละอองเรณูผลจะแก่ภายใน 30-35 วันเมล็ดมีเปลือกสีดำ ไม่มีการพักตัว ควรนำเมล็ดไปเพาะทันที หรือภายใน 7 วัน ในวัสดุที่มีการระบายน้ำดี และมีความชื้นสม่ำเสมอ เมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วันหลังเพาะ และมีการงอกแบบ epigeal germination
วิธีปลูกว่านสี่ทิศ
ว่านสี่ทิศมีหัวเป็นแบบ true bulb เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีระบายน้ำดี เช่น ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง 6.0-7.0 ในกรณีที่ปลูกเลี้ยงในกระถางควรใช้ดินผสมที่มีอัตราส่วนผสมของ ดิน:ทราย:ขี้เถ้าแกรบ:ปุ๋ยหมัก เท่ากับ 2:1:1:1 โดยปริมาตร ดินผสม 1 ลูกบาศก์เมตรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กิโลกรัม และปูนขาว ½ กิโลกรัม และรดปุ๋ยเคมีละลายน้ำสูตร 15-15-15 ความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตรทุกสัปดาห์
ว่านสี่ทิศที่เจริญเติบโตให้ใบได้เดือนละ 1 ใบ และมีใบ 6-12 ใบ ทุกๆ 4 ใบ จะมีตาดอก และจุดกำเนิดหัว การเกิดตาดอกของว่านสี่ทิศขึ้นกับอายุของหัว และขนาดของหัว โดยหัว (bulbet) ที่เกิดจาการเพาะเมล็ด การแยกออกจากหัวและการผ่าหัวจะต้องปลูกเลี้ยงเป็นเวลา 1-2, 2 และ 3 ปี จึงจะออกดอกตามลำดับ ส่วนขนาดของหัวที่มีขนาดเส้นรอบหัว 22-24,24-26 และมากกว่า 26 เซนติเมตร จะมีช่อดอกเฉลี่ย 1,1 ½ และ 2 ช่อต่อหัวต่อปีตามลำดับ
การทำให้ว่านสี่ทิศไม่ให้ฝ่อ ในต่างประเทศทำได้ด้วยการใช้หัวที่มีอายุมาก นำมาผึ่งหัวให้กาบนอกแห้ง และเก็บหัวที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ในสภาพมืด เมื่อนำมาปลูกจะแทงช่อดอกในเวลา 2-4 สัปดาห์ ดอกบานหลังปลูก 6-8 สัปดาห์ ส่วนบ้านเราใช้วิธีตัดใบออก และนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4-10 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ เมื่อนำออกปลูกจะแทงช่อดอกหลังปลูก 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมีหัวที่โตเต็มที่และพร้อมออกดอก สังเกตได้จากเปลือกนอกสุดที่มีแผ่นเยื่อสีดำ หรือสีน้ำตาล
การทำให้ว่านออกดอกนอกฤดู
การออกดอกของว่านมักสัมพันธ์กับอุณหภูมิ และความชื้น โดยปกติพืชตระกูลว่านที่มีหัวจะออกดอกหลังระยะพักตัวหลังจากได้น้ำครั้งแรก ดังนั้น การบังคับให้ว่านออกดอกจะใช้วิธีการงดน้ำประมาณ 6-8 สัปดาห์ ก่อนให้น้ำ และให้ปุ๋ยอีกครั้ง นอกจากนั้น ยังมีการใช้สารเคมีกระตุ้นการออกดอก เช่น สาร Gibberelling (GA)