Last Updated on 24 มกราคม 2020 by puechkaset
ว่านพญาวานร หรือ ว่านง็อก เป็นว่านที่นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้มงคล และนิยมนำส่วนของใบมาใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรเพื่อรักษาโรคหลายชนิด โดยเฉพาะการลดอาการอักเสบ และติดเชื้อได้เป็นอย่างดี
อนุกรมวิธาน
วิทยาศาสตร์ : Pseuderanthemum palatiferum (Nees) Radlk.
อาณาจักร : Plantae
ไฟลัม : Monocotyledon
ชั้น : Magnoliopsida
อันดับ : Scrophulariales
อันดับย่อย : Lamianae
วงศ์ : Acanthacea
สกุล : Pseuderanthemum
สปีชีส์ : P. palatiferum
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ว่านพญาวานร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1-3 เมตร เป็นพืชใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกันที่ลำต้น และกิ่ง ใบมีลักษณะเรียวแหลม เรียวเล็กตามความยาวของใบ สีเขียวสด ด้านล่างหยาบ ขนาดใบกว้าง 3 – 5 เซนติเมตร ยาว 5 – 15 เซนติเมตร โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ กิ่งอ่อนมีสีเขียวอ่อน เมื่อแก่มีสีน้ำตาลหรือสีเขียวเข้ม มีรากเป็นระบบรากฝอย ดอกออกเป็นช่อสีน้ำเงินม่วง หรือสีชมพู
สารสำคัญที่พบ (ใบสด 100 กรัม)
– แคลเซียม 875.50 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม 837.60 มิลลิกรัม
– เหล็ก 38.80 มิลลิกรัม
– ไลซีน 30.6 มิลลิกรัม
– เมทไธโอนีน 29.7 มิลลิกรัม
– ทรีโอนีน 61.0 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ใบว่านพญาวานรยังพบสารอาหารจำพวกโปรตีน และเอนไซม์ proteinaseที่ย่อยโปรตีน และสารสำคัญหลายชนิด ได้แก่
– flavonoids
– β-sitosterol
– phytol
– 3-0-(β-D-glucopyranosyl)-sitosterol
– สารผสมระหว่าง stigmasterol กับ poriferasterol
– n-pentacosan-1-ol
– สารผสมระหว่าง kaempferol-3-methyl ether-7-0-beta-glucoside กับ apigenin-7-0-β-glucoside
– 1-triacontanol
– salicylic acid
– glycerol 1-hexadecanoate
– palmitic acid
สรรพคุณว่านพญาวานร
Dieu และคณะ (2005)1 ได้สำรวจว่านพญาวานรในท้องถิ่นเวียดนามที่ใช้รักษาโรค พบว่า มีการใช้ว่านพญาวานรในการรักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิต โรคท้องร่วง โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคข้ออักเสบ ลำคออักเสบ เป็นต้น
นอกจากนั้น มีการศึกษาผงจากใบว่านพญาวานรในการรักษาสุกรที่ท้องร่วง เป็นเวลา 3 วัน เปรียบเทียบกับยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด คือ Coli-norgent และ Co-trimoxazol พบว่าอัตราการฟื้นตัวเมื่อใช้ผงใบว่านพญาวานร คิดเป็นร้อยละ 92.8 ที่ระยะเวลาที่ป่วย 2.16 วัน ยา Coli-norgen ร้อยละ 90.48 ที่ระยะเวลาที่ป่วย 2.24 วัน และ ยา Cotrimxazol ร้อยละ 83.33 ที่ระยะเวลาที่ป่วย 2.03 วัน ซึ่งทำให้ทราบว่า ผงของใบว่านพญาวานรมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องร่วงไม่แตกต่างกับยาทั้ง 2 ชนิด ประสิทธิภาพการลดเชื้อ Escherichia coli ของผงใบว่านพญาวานร คิดเป็นร้อยละ 88.06, ยา Coli-norgen คิดเป็นร้อยละ 66.41 และ ยา Cotrimxazol คิดเป็นร้อยละ 97.28
Dieu และคณะ (2006)2 ได้ศึกษาผลของใบว่านพญาวานรต่อสุกร พบว่า ลูกสุกรที่ยังไม่ได้หย่านมเมื่อกินใบสดว่านพญาวานรทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม จำนวนเม็ดเลือดแดง และฮีโมโกลบินสูงกว่า และไม่พบการตาย และอาการท้องร่วงเหมือนลูกสุกรที่หย่านมแล้ว
จันทนา (2551)3 ได้ทดสอบสารสกัดจากใบว่านพญาวานรต่อการต้านเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae, Salmonella Typhimurium, Staphylococcus aureus และ Escherichia coli พบว่า สารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ในระดับปานกลาง และพบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทนจากใบว่านพญาวานรมีฤทธิ์ยับยั้งการฟอกสีเบตา-แคโรทีนได้
พีรวิชญ์ และคณะ (2552)4 ได้ศึกษาความเป็นพิษใบว่านพญาวานรใน Vero ด้วการใช้ผงใบว่านพญาวานร, ยา Coli-norgen และ ยา Cotrimxazol พบว่า ผงใบว่านพญาวานรทำให้เชื้อ Escherichia coli ลดลงร้อยละ 88.06, ยา Coli-norgen ลดลงร้อยละ 66.41 และ ยา Cotrimxazol ลดลงร้อยละ 97.28
Giang และคณะ (2005)5 ศึกษาสารกลุ่ม flavonoids จากใบว่านพญาวานร พบว่า สารสกัด flavonoids มีประสิทธิภาพในการต้าน H2O2 ได้เป็นอย่างดี และสามารถต้านเชื้อรา Candida albicansและ Candida stellatoides ได้
Pamok และคณะ (2012)6 ได้ศึกษาฤทธิ์การยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ HCT15, SW48 และ SW480 จากสารสกัดว่านพญาวานร พบว่า สารสกัดที่ได้มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิด
ทัดดาว คำปุก (2555)7 ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากใบว่านพญาวานร ทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังที่ใบหูหนูทดลอง พบว่า สารสกัดที่ใช้สามารถลดการอักเสบ และอาการบวมของใบหูหนูทดลองได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดใบว่านพญาวานร
วิธีปลูกว่านพญาวานร
ว่านพญาวานรเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินมีความชื้นสูง และชอบที่ร่มหรือแสงแดดรำไร เมื่อโตเต็มที่จะให้ใบมากถึง 700 – 1,000 ใบ/ต้น หากเด็ดยอดจะสามารถแตกกิ่งได้มากขึ้น
การปลูกว่านพญาวานรจะใช้วิธีการเพาะเมล็ดหรือการปักชำกิ่ง ซึ่งสามารถปลูกได้ในแปลงหรือพื้นที่ว่างหลังบ้านหรือแปลงจัดสวน รวมถึงสามารถปลูกได้ดีในกระถางที่เป็นดินร่วน และมีอินทรีย์วัตถุสูง
การปลูกในแปลงจัดสวนหรือพื้นที่ว่าง ควรปลูกในดินร่วน และมีอินทรีย์วัตถุสูง ด้วยการผสมวัสดุทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แกลบ ขี้เถ้า เป็นต้น อัตราส่วนควรอยู่ที่ 1:1 หรือหากทุนไม่มากให้ผสมกับดิน 2 ส่วน วัสดุ 1 ส่วน ทั้งนี้ การผสมดินสำหรับการปลูกจะใช้วิธีเดียวกันในการปลูกใส่กระถางเช่นกัน
• การจัดวางแนวปลูก หากเป็นในสวนหรือแปลงปลูก ควรอยู่ใต้ไม้ใหญ่ชนิดอื่น หากเป็นกระถางให้วางในที่ร่ม แสงแดดรำไร
• การให้น้ำ ควรให้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เพียงพอสำหรับรักษาความชื้นในดิน หากดินแห้งหรือขาดน้ำมักพบอาการใบอ่อน เหี่ยว คล้ายโดนแดดลวก
• ปุ๋ยที่ให้ ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เพียงเล็กน้อย
เอกสารอ้างอิง