ลิ้นมังกร และการปลูกลิ้นมังกร

Last Updated on 9 กุมภาพันธ์ 2016 by puechkaset

ลิ้นมังกร จัดเป็นไม้ใบประดับ และไม้มงคล ที่นิยมเพื่อการประดับใบ เนื่องจาก ใบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายหอก มีทั้งใบสั้น และใบยาว ใบมีจุดด่างของหลายสีอาทิ สีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน สีเขียวอมเทา และสีเหลือง ทำให้แลดูสวยงาม และเป็นที่แปลกตาเมื่อพบเห็น

ต้นลิ้นมังกร เป็นชื่อเรียกของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในกลุ่มของลิ้นมังกรซึ่งมีหลายชนิด แต่จะมีลักษณะเด่นที่ใบเรียวยาวคล้ายหอก ทั้งชนิดเรียวยาวมาก ยาวปานกลาง และสั้น ส่วนปลายใบมีทั้งชนิดที่ปลายใบแหลม และมีหนาม ปลายใบแหลมแต่ไม่มีหนาม และปลายใบมน นอกจากนั้น ลิ้นมังกรยังถูกนำไปเรียกพืชที่มีลักษณะใบคล้ายกัน แต่จัดอยู่ในกลุ่มของกล้วยไม้ เช่น ลิ้นมังกรใบจุด เป็นต้น รวมถึงใช้เรียกพืชบางชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มของกระบองเพชร

ในทีนี้จะขอกล่าวถึงต้นลิ้นมังกร หรือบางชนิดเรียก ว่านลิ้นมังกร ที่พบเห็นปลูกกันมาก ซึ่งมีหลายชนิดที่มีรูปทรง และลักษณะของใบแตกต่างกัน ทั้งมีเป็นชนิดพื้นเมืองของไทย และชนิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นของลิ้นมังกรที่พบเห็นเหนือดินจะเป็นลำต้นเทียมหรือที่เรียกว่า ใบลิ้นมังกร ส่วนลำต้นที่แท้จริงจะเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน บางชนิดมีลำต้นหรือเหง้าเป็นแท่งกลมแตกแขนงออกเป็นแง่งหลายแง่ง บางชนิดมีลำต้นเป็นหัวกลม ซึ่งหัวหรือเหง้าจะแทงใบออกเป็นใบเดี่ยวชูขึ้นเหนือดิน

ใบ
ใบของลิ้นมังกรมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ใช้จำแนกชนิดหรือสายพันธุ์ของลิ้นมังกร ใบของลิ้นมังกรบางชนิดมีลักษณะแบนเรียบ มีทั้งใบเรียวยาว ใบเรียวสั้น ปลายใบมน และปลายใบมีหนามแหลมหรือปลายใบแหลมไม่มีหนาม และบางชนิดมีลักษณะทรงกลมที่อวบน้ำ หรือใบแบนที่ห่อ และอวบเป็นทรงกลม ซึ่งส่วนมากจะมีลายหรือจุดประกระจายทั่วใบ อาทิ จุดประหรือลายสีขาว สีเขียวอมเทา สีเทา และสีเหลือง เป็นต้น

ลิ้นมังกร

ดอก
ดอกของลิ้นมังกรจะออกเป็นช่อ มีก้านช่อดอกยาว มีดอกเรียงซ้อนกันจนถึงปลายช่อ ดอกส่วนมากมีสีขาว

เมล็ด
เมล็ดของลิ้นมังกรมักไม่ค่อยพบ เนื่องจากกว่าจะติดดอกได้ก็ต่อเมื่อต้นมีอายุมาก และดอกส่วนมากเป็นดอกหมัน

สายพันธุ์ลิ้นมังกร (รวมสายพันธุ์ในกลุ่มลิ้นมังกร และกล้วยไม้)
– ลิ้นมังกรขอบเหลืองใบยาว (ใบแบนยาว กลางใบด่าง ขอบสีเหลือง)
– ลิ้นมังกรขอบเหลืองใบสั้น (ใบแบนสั้น กลางใบเขียว ขอบสีเหลือง)
– ลิ้นมังกรลายด่าง/ลิ้นมังกรพื้นเมือง (ใบแบนยาวมีด่างทั่วใบ ใบไม่มีขอบสี)
– ลิ้นมังกรลายด่างแคระ (ใบแบนสั้นมีด่างทั่วใบ ใบไม่มีขอบสี)
– ลิ้นมังกรใบกลม (ใบกลม เรียวยาว )
– ลิ้นมังกรเขี้ยวหมู (ใบแบนสั้น ใบด่างขอบใบไม่มีสี)
– ลิ้นมังกรเจดีย์หยก (ใบแบนสั้น ใบสีเขียวเข้ม ไม่มีลายประ แตกใบเรียงถี่ขึ้นสูงจนมีรูปทรงเป็นเจดีย์)
– ลิ้นมังกรครีบปลาวาฬด่าง (ใบแบนสั้น แผนใบกว้าง ปลายใบแหลม มีลายสีเขียวแกมสีเหลืองในแนวตั้งของใบ)
– ลิ้นมังกรใบจุด (ใบแบนสัน ปลายใบมน มีจุดสีขาวทั่วใบ จัดอยู่ในกลุ่มของกล้วยไม้ )
– ฯลฯ

ลิ้นมังกรขอบเหลืองใบสั้น

ลิ้นมังกรใบกลม

ประโยชน์
1. เนื่องจากใบลิ้นมังกรเรียวยาวคล้ายดาบหรือหอก ใบมีจุดเป็นด่างประทั่วใบ ทำให้แลดูสวยงาม และแปลกตาผู้ที่พบเห็นจนกลายเป็นไม้ประดับใบที่นิยมปลูกชนิดหนึ่ง
2. ลิ้นมังกรนิยมปลูกเป็นไม้มงคล เนื่องจากลักษณะใบของลิ้นมังกรที่มีรูปร่างคล้ายหอก ทำให้มีความเชื่อว่า หอกนี้ เป็นหอกของพระอินทร์หรือเทวดาที่จะช่วยปกป้องภัยอันตรายต่างๆไม่ให้กล้ำกายเข้าใกล้คนในครอบครัว

สรรพคุณลิ้นมังกร
ใบหรือเหง้าของลิ้นมังกรยังไม่มีการศึกษาสรรพคุณที่แน่ชัด แต่ใบของลิ้นมังกรเกือบทุกชนิดมีรสขม ซึ่งจากการรวบรวมเอกสาร และการนำเสนอในเว็บไ๙ต์ต่าง พบว่า ใบลิ้นมังกรมีสรรพคุณ ดังนี้
– ทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ และขับเสมหะ
– ลดอาการไข้ และเป็นหวัด
– ใบนำมาบดใช้ประคบแผลกัดต่อยของแมลง ช่วยลดอาการปวด
– ใบนำมาบดใช้ประคบห้ามเลือดจากบาดแผล
– ใบใช้บดหรือบี้ทารักแผล ทำให้แผลหายเร็ว

การปลูกลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรนิยมปลูกทั้งในแปลงจัดสวน และการปลูกในกระถาง ซึ่งนิยมขยายพันธุ์ด้วย 2 วิธี คือ การขยายพันธุ์แบบปักชำใบ และการขยายพันธุ์แบบแยกเหง้าปลูก แต่ที่นิยมที่สุดจะเป็นการปักชำใบ เนื่องจาก สะดวก รวดเร็ว และขยายพันธุ์ได้ครั้งละจำนวนมาก

การปลูกในแปลงหรือปลูกในกระถางนั้น สามารถปลูกได้ทั้งในที่ร่ม และที่กลางแจ้ง เพราะลิ้นมังกรเป็นพืชที่เติบโตได้ดีทั้งที่อยู่ในแสงน้อย และกลางแจ้ง แต่ลิ้นมังกรบางชนิดที่มีลักษณะอวบน้ำนั้น มักจะไม่ชอบแสงแดดจัด เพราะน้ำในใบที่มีมากจะร้อนทำให้เกิดอาการใบลวกได้ง่าย

การเตรียมดิน
การเตรียมดินสำหรับการปลูกในแปลง มักไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เนื่องจาก จะใช้ดินในแปลงเป็นจุดปลูก แต่จะต้องทำการกำจัดวัชพืช และพรวนด้วย พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกคลุกผสมด้วย ส่วนการปลูกในกระถางซึ่งจะเป็นวิธีที่นิยมมาก จำเป็นต้องเตรียมวัสดุปลูก ด้วยการผสมดิน และทรายร่วมกับวัสดุอินทรีย์อื่นๆ อาทิ แกลบดำ ขุยมะพร้าว เป็นต้น อัตราส่วนผสมดิน:ทราย และวัสดุปลูกที่ 1 : 0.5 : 2 แล้วคลุกผสมให้เข้ากัน ก่อนจะบรรจุใส่กระถาง

วิธีปลูก
– การปลูกด้วยการปักชำใบจะใช้ใบจากต้นแม่ด้วยการตัดใบให้ชิดโคนใบบริเวณหน้าดิน หลังจากนั้นแบ่งใบออกเป็นส่วนๆ ยาวประมาณ 10-15 ซม. และเฉือนโคนท่อนใบให้เฉียงประมาณ 45 องศา แล้วค่อยนำปักเสียบลงในกระถางลึกประมาณ 5-10 ซม. กระถางละ 1-3 ใบ ส่วนการปลูกในแปลง อาจใช้วิธีปลูกปักชำโดยตรง หรือ นำใบที่ปักชำในกระถางที่ติดรากแล้วนำลงปลูกในแปลงอีกครั้ง
– ส่วนการปลูกด้วยการแยกเหง้า จะทำด้วยการขุดเหง้าลิ้นมังกร แล้วตัดแบ่งเหง้าออกเป็นส่วนๆ โดยควรให้เหง้ามีใบติดมาด้วย 1-2 ใบ และให้ตัดเฉือนใบส่วนปลายทิ้งเป็นรูปปากฉลามให้เหลือใบยาวประมาณ 20 ซม. ส่วนใบที่ตัดทิ้งให้นำมาปักชำต่อได้

การดูแลลิ้นมังกร
หลังจากการปลูก ให้รดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง พอให้หน้าดินชุ่ม และให้รดน้ำต่อเนื่องจนใบแตกหน่อใหม่แล้ว และหลังจากที่หน่อ และใบใหม่ยาวได้มากกว่า 5-10 ซม. ค่อยลดปริมาณน้ำที่ให้ลง อาจให้เพียง 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพความชุ่มของหน้าดิน

ส่วนการใส่ปุ๋ยนั้น ไม่จำเป็นต้องใส่มาก เพราะพืชชนิดนี้ไม่ต้องการธาตุอาหารมาก เพียงให้ปุ๋ยคอกเสริมเป็นประจำทุกๆ 2-3 เดือน ก็เพียงพอแล้ว และอาจให้ปุ๋ยเคมีร่วม เช่น สูตร 24-12-12 เพื่อเร่งการเติบโตของใบร่วมด้วย