มะเขือพวง สรรพคุณ และการปลูกมะเขือพวง

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

มะเขือพวง (Pea eggplant) จัดเป็นพืชผักสมุนไพร โดยอดีตจะเป็นพืชป่า แต่ปัจจุบันพัฒนาสายพันธุ์ และนิยมปลูกจนกลายเป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมนำผลมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะ ใช้ทำน้ำพริกปลาทู น้ำพริกต่างๆ ใช้ทำแกงเผ็ด แกงเขียวหวาน เป็นต้น

มะเขือพวง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศ และหมู่เกาะในทวีปอเมริกากลาง จนถึงทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมักพบขึ้นเป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วไป ปัจจุบันพบได้ทั่วไปในทุกประเทศในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร และนิยมปลูกสำหรับเป็นอาหารในแทบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว มาเลเชีย เป็นต้น

อนุกรมวิธาน
Kingdom: Plantae
Devision: Magnoliophyta
Class: Magnoliopsida
Order: Solanales
Family: Solanaceae
Genus: Solanum L.
Species: Solanum torvum sw

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Swartz
• วงศ์ : Solanaceae
• ชื่อสามัญ
– Turkey berry
– Devil’s fig
– Prickly nightshade
– Shoo-shoo bush
– Pea eggplant
• ชื่อท้องถิ่นไทย
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะเขือพวง
ภาคเหนือ
– มะแคว้งกุลา
ภาคอีสาน
– หมากแข้ง
– หมากเขือพวง
– มะเขือละคร
ภาคใต้
– เขือน้อย
– เขือพวง
– ลูกแว้ง
– เขือเทศ
– มะแว้งช้าง
• ต่างประเทศ
– แถบแคริบเบียน : Susumba
– อินเดียใต้ : Sundakkai

ลูกมะเขือพวง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะเขือพวงเป็นไม้ล้มลุกข้ามปี มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ลำต้น และกิ่งปกคลุมด้วยหนาม แต่บางพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันจะไม่มีหนาม กิ่งจะแตกออกตั้งแต่ระดับต่ำจากลำต้น กิ่งมีจำนวนน้อย ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง

ใบ
ใบมะเขือพวงออกตรงข้ามกันบนกิ่ง ใบมีรูปไข่ แผ่นใบกว้าง และเรียบ ขอบใบเว้าเป็นร่อง 3 คู่ หรือ 6 ร่อง ซ้ายขวา ก้านใบยาว 2-4 ซม. แผ่นใบกว้าง 8-10 ซม. ยาว 12-15 ซม.

ดอก
ดอกมะเขือพวง แทงออกเป็นดอกช่อ ดอกมีรูปกรวยแตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือม่วง 5 กลีบ และเกสรผู้มีสีเหลือง

ดอกมะเขือพวง

ผล
ผลมะเขือพวงออกเป็นผลแบบเบอร์รี่ (มีหลายผลในก้านผลเดียว) แต่ละช่อผลมีผลประมาณ 2-10 ผล ผลมีขนาดเล็ก และกลม ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ให้รสขม ผลเริ่มสุกมีสีเหลือง และสุกจัดมีสีแดงอมส้ม ให้รสฝื่น เปรี้ยว เปลือกผลดิบค่อนข้างหนา และเหนียว แต่เมื่อสุกความหนาของเปลือกจะบางลง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 300-400 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม แบน เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล

มะเขือพวง

ประโยชน์มะเขือพวง
1. ผลของมะเขือพวงนิยมใช้ประกอบอาหารเพื่อเพิ่ม และปรับปรุงรสอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาหารจำพวกน้ำพริกต่างๆ ส่วนอาหารอื่นๆ ได้แก่ แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด และส้มตำ เป็นต้น
2. ใช้เป็นส่วนผสมของการปรุงยาสมุนไพร

คุณค่าทางโภชนาการ (ผล 100 กรัม)
พลังงาน : 24 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต : 5.7 กรัม
น้ำตาล : 2.35 กรัม
เส้นใยอาหาร : 3.4 กรัม
ไขมัน 0.19 กรัม
โปรตีน 1.01 กรัม
วิตามีนบี 1 : 0.039 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 : 0.037 มิลลิกรัม
ไนอะซิน : 0.649 มิลลิกรัม
กรดแพนโทเทนิก : 0.281 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 : 0.084 มิลลิกรัม
โฟเลต : 22 ไมโครกรัม
วิตามินซี : 22 มิลลิกรัม
แคลเซียม : 9 มิลลิกรัม
เหล็ก : 0.24 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม : 14 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส : 25 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม : 230 มิลลิกรัม
สังกะสี : 0.16 มิลลิกรัม
แมงกานีส : 0.25 มิลลิกรัม

ที่มา : กรณ์กาญจน์ (2553)(1)

สารสำคัญที่พบในมะเขือพวง
1. สารประกอบฟีนอล (Phenolic Compounds)
สารประกอบฟีนอลที่พบในมะเขือพวงมีคุณสมบัติต่าง ได้แก่
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านการเกิดการกลายพันธุ์
– ต้านการเกิดเอสโตรเจน
– ต้านการเกิดมะเร็ง และต้านการอักเสบ
– ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– ยับยั้งการจับกันของเกล็ดเลือด และขยายหลอดเลือด
– ช่วยลดปริมาณไขมัน
– ป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว

2. โปรตีน (Protein)
โปรตีนที่พบในผลมะเขือพวงประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด ซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบมีขั้ว และไม่มีขั้ว เช่น คาร์โนซายด์ และแอนเซอรายด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานร่วมสารในกลุ่มฟีนอล

3. คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)
คาร์โบไฮเดรตที่พบในมะเขือพวงจะเป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการต้านอนุมูลอิสระร่วมกับสารในกลุ่มอื่น

4. สเตอรอล (Sterol)
สารในกลุ่มสเตอรอลที่พบในมะเขือพวง ได้แก่ สเตรียรอยดอล ซาโปนิน (Steroidal Saponin), สเตรียรอยดอล อัลคาลอยด์ (Steroidal Alkaloid) และเบต้าไซโตสเตอรอล (β-sitosterol) รวมถึงสารอื่นๆ ได้แก่
– Plant sterols เป็นหนึ่งในสารไฟโตสเตอรอลที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมคลอเลสเตอรอลที่ลำไส้เล็ก และยังสามารถลดระดับคลอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) ในเลือดได้ นอกจากนั้น ยังช่วยยับยั้งการผลิตเอนไซม์ HMG-CoA reductase
ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสังเคราะห์คลอเลสเตอรอลได้
– Steroidal glycoside เป็นไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่ช่วยลดภาวะกระดูกพรุน, การเกิดมะเร็งเต้านม, การเกิดมะเร็งมดลูก, ช่วยต้านการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านการอักเสบ
– Torvoside A, H เป็นสเตียรอยด์ไกลโคไซด์ ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายา
อะไซโคลเวียร์ถึง 3 เท่า

5. ซาโปนิน (Saponin)
สารซาโปนิน สามารถพบได้ในมะเขือพวง ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้สำหรับช่วยทำให้เกิดฟองในเครื่องดื่ม รวมถึงประยุกต์ในการใช้ละลายลิ่มเลือด และใช้เป็นสารทำความสะอาด นอกจากนั้น ยังเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการลดไขมันในร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยซาโปนินสามารถจับกับคลอเลสเตอรอลได้ดี ส่งผลดีต่อ
– ช่วยลด และกำจัดไขมันในร่างกาย
– ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด
– ช่วยบำรุงหัวใจ และส่งเสริมการทำงานของหัวใจให้มีประสิทธิภาพ
– ช่วยต้านการติดเชื้อจุลินทรีย์ในร่างกาย

6. อัลคาลอยด์ (Alkaloid)
สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่พบในมะเขือพวงเป็น Indole Alkaloid ที่เป็นสารต้าน และยับยั้งการเกิดมะเร็ง และกำจัดดีเอ็นเอที่ถูกทำลายในนิวเคลียส ช่วยต้าน และรักษามะเร็งเต้านม เนื่องจากสารนี้ สามารถยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต และยับยั้งการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ให้อยู่ในรูปสารอื่นที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง

7. โซลานีน (Solanine)
โซลานีน (Solanine) เป็นสารที่พบในพืชตระกูลมะเขือ ที่มีฤทธิ์ทำให้สูญเสียสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไขข้อ และกระดูก จึงไม่ควรรับประทานพืชในตระกูลมะเขือ แต่หากรับประทาน ก็สามารถลดผลกระทบจากสารนี้ได้ด้วยการทำให้สุก และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงอาทิ นม เนย ปลาขนาดเล็ก เป็นต้น นอกจากนั้น การได้รับสารสารโซลานีนจำนวนมากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดหัว และอาเจียน

8. ไอโซฟลาโวน (Isoflavone)
สารไอโซฟลาโวน (Isoflavone) เป็นสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมน มีความสามารถเข้าแย่งจับกับตัวรับเอสโตรเจน ซึ่งจะช่วยป้องโรคกระดูกพรุน ป้องกันโรคหัวใจโคโลนารี ป้องกันมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ รวมถึงออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
9. โซลาโซดีน (Solasodine)
สารโซลาโซดีน (Solasodine) ที่พบในมะเขือพวงมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง ด้วยการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ นอกจากนั้น ยังออกฤทธิ์รักษาโรคหอบหืด, โรคตับ, เป็นไข้, การอักเสบ และรักษาภาวะฮอร์โมนเพศไม่สมดุล

10. เพ็กทิน (Pectin)
สารเพ็กทิน (Pectin) ที่พบในมะเขือพวง จะมีลักษณะเหนียวหนืด ซึ่งมีคุณสมบัติหลายประการ ได้แก่
– ช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร และทำให้อาหารอ่อนตัว
– ช่วยให้อาหารถูกย่อยได้ช้าๆ และต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกอิ่มนาน
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยรักษาสมดุลกรด-ด่างในกระเพาะอาหาร
– ช่วยทำให้อาหารเคลื่อนตัวในระบบทางเดินอาหารได้ดี
– ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ
– ช่วยต้านจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร

สรรพมะเขือพวง
ราก
– รากนำมาตำหรือบดใช้ทาพอกรักษารอยแตกที่เท้า และโรคตาปลา
– รากนำมาต้มหรือแช่น้ำดื่ม ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
– นำรากมาบด ใช้ประคบหรือทารักษาแผล ลดการติดเชื้อของแผล แก้น้ำหนองของแผล ทำให้ให้แผลแห้งหายเร็ว
– นำรากมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไอ และขับเมหะ
– น้ำต้มจากรากช่วยขับปัสสาวะ

ต้น
– นำลำต้นมาบด ใช้ประคบบริเวณแมลงกัดต่อย ทำให้ลดอาการปวดบวม
– บดลำต้นให้ละเอียด ใช้ประคบหรือทารักษาแผล
– น้ำต้มจากลำต้น ช่วยขับปัสสาวะ
– น้ำต้มจากลำต้น ช่วยลดอาการไอ อาการแสบคอ

ใบ
– น้ำต้มจากใบมีสารแคโรทีนสูง ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท บำรุงสายตา ป้องกันการเกิดมะเร็ง
– ใบสดนำมาบดหรือขยี้ ใช้ทาประคบแผล ฝี ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว
– ใบสดที่ขยำแล้ว นำมากดประคบสำหรับข้ามเลือด
– นำใบสดหรือใบแห่งมาต้มน้ำดื่ม ช่วยลดอาการไอ อาการแสบคอ และขับเสมหะ
– น้ำต้มจากใบสด นำมาดื่ม ช่วย ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ
– น้ำต้มจากใบช่วยให้จิตผ่อนคลาย และภาวะอาการทางจิต

ผล และเมล็ด
• การรับประทานผลสด ต้มน้ำดื่ม หรือ จากการประกอบอาหาร
– ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ
– ช่วยระบบย่อยอาหาร
– รักษา และลดอาการของโรคเบาหวาน
– ช่วยบำรุงเลือด เสริมปริมาณธาตุเหล็ก
– ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย
– รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยย่อยอาหาร
– ช่วยให้จิตผ่อนคลาย
– ช่วยลดความดันโลหิตสูง
– รักษาอาการปวดฟัน
•ผลสดใช้ภายนอก
– ผลสดนำมาบี้ ใช้พอกทารักษาแผลสด แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
– นำผลสดมาบี้ให้แตก ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง

การออกฤทธิ์ทางยามะเขือพวง
1. ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ
ผลของมะเขือพวงมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ซึ่งผล
– ช่วยป้องกันตกขาว (Leucorrhea),
– ช่วยป้องกันโรค ไทฟอยด์ (Typhoid),
– ช่วยป้องกันต่อมทอมซิลอักเสบ (Tonsilitis)
-ช่วยป้องกันต้านการติดเชื้อไวรัสได้ เช่น เริมชนิดที่ 1

2. ฤทธิ์ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
จากการให้สารสกัดจากผลมะเขือพวงแก่หนูทดลอง พบว่า สามารถลดอาการเครียด และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้

3. ฤทธิ์ต้านโรคเบาหวาน
สารสกัดจากผลมะเขือพวงมีสารประกอบหลายชนิดดังที่กล่าวข้างต้นที่ออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งเอนไซม์กลูโคซิเดส ส่งผลต่อการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดให้ช้าลง แต่มีความสม่ำเสมอ ทำให้รักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้
นอกจากนี้ยัง พบว่า สารสกัดจากผลมะเขือพวงสามารถช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของแคทีโคลามีน (Catecholamine) และรักษาสมดุลกระบวนการเผาผลาญอาหาร

ความเป็นพิษของมะเขือพวง
การทดสอบความเป็นพิษของมะเขือพวงในหนูทดลอง พบว่า การให้สารสกัดจากมะเขือพวง มีค่า LD50 เท่ากับ 19 กรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม ทั้งนี้ มะเขือพวงดิบจะมีสารพิษ hydro-ethanolic ซึ่งหากรับประทานมากกว่า 16 กรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม จะออกฤทธิ์มีผลต่อการทำงานของตับ

การปลูกมะเขือพวง
มะเขือพวงเป็นมะเขือที่ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด มีความทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี และเป็นพืชที่มีความต้านทานโรคสูง

สำหรับการปลูกมะเขือพวงมีวิธีปลูกที่นิยม และใช้มากในปัจจุบัน คือ การปลูกด้วยเมล็ด ส่วนวิธีอื่นที่สามารถทำได้ คือ การตอน ส่วนวิธีอื่นไม่ค่อยนิยม และให้ผลไม่ค่อยดี เนื่องจาก มะเขือพวงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี และลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน

1. การปลูกมะเขือพวงเพื่อการค้า
การปลูกเพื่อการค้านิยมปลูกทั้งในแปลงเฉพาะมะเขือพวงหรือปลูกมะเขือพวงแซมตามร่อสวนต่างๆ สวนกล้วย สวนมะละกอ เป็นต้น

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ ปัจจุบันนิยมใช้พันธุ์ที่ไร้หนามที่พัฒนาขึ้นจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยทางการเกษตรต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยแม้โจ้

เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ หากได้จากผลสุกจะต้องเลือกเอาผลจากต้นที่แข็งแรง ผลมีลักษณะโต ผิวผลเกลี้ยง เป็นมัน และต้องเป็นผลที่สุกจัดจนมีส้มแดง หลังจากนั้น นำผลสุกมาบี้แยกเมล็ดออก แล้วนำเมล็ดมาตากแห้ง 3-5 วัน ก่อนนำเก็บในถุง และเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

การเตรียมดิน
การปลูกมะเขือพวงในแปลงจะต้องเตรียมแปลงด้วยการไถกลบดิน 1-2 ครั้ง โดยก่อนไถครั้งที่ 2 ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 2-4 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ อาจไถยกร่องแปลงหรือไม่ก็ได้

การเตรียมกล้า
ก่อนหว่านกล้าจะต้องเดตรียมแปลงเพาะเมล็ดก่อน ด้วยการไถหรือขุดพรวนดิน ขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ความยาวตามความเหมาะสม ก่อนจะหว่านเมล็ดแห้งลงแปลงให้กระจาย แล้วคลุมด้วยฟางข้างบางๆ และรดน้ำให้ชุม หลังจากนั้น จะรดน้ำทุกวัน จนกล้าโตได้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ค่อยลดการให้น้ำลง และดูแลจนกล้ามีความสูงประมาณ 5-10 ซม. หรือมีอายุประมาณ 25-30 วัน หลังหว่านเมล็ด ค่อยถอนย้ายปลูกในแปลงใหญ่

ขั้นตอนการปลูกมะเขือพวง
– ใช้กล้าอายุ 25-30 วัน หรือสูงประมาณ 5-10 ซม.
– ระยะต้น และแถว 1-1.5 เมตร

การให้น้ำ
การให้น้ำมะเขือพวง หลังการย้ายกล้าลงปลูกจำเป็นต้องให้น้ำทุกวันตลอด 1-2 อาทิตย์ จนกว่าต้นกล้าจะตั้งต้นได้ หลังจากนั้น ค่อยลดการให้น้ำลงเหลือ 3-4 ครั้ง/อาทิตย์ และต่อเนื่องจนถึงระยะก่อนออกดอก จึงค่อยให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ระยะออกดอกจะต้องให้น้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันดอกร่วง และทำให้ดอกติดผลมากขึ้น

การใส่ปุ๋ย
หลังจากต้นหล้าอายุ 2 อาทิตย์ หลังการปลูก ครั้งที่ 1 ให้หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่ และครั้งที่ 2 หลังจาก 2 เดือน หลังการปลูก ให้ใช้ปุ๋ย 12-12-24 อัตราเดียวกัน และควรให้ปุ๋ยคอกรอบโคนต้น 1-2 ครั้ง อัตรา 1-2 กำ/ต้น

การเก็บผล
มะเขือพวงจะเริ่มเก็บผลได้ประมาณ 80 วัน หลังย้ายปลูก หรือมีอายุหลังเพาะกล้าประมาณ 3.5-4 เดือน ซึ่งจะต้องทยอยเก็บในเฉพาะช่อผลที่ผลโตเต็มที่

2. การปลูกมะเขือพวงเพื่อรับประทานเอง
การปลูกมะเขือพวงในรูปแบบนี้จะมีจำนวนน้อย และไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่มาก อาจปลูกเพียงไม่กี่ต้นในสวนหลังบ้าน หรือ ตามหัวไร่ปลายนา หรือ พื้นที่ว่างๆต่างเพียงเพื่อเก็บผลมารับประทานภายในครอบครัว

มะเขือพวง3

สำหรับการปลูกโดยทั่วไปจะใช้วิธีการหว่านเพาะกล้าก่อน ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืชในแปลงขนาดเล็ก ก่อนจะหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อยหรือไม่จำเป็นต้องหว่าน หลังจากนั้น จะนำเมล็ดแห้งที่ได้จากการนำเมล็ดจากผลมะเขือพวงสุกมาตากแห้ง ก่อนจะหว่านลงแปลงเพาะ แล้วคลุมด้วยฟางข้าวหรือไม่ต้องคลุม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

หลังจากการหว่าน จำเป็นต้องรดน้ำเป็นประจำทุกวัน และดูแลจนกว่ากล้ามะเขือพวงจะโตสูงประมาณ 5-10 ซม. ค่อยถอนย้ายไปปลูกตามจุดที่ต้องการ

เอกสารอ้างอิง
1. กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ, 2553. มะเขือพวง จิวแต่แจ๋ว. https://www.doctor.or.th/article/detail/10763
2. รัตนมน เจียวท่าไม้, 2554. ผลของการดื่มชามะเขือพวงต่อระดับไขมั-
นในเลือดของผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง.