Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
รักเร่ (Dahlia) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกทั่วโลก เนื่องจาก ดอกมีขนาดใหญ่ ตัวดอกมีหลายสีสดใส นิยมตัดดอกไปปักแจกัญหรือจัดซุ้มงานพิธี แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยที่อาจเป็นเพราะชื่อที่ตั้งไม่เป็นมงคล
• วงศ์ : COMPOSITAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิด ได้แก่
– Dahlia hybrid (นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะพันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ผสม)
– Dahlia pinnata (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีม่วง)
– Dahlia Rosea (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีกุหลาบ)
– Dahlia coccinea (พันธุ์ดั้งเดิม ดอกสีเหลือง)
• ชื่อสามัญ : Dahlia (ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Andreas Dahl นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน ที่มีผลงานการผสมพันธุ์รักเร่ให้เกิดพันธุ์ใหม่ๆขึ้น)
• ชื่อท้องถิ่น : รักเร่
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
รักเร่ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก ต่อมาถูกนำเข้ามาปลูกในยุโรป อเมริกา และค่อยแพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งในประเทศเขตหนาว และประเทศเขตร้อน พันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันเป็นพันธุ์ผสมที่ให้ดอกได้หลายสี
ประวัติรักเร่
รักเร่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย หรือเมื่อ 359– 336 ปี ก่อนคริสต์ศักราช โดยนักฟิสิกส์ชาวสเปน ซึ่งพบเติบโตตามธรรมชาติอยู่บนภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยทรายโดยรอบ ในประเทศเม็กซิโก จากนั้น พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 จึงได้ส่งตัวเขาเข้ามาศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดใหม่นี้ โดยพบว่า พันธุ์ไม้ชนิดนี้พบออกดอกอยู่บนหน้าผาสูง มีลักษณะดอกเป็น single formed ดอกมีสีเหลือง และสีแดง ซึ่งต่อมาได้ส่งมาให้พระเจ้ากรุงสเปนปลูก และนิยมปลูกกันเรื่อยมาตั้งแต่นั้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1798 ได้มีผู้นำต้นรักเร่จากเม็กซิโกเข้าไปปลูกในประเทศแถบยุโรป เริ่มที่ประเทศสเปนเป็นประเทศแรก ประกอบด้วยรักเร่ 3 ชนิด ซึ่งพบในขณะนั้น คือ
1. D. pinnata ดอกมีลักษณะเป็น single formed กลีบดอกซ้อนกัน และมีสีม่วง
2. D. rosea ดอกมีลักษณะเป็น single formed กลีบดอกคล้ายกับดอกกุหลาบ
3. D. coccinea ดอกมีลักษณะเป็น single formed ดอกมีสีเหลือง
และในปีเดียวกัน (ค.ศ. 1798) สเปนได้ส่งรักเร่ทั้ง 3 ชนิด จากเมืองมาดริด มาปลูกรักษาไว้ที่สวนพฤกษชาติคิว (kew)
ต่อมาได้นำรักเร่ทั้ง 3 พันธุ์ เข้าไปปลูกในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสายพันธุ์ D. coccinea ถูกนำเข้ามาปลูกครั้งในฝรั่งเศส ที่เมือง Chelsea ในปี ค.ศ. 1802 และสามารถให้ดอกได้ในปี 1803 ส่วนสายพันธุ์ D. rosea ได้ออกดอกครั้งแรกที่เมือง Vauxhall และหลังจากนั้น รักเร่ถูกนำเข้าไปปลูกยังหลายประเทศ จนปัจจุบันพบการปลูกในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
ที่มา : (1)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นรักเร่ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นอาจแตกกิ่งเป็นทรงพุ่ม หรือ เป็นต้นเดียวไม่แตกกิ่ง ขนาดลำต้นสูงประมาณ 30-15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เปลือกลำต้นทรงกลม มีสีเขียวหรือสีเขียวอมม่วงตามสายพันธุ์ และมีขนปกคลุม แก่นไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
รากใต้ดินแตกรากที่พองขยายเป็นหัวออกจำนวนมาก บางครั้งเรียกว่า หัวรักเร่ คล้ายหัวมันสำปะหลัง รากนี้ทำหน้าที่สะสมอาหารสำหรับเป็นอาหารแก่ต้นอ่อน ขนาดหัวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เปลือกหัวบาง มีสีครีมหรือเหลืองอมขาว และมีรากแขนงแทงออกประปราย ทำหน้าที่หาอาหารให้แก่ลำต้น ส่วนด้านในหัวเป็นเนื้อสีขาว
ใบ
ใบรักเร่ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ แต่ละคู่สลับกันเป็นฉาก มีก้านใบหลักสีเขียว ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อย จำนวน 3 หรือ 5 ใบ มีใบ 1 คู่ หรือ 2 คู่แรก อยู่ตรงข้ามกัน และมีขนาดเท่ากัน ส่วนใบที่ 3หรือใบที่ 5 อยู่ตรงกลางระหว่างคู่ใบ เป็นใบที่มีขนาดใหญ่กว่า แผ่นใบมีสีเขียวสด แผ่นใบเรียบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย
ดอก
ดอกรักเร่ ออกดอกเป็นกระจุกใหญ่ออกเดียวตรงปลายยอด ขนาดดอก 4-25 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ กลีบดอกอาจมีชั้นเดียวหรือเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆหลายชั้น กลีบดอกส่วนมากมักบิดงอ แผ่นกลีบดอกมีหลายสีตามพันธุ์ อาทิ สีแดง สีเหลือง สีม่วง สีขาว หรือสีหลายสีผสมกัน เป็นต้น ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย
ผล
ผลรักเร่มีขนาดเล็กจำนวนมาก ผลมีลักษณะขอบขนาน เปลือกผลเป็นใยสีน้ำตาล ด้านในบรรจุเมล็ดขนาดเล็ก
ลักษณะดอกของรักเร่
1. Anemone
ลักษณะดอกแบบ Anemone มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร กลีบดอกมีชั้นเดียว ตรงกลางดอกนูน คล้ายกับหมอนปักเข็ม ดอกมีขนาด 2.5-5 เซนติเมตร ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Gitronelle ดอกสีเหลือง และพันธุ์ Vera ดอกสีม่วง เป็นต้น
2. Ball
ลักษณะดอกแบบ Ball มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 60-150 เซนติเมตร กลีบดอกมีหลายเดียว กลีบดอกเรียงเป็นรูปวงกลม ปลายกลีบมนหรือแหลม ปลายกลีบดอกงอออกจากจุดศูนย์กลางของดอก ขอบกลีบม้วนเข้าตรงกลาง ตัวอย่างพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Jeep ดอกสีขาว และพันธุ์ Mozart ดอกสีขาวบริสุทธิ์ เป็นต้น
3. Cactus
ลักษณะดอกแบบ Cactus มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกมีทั้งแบบเรียงซ้อน และไม่เรียงซ้อน กลีบม้วนงอ และบิดบริเวณขอบกลีบ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย คือ
– Incurved cactus มีลักษณะเด่น คือ ขอบกลีบดอกส่วนมากม้วนออก หรือ บางชนิดแหลม และปลายกลีบม้วนเข้ากลางดอก ได้แก่ พันธุ์ Patricia Spollen ดอกมีสีแดง ขนาดใหญ่ได้ถึง 25 เซนติเมตร
– Semi cactus มีลักษณะเด่น คือ ปลายกลีบดอกส่วนมากม้วนออกจากกลางดอก ได้แก่ พันธุ์ Theresa Louise ดอกมีสีเหลืองอมชมพู ขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เซนติเมตร พันธุ์ Dandy Flame ดอกมีสีแดงสด
– Straight cactus มีลักษณะเด่น คือ ขอบกลีบดอกส่วนมากจะบิดที่ประมาณบริเวณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบดอก ได้แก่ พันธุ์ Clariam Royalty ดอกมีสีม่วงสด ขนาดใหญ่ได้ถึง 22 เซนติเมตร และพันธุ์ Jersey Uainty ขนาดดอกปานกลาง ดอกมีสีขาว และมีสีม่วงประ
4. Collarette
ลักษณะดอกแบบ Collarette มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร กลีบดอกแผ่ออกไม่มีปลายกลีบบิดเข้ากลาง กลีบดอกมีทั้ง 2 หรือ 3 ชั้นหลีบดอกชั้นในมีขนาดเล็กกว่าชั้นนอก แต่ละชั้นอาจมีสีเดียวกันหรือต่างกัน ขนาดดอกประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ La Cierva กลีบดอกมีสีแดงเข้มอมขาวเล็กน้อย และพันธุ์ Coincident กลีบดอกมีสีแดงเลือดนก ขอบกลีบดอกมีสีเหลือง
5. Dwarf
ลักษณะดอกแบบ Dwarf มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ดอกมีขนาด 8-15 เซนติเมตร เหมาะสำหรับปลูกในแปลงจัดสวน เพราะลำต้นไม่สูงมาก ได้แก่ พันธุ์ Easter Greeting ดอกมีสีขาว และพันธุ์ Nickie ดอกมีสีเหลือง
6. Formal decorative
ลักษณะดอกแบบ Formal decorative มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น กลีบดอกชั้นนอกโค้งออก กลีบดอกสั้น และม้วนงอ ขนาดดอกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Arthur Godfrey ดอกมีสีแดง และพันธุ์ Kirsten Flagstad ดอกมีสีเทาอ่อน
7. Informal decorative
ลักษณะดอกแบบ Informal decorative มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น แต่ละกลีบเรียงกันไม่ค่อยเป็นระเบียบ กลีบดอกค่อนข้างยาว และกว้าง ขนาดดอกประมาณ 20-25 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Windlassie ดอกมีสีขาว และพันธุ์ Kelvvin ดอกมีสีชมพูอมทอง
8. Miniature
ลักษณะดอกแบบ Miniature มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกมีลักษณะซ้อน ดอกมีขนาดเล็ก ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Hazel haper ดอกมีสีชมพูอ่อน และพันธุ์ Ryby charm ดอกมีสีแดง
9. Peony
ลักษณะดอกแบบ Peony มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีประมาณ 2-3 ชั้น กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกม้วนงอ ดอกมีนาดเล็ก ได้แก่ พันธุ์ Bishop of Llandaff ดอกมีสีแดงเข้ม และพันธุ์ Pink lassie ดอกมีสีชมพูอ่อนคล้ายกุหลาบ
10. Pompons
ลักษณะดอกแบบ Pompons มีลักษณะเด่น คือ ดอกซ้อนกันหลายชั้น กลีบดอกม้วนงอ ตัวดอกมีลักษณะกลม ขนาดดอกเล็ก ประมาณ 5-6 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Little boddy ดอกมีสีเหลืองอ่อน พันธุ์ Atom ดอกมีสีแดงสด และพันธุ์ Mike ดอกมีสีส้ม
11. Singles
ลักษณะดอกแบบ Singles มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีชั้นเดียว กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกม้วนงอขึ้นหรือลง ขนาดดอกประมาณ 2.5-15 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Bruno ดอกมีสีส้ม และพันธุ์ James weller ดอกมีสีเหลืองสด
12. Orchid flowering
ลักษณะดอกแบบ Orchid flowering มีลักษณะเด่น คือ ดอกมีรูปดาว กลีบดอกมีชั้นเดียวหรือ 2 ชั้น กลางดอกแผ่ออก กลีบดอกแต่ละกลีบยาว และม้วนลง ขนาดดอก ประมาณ 10-13 เซนติเมตร ได้แก่ พันธุ์ Lone star ดอกมีสีส้ม พันธุ์ Everest ดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ และพันธุ์ Collegiate ดอกมีสีน้ำตาลอ่อน
ที่มา : (1) และ (2)
ประโยชน์รักเร่
1. รักเร่เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกมาตั้งแต่หลายร้อยปีแล้ว และนิยมปลูกกันทั่วโลก เนื่องจาก ดอกมีขนาดใหญ่ ตัวดอกมีสีสดใส สวยงาม และอายุการบานของดอกนาน 7-10 วัน และออกดอกได้ 2-3 ชุด หรือในแต่ละต้นจะมีดอกให้ชม นาน 14-30 วัน แต่ถือเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับความนิยมในเมืองไทย
2. ดอกรักเร่ ต่างประเทศนิยมใช้ใช้ปักแจกัญสำหรับวางประดับในบ้านหรือนำดอกมาตกแต่งซุ้มงานพิธีต่างๆ
3. ดอกรักเร่ ใช้สกัดเป็นสีผสมอาหาร
4. ดอกรักเร่ใช้ต้มย้อมผ้า ให้สีผ้าหลายสีตามสีของดอก
5. หัวรักเร่ นำมาต้มรับประทานได้ แต่ไม่นิยมนัก เพราะนิยมปลูกเพื่อการประดับดอกมากกว่า
6. หัวรักเร่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ อาทิ สุกร ไก่ และเป็ด
การปลูกรักเร่
รักเร่ขยายพันธุ์ได้ 4 วิธี ได้แก่
1. การปักชำ (นิยมมากเพื่อค้าขาย) แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
– การปักชำใบ ด้วยการเฉือนให้มีกาบลำต้นติดมาด้วย ก่อนปักชำลงในถาดหลุม เมื่อแทงหน่อใหม่จึงนำเพาะในถุงเพาะชำต่อ
– การปักชำกิ่ง ด้วยการเลือกตัดกิ่งอ่อนปักชำในถาดหลุม เมื่อรากงอก และเริ่มแตกใบ จึงนำเพาะดูแลต่อในถุงเพาะชำ หากเพาะชำในพื้นที่อากาศเย็น รากจะแทงออกภายในประมาณ 2-3 สัปดาห์
2. การแบ่งหัว
การแบ่งหัว คือ การตัดแบ่งหัวรักเร่แยกปลูก ทั้งนี้ ต้นรักเร่ที่โตเต็มที่จะมีหัวรักเร่ 2 ชนิด คือ
– หัวแม่พันธุ์เดิม เป็นหัวรักเร่ที่ใช้ปลูกในครั้งแรก เป็นหัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณตรงกลางของเหง้า เปลือกหัวมีสีน้ำตาล และมักแตกเป็นร่อง
– หัวเกิดใหม่ เป็นหัวรักเร่ที่แตกออกหลังการเติบโตของต้น หัวแตกออกจำนวนมาก ล้อมรอบหัวแม่พันธุ์ แต่หัวจะมีขนาดเล็กกว่าหัวแม่พันธุ์ เปลือกหัวมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม
การปักชำหัว จะใช้หัวรักเร่ที่เกิดใหม่ ด้วยการตัดแบ่งหัว โดยตัดเฉือนให้แต่ละหัวมีโคนเหง้าติดมาด้วย เพาะตายอดอ่อนจะอยู่บริเวณปลายขั้วหัวที่ติดกับเหง้า จากนั้นนำลงเพาะในแปลงเพาะรวมก่อน เมื่อหัวแทงหน่อค่อยย้ายลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ การปลูกด้วยหัวอาจไม่ตำเป็นต้องเพาะก่อน แต่สามารถนำหัวลงปลูกในแปลงได้โดยตรงก็ได้
3. การต่อกิ่งหรือเสียบยอด
เป็นวิธีที่ใช้ส่วนราก และกิ่งมาเสียบต่อกัน ด้วยการตัดรากในแนวเฉียงขึ้น และตัดเฉือนกิ่งในแนวเฉียงลง โดยกิ่งให้ตัดส่วนยอดออก จากนั้น นำราก และกิ่งมาทาบประกบกัน โดยให้แผลบริเวณเฉือนของทั้ง 2 ส่วน ประกบกันสนิท ก่อนปิดรัดด้วยเทป แล้วนำลงเพาะในถุงเพาะชำหรือในกระถาง เมื่อต้นติดแล้วค่อยนำลงปลูกในแปลงหรือนำกระถางมาวางประดับได้เลย
4. การเพาะเมล็ด
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย และรวดเร็ว ได้กล้าจำนวนมาก ด้วยการนำเมล็ดมาเพาะในถาดหลุมก่อนหรือเพาะในแปลงเพาะ ซึ่งต้นอ่อนจะงอกภายใน 3-4 สัปดาห์ จากนั้น นำต้นกล้าอ่อนลงเพาะต่อในถุงเพาะชำหรือในกระถาง ทั้งนี้ อาจนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำหรือในกระถางได้โดยตรงก็ได้
การเตรียมวัสดุเพาะ และวัสดุใช้ปลูก
วัสดุที่ใช้เพาะกล้ารักเร่ ควรเป็นดินผสมกับอินทรียวัตถุ ด้วยการใช้ดินคลุกกับแกลบดำ และทราย ในอัตราส่วน 1:3:1 ส่วนวัสดุที่ใช้ปลูก โดยเฉพาะการปลูกในกระถาง หรือปลูกในถุงเพาะชำ ให้ใช้วัสดุที่เตรียมสำหรับการเพาะกล้าได้เลย หรืออาจปรับอัตราส่วนด้วยการเติมดินให้มากขึ้นหรือลดอัตราส่วนของแกลบดำให้เหลือ 2 ส่วน
การเตรียมแปลงปลูก
สำหรับการปลูกในแปลงจัดสวน ให้เตรียมแปลงด้วยการพรวนดิน และกำจัดวัชพืช พร้อมตากดินนาน 3-5 วันก่อน จากนั้น นำปุ๋ยคอกหว่านโรย ก่อนพรวนผสมให้เข้ากัน แล้วค่อยนำต้นกล้าลงปลูก
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยรักเร่ควรเน้นที่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังการปลูกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และอีกครั้งที่ต้นเริ่มออกดอก หรือประมาณ 8-9 สัปดาห์
การให้น้ำ
หลังการปลูกในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้น ให้วันเว้นวัน ในปริมาณที่หน้าดินชุ่ม และเพิ่มการให้น้ำเป็นวันละครั้งในช่วงเริ่มออกดอก
การขุดเก็บหัว และการเก็บรักษาหัว
หลังจากที่ดอกบาน และร่วงหมดต้นแล้ว และใบเริ่มเหลือง ให้ตัดต้นทิ้ง โดยให้ตัดสูงจากโคนต้นขึ้นมาประมาณ 3 นิ้ว แต่หากต้องการขุดเหง้าหรือหัวมาเก็บไว้ ควรขุดในช่วงที่ต้นกำลังเหี่ยวแห้ง หลังจากขุดขึ้นมาแล้ว ให้นำเหง้ามาล้างทำความสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง ก่อนนำเก็บในกล่องพลาสติก ด้วยการจัดเรียงเหง้าให้เป็นระเบียบ ก่อนนำทรายหรือแกลบดำมาเทกลบ รวมถึงหญ้าแห้งมากลบทับ ทั้งนี้ ระวังห้ามไม่ให้ทรายหรือแกลบดำเปียกน้ำหรือมีความชื้น ซึ่งวิธีเก็บนี้ จะเก็บรักษาเหง้าได้ 2-3 เดือน
ขอบคุณภาพจาก http://www.bloggang.com/, http://pantip.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) กุหลาบ คงทอง. 2539. การเพาะเลี้ยงรักเร่ในสภาพปลอดเชื้อ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(2) ศิริชัย กิตยารักษ์. 2505. การเปรียบเทียบส่วนผสมของเครื่องปลูก-
และเวลาการให้ปุ๋ยสำหรับปลูกรักเร่. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.