แสมขาว ประโยชน์ และสรรพคุณแสมขาว

Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

แสมขาว จัดเป็นไม้เบิกนำป่าชายเลนที่พบได้มากตามริมแม่น้ำก่อนถึงปากอ่าวหรือตามขอบป่าชายเลนด้านนอกก่อนถึงป่าชายเลนด้านในที่เป็นป่าโกงกาง มีประโยชน์ในด้านการดักตะกอน และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า

• วงศ์ : Avicenniaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Avicennia alba Bl.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– แสม อ่านว่า สะแม๋
– แสมขาว อ่านว่า สะแม๋-ขาว
– พีพีเล(ตรัง)
ภาคใต้
– แหม
– เหมเล

การแพร่กระจาย
แสมขาว เป็นพืชที่พบกระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และ และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยพบทั่วไปตามริมแม่น้ำหรือลำคลองก่อนเข้าถึงป่าชายเลนชั้นใน

แสมขาวจัดเป็นพันธุ์ไม้ชั้นนอกของป่าชายเลนหรือที่เรียก ไม้เบิกนำป่าชายเลน ซึ่งพบได้ทั้งในแหล่งดินเลนผสมทราย ใกล้ชายทะเลที่มีน้ำท่วมขังตลอดหรือท่วมขังเป็นครั้งคราว เป็นไม้ชายเลนที่เติบโตเร็ว ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มใหญ่ ทนต่อน้ำท่วมขังหรือแห้งแล้งได้ดี

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a7

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
แสมขาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 8-20 เมตร โคนต้นไม่เป็นพูพอน ลำต้นแตก
กิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ ปลายกิ่งย้อยลง ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มใหญ่ ทรงพุ่มค่อนข้างกลม แน่นทึบ และกว้าง เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทาอมดำ และบางต้นมักเป็นสีสนิมประจากเชื้อราที่เจริญที่ผิวเปลือก ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากหาอาหารที่อยู่ใต้ดิน และรากอากาศที่โผล่ขึ้นเหนือดิน รากอากาศมีลักษณะคล้ายแท่งดินสอ ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร แทงขึ้นเหนือดินรอบโคนต้นจำนวนมาก

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a7

ใบ
ใบแสมขาวออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่ง มีก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร แผ่นมีใบรูปใบหอกแกมรี กว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนท้องใบด้านล่างมีสีขาวอมน้ำตาล และมีขนยาวสีเทาอ่อนปกคลุม แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวชัดเจน แผ่นใบที่แห้งจะเป็นสีดำ

ดอก
ดอกแสมขาวออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งบริเวณซอกใบ มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ก้านช่อมีขนสีน้ำตาล แตกเป็นช่อดอกย่อย 5-7 ช่อ แต่ละช่อมีก้านช่อยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร แต่ละช่อย่อยมีดอก 2-5 ดอก แต่ละดอกไม่มีก้านดอก ตัวดอกมีขนยาวนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองปกคลุมขนาดดอกประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ ฐานกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 4 กลีบ มีสีเหลืองถึงส้ม โคนกลีบเชื่อมติดกัน แต่ละกลีบยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ถัดมาด้านในเป็นเกสรเพศผู้ จำนวน 4 อัน ทั้งนี้ ดอกแสมขาวจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม-เมษายน

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a7

ผล และเมล็ด
ผลของแสมขาวลักษณะคล้ายผลพริก กลางผลบิดโค้ง ปลายผลเรียวแหลม และโค้งเป็นจะงอย ขนาดผลกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เปลือกผล และเนื้อผลอ่อนนุ่ม สีเหลืองอมเขียว และมีขนนุ่มสีเขียวอ่อนปกคลุม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เมื่อผลแก่ ผลปริแตกบริเวณด้านข้างตามแนวยาว และม้วนเป็นหลอดกลม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ทั้งนี้ แสมขาวจะติดผลให้เห็นในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a7

ประโยชน์แสมขาว
1. เนื้อเมล็ดนำมาแกะเอาคัพภะออก แล้วนำมาต้มจนได้รสจืดสำหรับรับประทานหรือใช้ทำขนมหวาน
2. เปลือก และแก่นลำต้นใช้ต้มฟอกหนัง
3. ลำต้นแสมขาวตัดทำไม้ค้ำยัน ไม้เสาโป๊ะ เสาแพปลารวมถึงใช้กิ่ง และลำต้นเป็นฟืนหุงหาอาหาร
4. ลำต้น กิ่ง และใบใช้ในการเบื่อปลา โดยตัดมาแช่ในบ่อน้ำ ซึ่งจะทำให้ปลาตายทั้งบ่อ
5. รากอากาศแสมขาวแทงโผล่ขึ้นเหนือแน่นจำนวนมาก ทำหน้าที่ช่วยกรองตะกอนหรือช่วยดักตะกอนก่อนไหลลงสู่ทะเล
6. ต้นแสมขาวเป็นแหล่งพักอาศัย และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าตามแนวชายทะเล

สรรพคุณแสมขาว
ทุกส่วน (ใช้ต้มดื่ม)
– บรรเทาอาการปวดของข้อกระดูก
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด
– บรรเทาอาการหอบหืด
– แก้ไอกรน
– รักษาฝีภายใน
– ต้านการอักเสบ
– ช่วยขับเสมหะ ละลายเสมหะ
– แก้ริดสีดวงทวาร
– แก้อาการอาเจียน
– ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
– แก้อาการท้องเสีย

ทุกส่วน (ใช้ต้มอาบหรือทาภายนอก)
– รักษาโรคกลาก เกลื้อน
– แก้ผดผื่นคัน แก้ผื่นแพ้
– ใช้ทาแก้พิษจากสัตว์ทะเลต่อย
– ใช้ทารักษาแผลให้แห้ง

เปลือก และแก่นลำต้น (นำมาต้มดื่ม มีรสเค็ม และเฝื่อน)
– แก้กษัยเส้น
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้อาการปวดฟัน
– ใช้คู่กับแก่นแสมสานสำหรับเพื่อช่วยขับโลหิตเสียของสตรี
– ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด

เปลือก และแก่นลำต้น (ใช้ภายนอก)
– ประเทศอินเดียนำแก่นแสมมาใช้แก้พิษงู
– ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียนำแก่นแสมขาวเป็นยาทำหมัน

ผล และเมล็ด
– ในประเทศอินเดียนำเนื้อเมล็ดมาตำ และใช้ทาพอกรักษาฝี
– แก้กษัยเส้น
– ช่วยเจริญอาหาร

เพิ่มเติมจาก : (1), (2)

ขอบคุณภาพจาก http://lookforest.com

เอกสารอ้างอิง
(1) สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย 2526. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย.
(2) นิรัตน์ จินตนา. 2527. สมุนไพรจากป่าไม้ชายเลน.