Last Updated on 28 มีนาคม 2017 by puechkaset
พลูด่าง (Epipremnum aureum) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับประเภทไม้เลื้อยที่นิยมปลูกมากชนิดหนึ่ง ทั้งปลูกในแปลงจัดสวน ปลูกในกระถาง และปลูกในแจกัน เนื่องจากให้ใบดก ใบมีสีสันสวยงาม เติบโตได้ดีในทุกสภาพ และดูแลง่าย
อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Plantae
• Division : Angiosperms
• Order : Alismatales
• Family : Araceae
• Subfamily : Monsteroideae
• Genus : Epipremnum
• Species : Epipremnum aureum
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epipremnum aureum
• ชื่อสามัญ : Devil,s ivy, Golden pothos, Hunter,s robe
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
1. ลำต้น
พลูด่างเป็นไม้เลื้อยอิงอาศัย มีลำต้นกลม ส่วนต้นแก่มีสีเขียวออกน้ำตาล ลำต้นส่วนอ่อนมีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-3 ซม. หรือใหญ่กว่า ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลำต้นเป็นข้อๆสำหรับแตกใบ และราก
2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อ 2 ใบ อยู่ตรงข้ามกัน ใบกว้างประมาณ 5-30 ซม. ยาวประมาณ 7-45 ซม. ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบมีลักษณะโคนใบมน โคนใบส่วนกลางเว้า ปลายใบแหลม มีรูปทรงคล้ายรูปหัวใจ แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบมีลักษณะหนา และอวบน้ำ มีสีเดียวหรือหลายสีแกมกัน ได้แก่ สีเขียวอ่อน สีเขียวอ่อนออกทอง สีเขียวแก่ สีเหลือง และสีขาว
3. ดอก
ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อ มีกลีบรองดอกหลายสี อาทิ สีเหลือง สีเขียว หรือสีม่วงแดง ดอกมีลักษณะร่วงง่าย
พันธุ์พลูด่างที่นิยมปลูก
1. พลูด่างยักษ์ (E. aureum Bunting)
ใบอ่อนมีรูปไข่ ใบที่เจริญเต็มที่มีรูปหัวใจ มีลายด่างสีเหลืองหรือสีเขียวสม่ำเสมอ บางครั้งอาจพบลายด่างสีขาว สีเขียว สีเหลือง คล้ายพลูด่างลายหินอ่อน แต่มีขนาดใหญ่กว่า พันธุ์นี้มีใบ และลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าทุกพันธุ์ ผิวใบเป็นคลื่น ลำต้นโตเต็มที่สูงได้มากกว่า 15 เมตร นิยมปลูกในแปลงจัดสวนหรือปลูกอิงต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากมีลำต้นยาวมาก
2. พลูด่าง ราชินีหินอ่อน (E. aureum Bunting cv. Marble Queen)
ใบมีรูปหัวใจ มีลายด่างสีเขียว สีขาว คล้ายลายหินอ่อน ก้านใบอาจมีสีขาว และมีแถบสีเขียวตามแนวยาว ลำต้นมีขนาดปานกลาง สูงน้อยกว่าพันธุ์พลูด่าง โตเต็มที่สูงได้มากกว่า 5 เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในแจกันหรือในกระถาง
3. พลูด่าง ราชินีสีทอง (E. aureum Bunting cv. Tricolor)
เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นเล็กที่สุด แต่มีขนาดใกล้เคียงกับพันธุ์ราชินีหินอ่อน ลำต้นโตเต็มที่สูงได้มากกว่า 3 เมตร ใบมีสีเขียวอ่อน สีเขียวแกมเหลือง หรือสีเหลือง มีก้านใบสีเขียว บางครั้งอาจพบเป็นลายด่างสีเหลือง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในแจกันหรือในกระถาง
ประโยชน์
พลูด่างจัดเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกทั้งในสวนจัดแปลง ปลูกในกระถาง และปลูกในแจกัน เนื่องจากให้ใบใหญ่ ใบดก มีมีสีสดใส มีลายหลากหลายสี เป็นที่สวยงาม ปลูกง่าย ดูแลง่าย และทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี แบ่งการปลูกตามสายพันธุ์ ดังนี้
1. พลูด่างยักษ์ นิยมปลูกในแปลงจัดสวนให้อิงตามเสาหรือต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีลำต้นขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงมาก ใบใหญ่ ดกหนา และที่สำคัญมีรากยาวลึก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการปลูกในกระถางหรือแจ
2. พลูด่าง ราชินีหินอ่อน เป็นพลูด่างขนาดกลาง นิยมปลูกทั้งในแปลงจัดสวน และการปลูกในกระถางเป็นหลัก ส่วนการปลูกในแจกันอาจพบบ้างสำหรับต้นขนาดเล็ก
3. พลูด่าง ราชินีสีทอง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกทั้งในกระถาง แจกัน และแปลงจัดสวน เนื่องจากลำต้นมีขนาดเล็ก ทน และเติบโตได้ดีในที่แสงน้อย เช่น ภายในห้องโถง ห้องทำงาน รวมถึงในแปลงที่มีไม้ใหญ่ขึ้นสูง มีแสงส่องถึงน้อย
การปลูกพลูด่าง
พลูด่างสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่เนื่องจากพลูด่างมีอายุนานหลายปีกว่าจะออกดอก และติดเมล็ด ทำให้นิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่งหรือลำต้นมากที่สุด เนื่องจากสามารถชำติดได้เร็ว กิ่งมีโอกาสตายน้อย สามารถชำในวัสดุเพาะหรือชำในน้ำก็ได้
การปักชำในดินจะเหมาะสำหรับพลูด่างทุกพันธุ์ ส่วนการปักชำในน้ำจะใช้เฉพาะพันธุ์ราชินีหินอ่อน และราชินีสีทอง เนื่องจากมีลำต้น และใบขนาดเล็ก สามารถแตกรากใหม่ได้เร็ว ลำต้นไม่เน่าง่าย
สำหรับการปลูกพลูด่างในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. การปลูกในแปลงจัดสวน
การปลูกในแปลงจัดสวนเป็นลักษณะการปลูกที่เหมาะสำหรับทุกพันธุ์ โดยพลูด่างยักษ์จะเหมาะสำหรับการปลูกในแปลงจัดสวนเท่านั้น โดยปลูกอิงกับต้นไม้ใหญ่หรือใช้เสาไม้หรือเสาปูนปักเพื่อให้ลำต้นอิงขึ้น ส่วนพลูด่างอีก 2 พันธุ์จะปลูกเป็นไม้ระดับล่างให้เลื้อยตามพื้นหรือใช้หลักอิงที่ไม่สูงมาก
การปลูกพลูด่างในแปลงจัดสวน ควรปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลำต้นพาดเลื้อยขึ้นสูงได้ และที่สำคัญ การมีต้นไม้ใหญ่จะมีประโยชน์ในด้านการบังแสงแดด และให้ความชื้นแก่พลูด่าง เพราะพลูด่าง เป็นไม้ไม่ชอบแสงแดดจัด และไม่ทนต่อความร้อน
การดูแลพลูด่างหลังปลูก ควรจัดปลายเถาหรือปลายลำต้นให้พาดอิงกับต้นไม้ และใช้เชือกคล้องรัดหลวมๆ เพื่อช่วยให้เลื้อยพาดได้เร็วขึ้น
การใส่ปุ๋ย อาจใส่เป็นบางครั้งคราว เพราะเป็นไม้ที่ไม่ต้องการแร่ธาตุสูงมากนัก ปุ๋ยที่ใส่อาจใส่เพียงปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก็เพียงพอ ส่วนการรดน้ำ ควรรดน้ำเป็นประจำ อย่างน้อย 5-7 วัน/ครั้ง
2. การปลูกในกระถาง
การปลูกในกระถางเหมาะสำหรับพันธุ์ราชินีหินอ่อน และราชินีสีทอง ซึ่งมีทั้งการปลูกในกระถางแขวน และกระถางตั้งดิน โดยใช้ดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ หรือมูลสัตว์ อัตราส่วนดินกับวัสดุอินทรีย์ที่ 1:1 หรือ 2:1
การปลูกในกระถางตั้งดิน จำเป็นต้องใช้หลักปักกลางกระถางที่หุ้มด้วยขุ๋ยมะพร้าวสำหรับให้รากยึดเกาะ การรดน้ำจะรดจากปลายหลัก ให้ไหลลงปากกระถาง ส่วนการปลูกในกระถางแบบแขวน ต้นพลูด่างจะอิงลำต้นตามลวดที่ขึงไว้ แต่หากต้นโตมากจำเป็นต้องคอยตัดแต่งให้มีขนาดที่เหมาะสม แต่ทั่วไป นิยมปล่อยเลื้อยให้ห้อยลงด้านล่าง ทั้งนี้ ควรรดน้ำเป็นประจำ อย่างน้อย 3 วัน/ครั้ง
3. การปลูกในแจกัน
การปลูกในแจกันหรือวัสดุประยุกต์อื่น เช่น แก้วน้ำ ขวดน้ำ จะใช้น้ำแทนดิน อาจใช้น้ำเพียงอย่างเดียวหรือน้ำละลายปุ๋ยเคมี พันธุ์ที่นิยมแบบวิธีนี้ คือ พันธุ์ราชินีหินอ่อน และราชินีสีทอง
หากใช้น้ำอย่างเดียว น้ำที่่ใช้ควรเป็นน้ำบ่อหรือน้ำบาดาลที่ลักษณะใส ไม่สกปรกหรือไม่ใช่น้ำเน่าเสีย เพราะแหล่งน้ำประเภทนี้จะมีแร่ธาตุที่ช่วยเสริมการเติบโตได้ดีกว่าน้ำฝนหรือน้ำประปา
ส่วนน้ำละลายปุ๋ยเคมีหรือปลูกในน้ำแล้วค่อยใส่ปุ๋ยเคมี เป็นวิธีเพิ่มแร่ธาตุให้แก่พืชที่ดีกว่าการใช้น้ำเพียงอย่างเดียว ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่ สูตร 16-8-8 อัตราต่อน้ำที่ 10-20 เม็ด/น้ำ 1 ลิตร ใส่ทุกๆ 2-3 เดือน/ครั้ง แต่ขึ้นอยู่กับขนาดลำต้นของพลูด่าง และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกครั้งหรือทุกๆ 2 ครั้ง เมื่อใช้ปุ๋ย เนื่องจากการใส่ปุ๋ยจะเพิ่มความเป็นกรดของน้ำ อาจทำให้พลูด่างเหี่ยวตาย โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยจำนวนมาก