กระดุมทองเลื้อย และเบญจมาศเครือ

Last Updated on 22 มิถุนายน 2015 by puechkaset

กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ เป็นพืชอายุข้ามปีในวงศ์ทานตะวันที่นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับเป็นหลัก นอกจากนั้น ส่วนดอก และลำต้นยังสามารถใช้เป็นสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ สีผสมอาหาร และสีย้อมผ้า เป็นต้น

กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบมากในแถบประเทศอบอุ่น และเขตร้อนชื้น รวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นพืชที่เติบโตเร็ว และเติบโตได้ดีบริเวณดินชื้นแฉะ สามารถแตกกิ่งก้าน และเหง้าใหม่ขยายคลุมหน้าดินได้เป็นบริเวณกว้างภายในไม่กี่เดือนจนมีศักยภาพเป็นพืชรุกรานชนิดหนึ่ง

อนุกรมวิธาน
Division : Magnoliophyta
Class : Magnoliopsida
Subclass : Asteridae
Order : Asterales
Family : Asteraceae (Compositae)
Genus : Wedelia
Species : trilobata

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Wedelia trilobata (L.) A.S. Hitchcock

ชื่อสามัญ : Creeping daisy, Singapore daisy, Trailing daisy, Creeping ox-eye, Climbing wedelia, Rabbits paw

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก และลำต้น
กระดุมทองเลื้อย ประเภทใบเลี้ยงคู่ ลำต้นมีขน และแตกกิ่งทอดราบไปกับพื้นดิน กิ่งมีข้อเป็นที่แตกออกของใบ ส่วนยอดจะชูสูงอยู่ด้านบน หากพื้นที่กว้าง และรอบข้างด้านใดไม่มีพืชอื่นจะแผ่ราบขนานกับพื้น แต่หากพื้นที่แคบ ลำต้นขึ้นแข่งกันหรือมีพืชอื่น ลำต้นจะยืดตัวสูงขึ้น

Creeping daisy1

รากมีลักษณะเป็นรากฝอย ความลึกรากประมาณ 30 ซม. และสามารถแตกรากตามข้อที่สัมผัสดินได้

2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว แทงออกบริเวณข้อ มี 2 ใบ อยู่คนละข้างกัน ใบมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม เป็นมัน มีขนหยาบปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ก้านใบสั้นจนแทบมองไม่เห็น ขอบใบหยักเป็นคลื่น มี 3 แฉก ใบกว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน

Creeping daisy2

3. ดอก
ดอกแทงออกบนซอกใบ ออกมากบริเวณปลายยอด ดอกออกเป็นช่อ มีสีเหลือง มีก้านช่อดอกยาว 4-6 ซม. มีกลีบดอกสีเหลือง เรียงซ้อนสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4-5 ใบ กลีบดอกแต่ละกลีบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเว้าเป็น 3 แฉก ถัดไปจะเป็นส่วนดอกที่รวมกันเป็นกระจุก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอก 2 ชั้น มีลักษณะเป็นหลอด ชั้นแรก  เป็นดอกวงนอกของดอกเพศเมีย มีขนาดใหญ่ ประมาณ 8-10 ดอก ส่วนชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก และมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศเมียวงนอก รวมกลีบดอก และดอกแล้วมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร

Creeping daisy

4. เมล็ด
เมล็ดมีขนาดเล็ก กระจุกตัวตรงกลางดอก เมล็ดแก่มีสีดำ เป็นมัน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร

ประโยชน์
1. ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับในกระถางหรือแปลงจัดสวน อาจปลูกเป็นพืชเดี่ยวหรือปลูกเป็นไม้ระดับล่างเพื่อคลุมดินในสวนจัดแต่ง
2. ใช้ปลูกคลุมดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่หน้าดิน และป้องกันการพังทะลายหน้าดิน
3. ใช้ปลูกแทนหญ้าในสนามหญ้า เนื่องจากปกคลุมแปลงได้เร็ว และสามารถป้องกันหญ้าชนิดอื่นเติบโตในแปลง
4. กลีบดอกนำมาตากแห้ง บดเป็นผงใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหารหรือสีย้อมผ้า
5. เมล็ด นำมาสกัดน้ำมันใช้สำหรับปรุงประกอบอาหาร
6. น้ำมันจากเมล็ดกระดุมทองเลื้อยนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมกับเครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ใช้นวดบำรุงผม เป็นต้น

สารสำคัญที่พบ
• chlorophyll
• แซนโทฟิลล์ (xanthophyll) ได้แก่ ลูทีน (Lutein : C40H56O2)
• germacrene D
• α – humulene,
• caryophyllene
• squalene
• phellandrene
• p – cymene
• sitosterol
• อนุพันธ์ของ ent – kaurenic acid
• eudesmanolides

เพิ่มเติมจาก : Bohlmann และคณะ (1981)(1)

สรรพคุณกระดุมทองเลื้อย
• สารคลอโรฟิลล์ในลำต้น และใบมีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ กระตุ้นการทำงานของตับ
•  สารคลอโรฟิลล์มีผลทำให้ตับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผลิตน้ำย่อยอาหารได้ปกติ ป้องกันอาหารไม่ย่อย และต้านโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
•  ใบ และลำต้นสดนำมาบดให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกแผล แก้ฟกช้ำ
•  ดอก รวมถึงลำต้น และใบ นำมาต้มน้ำรับประทาน ช่วยลดไข้ ช่วยย่อยอาหาร ใช้เป็นยาชา ช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือก และฟัน
•  ดอกมีสารแคโรทีน (carotene) และแซนโทฟิลล์ (xanthophyll) ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม
•  ดอก ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดอาการภูมิแพ้
•  ดอก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์ ป้องกันการเกิดฝ้า กระ และริ้วรอย
•  ดอก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด ป้อกงันโรคหัวใจ และหลอดเลือดตีบตัน

พบรายการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยต่อจุลินทรีย์ พบว่า สารสกัดด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบได้หลายชนิด แต่สารสกัดจากน้ำไม่มีผลต่อแบคทีเรียแต่อย่างใด และสารสกัดไม่มีฤทธิ์ต้านทานยีสต์ และเชื้อรา นอกจานั้น ยังมีการศึกษาสารสกัดจากกระดุมทองที่มีต่อการงอก และการเจริญของเมล็ดพืช พบว่า สารสกัดจากกระดุมทองเลื้อยมีผลช่วยให้การงอกของเมล็ดพืชบางชนิด เช่น โหระพา และกะเพรา

การปลูก
กระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่ชอบดินชุ่ม แต่ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ชอบพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน แต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน

กระดุมทองเลื้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยม คือ การปักชำกิ่ง เนื่องจากติดง่าย และทำได้รวดเร็ว โดยใช้กิ่งยาวประมาณ 15-20 ซม. ปักเสียบบริเวณที่ต้องการปลูก เพียงไม่กี่วันรากก็จะงอก และเติบโตเป็นต้นใหม่ได้

ในระยะแรกอาจต้องคอยกำจัดวัชพืชบ้าง แต่หากต้นปลูกติดแล้ว กระดุมทองเลื้อยก็สามารถเติบโตแข่งกับวัชพืชชนิดอื่นๆได้ดี แต่บางครั้งในบางพื้นที่ กระดุมทองเลื้อยมีการเติบโต และขยายกิ่งใหม่ที่รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องคอยตัดเป็นระยะ

เิอกสารอ้างอิง
untitled