ผักหนาม ผักป่า ใบกรอบหวาน และสรรพคุณ

Last Updated on 11 กรกฎาคม 2023 by puechkaset

ผักหนาม เป็นผักป่าที่พบได้ตามริมลำน้ำ ลำห้วย นิยมนำก้านใบอ่อน และใบอ่อน รวมถึงดอกอ่อนมาประกอบอาหาร ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด แกงเลียง แกงอ่อม หรืออื่นๆ มีความกรอบ และอมหวาน ปัจจุบัน พบเริ่มปลูกเพื่อรับประทานในครัวเรือน และการจำหน่ายมากขึ้น

อนุกรมวิธาน
• Family (วงศ์) : ARACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasia spinosa Thw.
• ชื่อท้องถิ่น : ผักหนาม

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักหนามเป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค พบได้เฉพาะตามบริเวณที่สภาพชื้น มีน้ำขัง โดยเฉพาะบริเวณริมหนองน้ำ แม่น้ำ ลำห้วย ที่มีน้ำตลอดปี

ที่มา : [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นผักหนามมีลักษณะเป็นเหง้าทรงกลม และสั้น

ใบ
ใบผักหนามเป็นใบประกอบ แตกออกเวียนสลับตรงข้ามกัน ประกอบด้วยก้านใบยาว 20-40 เซนติเมตร ผิวก้านใบมีปุ่มหนามแหลมกระจายทั่ว ก้านใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ก้านใบแก่มีสีเขียวเข้ม ใบย่อยแต่ละใบมีรูปหอกแตกสลับตรงข้ามกัน 7-9 ใบ แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ส่วนใบอ่อนจะเป็นริ้วหยักย่น นิยมนำมาประกอบอาหาร

ดอก
ผักหนามออกดอกเป็นช่อ มีก้านดอกกลมสีเขียวสด ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีหนามปกคลุมทั่ว ส่วนปลายเป็นตัวดอกมีลักษณะเป็นแท่งสั้น ปลายมน มีกาบหุ้มช่อดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกหน้าวัว สีน้ำตาลรองด้านล่าง และมีจานรองดอกสีม่วงแดงบิดเป็นเกลียว ส่วนปลายเรียวแหลม คล้ายสว่าน เมื่อแก่มีสีม่วงคล้ำ ส่วนตัวช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยอัดแน่นจำนวนมาก มีเกสรเป็นแท่งสีขาวอยู่ตรงกลาง

ผล
ผลผักหนาม เป็นผลสด ติดเรียงซ้อนกันที่ปลายช่อดอก ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกสีเหลืองอมแดง เปลือกผลมีตะบุ่มหนาม

คุณค่าทางโภชนาการ (100 กรัม)

คุณค่าทางโภชนาการ

ปริมาณ

โปรตีน

ไขมัน

คาร์โบไฮเดรต

พลังงาน

เส้นใย

เถ้า

แคลเซียม

ฟอสฟอรัส

เหล็ก

วิตามิน A

วิตามินบี

ไนอาซีน

วิตามิน C

2.10 กรัม

0.20 กรัม

2 กรัม

18.99 กิโลแคลลอรี่

0.80 กรัม

0.80 กรัม

14 มิลลิกรัม

11 มิลลิกรัม

0.9 มิลลิกรัม

6,383 I.U.

1 0.92 มิลลิกรัม

0.91 มิลลิกรัม

23 มิลลิกรัม

สารสำคัญที่พบ
– lyoniresinol
– p-hydroxy benzoic acid
– 4-methoxyphenethyl alcohol
– p-hydroxy benzaldehyde
– isovanillic acid
– vitexin2”-o-β-D-glucopyranoside
– 3’-methyl quercetin-3-o-α-L-rhamnopyranosyl-(1-6)- β-D- glucopyranoside
– vitexin
– meridinol

นอกจากนั้น ยังพบรายงานสารพิษที่พบในผักหนาม คือ cyanogenic glycoside เมื่อถูกย่อยจะได้สาร hydocyanic acid หรือ prussic acid (HZN) เป็นสารที่มีความเป็นพิษต่อระบบเลือด ทำให้เซลล์เสียหายหรือตายจากการขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการชัก และหมดสติ ทั้งนี้ สารนี้ สามารถสลายตัวได้เมื่อสัมผัสความร้อน ดังนั้น จึงต้องทำให้สุกเสียก่อนรับประทาน

ที่มา : [1], [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณ
เหง้า และราก
– บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ
– แก้คันเนื่องจากพิษหัด อีสุกอีใส
– ช่วยขับพิษ

ก้านใบ และใบ
– ช่วยเจริญอาหาร

ผักหนามมีสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน (Phytohormone) โดยมีสารคล้ายฮอร์โมนเพศชาย (Phytotestosterone) และฮอร์โมนเพศหญิง(Phytoestrogen)

ปริมาณฮอร์โมน Testosterone และ Estradiol ในผักหนาม

ส่วนของผักหนาม

Testosterone (ng/g dry weight)

Estradiol (pg/g dry weight)

เหง้า

0.19

<1.65

ก้านใบและใบ

0.15

10.76

ราก

0.92

14.55

ที่มา : [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การใช้ประโยชน์
1. ใช้ประกอบอาหาร
ใบอ่อนที่เป็นส่วนของก้านใบ และแผ่นใบ รวมถึงดอกอ่อน นิยมเก็บมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ เป็น ผักลวก ผักนึ่ง ผักชุบแป้งทอด กินกับน้ำพริก ใส่ในแกงหน่อไม้ แกงอ่อม แกงเลียง แกงจืด ผัดผัก และแกงส้ม เป็นต้น

ทั้งนี้ การรับประทานสด ไม่แนะนำ และชาวบ้านจะไม่รับประทานกัน เนื่องจากผักหนามในรูปสดจะมีสารพิษ cyanogenic glycoside ตามที่กล่าวข้างต้น

แกงส้มกุ้งผักหนาม

2. ไม้ประดับ
ในกลุ่มผู้นิยมพันธุ์ไม้แปลก ไม้มงคลได้นำต้นผักหนามมาปลูกไว้ในกระถางตั้งประดับ หรือ ปลูกลงแปลงจัดสวนภายในบ้าน

ปัจจุบัน ในบางจังหวัดเริ่มนำต้นพันธุ์มาปลูกไว้รับประทานในครัวเรือน และบางแห่งมีการปลูกเพื่อการค้าแล้ว อาทิ พื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร หนองบัวลำภู สุโขทัย ตาก กาญจนบุรี และจันทบุรี โดยให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 250- 2,000 กิโลกรัม ขายในราคา 5 – 40 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับพื้นที่

ที่มา : [2]

เอกสารอ้างอิง
[1] การศึกษาฤทธิ์เบื้องต้นในการต้านอนุมูลอิสระ
การยับยั้งแบคทีเรียและการยับยั้งเซลล์มะเร็งของพืชสมุนไพรพื้นบ้าน.
[2] ผลของการเสริมผักหนาม(Lasia spinosa Thw.)ในอาหาร
ต่อสมรรถภาพการผลิตของไก่ไข่ระยะใกล้ปลดระวาง.