นนทรี ประโยชน์ และสรรพคุณนนทรี

Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

นนทรี (Copper pod/Yellow flame) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกมากตามสถานที่ราชการต่างๆ เนื่องจากลำต้นแตกทรงพุ่มใหญ่ ทำให้บังแดดเป็นร่มเงาได้ดี อีกทั้งช่อดอกมีขนาดใหญ่ ดอกเมื่อบานจะมีสีเหลืองสวยงาม นอกจากนั้น เนื้อไม้ยังนำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ในงานก่อสร้างบ้านอย่างมั่นคง

• วงศ์ : Leguminosae หรือ Caesalpinioideae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne
• ชื่อสามัญ :
– Copper pod
– Yellow flame
– Moulmein Lancewood
– Yellow Poinciana
• ชื่อท้องถิ่น :
– นนทรี
– นนทรีบ้าน
– สารเงิน
– กระถินป่า
– กระถินแดง
– ซ้าขม
– ร้าง (อีสาน)
– ราง (สุรินทร์)
– จ๊าขาม, ซ้าขม (เลย)
– อะราง อะล้าง (โคราช)
– ตาเซก, กร่าเซก (เขมร และบุรีรัมย์)
– คางรุ้ง (พิษณุโลก)
– อินทรี (จันทบุรี)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
นนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามชายป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณในภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งพบได้ในระดับ 10 – 300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบัน พบนำมาปลูกตามสถานที่ราชการต่างๆ เพราะให้ร่มเงาได้ดี และดอกมีความสวยงาม

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ไม้นนทรีอีกชนิดหนึ่งที่พบในประเทศไทย คือ นนทรีป่า Peltophorum dasyrachis (Mig.) Kurz) มีความจากนนทรีบ้าน คือ ช่อดอกนนทรีบ้านตั้งขึ้น ส่วนช่อดอกนนทรีป่าจะห้อยลง และเรือนยอดนนทรีป่าจะเป็นมีรูปทรงกลม ส่วนนนทรีบ้านอาจเป็นทรงกลมหรือมีรูปร่างไม่แน่นอน นอกจากนั้น นนทรีป่าจะมีลักษณะเด่นอื่นๆ อาทิ กิ่งอ่อนนนทรีย์ป่าจะมีขนสีนํ้าตาลแดง ส่วนเปลือกนอกของนนทรีป่าต้นยังเล็กมีสีเทา ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
นนทรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 15 – 30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มรูปทรงกลม มีทรงพุ่มหนาทึบ และแตกกิ่งแขนงใหญ่ตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น เปลือกลำต้นด้านนอกมีสีเทาอมน้ำตาล เปลือกด้านในมีสีแดงเรื่อ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกหนา และแข็ง เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามแนวยาวของลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปก กิ่งแก่เรียบ ไม่มีขนปกคลุม กิ่งค่อนข้างเปราะ และหักง่าย ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ใบ
ใบนนทรี เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ชนิดใบคู่ (ใบสุดท้ายมี 2 ใบ) ประกอบด้วยก้านใบหลักชั้นที่ 1 ที่แตกออกมาบริเวณปลายกิ่ง ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร แต่ละก้านใบหลักมีก้านใบหลักชั้นที่ 2 เรียงกันเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 10-15 คู่ แต่ละก้านใบหลักชั้นที่ 2 ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร และก้านใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอมแดงปกคลุม ซึ่งบนก้านใบหลักชั้นที่ 2 ประกอบด้วยใบย่อยเรียงกันเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 10-18 คู่

%e0%b9%83%e0%b8%9a%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b51

ใบย่อยมีก้านใบสั้น แผ่นใบย่อยมีรูปขอบขนาน ขนาดใบกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฐานใบ และปลายใบมน แต่เว้าตรงกลางของปลายใบเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างแข็ง และเปราะหักง่าย แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวซีด และมีขนสีน้ำตาลอมแดงเล็กน้อย

ดอก
นนทรี ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ประกอบด้วยก้านช่อดอกหลัก และแตกก้านช่อดอกแขนงออกโดยรอบ ก้านช่อดอกหลักยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และแตกก้านช่อดอกแขนง กว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร แต่ละก้านช่อดอกแขนงจะประกอบด้วยดอกย่อยที่เรียงซ้อนกัน 15-30 ดอก

ดอกย่อยอ่อนหรือดอกตูมมีลักษณะทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล จำนวน 5 กลีบ ห่อหุ้มกลีบดอกไว้ ดอกเมื่อบานจะแผ่กลีบดอกออก จำนวน 5 กลีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองสด แผ่นกลีบ และขอบกลีบโค้งเว้าเป็นลูกคลื่นหรือย่น โคนกลีบดอกมีขนสีน้ำตาลอมแดงเล็กน้อยปกคลุม ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้ จำนวน 10 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีปลายเกสรเป็นก้อนสีเขียว ส่วนด้านล่างเป็นรังไข่ที่ติดกับฐานดอก ทั้งนี้ นนทรีจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม และทยอยบานต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งหลังจากนั้น ดอกจะร่วงหมดต้น

ผล
ผลนนทรี เรียกเป็นฝัก ฝักมีรูปหอก แผ่นฝักแบน และเป็นขอด 1-8 ขอด ขนาดฝักกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร โคนฝักสอบแคบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง เปลือกฝักบาง แต่เหนียว และแข็ง ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง โดยจะเริ่มสีบริเวณขอดของฝักก่อน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดงจนทั่วฝัก ภายในฝักมีเมล็ด 1-8 เมล็ด ตามจำนวนของขอดบนฝัก

เมล็ดมีลักษณะแบน ขอบเมล็ดลีบแหลม เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมแดง เปลือกค่อนข้างบาง แต่แข็ง ทั้งนี้ ฝักนนทรีจะเริ่มติดฝักตั้งแต่หลังดอกบานต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และฝักจะแก่ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม

%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ประโยชน์นนทรี
1. ต้นนนทรีแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก แลดูเป็นทรงพุ่มหนา ช่วยให้เป็นร่มเงาบังแดดได้ดี จึงนิยมปลูกไว้ในสถานที่ราชการต่างๆ อาทิ ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย วัดวาอาราม และที่ราชการ เป็นต้น
2. นอกจากปลูกเพื่อให้ร่มเงาแล้ว นนทรีถือเป็นไม้ประดับอีกชนิด เพราะออกดอกดก ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ดอกมีสีเหลืองสวยงาม
3. ต้นนนทรีมีแก่นหรือเนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมชมพูหรือน้ำตาลอมแดงเรื่อ จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมถึงใช้งานงานก่อสร้าง อาทิ ไม้ปูพื้น ไม้ฝ้าเพดาน ไม้วงกบ เป็นต้น
4. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีส้มอมชมพูหรือน้ำตาลอมชมพู

คุณสมบัติของไม้นนทรี
1. เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมชมพู และเป็นมันเลื่อม
2. เนื้อไม้มีเสี้ยนตรงหรือเป็นคลื่น
3. ความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 0.74
4. เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 626 กิโลกรัม
5. เนื้อไม้มีความแข็งแรง ประมาณ 946 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร
6. ความดื้อ ประมาณ 104,200 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร
7. ความเหนียว ประมาณ 1.79 กิโลกรัม-เมตร
8. เนื้อไม้มีความทนทานตามธรรมชาติ ประมาณ 1.6-16.2 ปี และเฉลี่ยประมาณ 5.2 ปี

ที่มา : (1)

%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b5

สรรพคุณนนทรี
เปลือก และแก่นลำต้น (รสฝาด นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยละลายเสมหะ
– รักษาโรคบิด แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย
– ช่วยขับลม

เปลือก และแก่นลำต้น (มาบดหรือฝนทาภายนอก)
– ช่วยในการสมานแผล รักษาแผลให้หายเร็ว

ที่มา (2), (3)

การปลูกนนทรี
การเตรียมเมล็ด
เพื่อให้เมล็ดมีอัตราการงอกสูง และสามารถสามารถงอกได้ สามารถทำได้โดย
1. แช่ในกรดซัลฟูริกเจือจาง นาที 15-30 นาที
2. แช่น้ำร้อนเดือด นาน 3-5 นาที และแช่ในน้ำเปล่าอีก 1 คืน

การเพาะเมล็ด
รอเพิ่มข้อมูล
หลังจากเพาะเมล็ดแล้ว ประมาณ 7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกให้เห็นต้นอ่อน จากนั้น ย้ายต้นกล้าลงชำต่อในถุงเพาะชำ ก่อนจะดูแลต่ออีก ประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะได้ต้นกล้าที่สูงประมาณ 7 – 8 นิ้ว จากนั้น ให้ย้ายกล้าลงหลุมปลูก

%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b5

ขอบคุณภาพจาก NanaGarden.com/, http://www.pratat.ac.th, http://www.careandliving.com/, biogang.net

เอกสารอ้างอิง
(1) กรมป่าไม้. 2527. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย. สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย.
(2) พรเพ็ญ โชชัย, ระมัด โชชัย และเมทินี ทวีผล. 2552. การศึกษาการย้อมสีเส้นด้ายฝ้าย-
ด้วยสีย้อมจากเปลือกนนทรี.
(3) ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. นนทรี. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ : http://agkc.lib.ku.ac.th/plantwebsite/webpage/Trees/%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5.html/