มันนก/มันแซง ประโยชน์ และสรรพคุณมันนก

Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มันนก และมันแซง เป็นชื่อเรียกมัน 2 ชนิด ที่มีลักษณะหัวภายนอกคล้ายกัน คือ หัวใต้ดินมีลักษณะรูปไข่ เปลือกหัวมีสีเหลืองอมน้ำตาล และมีรากแขนงขนาดเล็กแตกออกรอบหัว ซึ่งทั้ง 2 ชนิด พบมากตามที่ลุ่มชุ่มชื้น โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับหนองน้ำ ริมแม่น้ำ ริมลำห้วย ซึ่งจะขึ้นแทรกกับพืชนิดอื่น

คำว่า มันแซง เป็นคำที่ใช้เรียก มันนกชนิดใบเล็ก ซึ่งนิยมใช้ในภาคอีสาน แต่บางพื้นที่ในภาคอีสานก็เรียกมันนกชนิดใบเล็กว่า มันนก เช่นกัน

ส่วนคำว่า มันนก เป็นชื่อที่นิยมเรียกในทุกภาค โดยเฉพาะคนในภาคกลาง ซึ่งใช้เรียกมันนกทั้งชนิดใบเล็ก และชนิดใบใหญ่ เพราะมีลักษณะหัวที่คล้ายกันมาก

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
มันนก และมันแซงมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตัวนออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงประเทศไทยด้วย พบมากตามป่าเบญจพรรณที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ อาทิ ขอบแม่น้ำ ขอบลำห้วย และขอบแอ่งน้ำ เป็นต้น พบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน

ชนิดมันนก หรือ มันแซง
1. มันนกใบเล็ก (มันแซงในภาคอีสาน)
2. มันนกใบใหญ่

1. มันนกใบเล็ก หรือ มันแซง
• วงศ์ : Dioscoreaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea pseudo-tomentosa
• ชื่อท้องถิ่น :
– มันนก (ภาคกลาง และทั่วไป)
– มันแซง (ภาคอีสาน อาทิ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ตามชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำชี )

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%811
หัวมันนกใบเล็ก/มันแซง

แหล่งที่พบ
มันนกใบเล็กหรือมันแซง พบมากตามบริเวณริมแม่น้ำที่เป็นดินตะกอนทับถม ดินมีลักษณะร่วนซุย หน้าดินไม่แน่น มีหน้าดินลึก เพราะมันชนิดนี้แตกไหลเลื้อยยาวตามหน้าดิน และสามารถเติบโตใต้พุ่มไม้ที่รกทึบได้ดี พบได้มากตามริมแม่น้ำสายหลักที่เป็นลานดินขอบแม่น้ำ โดยเฉพาะในภาคอีสานที่พบมากตามขอบแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นมันนกใบเล็ก เป็นเถาเลื้อยพาดตามไม้พุ่มหรือต้นไม้ใกล้เคียง เถามีลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก ประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตร เถาแตกกิ่งเลื้อยยาว ประมาณ 2-5 เมตร เถาเป็นปล้องๆ โคนเถามีสีดำ ปลายเถามีสีเขียว

โคนเถามันนกใบเล็กจะต่างจากมันนกใบใหญ่ที่รากใต้ดินมีการแตกไหลเลื้อยยาวขนานไปกับพื้นดิน ไหลมีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร เลื้อยยาวได้มากกว่า 2-3เมตร ความลึกของไหล ประมาณ 10-30 เซนติเมตรจากหน้าดิน ไหลอ่อนมีสีขาวอมสีครีม ไหลแก่มีสีเหลืองอมน้ำตาล แก่นไหลมีสีขาว และเป็นเส้น แต่ละช่วงความยาวของไหลจะแทงรากออกหยั่งลึกในแนวดิ่ง ปลายรากพัฒนาเป็นหัว เรียกว่า หัวมันนก หรือ หัวมันแซง ขนาดหัวกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ซึ่งทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับหัวมันนกใบใหญ่ แต่จะสั้นกว่า โดยเปลือกหัวอ่อนมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีครีม และหัวแก่มีสีน้ำตาล เปลือกหัวบาง เนื้อหัวมีสีขาวทั้งหมด ต่างกับมันนกใบใหญ่ที่เนื้อหัวด้านนอกมีสีม่วงอ่อน มีเมือกเหนียวเมื่อผ่าคล้ายกัน

ใบ
ใบมันนกใบเล็ก ออกเป็นใบเดี่ยวตามข้อเถา และถือเป็นจุดต่างที่เด่นชัดจากมันนกใบใหญ่ โดยใบมันนกใบเล็กมีลักษณะขอบขนาน ใบเรียวยาว โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบมีเส้นใบ 3 เส้น จากโคนใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียว

ดอก และผล
ดอก และผลของมันนกใบเล็กไม่ค่อยพบ เพราะมีการขยายพันธุ์แบบใช้ไหล และหัวใต้ดิน

ใบมันนก
ใบมันนกใบเล็ก/มันแซง

2. มันนกใบใหญ่
• วงศ์ : Dioscoreaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea inopinate
• ชื่อท้องถิ่น : นิยมเรียก มันนก แต่อีสานบางพื้นที่เรียก มันแซง ร่วมด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นมันนกใบใหญ่ เป็นเถาเลื้อยพาดตามไม้พุ่มใกล้เคียง เถามีลักษณะทรงกลมสีเขียวขนาดเล็ก และเป็นปล้องๆ โคนเถามีสีน้ำตาลอมดำ แตกกิ่งเลื้อยยาวได้ ประมาณ 4-10 เมตร ที่โคนเถาใต้ดินเป็นหัวที่เรียกว่า หัวมันนก
หัวมันนกใบใหญ่มีลักษณะรูปไข่ หัวเล็กมีลักษณะทรงกลม ขนาดหัวที่โตเต็มที่กว้าง ประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร โคนหัวสอบเล็ก ปลายหัวอวบใหญ่ เปลือกหัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกหัวบาง และมีรากแขนงขนาดเล็กแตกออกโดยรอบ เนื้อหัวถัดจากเปลือกมีสีม่วงอ่อน เนื้อหัวด้านในมีสีขาว หัวดิบเมื่อผ่าจะมีน้ำเมือกเหนียว

%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%87
หัวมันนกใบใหญ่
%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%87
ต้นกล้ามันนกใบใหญ่

ใบ
ใบมันนกใบใหญ่ออกเป็นใบเดี่ยว แตกออกตามข้อเถา ใบมีลักษณะคล้ายใบมันมือเสือ แผ่นใบมีรูปหัวใจ กว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร โคนใบเว้าตรงกลาง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นใบ 3 เส้น แตกออกจากโคนใบ

ดอก
ดอกมันนกใบใหญ่ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเขียว

ผล
ผลมันนกใบใหญ่ เรียกว่า ฝัก ฝักมีลักษณะเป็นกลีบหรือเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆทรงกลม และมีเมล็ด 1 เมล็ด/แฉก ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลม และแบน มีปีกบางๆติดรอบเมล็ด

ฝักแก่มันนกใบใหญ่
%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%8b%e0%b8%871
ฝักแห้งมันนกใบใหญ่

ประโยชน์ของมันนก/มันแซง
1. หัวมันนกหรือมันแซง นิยมนำมานึ่งหรือต้มให้สุกสำหรับรับประทาน เปลือกหัวบาง ลอกแกะออกง่าย เนื้อหัวด้านในมีสีขาว แต่จะมีเมือกเหนียวสำหรับหัวอ่อน แต่หัวใหญ่จะมีเนื้อทราย พองขยาย เนื้อหัวมีรสหวาน
2. หัวมันนกหรือมันแซง เมื่อต้มหรือนึ่งสุกแล้วนำมาสับเป็นชิ้นสำหรับบวชใส่กะทิ คล้ายกับบวชมันอื่นๆ
3. หัวมันนกหรือมันแซง ใช้ประกอบอาหารคาว โดยเฉพาะเมนูแกงจืด
4. หัวมันนกหรือมันแซงนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำมาตากแห้ง และบดเป็นแป้ง สำหรับใช้ทำขนมหวาน

สรรพคุณหัวมันนก/มันแซง
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– หัวดิบนำมาฝานเป็นแผ่นหรือผ่าครึ่ง ก่อนใช้ประคบบริเวณร้อนในหรือน้ำร้อนลวก ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อน

การปลูกมันนก
– มันนกใบใหญ่ และมันนกใบเล็กสามารถปลูกได้ด้วยการปักชำเถา
– มันนกใบใหญ่สามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด และใช้หัว
– มันนกใบเล็กสามารถปลูกได้ด้วยหัว และไหลใต้ดิน

การเก็บหัวมันนก
มันนกใบใหญ่ และมันนกใบเล็กนิยมขุดเก็บหัวในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นเติบโตเต็มที่แล้ว และต้นเริ่มมีใบแก่แล้ว

มันนกใบเล็กหรือมันแซง ชาวอีสานมักเข้าขุดเก็บตามริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะริมแม่น้ำชี ซึ่งจะเข้าขุดในช่วงประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงว่างจากการทำนา โดยจะใช้เสียมขุดด้วยความระมัดระวัง เพราะหัวมันนกใบเล็ก/มันแซง จะอยู่รอบด้านของลำต้นตามความยาวของไหลที่ไปถึง

เอกสารอ้างอิง
(1) ประเทือง สง่าพิจิตร. 2552. อัตราปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับเคมีที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของมันนก. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก.
(2) https://th.wikipedia.org. มันแซง. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ : https://th.wikipedia.org/wiki/มันแซง/.

ขอบคุณภาพจาก http://board.palungjit.org/, http://www.bansuanporpeang.com/, http://www.siamhahe.com/, http://program.thaipbs.or.th/BanTung/