ต้นหูกวาง ประโยชน์ และสรรพคุณต้นหูกวาง

Last Updated on 1 กรกฎาคม 2019 by puechkaset

ต้นหูกวาง เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไปในทุกจังหวัดของไทย นิยมปลูกเพื่อวัตถุประสงค์การให้ร่มเงา และเนื้อไม้เป็นหลัก เนื่องจากมีใบใหญ่ สีเขียวสวยงาม โดยเฉพาะในฤดูการแตกใบใหม่ มักพบปลูกในสถานที่ราชการหรือที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้มีร่มเงาบังแดด

ต้นหูกวาง (Tropical Almond หรือ India Almond) มีชื่อตามท้องถิ่นที่เรียกกันตามจังหวัด เช่น โคน ตาแป่ห์  (นราธิวาส) ดัดมือ ตัดมือ (ตรัง) ตาปัง (พิษณุโลก และสตูล) หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร จัดเป็นไม้ผลัดใบ

วงศ์ : Combretaceae
สกุล : Termonalia
สปีชีส์ : T.catappa
ชื่ออังกฤษ : Tropical almond , India almond
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia catappa L.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นหูกวางเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งเป็นชั้นๆในแนวราบ เรือนยอดค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปพีระมิดหนาทึบ เปลือกต้นมีสีเทา แตกเป็นร่องตื้นๆ และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ใบ
ใบหูกวางจัดเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวอ่อนเมื่อแตกใบใหม่ และเมื่อแก่จะออกสีเหลืองถึงน้ำตาล ใบจะแตกเรียงสลับบริเวณปลายกิ่ง มีรูปไข่กลับด้าน กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ปลายใบมีติ่งแหลม ส่วนโคนใบมีลักษณะสอบแคบ เว้า และมีต่อม 1 คู่ แผ่นใบมีลักษณะหนา และมีขนนุ่มปกคลุม ขอบใบเรียบ ผลัดใบในฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน

ดอก
ดอกต้นหูกวางจะออกเป็นช่อบริเวณซอกใบหรือบริเวณปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล ขนาดเล็ก ประกอบด้วยโคนกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ช่อดอกมีรูปเป็นแท่งยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ โดยมีดอกสมบูรณ์เพศบริเวณโคนช่อ การออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และสิงหาคม-ตุลาคม

India-Almond2

ผล
ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ป้อม และแบนเล็กน้อย ความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร มีสีเปลือกผลสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองออกน้ำตาล และเมื่อแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ และเมื่อเนื้อเปลือกหลุดออกหรือย่อยสลายจะเห็นเป็นเส้นใยกระจุกตัวแน่นทั่วผล ผล 1 ผล จะประกอบด้วยเมล็ดเพียง 1 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปไข่เรียวยาว คล้ายอัลมอนด์ สามารถรับประทานได้ ให้รสหอม

India-Almond3

ประโยชน์ต้นหูกวาง
– ปลูกเป็นไม้ประดับ จากใบหูกวางที่แตกใหม่มีลักษณะใบใหญ่ สีเขียวอ่อน แลดูสวยงาม และสดชื่น จึงนิยมนำมาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นไม้ประดับนอกเหนือจากการให้ร่มเงา
– เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่ ประกอบด้วยใบขนาดใหญ่ และมีใบมาก ทำให้เกิดร่มเงาสร้างความร่มรื่นได้เป็นอย่างดี
– เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับก่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน เครื่องดนตรี อุปกรณ์จับสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ เนื้อไม้ที่ได้จากต้นหูกวางที่มีอายุมากจะมีสีแดงหรือน้ำตาลออกดำบริเวณแก่นต้น
– กิ่ง และเนื้อไม้ขนาดเล็กนำมาเป็นฟืนให้ความร้อนในการประกอบอาหาร
– ใบนำบดหรือต้มทำสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้ทั้งสีเขียวในใบอ่อน และสีเหลืองในใบแก่ รวมถึงราก และผลดิบก็ใช้ในการฟอกย้อมหนัง การผลิตสีดำ และผลิตหมึกสี
– ใบหูกวางนิยมนำมาแช่น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด เพื่อให้ปลามีสุขภาพดี มีการเจริญพันธุ์ และเจริญเติบโตดี ไม่เกิดโรค ยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในปลา และช่วยให้ปลากัดมีสีสันสวยงาม สีเข้มสดใส นอกจากนั้น ยังช่วยรักษาระดับความเป็นกรด-ด่างของน้ำ
– เมล็ดสามารถรับประทานได้ทั้งดิบหรือนำมาต้มสุกหรือเผา
– เมล็ดสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันที่มีลักษณะใส ไม่มีกลิ่น มีลักษณะคล้ายนํ้ามันจากอัลมอนด์ ใช้รับประทาน ใช้บำรุงผม ใช้นวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงใช้ในด้านความสวยความงาม

คุณค่าทางโภชนาการ เมล็ดหูกวาง ( 100 กรัม)

Proximates
น้ำ % 4
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 594
โปรตีน กรัม 20.8
ไขมัน กรัม 54
คาร์โบไฮเดรต กรัม 19.2
ใยอาหาร กรัม 2.3
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 32
เหล็ก มิลลิกรัม 9.2
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 789
Vitamins
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.32
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 0.08
ไนอะซีน (B3) มิลลิกรัม 0.6

 

สารสำคัญที่พบ
สารสีที่พบในใบหูกวางมี 2 กลุ่ม คือ
1. เตตราพิโรล ได้แก่ พอร์ฟิริน ประกอบด้วยสารคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ที่เป็นแมกนีเซียมคอมเพล็กซ์ เป็นรงควัตถุที่ให้สีเขียว สารนี้ไม่ทนต่อสภาพเป็นกรด และความร้อน เมื่อถูกความร้อนหรืออยู่ในสภาพเป็นกรดจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวขี้ม้าหรือสีนํ้าตาลแกมเขียวของสารประกอบฟีโอไฟติน (pheophytin) เพราะแมกนีเซียมจะหลุดออกจากโมเลกุล

2. โอ-เฮเทอโรไซคลิก ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ ประกอบด้วย ฟลาโวน (flavones) ฟลาโวนอล (flavonols) และแอนโทไซยานิน (anthocyanins) นอกจากนี้ ใบหูกวางจะมีสารประกอบพวก tannins ที่มีรสขม ฝาด เช่น geraniin, granatin B, chebulagic acid, corilagin punicalagin, punicalin, terflavins A และ B, tergallagin, tercatain แต่ไม่พบ caffeine สารเหล่านี้ มีสมบัติช่วยให้โปรตีนตกตะกอน และสามารถจับกับไอออนของโลหะได้ดี

ใบหูกวางแก่เมื่อนำมาแช่น้ำหรือต้มน้ำจะให้สีน้ำตาลเข้มที่ประกอบด้วยสารต่างๆที่มีแร่ธาตุหลายชนิดเป็นองค์ประกอบได้แก่ ซัลเฟอร์ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม คอปเปอร์ สังกะสี กำมะถัน แคลเซียม โซเดียม เป็นต้น

Limchupornvikul (1993) ได้ศึกษาส่วนประกอบทางเคมีในใบหูกวาง และการประยุกต์ใช้งานด้านการย้อมสีสิ่งทอ พบว่า สารสีเหลืองจะเป็นสารจำพวกไฮโดรไลเซเปิลแทนนิน มีโครงสร้าง 3 ชนิด คือ คอร์ลาจิน, เทอฟลาวิน เอ และ ฟูนิคาลาจิน และไม่ทราบโครงสร้างที่แน่ชัดอีก 1 ชนิด เมื่อนำมาย้อมใยขนสัตว์ ไหม ไนลอน ฝ้าย เรยอน  และอะซิเตท พบว่า สามารถย้อมเส้นใยโปรตีน (ขนสัตว์ และไหม) และเส้นใยพอลิเอไมด์ (ไนลอน เรยอน และอะซิเตท) ได้ดี และทนต่อการซักอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสีที่ได้จะเป็นสีเหลืองอมเขียวทุกชนิดเส้นใย

สรรพคุณต้นหูกวาง
– ทั้งต้น ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้โรคบิด ใช้เป็นยาระบาย ยาสมานแผล และช่วยขับน้ำนมของสตรี
– ราก ช่วยรักษาอาการประจำเดือนของสตรีมาไม่ปกติ
– เปลือก ใช้รักษารักษาโรคตับ
– เปลือก ใช้รักษาอาการปวดตามข้อ และโรคที่เกี่ยวกับข้อกระดูกต่าง ๆ
– เปลือกใช้ทำเป็นยาฝาด แก้ท้องเสีย โรคบิด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และแก้ซางในเด็ก
– เปลือกนำมาต้ม ใช้เป็นยาบำรุงเลือด ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ แก้อาการตกขาว และลดกลิ่นในช่องคลอด
– ในประเทศไต้หวันมีการใช้ใบหูกวางเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคตับ
– ใบมีช่วยขับเหงื่อ ลดไข้
– ใบ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
– ใบ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ใบ และเปลือกรักษาอาการปวดตามข้อ และโรคที่เกี่ยวกับข้อกระดูกต่างๆ
– ใบ และเปลือกนำมาต้มใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยเฉพาะใบสีเหลืองหรือสีแดงที่ร่วงจากต้นจะให้ผลดีกว่าใบอ่อนบนต้น
– ใบ และเปลือกนำมาบดทาพอกแผล ลดอาการติดเชื้อของโรค ช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว
– ใบ และเปลือกนำมาต้มอาบ ช่วยรักษาแผล รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
– น้ำมันจากเมล็ดใช้ทา นวด ช่วยลดอาการปวด อาการฟกช้ำของกล้ามเนื้อ
– น้ำมันจากเมล็ดเมื่อนำมาผสมกับใบที่บดละเอียด สามารถใช้รักษาโรคเรื้อน โรคผิวหนังอื่นๆได้
– เมล็ด ประกอบด้วยไขมัน โปรตีน วิตามิน และสารที่ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด และบำรุงหัวใจ

India-Almond4

Chen และคณะ (2000) ทำการสกัดสารจากใบหูกวาง พบสารประกอบส่วนใหญ่เป็นพวก tannin ชื่อว่า punicalagin เป็นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งความเป็นพิษต่อพันธุกรรม เนื่องจากเป็นสารประกอบที่ต้านอนุมูลอิสระได้ และพบสารพวก methylene chloride และ methanol ที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราได้

การปลูก
ต้นหูกวางนิยมปลูกด้วยเมล็ดเพียงวิธีเดียว แต่สามารถปลูกด้วยวิธีอื่นได้เหมือนกัน เช่น การปักชำกิ่ง การตอนกิ่ง เป็นต้น

การเก็บเมล็ดสำหรับนำมาปลูกขยายพันธุ์ ควรเก็บในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่เมล็ดแก่ และเริ่มร่วงพอดี เมล็ดหูกวางที่ร่นตามพื้นจะมีลักษณะใหญ่ มีเปลือกหนาแข็ง และหุ้มด้วยเปลือกผลที่ยังสดอยู่ หากต้องการให้งอกเร็วควรนำมาตากแห้ง และนำมาแช่น้ำก่อนประมาณ 3-5 วันก่อนปลูก

โดยทั่วไปตามธรรมชาติ เมื่อเมล็ดหูกวางร่นตามพื้นดิน และมีดินหรือวัสดุปกคลุม ร่วมด้วยกับฝนตกจนดินชื้นพอ มักจะพบเมล็ดหูกวางเริ่มงอกให้เห็นเป็นกล้าขนาดเล็ก ซึ่งสามารถตักเมล็ดที่กำลังงอกนี้มาปลูกจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และย่นระยะเวลาได้มากขึ้น

สำหรับการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเมล็ดสดที่เก็บได้จากต้นหรือนำมาตากแห้งก่อน การปลูกจะปลูกในถุงเพาะชำก่อนด้วยการผสมดินกับวัสดุการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย และขุ๋ยมะพร้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอัตรา 1:1 หรือ 2:1