Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
ต้นจามจุรี หรือมักเรียก ต้นฉำฉา/สำสา หรือ ต้นก้ามปู (Rain tree) เป็นไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่ให้เยื่อ และเนื้อไม้ชนิดหนึ่ง นอกจากนั้น เป็นไม้ที่มีกิ่งก้านยาว ปลายกิ่งแตกกิ่งจำนวนมาก ใบมีขนาดเล็กแต่ดก จนมีลักษณะเป็นทรงพุ่มให้ร่มเงาได้มาก
ต้นจามจุรีมีชื่อวิทยาศาสตร์ Samanca Saman (Jacq) Merr. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีอายุได้นานเป็นร้อยปี มีลำต้นสูงได้มากกว่า 25 เมตร และมีขนาดทรงพุ่มกว้างได้มากกว่า 25 เมตร มักพบทั่วไปตามข้างถนน หัวไร่ ปลายนา และตามสถานที่ราชการต่างๆ นิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาจากเรือนยอดที่แผ่กว้าง การให้เนื้อไม้สำหรับทำเครื่องเรือนเนื่องจากมีลวดลายสวย และการปลูกเพื่อเลี้ยงครั่งเป็นหลัก
ประวัติต้นจามจุรี
ต้นจามจุรีมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกในประเทศไทยจากประเทศพม่า เมื่อประมาณปี 2443 (ค.ศ. 1900) โดยมิสเตอร์เอ็ชเสลด (Mr. H. Slade) ที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย โดยนำไปทดลองปลูกตามข้างถนนของที่ทำการกรมป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่ และบางส่วนได้นำไปปลูกที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกชื่อต้นจามจุรีว่า “ต้นกิมบี้” ปัจจุบันต้นจามจุรีมักเรียกเป็นชื่ออื่น เช่น ภาคเหนือ และภาคอีสานมมักเรียก ต้นฉำฉา/สำสา หรือ ต้นก้ามปู และชื่ออื่น เช่น สารสา ก้ามกุ้ง ลัง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ราก และลำต้น
รากจามจุรีมีระบบเป็นรากแก้ว และแตกรากแขนงออกด้านข้าง รากแขนงมักแทงออกตามแนวนอนขนานกับผิวดินในระดับตื้นที่อาจยาวได้มากกว่า 10 เมตร เพื่อเป็นฐานพยุงลำต้นที่มีลักษณะทรงพุ่มกว้างใหญ่
ลำต้นมี ลักษณะค่อนข้างกลม ไม่สมมาตร แตกกิ่งในระดับต่ำประมาณ 3-5 เมตร กิ่งประกอบด้วยกิ่งหลัก และกิ่งแขนง เปลือกลำต้นของต้นอ่อนมีสีขาวเทา เมื่อต้นแก่จะมีสีดำเป็นแผ่นสะเก็ด กิ่งอ่อนมีสีขาวเทา กิ่งแก่มีสีน้ำตาล
2. ใบ
ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก โคนใบเล็ก ปลายใบมนกว้าง ประกอบด้วยก้านใบหลัก และก้านใบย่อย โดยก้านใบหลักจะแทงออกบริเวณปลายกิ่ง เรียงสลับข้างกัน ก้านใบหลัก 1 ก้าน มีก้านใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ แต่ละคู่อยู่ตรงข้ามกันบนก้านใบ ก้านใบแต่ละคู่ มีจำนวนใบย่อยแตกต่างกัน ก้านคู่แรกจะมีจำนวนใบย่อยน้อยที่สุด 2-3 คู่ใบย่อย ส่วนก้านใบย่อยคู่ที่ 3-5 จะมีใบย่อยประมาณ 56 คู่ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม สีเหลือง และสีน้ำตาลตามลำดับจนถึงระยะร่วงของใบ ใบจะแตกออกบริเวณกิ่งแขนงบริเวณปลายยอด ไม่พบใบที่กิ่งหลัก
3. ดอก
ดอกจามจุรีเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณปลายกิ่งเหนือซอกใบ มีก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสั้นเล็กสีเหลือง เมื่อดอกบานจะแตกก้านเกสรออกมาให้เห็น เป็นสีสวยงาม ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ที่เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เมื่อดอกบานเกสรจะมีสีขาว และเมื่อแก่ปลายเกสรจะมีสีชมพูสวยงาม
4. ผลหรือฝัก
ผลมีลักษณะเป็นฝัก รูปทรงแบนยาว คล้ายฝักถั่ว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลจนถึงดำเมื่อฝักสุก ฝักแก่กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขอบฝักเป็นแนวตรงเสมอกัน และมีเส้นสีเหลืองตามขอบ ร่องฝักนูนบริเวณที่มีเมล็ด และถูกหุ้มด้วยเนื้อผลสีน้ำตาล และช่วงระหว่างเมล็ดเป็นร่องที่ประกอบด้วยเนื้อสีน้ำตาลเช่นกัน เนื้อผลจามจุรีมีรสหอม และหวานมาก สามารถนำมารับประทานได้
ประโยชน์จามจุรี
1. เนื้อไม้ ใช้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างบ้าน ไม้ปูพื้น ไม้ฝ้า ไม้ผนัง คาน ขอบหน้าต่าง หน้าต่าง บานประตู และที่สำคัญนิยมใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายชนิด เนื่องจากมีลายไม้ที่สวยงาม และเนื้อไม้แข็งแรง เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงงานแกะสลักประเภทต่างๆ เนื่องจากมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เมื่อขัดจะขึ้นเงามันงาม
เนื้อไม้ จามจุรีวงนอกจะมีสีขาวเหลือง ด้านในที่เป็นแก่นมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เป็นลายด่างสวยงาม เนื้อไม้มีค่าความแข็งประมาณ 135 กิโลกรัม มีค่าโมดูลัสแห่งการแตกร้าวประมาณ 616 กก./ตร.ซม. น้อยกว่าไม้กะบากที่มีค่า 650 กก./ตร.ซม. และเนื้อไม้จามจุรีมีค่าความเหนียวเพียง 1.82 กก.-เมตร น้อยกว่าไม้กะบากที่มีค่า 3.57 กก.-เมตร
2. ต้นจามจุรีมีทรงพุ่มกว้าง ใบดก ให้ร่มเงาได้ดีมาก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามหัวไร่ปลายนา ข้างถนนสำหรับคนเดินทาง สถานที่ราชการสำหรับประชาชน รวมถึงปลูกเป็นไม้ประดับด้วยการตัดแต่งไม่ให้มีลำต้นสูง และแตกกิ่งยาวมากนัก นอกจากนั้น ยังใช้เป็นที่เกาะของเฟริน์ และกล้วยไม้ได้ด้วย
3. กิ่งอ่อนของต้นจามจุรีมีเยื่อเปลือกอ่อนที่เป็นอาหารของครั่ง จึงนิยมปลูกสำหรับปล่อยเลี้ยงครั่ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ต้นจามจุรีที่นิยมใช้เลี้ยงครั่งจะเป็นชนิดดอกสีชมพู เปลือกสีดำ มีใบเขียวเข้ม ชนิดนี้ครั่งจะจับได้ดี และครั่งมีคุณภาพดี เมื่อเก็บครั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะให้คุณภาพในชั้น A และ B เป็นส่วนใหญ่ ผลิตครั้งได้ 5-10 กิโลกรัม/ต้น ที่อายุต้นประมาณ 6 ปี หากต้นมีตั้งแต่ 10 ปี อาจได้มากกว่า 20-50 กิโลกรัม/ต้น ส่วนชนิดอื่นก็สามารถใช้เลี้ยงได้เช่นกัน แต่อาจมีผลผลิตที่ต่ำกว่าเล็กน้อย
4. เนื่องจากต้นจามจุรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว ใบมีสารอาหารหลายชนิดจึงนิยมนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร แพะ แกะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังใช้ร่วมกับฝักแก่สำหรับเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากฝักมีรสหวานเป็นที่ชอบของสัตว์บางชนิด เช่น โค กระบือ
5. ฝักแก่ สามารถนำมาหมักเป็นเหล้าหรือผลิตแอลกอฮอล์ได้ โดยฝักแก่ที่มีขนาดใหญ่ 100 กิโลกรัม สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้มากกว่า 11 ลิตร
6. ฝักแก่ นำเอาเมล็ด และเปลือกออก เหลือเฉพาะเนื้อฝักใช้รับประทานเป็นอาหาร ให้รสหอมหวานมาก รวมถึงนำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่มก็ได้
คุณค่าทางอาหารของฝัก และเมล็ดแก่
วัตถุแห้ง
– ฝักไม่มีเมล็ด 81.51%
– เมล็ด 86.50%
เถ้า
– ฝักไม่มีเมล็ด 4.01%
– เมล็ด 4.30%
เส้นใย
– ฝักไม่มีเมล็ด 9.43%
– เมล็ด 14.00%
โปรตีน
– ฝักไม่มีเมล็ด 9.64%
– เมล็ด 31.6%
7. มีการศึกษาพบสารพิธทิโคโลไบ ในกลุ่มของสารอัลคาลอยด์ ที่พบมากในเปลือก แก่น ใบเปลือกฝัก และเมล็ด เมื่อนำมาสกัดจะได้ฤทธิ์ทำลาย และกดปลายประสาท ใช้ทำยาสลบ
8. ใบที่ร่วงจากต้นจามจุรี หากกวาดกองรวมกันจะได้จำนวนมาก นำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นปุ๋ยหมักหรือนำไปโรยใต้ต้นไม้ โรยตามไร่ นา ช่วยเป็นปุ๋ยแก่พืชได้
9. ลำต้น และกิ่ง ใช้ทำฟืนให้พลังงานสำหรับหุงหาอาหารในครัวเรือน
สรรพคุณจามจุรี
1. ราก นำมาต้มดื่ม รักษาอาการท้องร่วง นำมาฝนทาแผล รักษาแผลอักเสบ เป็นหนอง
2. ฝักหรือผลสุก นำมารับประทาน ช่วยบำรุงร่างกาย
3. ใบนำใบสดมาต้มน้ำดื่ม หรือตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยรักษาโรคท้องร่วง
4. เปลือกต้น มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน นำมาเคี้ยวช่วยลดอาการเหงือกบวม แก้ปวดฟัน
5. เมล็ด มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน