ตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ ประโยชน์ และสรรพคุณทางยา

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ต้นตีนเป็ด หรือ นิยมเรียก พญาสัตบรรณ เป็นไม้โตเร็ว ลำต้นสูงใหญ่ นิยมปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ประดับ ให้ใบดกเป็นร่มเงา ดอกมีกลิ่นหอมแรงมากถึงฉุน เนื้อไม้นำมาแปรรูปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ไม่ตะเกียบ เป็นต้น แต่ไม่นิยมทำเป็นไม้ก่อสร้าง เนื่องจากไม่คงคงทน เนื้อไม้มีความหนาแน่นต่ำ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : (Alstonia scholaris (L) R.Br.)
• วงศ์ : Apocynaceae
• ชื่อสามัญ : Dita, Shaitan wood, Devil Tree
• ชื่อท้องถิ่น :
– ตีนเป็ด
– ตีนเป็ดขาว
– พญาสัตบรรณ
– หัสบรรณ หัสบัน
– จะบัน
– บะซา
– ปูลา
– ปูแล

ไม้ในสกุลเดียวกันกับตีนเป็ดที่พบในไทยมีหลายชนิด มีลำต้น และใบที่คล้ายกัน เช่น
– ตีนเป็ดเล็ก (Alstonia angustiloba)
– ตีนเป็ดพรุ/ตีนเป็ดน้ำ (Alstonia pneumatophora)
– เที๊ยะ (Alstonia spathulata)

การกระจายพันธุ์
ต้นตีนเป็ด/เป็นพืชท้องถิ่นในเขตร้อน พบได้ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย  ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในทุกภาค เป็นไม้ที่ชอบความชื้นสูง ดินระบายน้ำดี พบมากบริเวณใกล้แหล่งน้ำในป่าเบญจพรรณ หรือชายป่าพรุ  ไม่พบในป่าเต็งรังหรือบริเวณที่สูง (ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, 2544)(1)

ต้นตีนเป็ด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ต้นตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 35-40 เมตร ต้นอายุน้อยมีเรือนยอดเป็นรูปเจดีย์ทรงแบนเมื่อต้นใหญ่เต็มที่ โคนจะเป็นพูพอนขยายใหญ่ ลำต้นมีร่องตามแนวยาวของความสูง เปลือกมีสีเทาอมเหลือง หรือสีน้ำตาล เมื่อถาดเปลือกออกจะมีสีขาว เปลือกชั้นในสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวไหลมาก เนื้อไม้ และกิ่งเปราะหักง่าย เนื้อไม้เรียบ แตกเป็นร่องง่าย กิ่งที่แตกออกมีรอยแตก เพื่อใช้แลกเปลี่ยนอากาศ

ลำต้นตีนเป็ด

เนื้อไม้ต้นตีนเป็ดมีสีขาวอมเหลือง แตกเป็นเสี้ยนตรงตามแนวยาว เนื้อหยาบเหนียว เนื้อไม้อ่อนไสกบง่ายมาก

2. ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบกิ่ง วงละ 5-8 ใบ ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. แผ่นใบเหนียวเหมือนหนังคล้ายใบต้นดอกรัก แผ่นใบรูปรีถึงรูปหอก ปลายใบแหลม และมีติ่งเล็กน้อย ขอบ และผิวใบเรียบ ใบอ่อนมีสีด้านบน และด้านล่างใกล้เคียงกัน ใบแก่มีใบด้านบนสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างใบมีสีขาวนวล มีเส้นใบมาก มองเห็นชัดเจน เส้นใบกางออกเป็นมุมฉากกับเส้นกลางใบ

ใบตีนเป็ด

3. ดอก
ดอก ออกเป็นดอกช่อ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีก้านดอกหลักยาว 3-8.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1 มม. ดอกมีขนาดเล็ก ที่เป็นกลีบดอกรูปไข่ มีหยักเว้า ขนาด 1-1.9 x 1.5-2.3 มม. สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ปลายดอกอาจแหลม และแบบมน มีขนนุ่มปกคลุม ปากท่อด้านในดอกมีขนยาวปุกปุย เกสรตัวผู้อยู่บริเวณกลางวงท่อกลีบดอก อับเรณูเกสรตัวผู้มีขนนุ่มปกคลุม ยาว 1.1-1.5 มม. เกสรตัวเมียมีขนาด 2.8-5.2 มม. ดอกเริ่มบานประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม เมื่อดอกบาน 1-2 วัน จะส่งกลิ่นหอมแรงมาก หากดมมากบางคนอาจวิงเวียนศรีษะได้

ตีนเป็ด1

4. ผล
ผลออกเป็นฝัก มีลักษณะกลมยาว สีขาวอมเขียว ออกเป็นคู่ มีผิวฝักเกลี้ยง หย่อนห้อยลงด้านล่าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ยาว 30-40 ซม. ปลายผลมีลักษณะมนกลม ฝักแก่มีสีเทาน้ำตาล และแตกตามตะเข็บ 2 ซีกซ้าย-ขวา ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก รูปทรงบรรทัด ยาวประมาณ 7 มม. มีขนยาวอ่อนนุ่มเป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง สำหรับพยุงลอยตามลม ฝักแห้ง 1 กิโลกรัม จะมีจำนวนฝักประมาณ 260 ฝัก หลังจากดอกบานจะเริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม และฝักแตกออกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

เพิ่มเติมจาก : ทวีวรรธน์ แดงมณี, 2548(2)

ประโยชน์ตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
• เป็นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร
• นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้มงคล และให้ร่มเงา
• ดอกออกเป็นช่อ สวยงาม และดอกมีกลิ่นหอมแรง
• เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลืองเหมาะสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น  หีบ โต๊ะ เก้าอี้
• เนื้อไม้ใช้ทำอุปกรณ์หรือไม้ใช้สอย เช่น ไม้จิ้มฟัน ดินสอ ตะเกียบ ฝักมีด ของเล่นเด็ก หีบศพ
• เนื้อไม้มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับทำทุ่นอวน หรือทุ่นลอยเครื่องจับสัตว์น้ำ

ลักษณะโครงสร้างของเนื้อไม้ (วิรัช และ ดำรง, 2517)(3)
• วงปี เห็นไม่ชัด
• ท่อน้ำ (vessel) ท่อน้ำมีลักษณะกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นท่อน้ำแฝด 2-5 เซลล์ มีท่อน้ำเดี่ยวปนอยู่บ้าง ภายในท่อน้ำบางท่อมีทายโลซิส (tylosis) มีแผ่นเปอร์ฟอเรชั่น (perforation) เป็นแบบรูเดี่ยว
• พาเรนไคมา (parenchyma) มีทั้งแบบติดท่อน้ำ และแบบไม่ติด
• ท่อน้ำ (apotracheal parenchyma) ท่อน้ำเป็นแถบแคบๆ กว้าง 1-4 เซลล์ ภายในเซลล์บางเซลล์จะมีผลึกอยู่
• เส้นใย (fiber)
– ยาวประมาณ 1,630 ไมครอน
– กว้างประมาณ 27 ไมครอน
– ผนังเส้นใยหนาประมาณ 4 ไมครอน

สมบัติทางกายภาพ
เนื้อไม้ตีนเป็ดมีลักษณะเป็นมัน ไม่มีกลิ่น มีรสขม สีขาวอมเหลืองอ่อนถึงน้ำตาลจางๆ น้ำหนักเบา เสี้ยนตรง เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด ไสกบตบแต่งง่าย
– ความชื้น 12%
– ความถ่วงจำเพาะ 0.4
– ความแข็งแรงในการดัด 428 กก./ตร.ซม.
– ความแข็งแรงในการบีบ 311 กก./ตร.ซม.
– ความแข็งแรงในการเชือด 79 กก./ตร.ซม.
– ความดื้อ 55,600 กก./ตร.ซม.
– ความเหนียวจากการเดาะ 1.23 กก.-ม.
– ความแข็ง 207 กก.
– ความทนทานจากการทดลองปักดิน 1.4 (0.8-2) ปี

สมบัติทางเคมี
– โฮโลเซลลูโลส 69.35%
– เซลลูโลส 53.51%
– ลิกนิน 31.72%
– การละลายใน 1% ของโซเดียมไฮดรอกไซด์ 13.99%
– การละลายในน้ำร้อน 5.55%
– การละลายในแอลกอฮอล์ และเบนซิน 4.01%
– การละลายในน้ำเย็น 3.99%
– ขี้เถ้า 1.24%
– เพ็นโตซาน 13.15%

ไม้ต้นตีนเป็ด เป็นเนื้อไม้อ่อน ความหนาแน่นน้อย สามารถเกิดราได้ง่าย  เมื่อตัดแล้วต้องรีบเก็บรักษาในที่ร่ม และแห้งหรือนำมาแช่น้ำ ส่วนไม้ที่แปรรูปแล้วต้องทำการผึ่งแดด อบหรือเคลือบน้ำยาจะช่วยเก็บรักษาได้นาน

ที่มา : ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, 2544(1)

สรรพคุณตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
• เปลือก นำมาต้มดื่ม
– แก้ไอ ลดไข้ ลดอาการหวัด
– รักษามาเลเรีย
– แก้ท้องเสีย
– แก้บิด
– รักษาเบาหวาน
– รักษาโรคบิด
– รักษาหลอดลมอักเสบ
– รักษาโรคลักปิดลักเปิด
– ขับระดู
– ขับพยาธิ
– ขับน้ำเหลืองเสีย
– ขับน้ำนม

• เปลือก นำมาบดหรือต้มอาบ
– ใช้ทารักษาแผล แผลติดเชื้อ เป็นหนอง
– นำมาอาบช่วยป้องกันโรคเชื้อราทางผิวหนัง

• ใบ ใช้ต้มน้ำดื่ม
– ช่วยขับพิษต่าง ๆ
– รักษาโรคลักปิดลักเปิด
– แก้ไอ ลดไข้หวัด

• ยาง
– ใช้ทารักษาแผล แผลเน่าเปื่อย
– ผสมยาสีฟัน ลดอาการปวดฟัน
– ผสมกับน้ำมันแก้ปวดหู
– ใช้เป็นยาบำรุงกระเพาะ และยาบำรุงหลังเจ็บไข้

ที่มา : ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน,2544(1), ทวีวรรธน์ แดงมณี, 2548(2),อุฑารัตน์, 2542(4)

การปลูกตีนเป็ด/พญาสัตบรรณ
การเพาะต้นตีนเป็ดนิยมใช้วิธีการเพาะด้วยเมล็ด หรือใช้การปักชำ สำหรับเมล็ดที่นำมาเพาะต้องได้จากต้นที่มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่มีรอยโรค ฝักมีลักษณะอวบใหญ่ ฝักยาวและต้องเป็นฝักแก่สีน้ำตาล เริ่มมีรอยปริแตกของฝัก เมื่อได้ฝักแล้วจะนำไปตากแดด ประมาณ 2 วัน เพื่อให้ฝักแตก สามารถแยกเอาเมล็ดออกได้ง่าย

การเพาะกล้าไม้
การเพาะสามารถเพาะลงแปลงปลูกหรือเพาะใส่ถุงเพาะชำก่อน แต่ทั่วไปนิยมเพาะในถุงเพาะชำ และดูแลให้น้ำสักระยะก่อนนำปลูก

วัสดุเพาะจะใช้ดินร่วนปนทรายผสมกับปุ๋ยคอกหรือขี้เถ้าหรือขุยมะพร้าว อัตราส่วนดินกับวัสดุที่ 2:1 บรรจุในถุงเพาะชำขนาด 4×6 นิ้ว หลังจากนั้นหยอดเมล็ด 1 เมล็ด/ถุง และจัดเรียงเป็นแถวให้สามารถเข้าดูแลได้ง่าย

การดูแลจะทำการให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือเย็น ให้เพียงพอหน้าดินที่ถุงชุ่ม ไม่ควรให้น้ำมากจนขังปากถุง ดูแลจนต้นกล้าอายุประมาณ 3 เดือน หรือสูงประมาณ 20-30 ซม. ก็จะพร้อมนำปลูกลงแปลง

การปลูก
หากปลูกเป็นสวนป่าขนาดหลายไร่ จำเป็นต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 5-7 วัน เป็นอย่างต่ำ ระยะการปลูกประมาณ 4×4 เมตร หรือมากกว่า

สำหรับการปลูกเพื่อเป็นไม้มงคล เป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการ นิยมปลูกบริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าเพื่อให้ร่มเงา และเ้นื่องจากต้นตีนเป็ดเมื่อโตเต็มที่จะสูงได้มากกว่า 20 เมตร และแตกทรงพุ่มได้กว้างกว่า 10 เมตร ดังนั้น จึงควรปลูกให้ห่างจากแนวสายไฟ และสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 8 เมตร หากต้นสูงมากควรมีการตัดแต่งกิ่ง และเรือนยอด

โรคแมลง
โรค และแมลงของต้นตีนเป็ดมักไม่ค่อยพบ แต่อาจพบการทำลายใบ เช่น หนอนม้วนกินใบ และมักพบการเติบโตของต้นไม่ดี ต้นแคระแกร็น ใบเหลืองจากสภาพดินเค็ม ดินแห้งแล้ง และขาดธาตุอาหาร

เอกสารอ้างอิง
2