กันเกรา/ดอกกันเกรา และสรรพคุณกันเกรา

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

กันเกรา (Kankrao) กันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา และเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกดก ดอกมีกลิ่นหอม และมีสีสวยงาม รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมาลาเรีย บำรุงธาตุ แก้หอบหืด บรรเทาอาการไอ และรักษาโรคผิวหนังที่ไม่รุนแรง เป็นต้น นอกจากนั้น เนื้อไม้ใช้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fragrea fragrans Robx.
• ชื่อวงค์ : Potaliaceae
• ชื่อสามัญ : Tembusu , Kankrao
• ชื่อท้องถิ่น :
– กันเกรา(กลาง)
– ตำเสาหรือทำเสา (ภาคใต้)
– มันปลา (ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ)
– ตำมูซูหรือตะมูซู(มาเลย์-ใต้)
– ตาเตรา(เขมรตะวันออก)

นิเวศวิทยา และการกระจายพันธุ์
กันเกราเป็นไม้ที่พบทั่วไปในป่าเบญจพรรณในทุกภาค พบมากบริเวณลุ่มที่ชื้น ใกล้แหล่งน้ำ รวมถึงพบได้ในป่าดิบชื้น และป่าพรุทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย

Kankrao

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
กันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีทรงต้นไม่ตรงนัก ลำต้นสูงประมาณ 20-30 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งในระดับต่ำ เรือนยอดแหลม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกต้นหยาบหนา เปลือกมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกร่องลึกไม่เป็นระเบียบ เปลือกชั้นในมีสีเหลือง เป็นเสี้ยน เมื่อสัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

Kankrao1

2. ใบ
เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน เป็นคู่ๆ แตกใบมากเป็นพุ่มที่ปลายกิ่ง ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร โคนก้านใบมีหูใบคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ใบมีลักษณะบาง แต่เหนียว ผิวใบเรียบเกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีจางกว่าใบด้านบน ตัวใบรูปรี ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ปลายใบมีติ่งเรียวแหลม และโคนใบแหลม มีเส้นแขนงใบเห็นไม่ค่อยชัด

3. ดอกกันเกรา (ตามภาพด้านบน)
ดอกกันเกราออกเป็นช่อ ตามง่ามใบ ออกมากบริเวณปลายกิ่ง ดอกอ่อนมีสีขาวนวล เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีมีกลีบรองดอกขนาดเล็ก 5 กลีบ กลีบดอกมีโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังหรือแตร กว้าง และยาวประมาณ 2 ซม. ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายดอกผายแยกเป็นกลีบ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบโค้งไปทางโคนดอก ด้านในมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ยาวพ้นจากปากหลอด 1.5-2 เซนติเมตร ถัดมาเป็นรังไข่ รูปร่างคล้ายหัวเข็มหมุด ดอกบานเริ่มแรกมีสีขาว แล้วจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกดอกระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน

4. ผล และเมล็ด
มีลักษณะกลม กว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร มีติ่งแหลมสั้นๆที่ปลายผล ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีส้ม และผลสุกมีสีแดงเข้ม เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก มีรูปทรงไม่แน่นอน ติดผลระหว่างเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม

Kankrao3

สารสำคัญที่พบ
ใบ และผล :
พบสาร alkaloid ได้แก่
– gentianine
– swertiamarin

ดอก และผลดอกกันเกรา :
– carotenoids

เปลือกลำต้น :
– Pinoresinol
– tannin
– alkaloids
– steroids
– β-sitosterol
– stigmasterol

ที่มา : Samneang Apisantiyakon.2004(1), เพียงเพ็ญ และปาจารีย์. 2541(2), จรรยา และสุดารัตน์. 2541(3)

ความเป็นพิษ
ธงชัย และนิวัตร. 2544 กล่าวถึงความเป็นพิษจากการใช้สารสกัดจากใบกันเกราที่ฉีดเข้าท้องหนูทดลอง พบว่า ขนาดสารสกัดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง มีขนาดมากกว่า 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ใช้ประโยชน์
1. ไม้แปรรูป เนื่องจากเนื้อไม้กันเกรามีสีน้ำตาล มีลวดลายสวยงาม นิยมแปรรูปเป็นไม้แผ่นใช้เป็นไม้ปูพื้น ไม้ปุผนัง ประตู หน้าต่าง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
2. ต้นกันเกรามีดอกสวยงาม และมีกลิ่นหอม ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ต้นประดับ รวมถึงการปลูกเพื่อให้ร่มเงา
3. ต้นกันเกราเป็นไม้มงคล (ไม้ประจำจังหวัดนครพนม) ปลูกไว้ภายในบ้าน คนโบราณเชื่อว่ช่วยป้องกันสัตว์มีพิษเข้าบ้าน ช่วยคุ้มภัยให้แก่คนในบ้าน และขับไล่สิ่งอัปมงคล
4. ไม้ และกิ่ง ใช้ทำเป็นฟืนสำหรับหุงหาอาหารในครัวเรือน

สรรพคุณกันเกรา
1. เปลือก :
tannin และมีสารกลุ่มแอลคาลอยด์ มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก และสาร Pinoresinol ในเปลือกที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย และวัณโรคได้ เปลือกนำมาต้มน้ำใช้อาบหรือนำเปลือกมาบดหรือฝนใช้ทาแผล รักษาแผล แผลผุผอง แผลติดเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง นำเปลือกมาต้มน้ำดื่มบำรุงโลหิต แก้ท้องเสีย

2. ใบ และผล :
ใบ และผลมีสาร gentianine ออกฤทธิ์แก้ปวด ใบ และผลแห้งนำมาต้ม ใช้รักษาโรคบิด แก้หืด และรักษาโรคผิวหนังพุพอง

Kankrao4

3. แก่น :
ส่วนของแก่นไม้รสเฝื่อน ฝาดขมของสารแทนนิน
– ใช้ขับลม ขับปัสสาวะ
– ช่วยลดไข้
– แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยร่างกาย บำรุงไขข้อ
– แก้พิษฝีกาฬ
– บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการบำรุงโลหิต
– แก้ปวดแสบปวดร้อน
– แก้แน่นหน้าอก บำรุงธาตุ
– แก้ริดสีดวงทวาร
– แก้ท้องเสีย ท้องร่วง

4. ดอกดอกกันเกรา :
น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากดอกกันเกรามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus

เพิ่มเติมจาก : Samneang Apisantiyakon. 2004(1)

สารออกฤทธิ์
• สารในกลุ่ม alkaloids ที่พบในใบ และผลออกฤทธิ์หลายด้าน
– ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยลดอาการปวดท้อง
– ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย
– ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
– ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต

• สาร tannin ในเปลือก และแก่น ออกฤทธิ์
– ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ใช้แก้อาการท้องเสีย
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้ทารักษาแผล แผลติดเชื้อทำให้แผลหายเร็ว
– ลดความเป็นกรดในระบบทางเดินอาหาร ช่วยดูดน้ำกลับ และลดการสูญเสียน้ำ แต่จะทำให้ท้องอืด อาการไม่ย่อย

• สาร carotenoids ในดอก และผล
– ออกฤทธิ์ช่วยบำรุงสายตา ช่วยการมองเห็น ป้องกันโรคตา
– เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเสื่อมของเซลล์ ลดฝ้า ลดริ้วรอย
– เสริมสร้างภูมิต้านทาน
– ป้องกันโรคภูมิแพ้
– ต้านเซลล์มะเร็ง
– ลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยป้องกันโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด

การปลูก
นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก แต่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีอื่น เช่น การปักชำกิ่ง และการตอน

การเพาะเมล็ดจะใช้เมล็ดที่ร่วงจากต้นหรือเมล็ดแก่จัดจากต้น นำมาตากแดดให้แห้ง นำลงเพาะในถุงเพาะชำจนต้นโตประมาณ 15-30 ซม. ก่อนย้ายลงตามจุดที่ต้องการ

เนื่องจากกันเกราเมื่อโตเต็มที่จะมีทรงพุ่มใหญ่ หากปลูกตั้งแต่ 2 ต้น ใกล้กันควรมีระยะห่างประมาณ 15-25 เมตร

เอกสารอ้างอิง
1