Last Updated on 23 ธันวาคม 2015 by puechkaset
ดอกกระเจียว เป็นชื่อเรียกดอกของต้นกระเจียวที่นิยมนำมารับประทานเป็นผัก และนำมาประกอบอาหารของคนอีสาน ให้รสกรอบหวาน และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รวมถึงนิยมปลูกเป็นไม้ดอกประดับ เนื่องจาก ดอกมีสีสันสวยงาม มีหลากหลายสี
ต้นกระเจียว เป็นพืชดั้งเดิมของไทย พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และตามหัวไร่ปลายนาในแถบภาคอีสาน และภาคเหนือ แต่พบมากในทางภาคอีสาน และพบได้ในประเทศอื่นบริเวณใกล้เคียง เช่น พม่า และลาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aeruqinosa Roxb.
ชื่อท้องถิ่น : ดอกกระเจียว กระเจียวแดง ดอกอีเจียว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากดอกกระเจียวเป็นระบบรากฝอย กระจายออกจากเหง้าใต้ดิน มีบริเวณใกล้ปลายของรากมีการสะสมอาหารทำให้พองโตเป็นก้อนขนาดใหญ่
ลำต้น
ต้นดอกกระเจียวมีลำต้นแท้ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า เหง้าหรือหัว หัวมีลักษณะค่อนข้างกลม แตกแขนงออกเป็นแง่ง คล้ายหัวขิง
ใบ
ใบ และกาบใบ เป็นลำต้นเทียมที่แตกออกมาจากเหง้าใต้ดิน โผล่ขึ้นมามองให้เห็นเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ใบ และกาบใบมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กาบใบยาวประมาณ 5-10 ซม. ตัวใบกว้างประมาณ 7-10 ซม. ยาวประมาณ 15-23 ซม. ใบมีลักษณะคล้ายใบขิง เรียวยาวเป็นรูปหอก ใบจะแห้ง และร่วงไปในช่วงหน้าหนาวเดือนธันวาคม เหลือเพียงหัวที่อยู่ใต้ดิน จนถึงต้นหน้าฝนหลังฝนตกแล้วจึงค่อยออกดอกให้เห็น พร้อมกับเริ่มแทงใบใหม่ออกมาหลังดอกบาน
ดอก
ดอกกระเจียว ออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณใจกลางของลำต้น มีก้านดอกมักเป็นสีขาวหรือสีแดงม่วง ส่วนตัวดอกที่มองเห็นจะเป็นใบประดับ มักมีหลายสีผสมกัน อาทิ สีแดง สีชมพู สีขาว สีม่วง และสีเหลือง ก้านดอกมีลักษณะทรงกลมยาว ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. ยาวประมาณ 3-8 ซม. ตัวดอกประกอบด้วยใบประดับจำนวนมาก เรียงซ้อนกันขึ้นสูงเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 10-18 ซม. ภายในใบประดับจะเป็นดอกจริงที่มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ มีลักษณะเป็นหลอด มีกลีบดอกเป็นสีม่วง แต้มด้วยสีเหลือง โดยในแต่ละซอกของใบประดับจะดอก 2-7 ดอก และจะพัฒนาได้เป็นผลเพียง 2 ผล เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ และอยู่ภายในซอกใบประดับได้เพียง 2 ผล ทั้งนี้ ดอกจะบานในช่วงเช้าหลังได้รับแสงแดด และจะค่อยเหี่ยวในช่วงบ่าย ดอกออกเพียงปีละครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี
ขอบคุณภาพจาก facebook.com/ดอกกระเจียวกินได้-จำหน่ายต้นและหัวพันธุ์
ผล
ผลของดอกกระเจียวจะพัฒนามาจากดอก ซึ่งส่วนมากในซอกของใบประดับมักพบประมาณ 2 ผล ผลมีลักษณะกลม ภายในเป็นเมล็ดที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดองุ่น ด้านปลายของเมล็ดมีเยื่อบางๆสีขาว เมล็ดมีลักษณะเป็นแฉก
การแพร่กระจาย
ต้นดอกกระเจียว พบแพร่กระจายทั่วไปในป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และตามหัวไร่ปลายนา พบมากในภาคอีสาน รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออก ส่วนภาคอื่นๆ พบเพียงบางพื้นที่เท่านั้น
สำหรับภาคอีสานจะพบดอกกระเจียวมากตามป่าโปร่ง และตามคันนา ส่วนดอกกระเจียวอีกชนิดที่ทางวิชาการเรียกว่า ปทุมมาจะพบมากบนอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง ในจังหวัดชัยภูมิ
ประโยชน์ของดอกกระเจียว
– ดอกกระเจียว และหน่ออ่อน ในภาคอีสานนิยมนำมาประกอบอาหาร อาทิ หมกดอกกระเจียวใส่แย้ หมกดอกกระเจียวใส่กระปอม แกงอ่อมดอกกระเจียว เนื่องจาก ให้รสกรอบหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
– ดอกกระเจียว และหน่ออ่อน ในภาคอีสานนิยมนำมารับประทานสดจิ้มน้ำพริก หรือ นำมาลวกรับประทานคู่กับน้ำพริก
– ดอกกระเจียว บางท้องที่นำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกประดับ เนื่องจาก ให้ดอกที่มีสีสันสวยงาม
– ทุ่งดอกกระเจียว เป็นแหล่งที่มีดอกกระเจียวขึ้นมากจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นของจังหวัดชัยภูมิ
สรรพคุณดอกกระเจียว
ใบกระเจียว ดอกกระเจียว และหน่ออ่อนของต้นกระเจียว มีสรรพคุณที่คล้ายคลึงกับพืชในตระกูลข่า และขิง ได้แก่
ราก เหง้า และหน่ออ่อน
– ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด
– ลดอาการคลื่นเหียนอาเจียน
– ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน
– ขับเสมหะ ลดอาการเจ็บคอ
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับเหงื่อ
– บรรเทาอาการท้องร่วง
– ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด
– ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยง และป้องกันโรคมะเร็ง
– บรรเทาอาการหวัด ช่วยลดไข้
– ใช้ทาพอกรักษาแผล
– ขับปัสสาวะ
– บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้อง
ใบ และยอดอ่อน
– ใช้บดทา ลดอาการฟกช้ำ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– บำรุงสายตา
ดอก
– บำรุงประสาท
– แก้ขัดปัสสาวะ
– ช่วยเจริญอาหาร
– ป้องกันโรคมะเร็งในลำไส้
– ป้องกัน และลดอาการหวัด
– ลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยขับเหงื่อ
การปลูกต้นกระเจียว
ต้นกระเจียวสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการแบ่งเหง้าปลูก ซึ่งจะคล้ายกับการปลูกขิง ปลูกข่าทั่วไป ทั้งนี้ จะนิยมขุดเหง้ากระเจียวมาปลูกในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ที่ใบเริ่มแห้งเหี่ยวแล้ว ซึ่งระยะนี้ต้นกระเจียวจะอยู่ในระยะพักตัว ไม่มีการเติบโต ไม่ควรขุดใกล้กับช่วงก่อนถึงฤดูฝนตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน เพราะต้นกระเจียวจะเข้าสู่ระยะออกดอก
การเก็บดอกกระเจียว
ดอกกระเจียวจะเริ่มออกหลังจากฝนลงแล้ว 2-3 ครั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม แต่บางพื้นที่ฝนมาตั้งแต่ต้นฤดู ก็สามารถพบออกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่จะออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
เกษตรกรหรือชาวบ้านมักออกเก็บดอกกระเจียวในช่วงเดือนที่กล่าวมา โดยจะออกเก็บตามป่าโปร่งบริเวณหัวไร่ปลายนา ซึ่งมักจะพบออกเป็นกลุ่มๆ
การเก็บจะใช้เสียมช่วย ด้วยการขุดหน้าดินลงลึกถึงโคนก้านดอก ซึ่งโดยทั่วไปเหง้าจะอยู่ลึกประมาณ 3-8 ซม. แล้วค่อยสับหรือใช้มือเด็ดโคนก้านดอก ทั้งนี้ เกษตรกรจะไม่ขุดดินลึกจนถึงเหง้ากระเจียวหรือจะพยายามไม่สับเหง้ากระเจียวให้เสียหาย เพราะจะได้เก็บดอกได้ในปีต่อไป และหลังจากการเก็บแล้ว เกษตรกรมักกลบหลุมไว้ตามเดิม เพื่อไม่ให้เหง้ากระเจียวแห้งตาย
หมกกะปอม/แย้ใส่ดอกกระเจียว
หมกกะปอมหรือแย้ใส่ดอกกระเจียว เป็นเมนูอาหารที่นิยมรับประทานมากของคนอีสาน มีขั้นตอนการทำ คือ
– นำกะปอมหรือแย้ย่างไฟทั้งตัว โดยที่ไม่ต้องผ่าหรือลอกหนังออก การย่างจะย่างพอให้ท้องพองตัวออกมาเท่านั้น ไม่ใช้ให้ย่างสุก แต่เป็นการย่างเพื่อให้เอาเครื่องในออกง่าย และลอกเกล็ดกะปอมออกได้ง่ายเท่านั้น
– หลังการย่าง ให้วางทิ้งไว้สักพักพอให้อุ่น สำหรับกะปอมจะใช้มือลูบให้เกล็ดออก ส่วนแย้ไม่ต้องทำ เพราะไม่มีเกล็ด หลังจากนั้น จะใช้หัวแม่มือทั้งสองข้างแบะท้องของกะปอมหรือแย้ให้แยกออก แล้วควักเครื่องใน กระเพาะ และลำไส้ออก ให้เหลือตับไว้ แต่ต้องเอาถุงน้ำดีออก ทั้งนี้ ระวังต้องเอาไส้บริเวณก้นออกให้หมด และบางพื้นที่อาจลอกหนังกะปอมออกด้วย
– นำกะปอมหรือแย้ไปล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำมาสับเป็นชิ้นตามความต้องการ ส่วนมากจะสับให้ละเอียดหรือบางครั้งจะสับเป็นชิ้นเล็กขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เท่านั้น และบางครั้งอาจสับส่วนหัวรวมด้วยหรือนำส่วนหัวทิ้ง
– เตรียมดอกกระเจียวด้วยการนำมาแช่น้ำสัก 5 นาที ก่อนแล้วค่อยล้างด้วยมือให้สะอาด ระวังต้องล้างดินบริเวณซอกกลีบรองดอกออกให้หมด หากล้างดินไม่หมดจะทำให้เคี้ยวดินด้วย ห่อหมกนั้นอาจต้องทิ้งเสียเปล่า
– นำดอกกระเจียวที่ล้างแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำล้างน้ำอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าดินออกหมด
– นำกะปอมหรือแย้สับร่วมกับดอกกระเจียวสับใส่ชาม
– เติมผงชูรส 1 ช้อน น้ำปลาร้า 2 ช้อน น้ำปลา 1 ช้อน
– สับผักชีลาวใส่เล็กน้อย
– คลุกผสมให้ส่วนผสมเข้ากัน ก่อนห่อใส่ใบตอง แล้วนำย่างไฟหรือนึ่งให้สุก
– ห่อหมกที่ได้จะมีกลิ่นหอมของดอกกระเจียว ห่อหมกจะกรอบนุ่มของดอกกระเจียว ร่วมกับรสของเนื้อแย้และกะปอม
ทุ่งดอกกระเจียว
ทุ่งดอกกระเจียว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชมดอกกระเจียวในฤดูที่ดอกมีการบานเต็มพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
จากการรวบรวมเอกสารในทางวิชาการ ดอกกระเจียวที่บาน ณ ทุ่งดอกกระเจียว ของอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ จะมิใช่ต้นดอกกระเจียว แต่จะเป็นต้นปทุมมาหรือบัวสวรรค์ เนื่องจากดอกบานเป็นสีชมพู ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับดอกกระเจียว โดยมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ
– ปทุมมา จัดอยู่ในสกุล paracurcuma ส่วนกระเจียวจัดอยู่ในสกุล eucurcuma
– กระเจียวมีสีของใบประดับหรือดอกในกลุ่มของสีขาว เหลือง เขียว แดง ม่วงแดง ส่วนปทุมมามีใบประดับหรือดอกส่วนบนเป็นสีชมพู ส่วนฐานเป็นสีเขียว
– ดอกปทุมมามีก้านดอกที่ยาวกว่าดอกกระเจียว
– ดอกปทุมมาจะบานแบบผึ่งผาย ส่วนดอกกระเจียวจะบานออกไม่มาก
– ปทุมมาพบแพร่กระจายมากในที่สูง เช่น ที่ราบหุบเขา ส่วนต้นกระเจียวจะพบแพร่กระจายมากในระดับที่ต่ำกว่า เช่น พื้นที่ไร่นาที่เป็นที่ดอน แต่ก็พบบางชนิดที่ขึ้นได้ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกับปทุมมา
ทั้งนี้ ชื่อทุ่งดอกกระเจียว เป็นชื่อเรียกของคนในท้องถิ่นหรือคำเรียกของชาวบ้านที่เข้าใจว่าปทุมมากับต้นกระเจียวเป็นชนิดเดียวกัน
ที่มา : จิดาภา และคณะ (2551)(1)
จุดท่องเที่ยว
1. ทุ่งดอกกระเจียว
2. ลานหินงาม
3. สุดแผ่นดิน
สิ่งอำนวยความสะดวก
บนอุทยานมีบริการห้องพัก ห้องน้ำสาธารณะ และพื้นที่ตั้งเต้นท์ นอกจากนั้น ทางอุทยานมีการจัดเปิดงานการท่องเที่ยวชมดอกกระเจียวหรือบัวสวรรค์เป็นประจำทุกปี ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทาง
– เดินทางจากกรุงเทพฯที่สถานีหมอชิต ชั้น 2 ตั๋วรถโดยสารปรับอากาศซึ่งมีหลายบริษัทให้บริการ เช่น นครชัยแอร์ เทียนไชยแอร์ และแอร์ชัยภูมิ เป็นต้น ราคาตั๋วอยู่ประมาณ 290-330 บาท (ลงชัยภูมิ) อาจขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ให้เลือกสายที่วิ่งผ่านอำเภอเทพสถิตเท่านั้น และให้บอกพนักงานว่าลงที่แยกบ้านไร่ ทางเข้าอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ซึ่งราคาตั๋วจะถูกลงอีกนิด แล้วพอลงแยกจึงต่อรถเข้าไปที่อุทยานอีกต่อ
รถส่วนตัว
จากภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกขับรถมุ่งไปตามถนนหมายเลข 21 ที่ออกจากสระบุรี (เส้นสระบุรี-หล่มสัก) แล้วเลี้ยวขวาเพื่อเข้าเส้น 205 (ถนนสุรนารายณ์) บริเวณตำบลชัยนารายณ์ อำเภอชัยบาดาลของลพบุรี แล้ววิ่งเรื่อยๆจนถึงเลยร้านเทพสถิตอิเล็กทรอนิกส์ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต แล้วค่อยเลี้ยวซ้ายเข้าเส้น 2354 จนไปถึงแยกเลี้ยวซ้ายที่เป็นถนนรอง ซึ่งคนแถวนั้นเรียกแยกนี้ว่า แยกบ้านไร่ แยกนี้จะเป็นถนนรองที่ไปถึงอุทยานดอกทุ่งกระเจียว แยกนี้จะอยู่ซ้ายมือก่อนถึงตลาดกลางสินค้าเกษตรเทพสถิต แล้วค่อยเลี้ยวซ้ายวิ่งผ่านบ้านโนนสำราญก่อนเลี้ยวขวาเข้าที่ทำการของอุทยาน
เครื่องบิน
นั่งเครื่องบินลงสนามบินจังหวัดชัยภูมิ และนั่งวินมอเตอไซต์มาที่สถานีขนส่งจังหวัดชัยภูมิเพื่อนั่งรถมาที่แยกบ้านไร่ของอำเภอเทพสถิต ซึ่งทางแยกจะอยู่ขวามือ เลยตลาดกลางสินค้าเกษตรเทพสถิตมาไม่ไกล โดยอาจใช้บริการของรถทัวร์สายต่างๆที่ลงกรุงเทพฯ หรือรถประจำทาง แล้วค่อยนั่งรถต่อเข้าไปในอุทยาน จุดนี้จะมีทั้งวินมอเตอร์ไซต์ และรถรับจ้างอื่นๆ
ที่พัก และโรงแรม
บนอุทยานมีห้องพักรับรอง แต่ส่วนมากนักท่องเที่ยวมักจับจองห้องพักตามโรงแรมหรือรีสอร์ทที่อยู่ใกล้เคียง
เอกสารอ้างอิง
1. จิดาภา เสนาพิทักษ์, ณรงค์ โสภาบุตร์ และณัฐยาภรณ์ โสภาบุตร์, 2551. การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เรื่อง การประดิษฐ์ดอกกระเจียว. มหาวิทยาลัยนเรศวร.