มะยม สรรพคุณ และการปลูกมะยม

Last Updated on 23 สิงหาคม 2016 by puechkaset

มะยม (Star-goose berry) เป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่พบแพร่กระจายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดเป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลรับประทาน รวมถึงการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆจากใบ และเป็นไม้มงคลที่เชื่อที่ว่าช่วยทำให้ผู้คนนิยมชมชอบ และนับถือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus Linn.
วงศ์ : Euphorbiaceae
ชื่อสามัญ :
– Star goose berry
– Otaheite-goose berry

มะยมสามารถพบได้ทั่วไปในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ทั้งดินเค็ม และเปรี้ยว โดยส่วนมากนิยมปลูกไว้บริเวณหน้าบ้านเพื่อให้เป็นร่มเงา เพราะใบมะยมแตกก้านใบยาว และใบใบย่อยจำนวนมากทำให้เกิดร่มเงาบังแดดได้มิดทั่วต้น นอกจากนั้น ยังเป็นต้นไม้เมตตามหานิยมที่เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้คนนับถือ ผู้คนรักใคร่อีกด้วย

ผลมะยม
ขอบคุณภาพจาก www.kasetpost.com

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะยมเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เป็นลูกคลื่นเล็กน้อย ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น กิ่งค่อนข้างเปราะ และหักง่าย แตกใบจำนวนมากตามกิ่ง

ใบ
ใบมะยมเป็นใบประกอบ แทงออกตามกิ่ง มีก้านใบยาว 20-30 ซม. แต่ละก้านใบมีใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบมีสีเขียว แผ่นใบเรียบ ใบเป็นรูปไข่ค่อนข้างเบี้ยว ฐานใบค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 2-4 ซม. ยาวประมาณ 4-8 ซม.

ใบมะยม

ดอก
ดอกมะยมออกเป็นช่อ แทงออกตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมากออกตามปลายกิ่งจนถึงยอด มักแทงงอกบริเวณด้านล่างของใบ เป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียในต้นเดียวกัน มีก้านดอกยาว 1-2 มม. กลีบดอกมีรูปร่างคล้ายไต มีสีเขียวหรือสีแดงรื่อ กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่ 3-4 ห้อง บางครั้งอาจพบเกสรตัวผู้ 1-3 อัน บริเวณฐานรังไข่

ต้นมะยมอาจแบ่งเป็นต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย โดยต้นตัวผู้จะมีลักษณะสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบใหญ่ ออกดอกเป็นสีแดงม่วง ไม่ติดผลหรือติดผลน้อย เพราะเป็นต้นที่ดอกมีเกสรตัวผู้มากกว่าเกสรตัวเมีย แต่ก็ติดผลบ้าง เพราะยังมีดอกเกสรตัวเมียบ้าง ส่วนต้นตัวเมียมักมีลักษณะลำต้นเตี้ยกว่า ออกใบเล็ก แต่ใบดก แตกกิ่งก้านมาก ดอกมีสีเหลืองเขียว ออกดอกดก ติดผลดกทั่วลำกิ่ง เพราะต้นตัวเมียจะมีเกสรตัวเมียมากกว่าเกสรตัวผู้

มะยมดอกผู้
ดอกมะยมตัวผู้
ดอกเกสรตัวเมีย
ดอกเกสรตัวเมีย

ผล และเมล็ด
ผลมะยมมีลักษณะเป็นพูเว้านูนรอบผล ประมาณ 6-8 พู (เหลี่ยมนูน) ผลค่อนข้างกลมแบน ผลกว้างประมาณ 1-3 ซม. มีขั้วผลสั้นประมาณ 0.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย และแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เนื้อผลมีรสเปรี้ยว ผล 1 ผล มีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นพูคล้ายพูผล เมล็ดมีสีนวลอมน้ำตาล เนื้อเมล็ดแข็งมาก

มะยม

ประโยชน์ของมะยม
– ผลมะยมใช้รับประทานเป็นผลไม้ ผลสุกให้รสเปรี้ยวอมหวาน ผลดิบหรือผลอ่อนให้รสเปรี้ยวอมฝาด
– ผลมะยมใช้ตำหรือยำ เป็นของว่าง
– ผลมะยมใช้ทำไวน์มะยม
– ผลนำมาดองเค็มหรือดองหวานเป็นผลไม้ดองรับประทาน
– ใบมะยมใช้รับประทานคู่กับเมี่ยงหรือตำข่า
– สาร Phyllanthusols A และ B ที่พบในรากมะยม ใช้ปรุงเป็นยาสำหรับใช้ในทางการแพทย์
– ต้นมะยมใช้ปลูกเป็นไม้มงคล ตามความเชื่อว่า จะทำให้คนในครอบครัวเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนที่รู้จัก ซึ่งทั่วไปมักนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน
– ใบมะยมมักใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
– ต้นมะยมทั้งต้นตัวเมีย และตัวผู้มีลักษณะใบดกเขียว ช่วยเป็นร่มเงาให้อาศัย

สรรพคุณมะยม
ผล
– แก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ
– ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย
– ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา
– ใช้ทาแก้อาการผื่นคันตามผิวหนัง
– น้ำสกัดจากผลมะยมประกอบด้วยกรดหลายชนิด ใช้ทาผิว ทาหน้า ช่วยพลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวแลดูขาวขึ้น
– ผลมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ทำให้ผิวไม่แลดูแก่เกินวัย
– เสริมสร้างภูมิต้านทาน บรรเทาอาการภูมิแพ้ และป้องกันโรคจากสาเหตุภูมิแพ้
– เพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร กระตุ้นการยากอาหาร

ใบ (สารคลอโรฟิลล์, แคโรทีนอยด์)
– ใช้รับประทาน ช่วยบำรุงประสาท
– ใช้ทาแก้ผื่นคันตามผิวหนัง
– ช่วยเสริมสร้างการทำงานของตับ ป้องกันพิษจากสารเคมีที่มีต่อตับ
– ป้องกันโรคมะเร้งในลำไส้ และมะเร็งต่างๆ
– กระตุ้นระบบภูมิต้านทานในร่างกาย
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยให้ผิวแลดูสดใส
– แมกนีเซียมที่เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ช่วยให้การนอนหลับง่ายขึ้น
– ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง เสริมสร้างความแข็งแรงของเม็ดเลือด

ราก
– ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบาย
– ใช้ต้มน้ำดื่มช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับเหงื่อ
– ใช้ต้มดื่มช่วยทำให้อาเจียน ซึ่งการออกฤทธิ์ทางยาที่ช่วยให้อาเจียนนี้ จึงนิยมใช้รากมะยมเป็นยาช่วยการออกเหล้า เพราะหลังจากดื่มน้ำที่ฝนจากรากมะยมแล้ว ผู้ดื่มจะเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมาก จนเกิดความรู้สึกกระหายน้ำ ลดอาการกระหายสุราตามมา

ข้อควรระวัง
– รากมะยมมีสาร Phyllanthusols A และ B ที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้มีอาการวิงเวียนศรีษะและอาเจียน ไม่ควรดื่มหรือรับประทานมาก

การปลูกมะยม
การปลูกมะยมนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด โดยการนำผลมะยมที่แก่จัด และหล่นจากต้น ทั้งนี้ ควรเลือกต้นแม่ที่มีกิ่งมาก ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ ส่วนผลที่นำมาเพาะ ควรเป็นผลมีลักษณะอวบใหญ่

หลังจากที่ได้ผลมะยมมาแล้ว หากไม่รีบ ให้ปล่อยผลมะยมเน่าเปื่อยจนเหลือแต่เมล็ด หรือ ให้ปอกเนื้อมะยมออกให้หมดจนเหลือแต่เมล็ด แล้วนำเมล็ดมาตากแดดจนแห้ง

หลังจากได้เมล็ดมะยมแห้งแล้ว ให้นำมาแช่ในน้ำร้อนประมาณ 1 นาที ก่อนลงเพาะในถุงเพาะชำ หรือ นำเมล็ดฝังดินบริเวณที่ต้องการให้เกิด ซึ่งให้ใส่เมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด/หลุม เมื่อกล้ามะยมเกิดแล้วค่อยถอนต้นออกให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงต้นเดียว

นอกจาก การเพาะด้วยเมล็ดเองแล้ว เราสามารถหาต้นกล้ามะยมที่เกิดใต้ต้นมะยมที่มีลำต้นสูง 10-20 ซม. ย้ายออกปลูกตามจุดที่ต้องการได้ ซึ่งวิธีนี้จะง่าย และสะดวกที่สุด