ปุ๋ยพืชสด

Last Updated on 11 ธันวาคม 2015 by puechkaset

ปุ๋ยพืชสด หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการไถกลบพืชลงดินในขณะที่พืชนั้นยังเจริญเติบโต และยังสดอยู่ ก่อนที่จะมีการปลูกพืชหลักตามมา ซึ่งจะไถกลบพืชในระยะเริ่มออกดอก พืชที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด มักใช้พืชตระกูลถั่ว เพราะพืชเหล่านี้ มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ จึงเป็นการช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่พืชหลักได้ในรูปแบบหนึ่ง

ประเภทของปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยพืชสดจำแนกตามการใช้ประโยชน์
1. ปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน
เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อการปรับปรุงดินโดยตรง โดยเมื่อไถกลบลงดินแล้วจะย่อยสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุได้เร็ว ได้แก่ ปอเทือง โสนชนิดต่างๆ ถั่วพร้า และถั่วมะแฮะ เป็นต้น

2. ปุ๋ยพืชสดพืชเศรษฐกิจ
โดยสามารถเก็บผลผลิตไปจำหน่ายแล้วไถกลบเศษซากพืชที่เหลือเป็นปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยพืชสดชนิดนี้มักนิยมปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน ส่วนซากพืชสดที่เหลือก็นำกลับสู่ไร่นาทำการไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดต่อไป ได้แก่ ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วเขียว, ถั่วแปบ และถั่วแระ เป็นต้น

3. ปุ๋ยพืชสดเพื่อการคลุมดิน
ปุ๋ยพืชสดชนิดนี้ มักมีลักษณะเป็นเถาเลื้อยพันกันแน่นหนาปกคลุมหน้าดินไว้มิให้เม็ดฝนตกกระทบหน้าดินได้ จึงเป็นการป้องกันการชะล้างหน้าดินได้ดียิ่ง และยังช่วยในการปราบวัชพืชได้ดีอีกทั้ง ยังสามารถป้องกันการระเหยน้ำจากหน้าดินรักษาความชุ่มชื้นหน้าดินได้ดียิ่ง พืชชนิดนี้ นิยมปลูกในสวนผลไม้ต่างๆ สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ที่นิยม ได้แก่ ไมยราบไร้หนาม, ถั่วฮามาต้า และถั่วลาย เป็นต้น

4. ปุ๋ยพืชสดเพื่อเป็นแนวป้องกันลม
เป็นพืชที่นิยมปลูกเป็นแนวขอบเขตของที่ดินเหนือในที่รกร้างว่างเปล่า หรือปลูกอยู่บริเวณรอบที่อยู่อาศัยเพื่อให้เป็นไม้ป้องกันลม และส่วนกิ่งอ่อนยอดอ่อนก็จะถูกตัดลงมาใช้คลุมดินในแปลงผัก ป้องกันการระเหยน้ำของดิน รักษาความชื้นของดิน และปล่อยให้สลายผุพังเป็นอินทรียวัตถุในดิน ได้แก่กระถิน และแคฝรั่ง เป็นต้น

ปุ๋ยพืชสด

ขอบคุณภาพจาก www.thainaturalproducts.com

ประเภทพืชปุ๋ยสดจากพืชตะกูลถั่ว
1. พืชตระกูลถั่วที่มีอายุเพียงปีเดียว มีลักษณะโตเร็ว ให้ใบดก ลำต้นอ่อน และย่อยสลายง่าย ได้แก่ ปอเทือง และโสน เป็นต้น
2. พืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นอาหาร มักให้ผลผลิตเป็นฝัก และเมล็ด ส่วนที่เหลือจะเป็นใบ และลำต้น ซึ่งจะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ หรือเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ไถกลบลงดิน พืชเหล่านี้ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา และถั่วลิสง เป็นต้น
3. พืชตระกูลถั่วคลุมดิน มักปลูกเพื่อการคลุมดินเป็นหลัก ซึ่งส่วนมากจะนิยมใช้พืชตระกูลถั่วที่มีเถาเลื้อย เช่น คาโลโปโกเนียม และถั่วเวอราโน เป็นต้น แต่พืชชนิดที่มีเถาเลื้อยนี้มักจะทำให้เกิดปัญหาเข้าไปเกี่ยวกับผานไถ
4. พืชตระกูลถั่วประเภทไม้พุ่ม และไม้ยืนต้น เป็นชนิดที่นิยมปลูกเพื่อเป็นแนวกันลม และป้องกันการกร่อนดินในที่ลาดชัน เช่น กระถิน และแคฝรั่ง นอกจากนั้น ส่วนของกิ่งก้าน และใบยังตัดมาใช้เลี้ยงสัตว์หรือคลุมดินหรือไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด

ประโยชน์จากปุ๋ยพืชสด
1. ช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน
2. เพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนจากการตรึงธาตุอาหารของพืชตระกูลถั่วให้แก่ดิน
3. ทำให้เกิดความเป็นกรดในดิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการละลาย และปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น
4. ช่วยบำรุง และรักษาธาตุอาหารในดิน
5. ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน และทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
6. จากปริมาณอิทรีย์วัตถุที่เพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้ดินร่วนซุย
7. ความร่วนซุยของดินจากการเพิ่มปริมาณอิทรีย์วัตถุจะช่วยให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดี รากพืชสามารถแทงลึกหาอาหารได้มากขึ้น
8. การปลูกพืชทั่วทั้งแปลงจะช่วยปราบวัชพืชบางชนิดไม่ให้ขึ้นแพร่ขยายพันธุ์ในแปลงได้
9. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอื่นที่ต้องจ่ายเงินซื้อ
10. ช่วยป้องกัน และลดการสูญเสียหน้าดินจากการกัดเซาะของน้ำหรือลม
11. ผลจากการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งในด้านธาตุอาหาร น้ำ และความร่วนซุยของดิน จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตของพืชให้สูงขึ้น

ชนิดพืชที่นิยมใช้ทำปุ๋ยพืชสด
1. ถั่วพุ่ม (cow pea)
ถั่วพุ่มมีหลายชนิด (species) แต่ที่นิยมปลูก ได้แก่ ถั่วพุ่มเมล็ดสีแดงหรือถั่วพุ่มลาย และถั่วพุ่มเมล็ดสีดำ ให้ฝักคล้ายถั่วฝักยาวแต่สั้น และอวบกว่า ฝักอ่อนนำมารับประทานคู่ส้มตำ มีองค์ประกอบของ N = 2.68%, P = 0.39% และ K = 2.46% อายุหลังปลูกจนถึงการไถกลบ 45-50 วัน อัตราหว่านเมล็ดพันธุ์ 8 กก./ไร่ ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 1-4 ตัน/ไร่ ให้ธาตุไนโตรเจนประมาณ 14.18 กก./ไร่

2. ถั่วพร้า (Jack bean)
ถั่วพร้ามี 2 ชนิด (species) คือ ถั่วพร้าเมล็ดสีขาว และถั่วพร้าเมล็ดสีแดง ให้ฝักแบน กว้าง
2.5-4 ซม. และยาว 20-30 ซม. ฝักอ่อนนำมาต้มรับประทานคู่กับน้ำพริก มีองค์ประกอบของ N = 2.72%, P = 0.54% และ K = 2.14% อายุหลังหว่านถึงการไถกลบ 55-65 วัน โดยใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 กก./ไร่  ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดสดที่ 3-4 ตัน/ไร่ ส่วนการเก็บฝักแก่นั้น ฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อน อายุเก็บฝักแก่ที่ 180-300 วัน

3. ถั่วมะแฮะ (Pigeon pea)
ถั่วมะแฮะ มักเรียกชื่ออื่น เช่น ถั่วแระ ถั่วแรด และถั่วแฮ นิยมปลูกมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน
เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนปลูกพืชหลักชนิดที่นิยมปลูกมี 2 ชนิด คือ ถั่วแฮะที่มีลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ มีอายุนาน ออกดอกสีแดงหรือม่วง ฝักสีน้ำตาดำ ให้เมล็ด 4-5 เมล็ด/ฝัก ส่วนอีกชนิด เป็นถั่วแฮะที่มีลำต้นเล็ก มีอายุสั้น ออกดอกสีเหลือง สีฝักค่อนข้างอ่อน มีเมล็ด 2-3เมล็ด/ฝักมีอายุหลังการหว่านถึงการไถกลบประมาณ 60-90 วัน

4. ปอเทือง (Sunn-hemp)
ปอเทืองเป็นพืชอายุสั้น ถูกนำเข้ามาครั้งแรกจากประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนพ.ศ. 2485 เพื่อปลูกที่
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะทั่วไป ให้ลำต้นสูง 150-170 ซม. ลำต้นตั้งตรง มีกิ่งก้านมาก ออกดอกสีเหลือง มีองค์ประกอบของ N = 2.76%, P = 0.22% และ K = 2.40% อัตราการหว่านเมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กก./ไร่ อายุหลังหว่านเมล็ดถึงการไถกลบ 50-60 วัน และให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 1.5-5 ตัน/ไร่ ฝักแก่มีอายุการเก็บที่ประมาณ 120-150 วัน โดยสังเกตจากสีของฝักที่เป็นสีเทา เมื่อเขย่าจะมีเสียงดังของเมล็ด ผลผลิต 1 ไร่ ให้น้ำหนักเมล็ดแก่ประมาณ 80-150 กก.

5. โสนอินเดีย (Sesbania speciosa)
โสนอินเดียเป็นพืชปีเดียว ลำต้นสูง 2.0-3.5 เมตร มีอายุไถกลบหลังการหว่านเมล็ดที่ 60-70 วัน (ยังไม่ออกดอก ออกดอกที่ 90 วัน) ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 2-4 ตัน/ไร่ มีองค์ประกอบของธาตุ N = 2.55%, P = 0.35% และ K = 3.63%

6. โสนอาฟริกัน (Sesbania rostrata)
โสนอาฟริกันมีอายุปีเดียว เป็นพันธุ์โสนที่นำเข้ามาจากเซเนกัลของทวีปอัฟริกา นำเข้ามาโดย ดร.สมศรี อรุณินท์ เมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นพืชที่ทนเค็มได้ดีมาก ลำต้นสูงประมาณ 2.0-3.5 เมตร อัตราการหว่านเมล็ดประมาณ 5 กก./ไร่ อายุไถกลบหลังการหว่านเมล็ดตั้งแต่ 50 วันขึ้นไป ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 1.72-2.72 ตัน/ไร่ มีองค์ประกอบของธาตุ N = 2.87%, P = 0.42% และ K = 2.06%

7. โสนคางคก (Sesbania aculeata)
โสนคางคกมีอายุปีเดียว ลำต้นสูง 1-2 เมตร เป็นพืชที่ทนเค็มได้ดี อัตราการหว่านเมล็ดประมาณ 5 กก./ไร่  อายุการไถกลบหลังจากการหว่านเมล็ดประมาณ 60 วัน ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 1-3 ตัน/ไร่ มีองค์ประกอบของธาตุ N = 1.84%, P = 0.43% และ K = 2.10%

8. โสนจีนแดง (Sesbania canabina)
โสนจีนแดงเป็นพืชมีอายุปีเดียว ลำต้นสูง 1.5-2.5 เมตร อัตราการหว่านเมล็ดประมาณ 5 กก./ไร่  หากดินเค็มเพิ่มเป็น 8 กก./ไร่ อายุการไถกลบหลังจากการหว่านเมล็ดประมาณ 45-60 วัน ให้น้ำหนักปุ๋ยพืชสดประมาณ 1-2 ตัน/ไร่ มีองค์ประกอบของธาตุ N = 2.85%, P = 0.43% และ K = 2.10%

พืชชนิดอื่น ได้แก่
1. พืชตระกูลหญ้า ได้แก่หญ้าอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น หญ้ารูซี่ หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น พืชในกลุ่มนี้ไม่ค่อนนิยมนัก เพราะย่อยสลายยาก มีรากมาก และทำให้ผานไถมีปัญหา
2. พืชน้ำ ได้แก่ พืชน้ำชนิดต่างๆจากแหล่งน้ำที่เกษตรกรสามารถหาได้ แล้วนำมาหว่านในแปลงเกษตร ก่อนจะทำการไถกลบลงดิน เช่น ผักตบชวา จอก หอนแดง สาหร่าย เป็นต้น