กัลปพฤกษ์ สรรพคุณ และการปลูกกัลปพฤกษ์

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

กัลปพฤกษ์ (Wishing Tree) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง และจัดเป็นไม้ดอกประดับชนิดหนึ่ง เนื่องจากดอกกัลปพฤกษ์ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ แต่จำนวนช่อดอกมาก และมีสีสวยงามจากสีของดอกที่ผสมกันระหว่างสีชมพูอ่อน และสีขาว จนได้สมญานามว่า ดอกซากุระเมืองไทย

ต้นกัลปพฤกษ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia bakeriana Craib เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น และดอกกัลปพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ชื่อสามัญ :
– Wishing Tree
– Pink Shower

กัลปพฤกษ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น

กัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นพลัดใบขนาดเล็กถึงกลาง พบได้มากทางภาคอีสาน และภาคเหนือ มีความสูงลำต้นได้มากกว่า 12 เมตร แตกกิ่งในระดับต่ำ ทอดกิ่งในแนวตั้งขึ้นด้านบน มีทรงพุ่มแบนกว้าง มีทรงพุ่มโปร่ง ไม่หนาทึบ เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบ ผิวเปลือกมีสีเทา ยอดอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนปกคลุมหนาแน่น

ใบ
ใบกัลปพฤกษ์มีลักษณะเป็นใบประกอบ คล้ายใบต้นขี้เหล็ก มีก้านใบหลักยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านใบย่อย แต่ละก้านใบย่อยมีใบ 5-10 คู่ ใบมีลักษณะรูปไข่ ปลายใบกลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ แต่ละใบมีก้านใบยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร  ใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร และอาจพบติ่งสั้นบริเวณปลายสุดของใบ แผ่นใบมีขนละเอียดปกคลุมทั้งสองด้าน แต่ด้านหลังใบจะมีขนมากกว่าด้านท้องใบ

กัลปพฤกษ์4

ดอก
ดอกกัลปพฤกษ์จะเริ่มออกเมื่อกิ่งทิ้งใบหมด ดอกจะแทงออกเรื่อยๆจนทั่วกิ่ง และจะเริ่มร่วงพร้อมกับการแทงยอดใบใหม่ ดอกตูมของกัลปพฤกษ์จะมีสีชมพูอ่อน เมื่อดอกบานจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูรื่อ และบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว ซึ่งในแต่ละช่อดอกจะมีดอกตูม และดอกบานผสมกัน ทำให้มองเห็นเป็นช่อดอกที่มีสีขาว และสีชมพูอ่อนผสมกัน

กัลปพฤกษ์3

ดอกกัลปพฤกษ์จะออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ออกเรียงกันจำนวนมากตามปลายกิ่ง ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงรูปหอกแกมรูปไข่ที่อยู่ด้านนอกสุด จำนวน 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มีสีชมพูอ่อนขณะตูม และบานเปลี่ยนเป็นสีขาว ถัดมาภายในดอกมีเกสรตัวผู้ มีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน

ผล/ฝัก
ผลหรือเรียกว่า ฝัก มีลักษณะกลมยาวคล้ายฝักคูน (ราชพฤกษ์) แต่มีขนาดเล็กกว่า และบางช่วงของฝักมักกิ่ว ไม่กลมสม่ำเสมอทั่วฝัก ฝักมีเส้นผ่าศุนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทาปกคลุม เมื่อแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นเทาดำ และมีสีดำมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแก่จัดจนถึงฝักร่วง ฝักจะมีรอยปริแตกตามแนวขวางของฝัก ภายในฝักแบ่งเป็นช่องๆตามขวางที่เป็นที่อยู่ของเมล็ด แต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 30-40 เมล็ด ฝักจะเริ่มแก่ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม

กัลปพฤกษ์5

เมล็ด
เมล็ดจะอยู่ในช่องว่างตามแนวขวางของฝัก แต่ละช่องประกอบด้วย 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม และแบน ขนาดเมล็ดประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร

กัลปพฤกษ์6

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกัลปพฤกษ์
ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้สำคัญในความเชื่อโบราณ ที่กล่าวถึงว่าเป็นต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้ที่ทำให้ผู้ที่ปรารถนาจะได้สิ่งใดก็จะได้รับสิ่งนั้น นอกจากนั้น ยังปรากฏในวรรณกรรมทางศาสนาเรื่องไตรภูมิ หรือเรียกในชื่ออื่น เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” “เตภูมิกถา” “ไตรภูมิกถา” “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” และ “เตภูมิโลกวินิจฉัย” ที่แต่งในสมัยสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1882 แต่งขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา โดยพระยาลิไท ที่ทรงมีพระประสงค์ที่จะเทศนาโปรดพระมารดา และเพื่อจำเริญพระอภิธรรม ต้นกัลปพฤกษ์ในเรื่องไตรภูมิ ถูกใช้เป็นตัวแทนต้นไม้ประจำทวีปทางด้านทิศเหนือหรืออุตตรกุรุทวีปของแผนที่ โลก ซึ่งต้นไม้ที่ทำให้ผู้ที่ปรารถนาจะได้สิ่งใด ก็จะได้รับสิ่งนั้นตามความปรารถนา  และเปรียบได้กับแก้วสารพัดนึก

ต้นไม้ประจำทั้ง 4 ทวีป
– ทางทิศตะวันออก มีทวีปชื่อว่า วิเทหะหรือเรียกว่า บุพพวิเทหะ ต้นไม้ประจำทวีป คือ ต้นซีก
– ทางทิศใต้ มีทวีปชื่อว่า ชมพู หรือเรียกว่า ชมพูทวีปเป็นทวีปที่เราอาศัยอยู่ต้นไม้ประจำทวีป คือ ต้นชมพู หรือ ต้นหว้า
– ทางทิศตะวันตก มีทวีปชื่อ อมรโคยาน ต้นไม้ประจำทวีป คือ ต้นกระทุ่ม
– ทางทิศเหนือ มีทวีปชื่อ อุตตรกุรุ ต้นไม้ประจำทวีป คือ ต้นกัลปพฤกษ์

ในวรรณกรรมกล่าวถึงอุตตรกุรุทวีป หรือ แผ่นดินทางทิศเหนือ ที่มีผู้ที่มีบุญอาศัยอยู่ ผู้คนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสุข ปราศจากเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ และภยันตรายทั้งปวง และอุดมไปด้วยข้าวปลาอาหาร ผู้คนปราถนาสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร หรือ แก้วแหวนเงินทอง สิ่งนั้นจะปรากฏขึ้นที่ต้นกัลปพฤกษ์ (สุมาลี เอกชนนิยม, 2548)(2)

ประโยชน์กัลปพฤกษ์
• กัลปพฤกษ์ เป็นไม้ดอกประดับ ที่นิยมปลูกตามสถานที่ราชการต่างๆ เนื่องจากมีดอกออกเป็นช่อสวยงามคล้ายดอกซากุระของญี่ปุ่น
• กัลปพฤกษ์ นิยมปลูกเป็นไม้มงคลที่คนโบราณเชื่อว่า หากคนในครอบครัวประสงค์สิ่งใดก็จะได้ตามปราถนา และเป็นต้นไม้ที่นำโชคลาภเงินทองมาให้แก่สมาชิกในครอบครัว • กัลปพฤกษ์ปลูกไว้เป็นร่มเงาในที่สาธารณะ หรือ ตามบ้านเรือน
• กิ่ง และเนื้อไม้ใช้ทำฟืนในครัวเรือน
• ไม้กัลปพฤกษ์นำมาแปรรูป เป็นไม้ตกแต่งบ้านเรือน เช่น ฝ้า ราวบันได ไม้แต่งเสา เป็นต้น
• ใบ และดอกกัลปพฤกษ์สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ เช่น สุกร โค กระบือ เป็นต้น
• สารในเปลือกสามารถนำมาตกตะกอนโปรตีนได้ นำมาประยุกต์ใช้สำหรับฟอกหนัง

สารสำคัญที่พบ
ใบกัลปพฤกษ์พบสาร β-sitosterol และ quiercetin (3,5,7,3′,4′-pentalydroxyflavone) (พัฒนา และประนอม, 2532)(1) นอกจากนั้น ยังพบสารสำคัญหลายชนิด ที่เป็นกลุ่มหลัก ได้แก่ glucoside, flavonoid, alkaloids, fixed oil

สรรพคุณกัลปพฤกษ์
1. ดอก
– นำมาต้มดื่ม ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
– นำมาต้มดื่มหรือใช้บดทาแผล ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย
– นำมาต้ม ใช้ลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน

2. ราก เปลือก และแก่น
– ราก ใช้ต้มเพื่อลดไข้
– ราก และเปลือก ใช้ฝนสำหรับทาผิวหนังรักษากลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังต่างๆ
– เปลือก และแก่น นำมาต้มอาบ ใช้ฆ่าเชื้อ และรักษาโรคผิวหนัง
– ราก เปลือก และแก่น นำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาระบาย และแก้ท้องเสีย

3. ใบ และดอก
– ใช้กินสดหรือต้มดื่มสำหรับเป็นยาระบาย
– กินสดหรือต้มน้ำรับประทาน ใช้ต้านอนุมูลอิสระ
– นำมาต้มดื่ม เพื่อลดน้ำตาลในเลือด ใช้ต้าน และรักษาโรคเบาหวาน
– ใช้บดทาผิวหนัง ทาแผล ต้านแผลอักเสบ

4. ฝัก และเมล็ด
– เนื้อฝัก และเมล็ด นำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาระบาย แต่หากดื่มในความเข้มข้นมากจะทำให้เกิดอาเจียน
– นำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

การปลูกกัลปพฤกษ์
กัลปพฤกษ์พบกระจายมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นต้นไม้ที่ชอบดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบพื้นที่น้ำท่วมขัง

การปลูก และขยายพันธุ์ นิยมปลูกด้วยเมล็ด ที่สามารถเก็บได้จากฝักแก่บนต้น หรือ ฝักที่ร่วงในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน นอกจากนั้น ยังปลูก และขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตอน ซึ่งจะได้ต้นใหม่ที่ไม่สูง วิธีนี้ก็เป็นที่นิยม เนื่องจากลำต้นไม่สูงมาก แต่มักมีอายุน้อย และทนต่อสภาพแวดล้อมไม่สู้การปลูกด้วยเมล็ด

การเลือกฝักมาเพาะเมล็ด ควรเลือกฝักจากต้นที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยโรค ลำต้นมีกิ่งมาก ดอกออกดก และที่สำคัญ ฝักต้องอวบใหญ่ และกลมสม่ำเสมอตลอดทั้งฝัก

การเพาะเมล็ด ให้เพาะในถุงเพาะชำ (ถุงดำเพาะกล้า) ด้วยการผสมดินกับปุ๋ยคอกหรือวัสดุเกษตรอื่น เช่น แกลบดำ และขุยมะพร้าว เป็นต้น อัตราส่วนดินต่อวัสดุผสมที่ 1:2

ก่อนเพาะเมล็ด ต้องเลือกเมล็ดที่อวบใหญ่ ไม่ควรใช้เมล็ดเสีย โดยนำมาทดสอบด้วยการแช่น้ำ เมล็ดที่จมน้ำถือว่าเป็นเมล็ดที่ดี และหากต้องการให้เมล็ดงอกเร็ว ให้นำไปแช่น้ำร้อน นาน 1-2 นาที ก่อนลงเพาะ

เอกสารอ้างอิง
1