มะขามเทศ สรรพคุณ และการปลูกมะขามเทศ

Last Updated on 23 สิงหาคม 2016 by puechkaset

มะขามเทศ (Manila Tamarind) เป็นผลไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งที่สามารถหารับประทานได้ทั่วไป เนื่องจากเป็นไม้ที่พบได้ทั่วไปในที่สาธารณะหรือที่รกร้างต่างๆ แต่ฝักที่มีรสหวาน และฝักที่มีรสฝาดจะปะปนกัน ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการปลูกมะขามเทศพันธุ์รสหวานเพื่อการค้า เนื่องจาก มะขามเทศที่พบในที่ต่างๆ ค่อยค้างแยกแยะได้ยากว่าต้นใดให้รสหวานต้นใดให้รสฝาด อีกทั้ง มะขามเทศจะพบมากในชนบทเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เป็นที่ต้องการบริโภคของคนในชุมชนเมือง

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pithecellabium dulce, Baneth.
• ชื่อสามัญ :
– Manila Tamarind
– Madas Tamarind

ฝักมะขามเทศ

ขอบคุณภาพจาก www.eco-agrotech.com

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะขามเทศเป็นไม้เนื้อแข็ง มีอายุนานหลายปี ลำต้นสูงได้มากกว่า 10 เมตร ลำต้นค่อนข้างกลม เปลือกมีสีน้ำตาล ผิวเปลือกเป็นร่องเล็ก และขรุขระ ลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมคม กิ่งแตกออกในระดับต่ำ แตกกิ่งมาก

ใบ
ใบมะขามเทศมีลักษณะรูปร่างกลมรี สีเขียว ใบมีขนาดเล็ก และบาง แทงออกบริเวณหนามบนกิ่ง แต่ละจุดหนามจะมี 1-4 ก้านใบหลัก แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วยก้านใบย่อยอีก 2 อัน แต่ละก้านใบย่อยจะประกอบด้วยใบจำนวน 2 ใบ

ใบมะขามเทศ

ดอก
ดอกมะขามเทศจะออกเป็นช่อแบบแพนิเคิล (Panicle) แต่ละช่อดอกมีดอกจำนวนมาก ดอกมี ขนาดเล็ก สีขาว มีฐานรองดอกสีเหลือง ออกดอกประมาณเดือนตุลาคม ดอกจะทยอยบานเรื่อยๆ

ดอกมะขามเทศ

ผลหรือฝัก
ผลหรือฝักของมะขามเทศจะเกิดเป็นช่อ 1-5 ฝัก/ช่อ ฝักมีลักษณะโค้งเป็นวงกลมหรือโค้งเป็นวงแบบสปริง ฝักอ่อนมีลักษณะแบน มีสีเขียว ฝักแก่มีลักษณะนูนเป่ง และเป็นร่องตามตำแหน่งที่มีเมล็ด ฝักที่แก่จะเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีชมพู-แดงหรือแดงเข้ม ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 2-10 เมล็ด ฝักอ่อนจะเริ่มติดหลังดอกบานประมาณเดือนพฤศจิกายน และจะติดฝักเรื่อยๆจนถึงเดือนธันวาคม

มะขามเทศ

เมล็ด
เมล็ดมะขามเทศมีลักษณะแบน และนูนตรงกลาง มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่ เมล็ดจะมีสีดำ

พันธ์ุมะขามเทศ
พันธุ์มะขามเทศแบ่งตามลักษณะฝัก
1. พันธ์ุฝักขนาดใหญ่
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝักประมาณ 15- 20 ฝัก ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม ถ้าฝักยาวฝักจะม้วนเป็นเกลียว เปลือกฝักแก่มีสีเขียวอ่อน หรือ ขาวปนสีแดง หรือขาวปนชมพู เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนาใหญ่ มีรสชาติหวานมัน ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่ง และลำต้นมีหนามยาว ใบมีขนาดใหญ่กว่าพันธ์ุอื่นๆ

2. พันธ์ุฝักขนาดกลาง
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝักประมาณ 20 – 30 ฝัก ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม เปลือกฝักแก่มีสีเขียวอ่อนปนชมพู เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนา มีรสชาติหวานมัน ลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่ง และลำต้นมีหนามสั้น ใบมีขนาดเล็กกว่าพันธ์ุแรก

3. พันธ์ุพื้นเมือง
น้ำหนักฝัก 1 กิโลกรัม จะได้ฝัก 30 ฝักขึ้นไป เปลือกของฝักแก่มีสีเขียวปนสีชมพูกึ่งแดง ฝักมีลักษณะโค้ง เป็นวงกลม เนื้อมีสีขาวปนแดง เนื้อหนาเล็กน้อย เนื้อมีรสหวานมันปนฝาดถึงฝาดมาก ลำต้นมีทรงพุ่มใม่ใหญ่ แต่มีหนามตามลำต้น และกิ่งมาก ใบมีขนาดค่อนข้างเล็ก ใบกลมรี ปลายใบมน

พันธุ์มะขามเทศแบ่งตามรสของฝัก
1. พันธุ์ฝักหวาน
ฝักมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ เปลือกฝักแก่มีสีเขียวปนชมพู มีเนื้อหุ้มเมล็ดหนา สีขาวอมชมพู ให้รสหวานมัน

2. พันธุ์ฝักฝาด
ฝักมีขนาดเล็ก เปลือกฝักแก่มีสีเขียวปนชมพู มีเนื้อหุ้มเมล็ดเล็กบาง เนื้อมีสีขาวอมชมพูปนแดง ให้รสฝาดปนหวานเล็กน้อย หรือให้รสฝาดเพียงอย่างเดียว

ประโยชน์ของมะขามเทศ
1. ประโยชน์จากผล
– ผลมะขามเทศมีทั้งผลที่มีรสฝาด และรสหวาน ซึ่งสามารถรับประทานได้ โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีเนื้อหวานจะมีการปลูกสำหรับรับประทาน และบางแห่งมีการปลูกเพื่อเก็บฝักหรือผลจำหน่ายเป็นรายได้ของครอบครัว
– เปลือกฝัก ใช้เป็นอาหารสัตว์ นำไปเลี้ยงหมูได้

2. ประโยชน์จากไม้
– เนื้อไม้ และกิ่งใช้ทำฟืนหุงหาอาหาร หรือนำมาเผาถ่าน
– เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เนื่องจากแก่นในของไม้มะขามเทศให้เนื้อสีน้ำตาลปนแดงถึงดำ ด้านข้างมีสีเลืองน้ำตาล เนื้อไม้เหนียว แข็ง และทนต่อหมอดปลวกได้ดี

3. ประโยชน์อื่นๆ
– ปลูกเพื่อการบำรุงดิน เนื่องจากเป็นพืชตระกูลถั่วที่ช่วยตรึงไนโตรเจนได้ แต่ควรปลูกถึงในระยะที่ต้นไม่สูงมากนัก เพราะหากปลูกให้ต้นสูงใหญ่ ร่มเงาจะคลุมพืชอื่นๆทำให้ผลผลิตพืชในแปลงลดลง
– ปลูกเพื่อให้ร่มเงา เนื่องจากต้นมะขามเทศมีกิ่งก้านมาก แตกทรงพุ่มได้กว้างทำให้เกิดร่มเงาได้ดี
– ใบ ฝักหรือผล นำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมู โค กระบือ เป็นต้น
– ใบ นำมาต้มย้อมผ้าไหม ผ้าฝ้าย ให้สีเขียวขี้ม้า ส่วนเปลือกให้สีแดงน้ำตาล
– ใบนำมาตากแห้ง ใช้ชงเป็นชาดื่ม
– ใบนำมาตากแห้งใช้มวนผสมบุหรี่สูบ

สรรพคุณมะขามเทศ
เนื้อผล
– บรรเทาอาการโรคเบาหวาน
– ลดอาการแสบแผล และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยให้กระปรี่กระเปร่า มีกำลัง
– ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท
– ช่วยเสริมสร้างการสร้าง และซ่อมแซมกระดูก

เมล็ด มีรสขม
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
– ช่วยให้อาเจียน

ใบ
– ใบสดหรือใบแห้งนำมาต้มดื่ม ช่วยบำรุงสายตา
– น้ำต้มจากใบมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ
– น้ำต้มจากใบช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– นำใบมาขยี้ ก่อนประคบแผลสดช่วยห้ามเลือด

เปลือกลำต้น
– นำมาต้มดื่ม รักษาโรคท้องเสีย
– น้ำต้มนำมาอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยล้างไต

ข้อควรระวัง
เนื้อฝักมะขามเทศทั้งพันธุ์รสฝาด และรสหวาน ให้ความเป็นด่าง หากรับประทานมากจะทำให้เกิดท้องอืด เพราะด่างขัดขวางการย่อยอาหารของกรดในกระเพาะอาหาร

การปลูกมะขามเทศ
มะขามเทศ เป็นไม้โตเร็วที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน รวมถึงเติบโต และทนต่อสภาพแห้งหรือน้ำท่วมได้ดี

มะขามเทศ สามารถขยายพันธ์ุได้หลายวิธี อาทิ การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง และการเพาะเมล็ด แต่ทั่วไปชาวบ้านนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก

การเตรียมดิน และการเพาะกล้า
วัสดุที่ใช้เพาะมะขามเทศควรเป็นดินผสมระหว่างดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบดำ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก อัตราส่วนผสมประมาณ 1:2

การเพาะ นิยมเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำ เมื่อเมล็ดงอก และต้นกล้าโตประมาณ 20-30 ซม. ก็สามารถแยกปลูกในแปลงได้

การตอนกิ่ง
ให้เลือกกิ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 ซม. เลือกตำแหน่งควั่นกิ่งที่ให้กิ่งตอนยาวประมาณ 50-100 ซม. ไม่ควรยาวมากกว่านี้ จากนั้นควั่นกิ่งใต้ตา และเอาเปลือกออก ให้ควั่นยาวประมาณ 1 นิ้ว โดยต้องขุดเยื่อเปลือกออกให้หมด หลังจากนั้น ใช้ขุยมะพร้าวที่บดละเอียด และผสมน้ำพอหมาดๆ ปั้นประกอบให้รอบรอยควั่น หนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้ถุงพลาสติกหุ้ม และรัดด้วยเชือกทั้งด้านบน ด้านล่างให้แน่น ปล่อยทิ้งไว้ไม่ต้องรดน้ำ หลังจากนั้น ประมาณ 20-30 วัน จะจะมีรากงอกออกมา จนรากมีสีน้ำตาลจึงค่อยตัดกิ่งลงปลูกในแปลง

การปลูก
เนื่องจากมะขามเทศเป็นผลไม้ที่ยังไม่นิยมรับประทานมากนัก อีกทั้งเป็นผลไม้ที่สามารถหารับประทานได้ทั่วไปในทุกจังหวัด โดยไม่ต้องปลูกเอง เนื่องจากพบได้ทั่วไปตามที่สาธารณะต่างๆ ทำให้การปลูกมะขามเทศเพื่อการค้ายังไม่แพร่หลาย

เกษตรกรมักปลูกมะขาม เทศตามหัวไร่ปลายนา หรือ ที่ว่างในแปลงเกษตร และเก็บมาจำหน่ายเท่านั้น แต่ก็มีบางท้องที่ที่เกษตรกรมีการปลูกในแปลงเพื่อการค้าเป็นหลัก เช่น ในแถบจังหวัดราชบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เป็นต้น

ระยะปลูก สำหรับกล้าเมล็ดที่ 8-10 x 8-10 เมตร 1 ไร่จะปลูกได้ 16-25 ต้น ส่วนระยะปลูกกล้าจากกิ่งตอนที่ 5-8 x 5-8 เมตร 1 ไร่จะปลูกได้ 25-65 ต้น

การเก็บผล
มะขามเทศหากปลูกด้วยเมล็ดจะเริ่มให้ผลได้เมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี ส่วนการปลูกด้วยการตอน การทาบกิ่งจะให้ผลผลิตไม่เกิน 1 ปี

มะขามเทศจะเริ่มเก็บผลผลิตได้เมื่อฝักเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงหรือสีเขียวอมขาวนวล และเนื้อฝักอวบตึง

การเก็บฝักมะขามเทศ หากต้นสูงมากจะใช้อุปกรณ์เหมือนกับการเก็บผลไม้ทั่วไป ส่วนต้นที่มีความสูงไม่มากก็สามารถใช้มือเก็บได้

ราคาจำหน่ายมะขามเทศตามตลาดชุมชนทั่วไปจะอยู่ประมาณ 30-45 บาท/กิโลกรัม แต่หากขายในห้างสรรพสินค้าหรือย่านธุรกิจจะมีราคาสูงมากถึงกิโลกรัมละไม่ต่ำ กว่า 100 บาท