ไผ่สีสุก ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกไผ่สีสุก

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ไผ่สีสุก จัดเป็นไผ่พื้นบ้านที่นิยมปลูกตามหัวไร่ปลายนา เป็นไผ่แตกกอเร็ว หน่อ และลำต้นมีขนาดใหญ่ นิยมใช้หน่อทำอาหาร แปรรูปเป็นหน่อไม้ดองหรือหน่อไม้ส้ม และใช้ลำไผ่ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

• วงศ์ : GRAMINEAE หรือ BAMBUSOIDEAE
• สกุล : Bambusa
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa blumeana Schult.
• ชื่อสามัญ :
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ไผ่สีสุก
ภาคอีสาน
– ไผ่บ้าน

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ไผ่สีสุก สันนิษฐานว่าเป็นไผ่ท้องถิ่นในไทย เพราะแหล่งที่พบในประเทศส่วนใหญ่อยู่บริเวณทางตอนเหนือ ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมถึงพบในด้านบนของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และลาว เพราะหากมีการแพร่มาจากถิ่นอื่น เพราะการแพร่ของพืชต่างถิ่นในอดีตจะแพร่มาทางทะเลเป็นหลัก ซึ่งควรพบได้มากในแถบจังหวัดภาคใต้หรือภาคกลาง

ไผ่สีสุกพบได้ในทุกภาค แต่พบมากในเหนือ และอีสาน พบได้ตามหัวไร่ปลายนาหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำลำคลอง ริมแม่น้ำ ลำคลอง เป็นไผ่ชอบได้ดีในดินทุกชนิด โดยเฉพาะดินเหนียวปนทรายหรือดินทราย มีลักษณะเด่น คือ กิ่งมีหนาม ต้นแก่มีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเป็นแถบๆ คล้ายกับเนื้อสุก จึงถูกเรียกชื่อว่า “ไผ่สีสุก

บางคนมักเข้าใจผิดว่า ไผ่สีสุก มีลำสีเหลือง เพราะคำว่า สุก น่าจะแสดงถึงสีเหลือง คล้ายผลไม้สุก แต่ไผ่ที่มีสีเหลืองที่เรียกกันในไทย ได้แก่ ไผ่เหลือง หรือ ซางคำ (Bambusa vulgaris Schrad.) และไผ่สีทองหรือไผ่เหลืองทอง (Phyllostachys sulphurea)

ลักษณะไผ่สีสุก
หน่อ
หน่อไผ่สีสุก มีหน่อขนาดปานกลางถึงใหญ่ เนื้อหน่อมีสีขาว น้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม โคนหน่อใหญ่ แล้วเรียว และแหลมที่ปลาย โคนกาบหุ้มหน่อที่อยู่ด้านในมีสีเหลืองอมขาว ถัดมาจนถึงปลายกาบที่อยู่ด้านนอกมีสีเขียวเข้ม และมีขนสีน้ำตาลปกคลุม

ลำต้น
ไผ่สีสุก เป็นไผขนาดใหญ่ มีขนาดลำต้นประมาณ 8-12 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 15–20 เมตร ลำต้นตั้งตรงหรือโค้ง โคนต้นเล็ก และขยายใหญ่บริเวณกลางลำต้น แล้วเรียวเล็กลงจนถึงปลายลำต้น ผิวลำต้นแข็ง ผิวเรียบ ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอมเทา และมีนวล ลำต้นแก่มีสีเขียวเข้ม และแก่เต็มที่จะค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม คล้ายเนื้อสุก จากนั้น ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง และแก่จนแห้งตายจะเป็นสีเหลืองซีด ลำต้นแตกหน่อชิดกันจนเป็นกอใหญ่ แตกกิ่งเฉพาะบริเวณโคนต้น และปลายยอด ส่วนกลางลำต้นไม่แตกกิ่ง บริเวณข้อกิ่งของโคนต้นมีหนามแหลมคม 3 อัน หนามอันกลางมีขนาดใหญ่สุด ส่วนกิ่งปลายยอดไม่มีหนาม

%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%81

ใบ
ใบไผ่สีสุก แตกออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับกัน 5-8 ใบ ที่ปลายกิ่ง ใบมีขนาดกลาง มีก้านใบสั้น ขนาดใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบสอบเป็นรูปลิ่ม ปลายเรียวแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวเข้ม และมีขนสากมือปกคลุม ใบแก่หรือใบแห้งมีสีน้ำตาล และเมื่อร่วงเป็นสีเหลืองซีด

ดอก
ไผ่สีสุก ออกดอกเป็นช่อ บริเวณปลายยอดของกิ่งที่แตกบริเวณปลายยอด ดอกออกเป็นช่อ มีดอกย่อยแตกออกบริเวณแต่ละข้อของปลายช่อ

ผล
ผลมีลักษณะรี ขั้วผลใหญ่ ปลายผลเรียวเล็ก เปลือกผลสีเหลืองอมน้ำตาล ภายในมี 1 เมล็ด

ประโยชน์ไผ่สีสุก
1. หน่อไผ่สีสุกมีขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาว เนื้อดิบมีรสเฝื่อน และขมเล็กน้อย เหมาะสำหรับประกอบอาหารจำพวกแกงหน่อไม้ แกงเลียง แกงจืด และแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง ไม่เหมาะทำซุปหน่อไม้ เพราะหน่อมีขนาดใหญ่ เผาสุกได้ยาก
2. ลำไผ่มีความหนา เหนียว และมีความแข็งแรง นิยมใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
– ลำไผ่ส่วนโคนมีความโค้ง และบิดตัว นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทำให้แปลกตา แตกต่างไปจากลำไผ่ชนิดอื่นที่เพลาตรง เฟอร์นิเจอร์ที่ทำ ได้แก่ เตียงนอน เก้าอี้ ม้านั่ง และเปล เป็นต้น รวมถึงซุ้มพักผ่อน ทั้งนี้ อาจใช้ทั้งส่วนที่เพลาตรงหรือส่วนที่โค้งงอตามความชื่นชอบ
– ลำต้นอ่อนที่เพิ่งแตกกิ่งก้าน ตัดมาจักเป็นตอกสำหรับรัดสิ่งของ หรือ ทำเป็นตอกมัดข้าว เป็นต้น
– ลำไผ่แก่ ใช้ทำเสารั้ว มีความแข็ง ทนทาน มีอายุการใช้งานนาน
– ลำไผ่ จักเป็นตอกขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ใช้ตอกที่ได้มาจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ พัด บุ้งกี๋ ซุ่มไก่
– ลำไผ่ ตัดให้มีข้อ อย่างน้อย 1 ข้อ ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ก่อนผ่าเป็นซี่ และเหลาให้กลม ก่อนถักทำเป็ดดักปลา เพราะลำเบ็ดที่ได้มีความแข็งแรง เหนียว ยืดหยุ่นสูง ไม่หักง่าย แม้ติดปลาขนาดใหญ่
3. กิ่ง และหนามไผ่ ตัดมาใช้ทำรั้วตามหัวไร่ปลายนา ใช้กั้นวัวควายลุกล้ำได้ดีหรือกันคนได้ดี เพราะหนามโค้งงอเป็นเขี้ยว หนามแข็ง ปลายหนามแหลมคม หากถูกทิ่มหรือขูดจะเกิดบาดแผลได้ง่าย อีกทั้งปักเกาะเสื้อผ้าได้ดีมาก
4. ไผ่สีสุกปลูกเป็นไม้มงคลที่คนสมัยก่อน นิยมปลูกไว้บริเวณบ้านเรือน เพราะเชื่อว่า เป็นไผ่ที่นำความผาสุกมาให้ ครอบครัวมีอยู่มีกิน ไม่ขาดแคลนข้าวปลาอาหาร แต่ปัจจุบัน ครัวเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อย จึงนำไปปลูกตามหัวไร่ปลายนาแทน เพราะเชื่อว่า จะช่วยให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ทำข้าวได้มาก ทำไร่ได้มาก

%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%81

%e0%b8%8b%e0%b8%b8%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99

ข้อเสียไผ่สีสุก
1. ลำต้นแตกหน่อเป็นกอใหญ่อย่างรวดเร็ว ประกอบกับกิ่งโคนต้นมีหนามแหลมคม ทำให้ลำบากต่อการขุดเก็บหน่อหรือเข้าตัดลำไผ่สำหรับใช้ประโยชน์ ซึ่งเกษตรกรจะต้องสางกิ่งที่มีหนามออกก่อน และหากมีกอขยายใหญ่จะลำบากมากในเวลาถางทิ้ง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้วิธีจุดไฟเผาก่อน ทำให้ง่ายต่อการขุดถาง ดังนั้น ปัจจุบันคนส่วนมาก จึงไม่นิยมปลูกไว้บริเวณบ้าน (อดีตนิยมปลูกไว้ในบ้านตามความเชื่อเป็นไม้มงคล)
2. ลำต้นส่วนมากมักบิด และโค้งงอ ไม่เหมาะสำหรับทำไม้ค้ำยัน
3. ลำต้นแตกกอใหญ่ และมีความสูงมาก หากปลูกใกล้แปลงนาจะเกิดร่มบดปังต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวไม่ติดเมล็ดหรือมีเมล็ดลีบ

%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%81

สรรพคุณไผ่สีสุก
ราก (รสจืด นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยละลายเสมหะ
– แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยขับระดู
– แก้มดลูกอักเสบ

หน่อ (รสเฝื่อน และขมเล็กน้อย ใช้ประกอบอาหาร)
– ช่วยละลายเสมหะ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับลม
– ช่วยกระษัย
– รักษาโรคตับ และม้าม

ใบ (รสเฝื่อน นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยลดไข้
– ช่วยบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ

ตาที่เกิดบนลำต้นหรือกิ่ง (รสเฝื่อน นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยลดไข้
– บรรเทาอาการไอ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ

การปลูกไผ่สีสุก
การปลูกไผ่ นิยมปลูกในช่วงต้นฝน ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อให้ต้นอาศัยน้ำฝนเติบโตตามธรรมชาติ
การเพาะเมล็ด
โดยใช้เมล็ดที่แก่จัดจากลำต้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงดำ ถุงละ 3-5 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอก ให้ดูแล และให้น้ำ จนต้นสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร จึงนำลงปลูกตามที่ต้องการ

การปลูกด้วยการปักชำ
การปักชำ จะใช้ลำไผ่สีสุกบริเวณโคนต้นที่ตัดแบบไม่มีเหง้าหรือรากติด ยาวประมาณ 2 เมตร ไม่ควรใช้ส่วนที่ยาวเกินกว่านี้ เพราะจะแตกรากยาก การปักชำจะแตกรากดีเฉพาะบริเวณโคนต้นเท่านั้น หลังจากนั้น นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะได้ 2 ท่อน

ก่อนปลูกให้ขุดหลุมกว้าง 30 เซนติเมตร และลึก 50 เซนติเมตร จากนั้น โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก แล้วคลุกผสมหน้าดินให้เข้ากัน ก่อนนำท่อนไผลงฝัง ลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การปลูกด้วยเหง้า
ตัดลำต้นบริเวณเหนือโคนต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ทำการขุดหลุมรอบโคนต้นจนถึงแง่งที่แยกจากต้นแม่ จากนั้นตัดแง่งให้ขาด จากนั้น ขุดโคนต้นขึ้น ก่อนนำเหง้าลงหลุมปลูกที่เตรียมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม