ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองทอง, ไผ่เหลือง สรรพคุณ และการปลูก

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ไผ่สีทองหรือไผ่เหลืองทอง และไผ่เหลือง จัดเป็นไผ่ประดับที่นิยมปลูกตามบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะ รวมถึงนิยมปลูกประดับเพื่อตกแต่งสวน ตกแต่งร้าน เพราะเป็นไผ่ที่มีสีเหลืองทอง และสีเหลืองสวยงาม แลดูแปลกตามากกว่าไผ่ทั่วไป ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ ไผ่สีสุก

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ไผ่สีทอง และไผ่เหลือง มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ในธรรมชาติได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น ปัจจุบัน พบนำมาปลูกเป็นไผ่ประดับตามบ้านเรือนมากขึ้น

ไผ่สีทองหรือไผ่เหลืองทอง (Phyllostachys sulphurea) เป็นไผ่คนละชนิดกันกับ ไผ่เหลือง หรือ ไผ่ซางคำ (Bambusa vulgaris Schrad) มีลักษณะต่างกันหลายประการ ได้แก่
1. ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง มีลำต้นเล็กกว่า ไผ่เหลือง
2. ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง มีลำต้นเพลา และตรงกว่า ไผ่เหลือง
3. ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง มีใบขนาดใหญ่กว่า ไผ่เหลือง
4. ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง แตกหน่อเป็นลำต้นชิดกันกว่า ไผ่เหลือง
5. ลำต้นไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง ไม่แตกกิ่งที่โคนต้น แต่จะแตกกิ่งตั้งแต่บริเวณกลางลำต้นถึงปลายยอด ส่วนไผ่เหลือง หรือไผ่ซางคำ แตกกิ่งตั้งแต่ช่วงล่างของลำต้น
6. ลำต้นไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองสีทอง มีแถบสีเขียวพาดตั้งที่ปล้องเพียง 1 เส้น หรือบางพันธุ์ไม่มีพาดสีเขียวตัด ส่วนไผ่เหลืองมีพาดสีเขียวมากกว่า 1 เส้น

ไผ่สีทอง หรือ ไผ่เหลืองทอง (Phyllostachys sulphurea)
• วงศ์ : GRAMINEAE หรือ BAMBUSOIDEAE
• สกุล : Phyllostachys
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa blumeana Schult.
• ชื่อท้องถิ่น :
– ไผ่สีทอง
– ไผ่เหลืองทอง

%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%87

ลักษณะของไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองทอง
หน่อ
หน่อของไผ่สีทอง มีขนาดเล็กถึงปานกลาง หน่อชะลูด และเรียวยาว กาบหุ้มหน่อสีน้ำตาลอมเหลือง และมีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม ซึ่งจะเรียว และเล็กกว่าหน่อไผ่เหลือง

ลำต้น
ไผ่สีทองหรือไผ่เหลืองสีทอง มีลำต้นเพลาตรง และสมส่วนจนถึงเกือบปลายยอด ขนาดลำต้นเล็ก ประมาณ 3-5 เซนติเมตร สูงประมาณ 10-15 เมตร ปลายลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่ม ผิวลำต้นเรียบ และเป็นมัน มีสีเหลืองทองเด่นชัด

%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%871

ใบ
ใบไผ่สีทอง มีขนาดใหญ่ และยาว ขนาดใบประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก้านใบสั้น แผ่นใบมีสีเขียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีขนปกคลุม

ดอก
ไผ่สีทองออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีช่อแขนงสั้นๆออกตามข้อของก้านช่อ บนช่อแขนงมีดอกขนาดเล็ก

ไผ่เหลือง หรือ ไผ่ซางคำ (Bambusa vulgaris Schrad)
• วงศ์ : GRAMINEAE หรือ BAMBUSOIDEAE
• สกุล : Bambusa
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bambusa vulgaris Schrad
• ชื่อท้องถิ่น :
– ไผ่เหลือง
– ไผ่ซางคำ

%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%871

ลักษณะของไผ่เหลือง
หน่อ
หน่อของไผ่เหลือง มีขนาดปานกลางถึงใหญ่ และใหญ่กว่าไผ่สีทอง โคนหน่อใหญ่ ปลายหน่อแหลม น้ำหนักหน่อประมาณ 1-2 กิโลกรัม โคนกาบหุ้มหน่อมีสีเหลือง ปลายกาบมีสีเขียว มีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม ส่วนเนื้อหน่อมีสีขาว

%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87

ลำต้น
ไผ่สีเหลือง มีลำต้นเพลาตรง ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่าง แต่แตกกิ่งน้อย และไม่มีหนาม กิ่งออกเป็น 3 กิ่ง บริเวณข้อ กิ่งตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่ากิ่ง 2 อันด้านข้าง ผิวลำต้นมีสีเหลืองสด และมีแถบสีเขียวพาด 1-4 แถบ ตามความยาวของปล้อง

%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87

ใบ
ใบไผ่สีเหลือง ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับที่ปลายกิ่ง ขนาดใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร (ค่อนข้างเล็กกว่าใบไผ่สีทอง) ก้านใบสั้น แผ่นใบ และขอบใบเรียบ โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม

ดอก
ดอกไผ่สีเหลือง ออกคล้ายกับไผ่สีทอง แต่มีขนาดช่อที่ใหญ่กว่า

ประโยชน์ไผ่สีทอง/ไผ่เหลืองทอง และไผ่เหลือง
1. ลำไผ่สีทอง มีสีเหลืองทอง ส่วนไผ่เหลือง มีลำสีเหลืองสด ทำให้ไผ่ทั้งสองมีความสวยงาม แตกต่างจากไผ่ทั่วๆไป จึงนิยมปลูกประดับไว้ในบ้าน หน้าบ้าน แปลงจัดสวนหรือปลูกในกระถางยกตั้งประดับในอาคาร
2. ลำไผ่มีความหนา นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อาทิ โต๊ะ ม้านั่ง และเตียง เป็นต้น
3. ลำไผ่หนา สามารถใช้จักเป็นตอกรัดของ รัดมัดข้าวได้เหมือนกับไผ่สีสุก
4. ลำต้นตัดทำไม้เสารั้ว ให้ความแข็งแรง และทนทาน มีอายุการใช้งานนาน
5. ไผ่สีทอง และไผ่เหลือง เป็นไผ่มงคลที่ปลูกร่วมกับเป็นไผ่ประดับ ตามความเชื่อที่ว่า สีทองหรือสีเหลืองของไผ่ช่วยนำความผาสุกมาให้แก่ครอบครอบ รวมถึงช่วยให้โชคลาภ และเงินทองไหลมา เทมา

สรรพคุณไผ่สีทอง และไผ่เหลือง
ไผ่สีทอง และไผ่เหลือง นำทุกส่วนมาต้มน้ำดื่ม ส่วนหน่อใช้ประกอบอาหาร มีสรรพคุณหลายด้าน ได้แก่
– ช่วยลดไข้
– ช่วยละลายเสมหะ
– รักษาโรคบิด
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยขับระดู
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับปัสสาวะ

การปลูกไผ่สีทอง และไผ่เหลือง
1. การปลูกไผ่สีทอง นิยมปลูกด้วยวิธีแยกเหง้า และปักชำต้นเป็นหลัก เพราะไม่ค่อยออกดอก และติดเมล็ดให้เห็นนัก ทั้งนี้ การแยกเหง้าจะได้ผลดีที่สุด รองลงมาเป็นการปักชำต้น แต่จะได้ผลดีเฉพาะข้อที่ 1-2 จากโคนต้นเท่านั้น เพราะข้อที่สูงจะแตกรากยาก

2. การปลูกไผ่สีเหลือง ทำได้ทั้งการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำต้น และการแยกเหง้า แต่ส่วนมากจะใช้วิธีการปักชำต้น การแยกเหง้า และการตอนกิ่งเป็นหลัก เพราะข้อสามารถแตกรากได้ดี

%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%87

ขอบคุณภาพจาก nanagarden.com/, BlogGang.com/, kasetporpeang.com/