พุทธรักษา (Canna) สรรพคุณ และการปลูกพุทธรักษา

Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

พุทธรักษา (Canna) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกทั้งตามบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะ เนื่องจากเป็นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม ปลูกง่าย ดูแลง่าย นอกจากนั้น ยังเป็นไม้ดอกที่มีความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลที่ช่วยปกปักษ์รักษาผู้ปลูก ช่วยป้องกันภัยอันตราย และเสนียดจัญไรต่างๆ จึงได้ที่มาของชื่อว่า พุทธรักษา ซึ่งหมายถึง การมีพุทธองค์คอยปกป้องรักษา

อนุกรมวิธาน
• ชั้น : Liliopsida
• ตระกูล/อันดับ : Zingiberales
• วงศ์ : Cannaceae
• สกุล : Canna Linn.
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศบราซิล
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna siamensis Kranzl.
• ชื่อสามัญ :
– Canna (นิยมมาก)
– Indian Shot (นิยมมากเช่นกัน)
– Saka Siri
– Bandera
– Chancle
– Coyol
– Platanillo
• ชื่อท้องถิ่น :
– พุทธรักษา (ทุกภาค)
– บัวละวงศ์
– พุทธศร
– กวงอิมเกีย (จีน)
– เซียเจียง (จีน)

การแพร่กระจาย
พุทธรักษา ดั้งเดิมเติบโตในแถบประเทศอเมริกาใต้ บริเวณประเทศบราซิล และถูกนำเข้ามาปลูกในไทยโดยนักสะสมหรือผู้ที่นิยมปลูกไม้ดอก จนปัจจุบันสามารถพบแพร่กระจายในทุกภาค พบมากตามบริเวณริมน้ำหรือแอ่งที่มีสภาพชื้นหรือมีน้ำขัง เช่น แอ่งตามข้างถนน หรือ ริมขอบสระน้ำต่างๆ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นพุทธรักษา
พุทธรักษาเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน และเหง้าสามารถแตกแขนงเพื่อเจริญเป็นต้นใหม่ โดยเหง้าจะมีลักษณะเป็นทรงกลม และเป็นข้อปล้องขนานกับพื้นดิน ผิวเหง้ามีเปลือกหรือเยื่อเป็นแผ่นสีน้ำตาลหุ้มที่เรียกว่า ใบเกล็ด

ใบพุทธรักษา
ใบพุทธรักษา เป็นส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินที่เรามักเข้าใจว่าเป็นลำต้น แต่แท้จริงคือลำต้นเทียม โดยมีแกนกลางเป็นทรงกลมที่เจริญมาจากส่วนหัว และแกนกลางถูกล้อมรอบด้วยก้านใบ สูงประมาณ 0.5-1 เมตร ก้านใบมีสีเขียว และมีนวลสีขาวปกคลุม ถัดมาจากก้านใบจะเป็นส่วนของแผ่นใบที่มีรูปร่างยาวรี มีความยาวได้มากกว่า 1 เมตร แผ่น และขอบใบเรียบ ค่อนข้างหนา และมีเนื้อเหนียว บนแผ่นใบมองเห็นเส้นใบชัดเจน โดยเส้นใบจะแตกออกด้านข้างจากเส้นกลางใบขนานกันเป็นคู่ไปทางขอบใบ

ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา แทงออกเป็นช่อยาว แต่ละช่อมีดอก 5-10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ อยู่ด้านล่าง ส่วนกลีบดอกมีทั้งหมด 3 กลีบ เช่นกัน และแต่ละกลีบมีขนาดเท่ากัน ซึ่งจะมีหลากหลายสีผสมกันหรือมีสีโทนเดี่ยว อาทิ สีเหลือง สีเหลืองแกมแดง สีแดง สีแดงอมชมพู หรือ สีชมพู เป็นต้น ถัดมาตรงกลางเป็นส่วนของเกสรตัวผู้ 6 อัน มักเป็นเกสรไม่สมบูรณ์ โดย 3 อันแรกจะอยู่ขอบนอก และอีก 3 อัน จะอยู่ด้านใน ถัดมาด้านในสุดจะเป็นเกสรตัวเมียที่มีความสมบูรณ์ 1 อัน ส่วนด้านล่างของเกสรตัวเมียเป็นรังไข่ที่มี 3 ช่อง ทั้งนี้ การบานของดอกพุทธรักษาแต่ละครั้งจะบานนานกว่าครึ่งเดือน

ผล และเมล็ดพุทธรักษา
ผลพุทธรักษามีลักษณะกลมรี แบ่งเป็นร่องหรือพู ผลมีเปลือกผลมีเขียวอมเทา หรือสีแดงเรื่ออมชมพู ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และผิวเปลือกจะมีหนามสั้นๆเต็มทั่วผล แต่หนามนี้จะค่อนข้างอ่อน ไม่เป็นอันตรายเวลาจับ ด้านในผลมีเมล็ด 1-8 เมล็ด เมล็ดขณะผลอ่อนจะมีสีขาว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมดำ มีเปลือกเมล็ดหนา

พันธุ์พุทธรักษา
พันธุ์พุทธรักษาที่พบในทุกวันนี้ มักเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักพบชนิดดอกที่มีสีเดียว แต่มีโทนสีอื่นแกม จนแยกแยะได้ยากว่าเกิดจากสายพันธุ์ใดบ้าง แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ที่พบในไทยจะเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง C. indica และ C. warscewiezii ทั้งนี้ พุทธรักษาพันธุ์ดั้งเดิมมีเพียง 5 ชนิด คือ
1. C. Indica Linn. (พันธุ์ดอกเหลือง)
พุทธรักษาพันธุ์ Indica มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างเล็ก กาบลำต้นมีสีเขียว สูงประมาณ 80-120 เซนติเมตร ใบเรียว และส่วนปลายแหลม แผ่นใบไม่มีนวลแป้ง และขอบใบไม่มีสี ส่วนดอกออกเป็นช่อ แต่ละดอกค่อนข้างอยู่ห่างกัน และดอกมีลักษณะคล้ายกับพันธุ์ Glauca มาก แต่ขนาดดอกจะสั้นกว่า มีขนาดดอกปานกลาง ยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีเหลือง มีประสีแดงสดบริเวณกลางดอก

Indica
Indica

2. C. Warscewiezii Dietr. (พันธุ์ดอกแดงสด)
พุทธรักษาพันธุ์ Warscewiezii มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง ประมาณ 110-130 เซนติเมตร กาบลำต้นจะสีม่วงแดง กาบใบไม่มีขนปกคลุม แต่มีนวลขาวเคลือบอยู่ ใบค่อนข้างกลมรี ขนาดใบยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ และมีสีเขียวเข้ม ส่วนขอบใบมีสีแดง ช่อดอกมักตั้งตรง และดอกเรียงกันถี่ สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีสีม่วงอมเขียว ส่วนกลีบดอกมีรูปหัวใจกลับ สีแดงสด กลีบดอกมีขนาดใหญ่ ประมาณ 7 เซนติเมตร โคนกลีบแหลมเล็ก และขยายใหญ่กว้างที่กลางกลีบ และปลายกลีบ

Warscewiezii Dietr.
Warscewiezii Dietr.

3. C. Glauca Linn. (พันธุ์ดอกเหลือง)
พุทธรักษาพันธุ์ Glauca มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างอวบ มีกาบหุ้มสีเขียว ผิวกาบมีนวลสีขาวปกคลุม มีความสูงได้มากกว่า 150 เซนติเมตร ส่วนเหง้ามีลักษณะเป็นไหลเลื้อยยาว ส่วนแผ่นใบจะมีสีเขียว และมีนวลขาว แผ่นใบเรียวยาว ปลายใบแหลม ขนาดใบ 15-30 เซนติเมตร และยาวได้มากกว่า 120 เซนติเมตร ส่วนขอบใบตั้งแต่ตรงกลางใบจนถึงปลายใบจะมีสีขาว ส่วนดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้มตรงฐานดอก ส่วนกลีบดอกมีสีเหลืองหรืออาจพบอมเขียว มีรูปไข่หัวกลับ บริเวณกลางกลีบมีประสีแดงสด และส่วนปลายกลีบมีร่องเว้า ขนาดกลีบดอกยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

4. C. Iridiflora Ruiz & Pav. (พันธุ์ดอกแดงเรื่อหรือแดงอมชมพู)
พุทธรักษาพันธุ์ Iridiflora มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีขนาดใหญ่ และสูง สามารถสูงได้มากกว่า 2.5 เมตร กาบลำต้น และใบมีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้น และอ่อนนุ่มมือ ส่วนดอกมีสีแดงอมชมพูหรือแดงเรื่อคล้ายดอกกุหลาบ มีกลีบดอกขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายกลีบค่อนข้างแหลม

Iridiflora Ruiz
Iridiflora Ruiz

5. C. Flaccida Salisb. (พันธุ์ดอกเหลืองบริสุทธิ์)
พุทธรักษาพันธุ์ Flaccida มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีขนาดสูงปานกลาง ประมาณ 100-150 เซนติเมตร กาบลำต้น และใบมีสีเขียว และไม่มีขน กลีบเลี้ยงมีสีเขียว มีลักษณะยาวแหลม ส่วนดอกมีสีเหลือง แต่ละดอกอยู่ห่างกัน และมักมีจำนวนดอกน้อย แต่ละกลีบมักยาว และโค้งลง

Flaccida Salisb
Flaccida Salisb

พุทธรักษากินได้
พุทธรักษากินได้ (Canna edulis) เป็นพุทธรักษาชนิดหนึ่งที่นิยมนำหัวหรือเหง้าใต้ดินมาทำเป็นแป้งสำหรับทำขนมหรือของหวาน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกว่า สาคูหรือสาคูจีน แต่จะเป็นคนละชนิดกับต้นสาคูที่พบในภาคใต้

พุทธรักษากินได้ เป็นพุทธรักษาที่มีเหง้าขยายใหญ่จนเรียกว่าเป็นหัวที่สมบูรณ์ได้ หัวพุทธรักษาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแง่ง คล้ายแง่งข่า มีทั้งเยื่อหุ้มสีน้ำตาลซึ่งเรียกว่า พันธุ์ไทยเขียว ให้ดอกสีสีส้ม และเยื่อหุ้มมีสีน้ำตาล และแกมด้วยสีม่วง เรียกว่า พันธุ์ไทยม่วง ให้ดอกสีแดง ส่วนเนื้อภายในมีสีขาวที่เกิดจากการสะสมของแป้ง และแตกต่างจากพุทธรักษากินไม่ได้ คือ ลำต้นมีความสูงมากกว่าพุทธรักษาทั่วไป ใบมีขนาดใหญ่กว่า และจุดเด่นสำคัญ คือ โคนกาบหุ้มลำต้น และขอบใบจะมีสีม่วงแดง

ประโยชน์พุทธรักษา
1. พุทธรักษาเป็นไม้ประดับที่มีดอกสวยงาม กลีบดอกขนาดใหญ่ ดอกมีหลายสี อาทิ สีเหลือง สีแดง หรือมีลายสีอื่นปะบนกลีบดอก จึงเป็นที่นิยมปลูกเพื่อชมดอก
2. ผลพุทธรักษา เป็นไม้มงคลที่เชื่อว่าหากปลูกหน้าบ้านหรือภายในบ้าน ไม้นี้จะช่วยปกปักษ์คุ้มครองอันตรายให้แก่คนในบ้าน และนำความเป็นสิริมงคลในด้านต่างๆมาให้ นอกจากนั้น ยังนิยมใช้ผงจากเหง้าในการทำเครื่องรางของขลังด้วยเช่นกัน
3. พุทธรักษาบางชนิด หรือที่เรียกว่า พุทธรักษากินได้หรือบางที่เรียกว่า สาคู นิยมนำหัวหรือเหง้ามาทำแป้งสำหรับทำขนมหวาน หรือทำเม็ดสาคู หรือต้มรับประทาน โดยเฉพาะทำเป็นอาหารสำหรับเด็กหรือผู้ป่วยที่รับประทานอาหารแข็งได้ยาก รวมถึงแปรรูปเป็นผงสำหรับเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
4. ส่วนต่างๆของพุทธรักษา ไม่ว่าจะเป็นดอก และเหง้า ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาสมุนไพร
5. ดอกพุทธรักษานำมาสกัดสารสีสำหรับใช้เป็นสีผสมอาหาร อาทิ สีเหลือง และสีแดง
6. ดอกพุทธรักษา นำมาต้มย้อมผ้า ทั้งให้เนื้อผ้าสีเหลือง เนื้อผ้าสีแดงหรือสีอื่นๆตามสีของดอก
7. ต้นพุทธรักษาเป็นพืชชายน้ำที่นิยมนำมาปลูกเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดที่เรียกว่า บึงประดิษฐ์ ซึ่งจะปลูกพุทธรักษาบริเวณขอบบ่อบำบัด
8. สารสกัดจากรากพุทธรักษาสามารถนำมาฆ่าหอยทากได้
9. ใบพุทธรักษานำมาห่อกับข้าว ลองกับข้าว หรือทำกระทง
10. ลำต้นหรือกาบใบใช้ทำเชือดรัดของ

สาระสำคัญที่พบ
หัว/เหง้า
– Stigmasterol

ที่มา : 1)

สรรพคุณพุทธรักษา
เหง้าหรือหัวพุทธรักษา
– ต้านเซลล์มะเร็ง อาทิ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น
– รักษาโรคตับอักเสบ
– ช่วยแก้อาการปวดหลัง
– รักษาโรคเบาหวาน
– ช่วยในการขับสารพิษ
– ช่วยขับเหงื่อ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยลดไข้
– ลดอาการไอ ลดอาการอักเสบบริเวณคอ
– ช่วยขับเหงื่อ
– แก้อาการบวมน้ำ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบำรุงปอด ช่วยรักษาโรควัณโรค
– แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
– แก้อาการตกขาว
– แก้โรคบิดเรื้อรัง
– ช่วยรักษาแผลติดเชื้อ ลดน้ำหนองไหล
– แก้อาเจียนเป็นเลือด

ดอกพุทธรักษา
– กลีบดอกนำบด สำหรับประคบแผล ช่วยในการห้ามเลือด ช่วยให้แผลแห้ง ป้องกันน้ำเหลืองไหล และรักษาแผลให้หายเร็ว
– แก้อาการท้องอืด
– ช่วยขับปัสสาวะ

เมล็ด
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้อาการท้องเสีย

ที่มา : 1)

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
มีรายงานการใช้เหง้าสด 60-120 กรัม สำหรับการต้มดื่ม ตลอด 20 วัน ในช่วงเช้า และช่วงเย็น โดยมีคนไข้จำนวน 63 รายที่ได้รับน้ำต้มจากเหง้าพุทธรักษา พบว่า มีจำนวน 58 ราย สามารถหายจากโรคตับอักเสบแบบเฉียบพลันได้ ส่วนอีก 3 ราย มีอาการดีขึ้น และอีก 2 ราย ไม่ได้ผลแต่อย่างใด 1)

การศึกษาสารสกัดจากเหง้าพุทธรักษาที่มีผลต่อเซลล์มะเร็ง โดยวินัย สุขราช พบว่า สารสกัดที่ได้ อาทิ Stigmasterol สามารถออกฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งได้ 2)

ที่มา : 1), 2)

การปลูกพุทธรักษาหรือพุทธรักษากินได้
การปลูกพุทธรักษา นิยมปลูกด้วยการแยกเหง้าหรือแยกกอปลูก ซึ่งจะต้องปลูกบริเวณพื้นที่ที่ค่อนข้างชุ่มชื้นหรือมีน้ำขังเล็กน้อย

1. การปลูกด้วยหัวหรือเหง้า
การเตรียมแปลง
การเตรียมแปลงจะใช้ในกรณีที่ปลูกจำนวนมากหรือปลูกเพื่อการค้าตัดดอกหรือขายหัว แต่หากปลูกเพื่อการประดับก็ไม่ต้องเตรียมแปลงอะไรให้ยุ่งยาก เพียงนำเหง้าหรือต้นพุทธรักษาขุดหลุมลงปลูกได้เลย

สำหรับการปลูกเพื่อการค้าจำนวนมาก จำเป็นต้องปลูกในแปลงขนาดใหญ่ และต้องไถดะกลบวัชพืชให้เน่าตายเสียก่อน ประมาณ 15-30 วัน จากนั้น ให้หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยคอกประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ ไม่ควรหว่านปุ๋ยคอกมาก เพราะอาจทำให้น้ำเน่าได้หากเกิดสภาพน้ำขัง หลังจากนั้นจึงไถกลบดินอีกรอบ

การปลูก
การปลูกนั้น ให้ปลูกในช่วงหน้าฝนจึงจะดี และเมื่อมีความพร้อมเรื่องต้นพันธุ์ จึงขุดหลุมปลูกเตรียมไว้ โดยมีระยะห่างของแถวที่ 50-80 เมตร และระยะห่างของต้นในระยะเดียวกัน พร้อมกับนำเหง้าพุทธรักษาลงปลูก ทั้งนี้ เหง้าที่นำมาปลูกจะต้องตัดส่วนลำต้นออก แต่ให้เหลือลำต้นบางส่วนประมาณ 30 เซนติเมตร ติดกับส่วนเหง้ามาด้วยอย่างน้อย 1 ต้น

การดูแล
หลังจากการปลูกแล้ว 1-2 เดือน ควรทำการถอนวัชพืชด้วยจอบหรือใช้มือถอนเป็นประจำ จนกว่าต้นพุทธรักษาจะเริ่มจะแตกเป็นกอใหญ่ ส่วนเรื่องโรค และแมลงจะไม่พบปัญหานัก

ผลผลิต
หลังจากปลูกเหง้าพันธุ์แล้ว ประมาณ 1 อาทิตย์ ต้นของเหง้าพันธุ์ก็จะแทงใบออกใหม่ และเริ่มแตกหน่อเพิ่มจำนวนต้นจนเป็นกอใหญ่อย่างรวดเร็วภายใน 3-5 เดือน และจะเก็บหัวหรือเหง้าได้เมื่อต้นมีอายุตั้งแต่ประมาณ 8 เดือน ขึ้นไป หรือเก็บหัวเมื่อต้นพุทธรักษาเริ่มแห้งตายแล้ว

การเก็บเหง้าพุทธรักษา จะใช้วิธีตัดลำต้นเหนือดินทิ้ง ซึ่งจะตัดให้เหลือส่วนลำต้นสูงจากดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก่อนใช้จอบขุดเหง้าขึ้นมา หรือหากดินเป็นโคลนตมที่ถอนต้นได้ง่าย ก็จะใช้วิธีการดึงถอนทั้งต้นขึ้นมาก่อน ก่อนจะตัดให้เหลือเพียงเหง้า

พุทธรักษาที่ปลูกจำนวน 1 ไร่ ที่มีอายุประมาณ 8 เดือน จะให้หัวหรือเหง้าสดประมาณ 7-10 ตัน ซึ่งจะมีปริมาณแป้งประมาณ 10-20% ของน้ำหนักสดที่เก็บได้ หรือ ใน 1 ตัน น้ำหนักสดจะผลิตแป้งพุทธรักษาได้ประมาณ 100-200 กิโลกรัม

แป้งพุทธรักษาสามารถผลิตได้โดยการนำเหง้ามาล้างน้ำ และปอกเยื้อหุ้มออกให้สะอาดก่อน หลังจากนั้น ตัดแต่งโคนต้นหรือโคนเหง้าออก ก่อนนำมาบดหรือฝานเป็นแผ่นบาง และนำไปตากแดดให้แห้ง สุดท้ายจึงนำมาบดเป็นผงสำหรับใช้ประโยชน์ต่อไป

2. การปลูกด้วยเมล็ด
การปลูกด้วยเมล็ด มักไม่นิยมนัก เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต และเมล็ดค่อยข้างงอกยากหรือมักเน่าตาย

การปลูกด้วยเมล็ดทำได้ดังนี้
– นำเมล็ดมาไถเปลือกด้วยตะไบให้เหลือเปลือกเพียงบางๆ
– นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นนาน 3-5 นาที และนำไปแช่น้ำธรรมดานาน 1 วัน
– นำเมล็ดลงหยดลงดินในแปลงที่ดินที่ค่อนข้างชื้นมาก
– หลังจากเมล็ดงอกแล้ว รอให้เติบโตจนแตกกอ ก่อนจะแยกกอออกปลูกอีกครั้ง

ขอบคุณภาพจาก บ้านสวนพอเพียง.คอม

เอกสารอ้างอิง
untitled