ไผ่เพ็ก/หญ้าเพ็ก หน่อเล็กทำแกงหน่อโจด สรรพคุณ และวิธีกำจัดไผ่เพ็ก

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ไผ่เพ็ก หรือ หญ้าเพ็ก จัดเป็นไผ่ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่พบมากในที่ดอน และป่าเต็งรัง โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคอีสาน นิยมนำหน่ออ่อนมาทำอาหาร อาทิ แกงหน่อโจดไผ่เพ็ก แกงเลียง และลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น

อนุกรมวิธาน [1], [2]
• วงศ์ (family): GRAMINEAE (วงศ์ไผ่)

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Arundinaria pusilia
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Vietnamosasa pusilla
• ชื่อท้องถิ่น :
– ไผ่เพ็ก
– หญ้าเพ็ก
– เพ็ก

การแพร่กระจาย
ไผ่เพ็ก เป็นไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้มากในประเทศพม่า ไทย และลาว โดยในประเทศไทยพบไผ่เพ็กเติบโตในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และที่ดอน โดยเฉพาะป่าเต็งรังจะพบไผ่เพ็กมากที่สุด ซึ่งพบแพร่กระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคอีสาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ไผ่ เป็นไม้พุ่มในพืชตระกูลไผ่ที่มีอายุหลายปี มีลำต้นแตกกอแน่น ลำต้นมีลักษณะกลม เป็นข้อปล้อง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 – 1.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 50 – 120 เซนติเมตร เนื้อลำต้นแข็ง และเหนียวคล้ายไม้ไผ่ มีกิ่งก้านแตกจากข้อปล้อง มีเหง้า และรากแตกเป็นแขนงอยู่ใต้ดินในระดับตื้น-ลึกปานกลาง

ใบ
ใบไผ่เพ็กออกเป็นใบเดี่ยวเยื้องสลับกันบริเวณข้อปล้อง ใบมีลักษณะเรียวยาว กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8 – 15 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม แผ่นหยาบกระด้าง และขอบใบมีคม

ดอก
ดอกเป็นช่อแยกแขนง (Panicle) ตัวดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกแน่นบนช่อดอก ทั้งนี้ ไผ่เพ็กจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม

สารสำคัญที่พบ [1]
การศึกษานำส่วนใบ และหน่อมาสกัดด้วยน้ำ พบปริมาณสารที่สกัดได้จากใบเท่ากับ 1.02% และจากหน่อเท่ากับ 1.68% แบ่งเป็นสารที่พบ คือ ใบ พบสารในกลุ่ม Flavonoids Saponins และTannins ส่วนหน่อจะพบเฉพาะสารในกลุ่ม Saponins

การวิเคราะห์หาสารประกอบฟีนอลิก พบว่า ใบพบสารฟีนอลิกที่ 0.58 mg GAE/g แห้ง และหน่อพบที่ 3.07 mg GAE/g แห้ง

การวิเคราะห์หาสารประกอบฟลาโวนอยด์ พบว่า ใบพบสารฟีนอลิกที่ 215.6 μg QE/g แห้ง ส่วนหน่อตรวจไม่พบ

การวิเคราะห์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH IC50 พบว่า ส่วนใบมีค่าการต้านอนุมูลอิสระที่ 641.3 μg/ml และหน่อที่ 1,036.5 μg/ml

ประโยชน์ไผ่เพ็ก
1. หน่อไผ่เพ็ก หรือ บางพื้นที่เรียก หน่อโจด นิยมใช้ประกอบอาหารได้หลายเมนู หน่อมีรสเฝื่อนขม มีเนื้อกรอบ เหมาะสำหรับทำเมนูจำพวกซุปหน่อเพ็ก แกงเลียง แกงเปอะ หรือ ลวกจิ้มรับประทานกับน้ำพริกก็ยิ่งอร่อยนัก
2. ไผ่เพ็ก ใช้สำหรับเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทั้งโค กระบือ ม้า แกะ หรือ แพะ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะใบเหนียว สาก มีคม มีกิ่งก้านแข็ง ยากต่อการเก็บเกี่ยว และสัตว์ไม่ชอบ แต่สามารถใช้เลี้ยงแกะ แพะได้ดีที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่อาหารจำพวกหญ้าอื่นๆขาดแคลน เพราะไผ่เพ็กจะมีใบเขียวอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหน้าฝน ส่วนหน้าแล้งใบจะมีความเขียวน้อยกว่า
3. ใช้ปลูกเป็นแนวกั้นเขตแดนแทนการสร้างรั้วลวดหนาม
4. ประโยชน์สดำหรับเป็นยาสมุนไพร

การนำไผ่เพ็กมาใช้สำหรับเป็นอาหารสัตว์ ถือว่าเป็นแนวทางการนำไผ่เพ็กมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด แต่จะเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์บางชนิดเท่านั้น โดยเฉพาะแกะ และแพะที่สามารถเคี้ยวกินใบไผ่เพ็กที่เหนียว สาก และขอบใบมีความคมได้เป็นอย่างดี

คุณค่าทางโภชนาการใบไผ่เพ็กแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์ [2]
– ความชื้น 7.12%
– เถ้า 9.13%
– โปรตีน 9.89%
– ไขมัน 2.49%
– กาก 26.51%
– NFE 44.86%

จากการศึกษานำไผ่เพ็กมาเลี้ยงแกะด้วยการให้ที่ 620.1 กรัม/วัน พบมีการถ่ายมูลของไผ่เพ็กออกมา 295.6 กรัม/วัน คำนวณเปอร์เซ็นต์ที่ย่อยได้ที่ 52.3% [2]

ข้อเสียไผ่เพ็ก
ไผ่เพ็ก จัดเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในแปลงไร่มันสำปะหลัง หรือ แปลงพืชไร่บริเวณที่มีสภาพเป็นป่าเต็งรังมากก่อน เพราะเหง้า และรากของไผ่เพ็กอยู่ใต้ดินลึก เหง้าสามารถแตกหน่อเกิดเป็นต้นใหม่ได้ แม้ลำต้นด้านบนจะแห้งตาย ถูกไฟไหม้ หรือถูกตัดออก

สรรพคุณไผ่เพ็ก [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
ใบ และราก
– ช่วยบรรเทาอาการไข้
– ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้โรคเบาหวาน

การกำจัดไผ่เพ็ก
1. ใช้วิธีการขุดหรือไถกำจัดเหง้า และรากใต้ดินออกให้หมด เมื่อขุดขึ้นมาให้วางตากแดดจนแห้ง ก่อนจุดไฟเผา
2. ใช้สารเคมีกำจัดต้นไม้ป้ายที่ตอไผ่เพ็ก

เอกสารอ้างอิง
[1] เอกรัฐ คาเจริญ และคณะ. 2562. การใช้ประโยชน์จากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ-
ของไผ่ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพร.
[2] ชาญชัย มณีดุล และพรเพ็ญ ต่อสกุล. 2514. โภชนะย่อยได้ในหญ้าเพ็ก (Arundinaria pusilia).

ขอบคุณภาพจาก
– youtube ลูกอีสาน เล่นกินเที่ยว