มวนลำไย/แมงแคง แมลงศัตรูพืชลำไย แมลงกินได้ แหล่งอาศัย ประโยชน์ ข้อเสีย และวิธีกำจัด

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มวนลำไย หรือ แมงแคง (Iongan stink bug) จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งของลำไย และไม้ผลอีกหลายชนิด เช่น ลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือ ด้อยคุณภาพ แต่มีประโยชน์ในด้านใช้ทำอาหารในเมนูหลายชนิด อาทิ มวนลำไยคั่วเกลือ ป่นมวนลำไยหรือป่นแมงแคง รวมถึงใส่ในแกงอื่นๆ

อนุกรมวิธาน [1]
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Arthropoda
• ชั้น (class): Insecta
• อันดับ (order): Hemiptera
• วงศ์ (family): Pentatomidae
• สกุล (genus): Tessaratoma
• ชนิด (species): javanica

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tessaratoma papillosa Drury
• ชื่อสามัญ : Iongan stink bug
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มวนลำไย
ภาคอีสาน
– แมงแคง
– แมงแกง

แหล่งที่พบ และการแพร่กระจาย
มวนลำไย หรือ แมงแคง เป็นแมลงที่พบได้ทุกภาค เป็นแมลงที่ชอบอาศัยบนต้นลำไย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ มวนลำไย นอกจากนั้น ยังพบอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่นๆ อาทิ ลิ้นจี่ ตะคร้อ จิก กุง และทองกวาว เป็นต้น

ลักษณะมวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย เป็นแมลงจำพวกมวนขนาดใหญ่ ลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง โดยตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง ทั้งปีก และเปลือกแข็งหุ้มลำตัว และบริเวณลำตัวด้านล่างทั้งหมดจะปกคลุมด้วยผงสีขาว

ส่วนหัวจะมีขนาดเล็กที่สุด มีตา 2 ข้าง มองเห็นเป็นจุดขนาดเล็ก มีปากชนิดเจาะดูด ยื่นออกมาจากด้านหน้าสุดของหัว และส่วนปากจะหุบซ่อนอยู่ใต้ส่วนหัวในขณะที่ไม่กินอาหาร เวลาไม่กินอาหาร ส่วนหนวดจะอยู่ใต้ศรีษะ มีจำนวน 1 คู่ แบ่งเป็นปล้อง จำนวน 3 ปล้อง

ปีกของมวนลำไยจะประกอบด้วยปีกคู่หน้าที่ทับด้านบนของปีกคู่หลัง ซึ่งสังเกตได้เวลาที่มวนลำไยเกาะอยู่นิ่ง โดยปีกคู่หน้าส่วนต้นจะมีลักษณะแข็ง ปลายปีกเป็นแผ่นบางอ่อน ส่วนปีกคู่หลังจะมีลักษณะบาง และสั้นกว่าปีกคู่หน้า

มวนลำไยเพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ โดยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.7-3.0 เซนติเมตร ส่วนกว้างบริเวณอกประมาณ 1.4-1.6 เซนติเมตร ส่วนเพศผู้จะมีลำตัวยาวประมาณ 2.4-2.5เซนติเมตร ส่วนกว้างของบริเวณอกประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร

อาหาร และการกินอาหาร
มวนลำไย เป็นแมลงที่กินอาหารโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช ทั้งในส่วนที่เป็นจากยอดอ่อน ช่อดอก และช่อผล โดยพืชอาหารจะเป็นไม้ยืนต้นเป็นหลักตามที่กล่าวข้างต้น

การผสมพันธุ์ และวางไข่ [1]
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มวนลำไยจะบินมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะการเลือกคู่ผสมพันธุ์ของแมลงจำพวกมวน โดยจะรวมกันอยู่บนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งในละแวกที่มีมวนลำไยอาศัยอยู่ และเมื่อทำการจับคู่ และผสมพันธุ์กันแล้วประมาณ 2 วัน มวนลำไยเพศเมียก็จะเริ่มวางไข่บนบนต้นลำไยหรือต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ช่อดอก กิ่ง และเปลือกลำต้น หรือ อาจพบไปวางไข่บนหญ้าหรือกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้ต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อน แต่ส่วนมากจะวางไข่บนต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารเป็นหลัก

ไข่ของมวนลำไยจะมีลักษณะกลมเล็ก ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยมวนลำไยเพศเมียจะวางไข่ในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงยาวเป็นแถว แต่ละกลุ่มของแถวจะมีไข่ประมาณ 3-15 ฟอง แต่ส่วนมากพบมากกว่า 10 ฟอง

มวนลำไยจะเริ่มวางไข่หลังผสมพันธุ์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน โดยพบการผสมพันธุ์ และวางไข่มากที่สุดในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ มวนลำไยเพศเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ในช่วง 98-297 ฟอง โดยมีระยะไข่ในช่วง 11-13 วัน ก่อนฟักเป็นตัวอ่อน

ไข่มวนลำไยหลังจากวางไข่ใหม่ๆจะมีสีเขียว จากนั้น จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวนวล และค่อยเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้าสู่ระยะก่อนฟักเป็นตัว

ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จะมีลำตัวทุกส่วนสีแดง แต่หลังจากประมาณ 1.5-2.0 ชั่วโมง บริเวณขอบด้านข้างลำตัวจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ และเปลี่ยนเป็นสีเทา โดยส่วนด้านในถัดจากแถบสีเทาจะมีสีแดงอยู่ แต่จะมีแถบสีขาวพาดตามยาวแทรกในพื้นสีแดงด้านหลังลำตัวจำนวน 3 แถบ

มวนลำไยในระยะตัวอ่อนจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อลอกคราบออก ตัวอ่อนจะมีสีแดงสดลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่สีจะสดกว่า และขนาดลำตัวเล็กกว่า ทั้งนี้ ในระยะตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 61-74 วัน โดยจะพบตัวอ่อนของมวนลำไยได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -สิงหาคม

เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยจะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงจากยอดไม้เป็นอาหาร และหลบอาศัยตามส่วนต่างๆของต้นไม้นั้นหรือต้นไม้อื่นๆที่เป็นแหล่งอาหารได้ จนเข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งวัฏจักรจะเป็นดังที่กล่าวมาตลอด

ประโยชน์มวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย หรือ แมงแคง เป็นแมลงที่มีกลิ่นหอม (แต่บางท่านอาจรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุน) โดยเฉพาะเมื่อนำมาย่างไฟให้สุก จึงมีบางพื้นที่นิยมหาจับมวนลำไยมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ มวนลำไยคั่วเกลือ ป่นมวนลำไย/ป่นแมงแคง หรือ เรียกว่า น้ำพริกมวนลำไย รวมถึงใส่ในแกงต่างๆ อาทิ แกงหน่อไม้ แกงเห็ด เป็นต้น

ข้อเสียมวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย หรือ แมงแคง จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งของไม้ผลหลายชนิด อาทิ ลำไย และลิ้นจี่ และไม้ผลอื่นๆ ที่พบระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยพบระบาดมากในช่วงที่ลำไย และลิ้นจี่ออกดอก และติดผล แต่จะพบระบาดมากใน 2 ระยะ คือ
– ระยะแรก ในระยะที่มวนลำไยมีอายุอยู่ข้ามฤดู คือตัวเต็มวัยที่มีอายุตั้งแต่ปลายปีจนข้ามปีมาถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
– ระยะที่ 2 คือ มวนลำไยตัวเต็มวัยรุ่นต่อมาร่วมกับรุ่นก่อนที่เข้าสู่ระยะผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ผลกระทบจากมวนลำไยที่สร้างความเสียหายต่อพืชผล คือ มวนลำไยในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน จากช่อดอก และช่อผลของลำไยหรือลิ้นจี่ หรือ พืชชนิดอื่นๆ จนทำให้ยอดอ่อนหยิกงอ ยอดอ่อนเหี่ยว ยอดอ่อนไม่เติบโต ดอกร่วง และไม่ติดผล หรือ ติดผลน้อย ผลผลิตลด และไม่มีคุณภาพ สร้างความเสียหายแก่ชาวสวนในที่สุด

นอกจากนั้น มวนลำไยยังสามารถปล่อยของเหลว หรือ ไอของเหลวที่มีกลิ่นฉุน และมีพิษระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ซึ่งมวนลำไยจะปล่อยน้ำพิษออกมาเมื่อมีการถูกรบกวน เช่น การเขย่าลำต้น หรือ การจับลำตัวของมวนลำไย โดยบางรายที่มีอาการแพ้ง่ายจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังทันที บางรายน้ำตาไหล หรือ หายใจติดขัด นอกจากนั้น ของเหลวที่พ่นออกมายังทำให้เปลือกผลลำไยหรือผลไม้อื่นมีสีคล้ำได้

ศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูในธรรมชาติของมวนลำไยมีหลายชนิด ได้แก่
– แตนเบียนไข่หลายชนิด เช่น Anastatus sp. Nr.japonicas และOoencyrtus phongi แตนเบียนไข่เหล่านี้จะเข้าทำลาย และกัดกินไข่ของมวนลำไยเป็นอาหาร
– เชื้อรา Paecilomyces lilacinus เข้าทำลายเนื้อเยื่อร่างกายในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของมวนลำไย
– มดแดง มดคันไฟ เข้ากัดกินตัวอ่อนของมวนลำไยเป็นอาหาร

วิธีป้องกันกำจัดมวนลำไย/แมงแคง
1. วิธีจับตัวเต็มวัยของมวนลำไย ตัวอ่อน และไข่ทั้งหมด ทำลายเสีย โดยสามารถที่จะเข้าหา และจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ได้ในช่วงก่อนฤดูผสมพันธุ์ เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โดยในช่วงแรกจะเป็นการจับตัวเต็มวัยด้วยการเขย่าลำต้น และกิ่ง หลังจากนั้น ค่อยจับทำลายไข่ และตัวอ่อน ทั้งนี้ ในบางพื้นที่ตัวเต็มวัยของมวนลำไยนิยมนำมาประกอบอาหาร และนำมาขายช่วยสร้างรายได้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาคอีสานจะเป็นที่นิยมมาก
2. การตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ทรงพุ่มหนาทึบจะช่วยไม่ให้มวนลำไยทั้งในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยไม่มาหลบอาศัย อีกทั้ง ช่วยในการกำจัดตัวเต็มวัยหรือตัวอ่อนขณะตัดแต่งกิ่งได้ด้วย
3. การใช้แตนเบียนในการกำจัดไข่ และตัวอ่อน โดยเลี้ยงแตนแบนชนิดต่างๆไว้ในสวน
4. การใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น โดยเฉพาะในช่วงเดือนผสมพันธุ์ และวางไข่ โดยการสังเกตถึงกลุ่มมวนลำไยที่มาเกาะอาศัยรวมกลุ่มกัน ก่อนฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง ได้แก่
– carbaryl (savin 85% WP) อัตราส่วนผสมที่ 45-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
– lambdacyhalothrin (karate 2.5%EC) อัตราส่วนผสมที่ 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

ทั้งนี้ การพ่นยาฆ่าแมลง ควรเว้นในช่วงไม้ผลออกดอก เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร หรือ ช่วงที่มีการปล่อยแตนเบียนในไร่

สถานะการตลาด
พบมวนลำไย หรือ แมงแคง จำหน่ายในภาคอีสาน ซึ่งเรียกตามแหล่งป่าหรือต้นไม้ที่จับได้ อาทิ แมงแคงจิก แมงแคงกุง แมงแคงต้นค้อ ราคาจำหน่ายตัวละ 5 บาท

เอกสารอ้างอิง
[1] ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดเชียงใหม่. 2554. มวนลำไยศัตรูตัวร้ายของลำไยและลิ้นจี่.

ขอบคุณภาพจาก
– Pantip.com คุณตุ้ย-พงษ์พิษณุ