โสนคางคก มีดีกว่าวัชพืช ทั้งทำอาหาร และเป็นอาหารสัตว์

Last Updated on 29 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

โสนคางคก (Joinvetch) จัดเป็นวัชพืชใบกว้างในนาข้าว พบได้ทั่วไปตามทุ่งนา หรือ พื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำขัง น้ำท่วมสูง แต่สามารถใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งใช้ทำอาหาร อาหารสัตว์ และปุ๋ยพืชสด

Family (วงศ์) : FABACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Achesynomene aspera Linn.
ชื่อสามัญ : Joinvetch
ชื่อท้องถิ่น : โสนคางคก, โสนหางไก่ใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นโสนคางคก แตกกิ่งน้อย ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้น และกิ่งมีสีม่วงอมเขียว มีตุ่มสากมือ บริเวณโคนต้นที่อยู่ในส่วนน้ำท่วมจะโป่งขยายคล้ายฟองน้ำ เมื่อเมล็ดสุกแก่ ลำต้นจะตายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ใบ
ใบโสนคางคกเป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายใบไมยราบ แตกออกเรียงสลับห่างๆตามลำต้น และกิ่ง โดยแต่ละใบประกอบด้วยใบย่อยขนาดเล็กเรียงซ้อนกัน 2 ข้าง ทั้งนี้ ใบจะหุบ เมื่อมีการกระแทก

ดอก
โสนคางคกออกดอกบริเวณซอกใบบนกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง โดยจะเริ่มออกดอกเดือนกันยายน

ฝัก
ฝักโสนคางคกมีลักษณะเรียวยาว คล้ายฝักถั่วเขียว ด้านในมีเมล็ดคล้ายรูปไต สีดำ เรียงช้อนกันตามแนวยาว 8-12 เมล็ด

การใช้ประโยชน์
1. ใช้ประกอบอาหาร
ดอกโสนคางคก ทั้งดอกตูม และดอกบาน นำมาชุบแป้งทอด จิ้มน้ำพริก กรอบอร่อย หรือ ใช้รับประทานสดหรือลวกคู่กับน้ำพริก

2. ใช้เป็นอาหารสัตว์
ทุกส่วน ทั้งลำต้น ใบ และดอก ใช้เป็นอาหารสัตว์โค กระบือ หรือสุกร โดยให้สดทั้งต้น หรือบด หรือผสมกับหญ้าหรืออาหารข้นชนิดอื่นให้ร่วม

3. ปุ๋ยพืชสด
ในระยะการไถพรวนดินก่อนฤดูทำนา หากมีโสนคางคกขึ้นในแปลง เมื่อไถพรวนดินหรือไถกลบดิน โสนคางคกนี้จะกลายเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีไนโตรเจนสูง

วิธีกำจัด
1. ในระหว่างการเตรียมแปลงนา เมื่อฝนเริ่มลงจนโสนคางคกเริ่มเติบโต ให้ทำการไถกลบทันที จากนั้น ให้เว้นช่วงไถกลบ 2-3 อาทิตย์ เพื่อรอให้โสนคางคกอีกรุ่นงอกขึ้นมาให้ทั่วเสียก่อน ก่อนทำการไถกลบในรอบสุดท้าย
2. หลังจากหว่านข้าวหรือปักดำ หากมีโสนคางคกเกิดในแปลง ให้ทำการถอนต้นทิ้งด้วยมือให้ทั่วแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเมล็ดงอกในปีถัดไป