กระบก อัลมอนด์ไทย ประโยชน์ น้ำมันกระบก และไม้ลีลากระบก

Last Updated on 11 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

กระบก (Wild almond) เป็นไม้พื้นถิ่นในภาคอีสาน นิยมใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนเนื้อไม้สำหรับแปรรูปในการสร้างบ้าน และผล ที่ใช้เป็นอาหารวัว เนื้อเมล็ดนิยมที่สุด คือ นำมารับประทาน ทั้งรับประทานสด และนำมาคั่วไฟให้มีกลิ่นหอมก่อน โดยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

Family (วงศ์) : Simaroubaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Irvingia malayana Oliv. Ex A. Benn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : I. Olivveri Plerre
ชื่อสามัญ :
– Wild almond
– Kayu
– Barking Deer,s Mango
ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– กระบก
อีสาน
– บก
– หมากบก
– มะลื่น
– หมากลื่น
– หลักกาย (สุรินทร์)
เหนือ
– กระบก
– กะบก
– จะบก
– ตระบก
– มะมื่น
– มื่น
ตะวันออก
– ชะอัง
เขมร
– จำเมาะ

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กระบก เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งที่พบได้ในป่าดิบแล้ง พบได้มากในภาคอีสาน และภาคเหนือของไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กระบกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ มีลำต้นสูงได้กว่า 30 เมตร เปลือกลำต้นต้นมีสีเทาบ้าง สีน้ำตาลอ่อนบ้าง เปลือกค่อนข้างหนา ผิวเปลือกแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก จำนวนใบมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ

ใบ
ใบเป็นใบเดียว แตกตามปลายกิ่งเรียงเยื้องสลับกัน ยอดอ่อนมีสีม่วงเข้ม เมื่อเป็นใบแก่จะมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบมีรูปหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบมองเห็นเส้นใบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ใบจะเริ่มผลัดร่วงในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

ดอก
ดอกกระบกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยแต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน และตัวเมียขึ้นอยู่กลางดอก ทั้งนี้ ต้นกระบกจะเริ่มออกดอก และติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ผล
ผลกระบกมีลักษณะกลมรี คล้ายกับผลมะม่วงหรือมะปราง ออกเป็นพวงที่ปลายกิ่ง ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลือง เนื้อผลบาง มีรสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย รับประทานได้ โดยผลกระบกจะแก่ และสุก พร้อมจะเริ่มร่วงในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี

เมล็ด
เมล็ดกระบกจะเป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเนื้อผลด้านใน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เปลือกนอก เป็นเปลือกหุ้มส่วนนอก เป็นส่วนที่มีมากที่สุดกว่าร้อยละ 85 มีลักษณะแบน และรี แข็งคล้ายเนื้อไม้ มีร่องตรงกลางเมล็ดทำให้แยกออกเป็น 2 แผ่นได้

ส่วนที่ 2 เปลือกใน เป็นเปลือกหุ้มส่วนกลาง ซึ่งไม่ติดกับส่วนนอก ส่วนนี้จะติดแน่นกับเนื้อเมล็ดส่วนในสุด มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งบางๆ สีน้ำตาลเข้ม

ส่วนที่ 3 เนื้อเมล็ดกระบก เป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุด เป็นเนื้อเมล็ด มีลักษณะแบน และรี สีขาวนวล มีรสมัน เป็นส่วนที่ใช้รับประทาน หรือ หีบสกัดเป็นน้ำมันกระบก

สรรพคุณกระบก
เนื้อไม้
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยฆ่าพยาธิ

ใบ
– ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง

ผล
– ใช้เป็นยาระบาย โดยการรับประทานผลอ่อน หรือ เนื้อผลสุก
– ช่วยขับพยาธิ

เนื้อเมล็ด
– ให้พลังงานแก่ร่างกาย
– ช่วยบำรุงไต
– บำรุงไขข้อ และกระดูก

น้ำมันเมล็ด
– ช่วยบำรุงสมอง
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– รักษาริดสีดวงจมูก
– บรรเทาอาการหอบหืด

การใช้ประโยชน์
ผลกระบก
1. ผลกระบกสุกที่ร่วงลงพื้นใช้เป็นอาหารของวัว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก เนื่องจาก เนื้อผลมีรสหวานอมเปรี้ยว
2. เมล็ดกระบกที่ถ่ายออกมาร่วมกับมูลวัว ชาวบ้านนำมากะเทาะเปลือกออก ซึ่งจะได้เนื้อเมล็ดกระบกที่มีรสมัน โดยจะรับประทานสด หรือ นำมาคั่วไฟเพื่อให้หอมก่อนรับประทาน ปัจจุบัน มีชาวบ้านในภาคอีสานรวบรวมเมล็ดกระบก แล้วนำมาจำหน่ายเป็นรายได้งาม
3. เนื้อเมล็ดกระบกนำมาหีบสกัดเป็นน้ำมัน ใช้ประโยชน์ในหลายด้าน อาทิ
– ใช้หล่อลื่นสำหรับหีบเมล็ดนุ่น หล่อลื่นเครื่องจักร
– ใช้เป็นน้ำมันสำหรับจุดตะเกียงให้แสงสว่าง
– ใช้เป็นน้ำมันสำหรับผลิตสบู่
– ใช้สำหรับทอดอาหาร
– ใช้สำหรับทาผิว ป้องกันผิวแตกกร้าน ใช้ทาริมฝีปาก ป้องกันริมฝีปากแห้งกร้าน
– ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารสัตว์ปีก ช่วยเพิ่มคุณภาพของซากสัตว์ปีกให้ดียิ่งขึ้น

ลำต้น และกิ่ง
1. กระบกเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีลวดลาย มีสีพื้นเป็นสีเทาปนเหลืองอมขาว นิยมแปรรูปเป็นไม้สำหรับก่อสร้างบ้าน อาทิ ไม้วงกบ ไม้หน้าต่าง ไม้ปูพื้น ไม้ระแนง รวมถึงแปรรูปเป็นไม้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่างๆ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน เป็นต้น
2. ท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่ใช้เผาเป็นถ่านสำหรับหุงหาอาหารในครัวเรือน
3. เศษไม้ กิ่งไม้ขนาดเล็กใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน

วิธีผ่าเมล็ด
วิธีกะเทาะหรือผ่าเมล็ดกระบกของคนสมัยก่อนจะใช้มีดกะเทาะออก โดยใช้ไม้เป็นฐานรอง จากนั้น ใช้มือสองข้างจับประคองเมล็ดวางบนฐานไม้ในแนวตั้ง โดยให้ส่วนขั้วเมล็ดอยู่ด้านบน จากนั้น วางคมมีดให้อยู่ในแนวร่องของเมล็ด ก่อนจะประคองเมล็ด และใบมีดยกขึ้น และจับกระแทกลงบนฐานไม้ ซึ่งจะทำให้คมมีดกระแทกตรงร่องเมล็ดจนเมล็ดแยกออกเป็น 2 ซีก ทำให้ได้เนื้อเมล็ดส่วนในสุดออกมา

คุณค่าทางอาหารเนื้อเมล็ด และเปลือกในเมล็ดกระบก

สารอาหาร/แร่ธาตุ

เนื้อเมล็ด (ร้อยละ)

เปลือกในเมล็ด (ร้อยละ)

ความชื้น 22.3 6.7
โปรตีน 10.6 25.9
ไขมัน 47.0 8.1
กากใย 3 7.3
เถ้า 1.6 6.1
คาร์โบไฮเดรต 15.5 45.9
พลังงาน/100 กรัม 527 kcal 360 kcal
ฟอสฟอรัส (mg/g) 2 6.13
โซเดียม (mg/g) ไม่พบ 0.14
โพแทสเซียม (mg/g) 6.01 1.81
แคลเซียม (mg/g) 1.21 3.32
ทองแดง (mg/g) ไม่พบ 0.029
แมงกานีส (mg/g) 0.079 0.166
แมกนีเซียม (mg/g) 1.19 4.56
เหล็ก (mg/g) ไม่พบ 1.60
สังกะสี (mg/g) 0.03 0.088

ชนิดกรดไขมันในน้ำมันกระบก

กรดไขมัน

ร้อยละ

Caproic acid 2.77
Lauric acid 48.02
Myristic acid 42.18
Palmitic acid 3.69
Stearic acid 0.29
Oleic acid 2.28
Linoleic acid 0.26
Palmitoleic acid 0.51
Sponification value 246

นิดกรดอะมิโนในเปลือกในเมล็ดกระบก

สารอาหาร/แร่ธาตุ

เนื้อเมล็ด (ร้อยละ)

เปลือกในเมล็ด (ร้อยละ)

ความชื้น 22.3 6.7
โปรตีน 10.6 25.9
ไขมัน 47.0 8.1
กากใย 3 7.3
เถ้า 1.6 6.1
คาร์โบไฮเดรต 15.5 45.9
พลังงาน/100 กรัม 527 kcal 360 kcal
ฟอสฟอรัส (mg/g) 2 6.13
โซเดียม (mg/g) ไม่พบ 0.14
โพแทสเซียม (mg/g) 6.01 1.81
แคลเซียม (mg/g) 1.21 3.32
ทองแดง (mg/g) ไม่พบ 0.029
แมงกานีส (mg/g) 0.079 0.166
แมกนีเซียม (mg/g) 1.19 4.56
เหล็ก (mg/g) ไม่พบ 1.60
สังกะสี (mg/g) 0.03 0.088

ที่มา : [1], [2]

วิธีปลูกกระบก
กระบกขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะต้นกล้าจากเมล็ด ทั้งนี้ เปลือกนอกกระบกมีความแข็ง และหนา หากใช้วิธีเพาะตามธรรมชาติอย่างเดียวจะงอกช้า ดังนั้น จึงใช้เทคนิคการตัดเปลือกนอกบางส่วนของด้านหัว และด้านท้ายออกก่อนเพาะ และเมื่อเมล็ดงอก และต้นกล้าสูง 20-30 เซนติเมตร ค่อยย้ายกล้าลงปลูกตามจุดที่ต้องการ

การขายเมล็ดกระบก
ปัจจุบัน เนื้อเมล็ดกระบกเป็นที่ต้องการของตลาดสูง เนื่องจากนิยมรับประทาน โดยพบมีพ่อค้าคนกลางเข้ารับซื้อตามหมู่บ้านต่างๆในภาคอีสาน ก่อนนำมาคั่วขายในตัวเมืองหรือในกรุงเทพฯ ราคาขายเมล็ดที่คั่วแล้วสูงกว่า กิโลกรัมละ 300-500 บาท

ต้นกระบกกับไม้ลีลาราคาแพง
ปัจจุบันไม้ลีลาหรือต้นไม้ที่มีลักษณะแปลก และสวยงามกำลังเป็นที่นิยมสูง ทั้งตามปั๊มน้ำมัน รีสอร์ท โรงแรม หรือตามบ้านเรือนคนที่มีฐานะ

ต้นกระบก เป็นต้นไม้ที่นิยมเป็นอันดับต้นๆของไม้ลีลา มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักหลายแสนบาท เนื่องจากลำต้น โดยเฉพาะโคนต้นมีพูพอน และมีการแตกร่องสวยงาม รวมถึงใบเขียวสด ใบดกหนาทึบ เป็นร่มเงาได้ดี

เอกสารอ้างอิง
[1] อุษารัตน์ คำทับทิม และอทิตยา ศิริภิญญานนท์. 2556. การสังเคราะห์ไบโอดีเซลจากน้ำมันเมล็ดกระบก.
[2] สุดสงวน เลาหวินิจ. 2532. การประเมินคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดกระบก.