จอก (Water lettuce) จอกหูหนู ประโยชน์ และสรรพคุณจอก

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

จอก (Water lettuec) จัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกรานชนิดหนึ่ง และเป็นวัชพืชประเภทลอยน้ำที่มีอายุหลายปี สามารถแตกหน่อขยายต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการระบายน้ำ และการตื้นเขินของท้องน้ำ รวมถึงส่งผลต่อคุณภาพน้ำ และการอาศัยอยู่ได้ของสัตว์น้ำ

จอก เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้น้ำประเภทลอยน้ำ นิยมใช้เรียกพืช 2 ชนิด คือ
1. จอก (Pistia stratiotes L.)
2. จอกหูหนู (Salvinia cucullata Roxb.) และจอกหูหนูยักษ์ (Salvinia molesta)

⇒ จอก (Pistia stratiotes L.)

• วงศ์ : ARACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pistia stratiotes L.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Pistia occidentals blume
• ชื่อสามัญ :
– Water lettuce
– Shellflower
– Water cabbage
– Nile cabbage
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– จอก
ภาคเหนือ
– ผักกอก
– กากอก
จีน
– ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว)
– ต้าฝูผิง (จีนกลาง)

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
จอก ไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะมีแหล่งกำเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้ จากนั้น ค่อยแพร่กระจายในประเทศอบอุ่นอื่น รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย

จอกในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค พบได้ทั้งในแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่ง แต่พบ และเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำนิ่ง แหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติ โดยเฉพาะตามบึงขนาดใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
จอกมีระบบรากเป็นรากแขนง และฝอย แตกออกจากโคนต้นจำนวนมาก รากแขนงมีลักษณะคล้ายเส้นด้าย สีขาว อวบน้ำ ดิ่งลึกลงใต้น้ำ ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร บนรากแขนงมีรากเป็นฝอยขนาดเล็กแตกออกคล้ายขนนก ส่วนลำต้นจอกมีขนาดเล็ก อยู่ตรงกลางที่ล้อมรอบด้วยใบ และเมื่อโตเต็มที่จะแตกไหลออกบริเวณโคนต้น พร้อมเจริญกลายเป็นต้นใหม่ได้

ใบ
ใบจอกเป็นส่วนที่ลอยเหนือน้ำ และที่มองเห็นได้มากที่สุด ใบจอกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ และซ้อนกันเป็นชั้นๆ ประมาณ 2-4 ชั้น แต่ละใบมีลักษณะรูปพัด ไม่มีก้านใบ โคนใบสอบติดกับลำต้น ปลายใบขยายใหญ่เป็นรูปพัด อาจมนหรือหยัก กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แผ่นอ่อนนุ่ม หนาใหญ่ มีรูอากาศ และอวบน้ำ มีร่องหรือเป็นลูกคลื่นตามแนวยาวของใบ แผ่นใบปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่มจำนวนมาก ส่วนขอบใบเรียบ

ดอก
ดอกของจอก ออกรวมเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มบริเวณซอกใบ กลุ่มดอกมีแผ่นสีเขียวคล้ายใบเล็กๆ หุ้มไว้ตัวดอกมีขนาดเล็ก สีขาว แผ่นดอกด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม แบ่งเป็นดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวผู้จะอยู่ด้านบน มีประมาณ 2-8 ดอก เรียงเป็นวงซ้อนกัน มีอับเรณูเรียงชิดกัน 2 คู่ ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ด้านล่างสุด แต่มีดอกเดียว มีก้านเกสรยาว และโค้ง ปลายยอดมีตุ่ม และโค้งเข้าหาดอกตัวผู้ ด้านล่างเป็นรังไข่ 1 ช่อง ภายในมีออวุลจำนวนมาก

ผล
ผลจอก มีลักษณะรีเป็นกระเปราะ ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก [2]

การแพร่ขยายพันธุ์
จอกสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้ง 2 แบบ คือ อาศัยเพศ (sexual reproduction) และแบบไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมระหว่างเกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียซึ่งอยู่แยกจากกันคนละดอก ดอกเพศผู้ และเพศเมียจะมารวมกันเป็นช่อดอกขนาดเล็ก เกิดแทรกอยู่ตามโคนซอกใบ โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนของดอกเพศเมียมากการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เกิดขึ้นโดยการแตกไหลออกไปรอบ ๆ ต้นแม่แล้วงอกราก และลำ ต้นขึ้นมาใหม่ ดังนี้เรื่อยไป

จอกเป็นพืชลอยน้ำที่ชอบแสงแดดจัด แพร่ และขยายพันธุ์ด้วย 2 วิธีข้างต้น เป็นพืชสามารถเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำจืดที่สะอาด ทั้งน้ำนิ่ง และน้ำไหล แต่ทั่วไปจะเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำนิ่ง และไม่ชอบน้ำกร่อย หรือน้ำสกปรก

⇒ จอกหูหนู
จอกหูหนู อยู่ในวงศ์ Salvinaceae แบ่งเป็นจอกหูหนู (Salvinia cucullata Roxb.) และจอกหูหนูยักษ์ (Salvinia molesta)

จอกหูหนู จัดเป็นเฟิร์นประเภทลอยน้ำชนิดหนึ่ง มีลำต้นกลมเรียว และแตกไหลทอดราบไปกับผิวน้ำ มีใบออกบริเวณข้อของลำต้น ข้อละประมาณ 3 ใบ ขนาดใบกว้างได้ถึง 3 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร หรือเรียกว่า จอกหูหนูยักษ์ (Salvinia molesta) โดยมี 2 ใบด้านบน เป็นใบสีเขียวสด มีรูปทรงกลม มีขนละเอียดปกคลุม และขนมีไขเคลือบ เพื่อป้องกันไม่ให้ใบเปียกน้ำ ส่วนอีกใบ เป็นใบที่แตกอยู่ใต้น้ำ มีลักษณะเป็นฝอยคล้ายกับราก เส้นใบมีสีน้ำตาลคล้ำ และเป็นใบที่ทำหน้าที่คล้ายกับราก และการสร้างสปอร์ แต่สปอร์มักฝ่อ ไม่เจริญ ดังนั้น การขยายพันธุ์ของหูหนูจึงใช้แบบไม่อาศัยเพศ คือ แตกไหล และลำต้นใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งไหลที่เจริญเต็มที่ และพร้อมแตกหน่อใหม่จะขาดออกจากลำต้นแม่ [4],[5]

ประโยชน์จอก
1. ในบางประเทศ ใบจอกถูกใช้ประกอบอาหารหรือใช้เป็นยาสมุนไพร ใบให้รสขม และเผ็ดเล็กน้อย
2. จอกใช้เลี้ยงในอ่างเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงปลา เพื่อเป็นพรรณไม้น้ำประดับ และให้ร่มเงาต่อปลา รวมถึงช่วยบำบัดน้ำในบ่อเลี้ยงให้สะอาด ทั้งนี้ จอกจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีนักสำ หรับการเลี้ยงในอ่าง (aquarium) ที่เป็นระบบปิดที่ไม่มีแสงแดดส่องถึงหรือส่งถึงน้อย แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในอ่างเลี้ยงปลานอกบ้านทมี่ แสงสว่างพอเพยี ง
3. ทั้งลำต้น และใบจอกใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์หรือให้เป็นอาหารสดเดี่ยวๆ โดยเฉพาะเป็ด และหมู ทั้งนี้ แนะนำให้ต้มหรือทำสุก เพราะอาจติดพยาธิได้ง่าย
4. จอกเอื้อต่อสัตว์น้ำ เป็นแหล่งที่พักหรือหลบภัย โดยเฉพาะลูกปลาวัยอ่อน รวมถึงเป็นแหล่งวางไข่ของปลาบางชนิด เพราะรากจอกมีความหนาแน่น ไข่ปลาสามารถเกาะได้ดี
5. จอกใช้บำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์ที่นิยมใช้เป็นพืชบำบัดน้ำเสียชนิดลอยน้ำ ช่วยบำบัดทั้งสิ่งสกปรกในรูปอินทรีย์ อนินทรีย์ ไนเตรต ฟอสฟอรัส และโลหะหนัก
6. จอกในบ่อที่แพร่กระจายมาก ตักเก็บมากอง และหมักทำปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงเกษตร โดยนำมาหมักรวมกันกับพืชน้ำชนิดอื่นหรือหมักร่วมกับปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์

ข้อเสียของจอก
จอกเป็นวัชพืชน้ำที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีไนโตรเจน และฟอสฟอรัสมาก อาทิ แหล่งน้ำลำคลองที่รับน้ำทิ้งจากชุมชน เมื่อแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์ ได้แก่
1. ปิดบังแสงที่ส่องลงท้องน้ำ ทำให้พืชน้ำ สาหร่าย และแพลงก์ตอนพืชไม่สามารถสังเคาะห์แสง และเติบโตได้
2. อุณหภูมิน้ำลดลง เพราะแสงส่องไม่ถึง ไม่เหมาะต่อการวางไข่ของปลา
3. น้ำเน่าเสียจากการาย และเน่าเปื่อยของจอก
4. ขัดขวาง และลดประสิทธิภาพการไหลของน้ำ
5. ขัดขวาง และเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ

สรรพคุณจอก
ใบ (รับประทานหรือต้มดื่ม ขมเผ็ดเล็กน้อย)
– รักษาอาการร้อนใน
– ช่วยแก้อาการช้ำใน
– ช่วยลดไข้
– ช่วยขับเหงื่อ
– ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ
– แก้หอบหืด
– ใช้เป็นยาขับลม
– รักษาโรคบิด
– แก้ริดสีดวงทวาร
– ใช้เป็นยาระบาย และยาขับปัสสาวะ

ใบ (ต้มอาบหรือทาภายนอก)
– ช่วยรักษาแผล ทั้งแผลสด แผลไฟไหม้ แผลติดเชื้อ แผลมีน้ำหนอง
– ช่วยห้ามเลือด
– ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผิวหนังติดเชื้อรา ด้วยการต้มอาบหรือขยำทา
– ช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำ ลดอาการปวดบวมของแผล
– แก้พิษแมลงกัดต่อย ลดอาการปวด

ราก
– ใช้เป็นยาระบาย
– ช่วยขับปัสสาวะ

เพิ่มเติมจาก : [3]

ข้อควรระวัง
หากนำมารับประทาน ควรปรุงสุกด้วยการลวกหรือต้มน้ำร้อนก่อน เพราะอาจมีเชื้อโรค และไข่พยาธิติดมากับราก และใบ

ขอบคุณภาพจาก sc.chula.ac.th/, www.pinterest.com

เอกสารอ้างอิง
[1] รจนา อินทรธิราช, 2546, การใช้พืชลอยน้ำประเภทจอกและแหน-
คลุมผิวน้ำเพื่อลดปริมาณสาหร่าย.
[2] วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2538, พจนานุกรม สมุนไพรไทย, รวมสาส์น.
[3] ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, จอก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1625/.