ตะแบก ประโยชน์ และสรรพคุณตะแบก

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ตะแบก จัดเป็นไม้ประดับ และไม้มงคล เนื่องจาก ช่อดอกมีขนาดใหญ่ ดอกมีสีม่วงอมชมพู เมื่อดอกบานแลดูสวยงาม ลำต้นมีทรงพุ่มใหญ่ ให้ร่มเงาดี จึงนิยมปลูกตามสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงมีความเชื่อว่าเป็นไม้ที่ช่วยค้ำจุนครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข ดั่งคำเรียกว่า ตะแบก คือ การแบกรับไม่ให้ตกต่ำ

• วงศ์ : Lythraceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia calyculata Kurz.
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ตะแบก
– ตะแบกใหญ่
– ตะแบกหนัง
ภาคเหนือ
– แลนไห้
– ป๋วย
– เปื๋อย, เปือย
– เปื๋อยขาว
– เปื๋อยตุ้ย
– เปื๋อยค่าง
– เปื๋อยเปลือกหนา
– ตะคู้ฮก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ภาคใต้
– ตะแบกขาวใหญ่
– ตะแบกใหญ่
– บองอยาม
– ตะแบกแดง
– อ้าย
ภาคอีสาน
– เปลือยดง
ภาคตะวันออก
– ตะแบกหนัง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ตะแบก เป็นไม้ยืนตั้งท้องถิ่นของเอเชีย พบแพร่กระจายตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้พม่า ไทย ลาว และประเทศใกล้เคียงเรื่อยจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และประเทศออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบตะแบกได้ในทุกภาค พบได้ตามป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เพิ่มเติมจาก [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ตะแบก จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นความสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงบนเรือนยอด มีทรงพุ่มเป็นรูประฆัง กิ่งแขนงมีปานกลาง แต่มีใบใหญ่ และดก ทำให้แลเป็นทรงพุ่มหนา โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โคนลำต้นของต้นที่โตเต็มที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นพูพอน และเป็นร่องลึกล้อมรอบลำต้น ซึ่งเป็นร่องยาวสูงจนถึงประมาณกลางลำต้น ส่วนลำต้นส่วนปลายไม่เกิดเป็นร่อง เปลือกลำต้นค่อนข้างบาง มีสีขาวอมเหลือง และเป็นหลุมตื้นๆกระจายทั่ว ซึ่งเกิดจากผิวด้านนอกแตกสะเก็ดหลุดออก แต่ผิวลำต้นเรียบเนียน และสากมือบริเวณขอบหลุม เปลือกลำต้นชั้นในเป็นสีแดงม่วง ส่วนกิ่งแขนงย่อยมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาล

ใบ
ตะแบกเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่งแขนงย่อยหรืออาจออกเยื้องตรงข้ามกันเล็กน้อย ประกอบด้วยก้านใบสั้น 5-7 มิลลิเมตร แผ่นใบมีรูปไข่หรือรูปหอก กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบมีติ่งแหลม แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีม่วงแดง และมีขนสั้นๆปกคลุม ใบแก่มีสีเขียวสด และเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมเหลืองขนาดใหญ่ชัดเจน และมีเส้นแขนงใบเรียงเป็นคู่ๆ ปลายเส้นแขนงใบจรดขอบใบ ทั้งนี้ ต้นตะแบกจะเริ่มผลัดใบในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน พร้อมกับแตกใบใหม่ควบคู่กันไปตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม

ดอก
ตะแบก ออกดอกเป็นช่อแขนง (panicle) บริเวณปลายยอดกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 20-25 ดอก เรียงกันจนจรดปลายช่อดอก ดอกย่อยแต่ละดอกมีรูปร่างแบบรูปปากเปิด (bilabiate) เส้นผ่าศูนย์กลางดอกขณะบานเต็มที่ประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 6 กลีบ เชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 6 กลีบ มีขนาดยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอก และขอบกลีบดอกย่น มีสีม่วง หรือม่วงอมชมพูหรือสีขาว ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5-6 กลีบ โคนกลีบคอดเป็นก้านกลีบ ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้มีจำนวนมาก มีอับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนรังไข่มี 1 อัน ที่อยู่บริเวณฐานดอก รังไข่เป็นแบบรูปไข่เหนือวงกลีบ (superior ovary)

ทั้งนี้ ตะแบกจะเริ่มออกดอกหลังการแตกใบใหม่ ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เมื่อดอกบานจะมีช่อดอกใหญ่ แลดูสวยงาม

ผล และเมล็ด
ผลตะแบกมีรูปค่อนข้างกลม ผลสดมีเปลือกหุ้มสีเขียว และหนา เมื่อแก่ เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเป็นแบบผลแห้งแตก (capsule) ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตร ผิวแข็ง ผลแตกตามยาว 5-6 พู ส่วนด้านในเป็นเมล็ด จำนวนมาก ขนาดเมล็ดยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร เมล็ดรูปร่างแบบรี มีปีก เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล ทั้งนี้ ผลตะแบกจะเริ่มติดหลังดอกบานแล้วประมาณ 1 เดือน และผลเริ่มแห้งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม และบางผลจะเริ่มปริแตก ปล่อยให้เมล็ดร่วงลงดินไปพร้อมกัน เพิ่มเติมจาก [2]

ประโยชน์ตะแบก
1. ไม้ตะแบกมีทรงพุ่มใหญ่กว้าง ทรงพุ่มหนา ทำให้เป็นร่มเงาได้ดี นอกจากนั้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกมีสีม่วงหรือขาว เมื่อดอกบานจะเป็นช่อใหญ่สวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา และเพื่อประดับดอก ซึ่งพบเห็นได้ตามสวนสาธารณหรือข้างถนนหนทาง
2. เนื้อไม้ตะแบกมีสีน้ำตาลอมเทา เนื้อไม้แข็งแรง ไม่มีเสี้ยน แผ่นไม้ไม่แตกเป็นร่อง นิยมแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างต่างๆ อาทิ แผ่นไม้ปูพื้น ไม้ฝ้า ไม้วงกบ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน อาทิ โต๊ะ เตียง กล่องไม้ ด้ามมีด ด้ามปืน เป็นต้น
3. ท่อนไม้ตะแบกใช้เผาถ่าน ให้ก้อนถ่านแข็ง ถ่านให้ความร้อนสูง รวมถึงกิ่งก้านใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหารได้เป็นอย่างดี
4. ต้นตะแบกเป็นไม้มงคล เพราะคนไทยโบราณเชื่อว่า การปลูกตะแบกจะช่วยค้ำชูคนในครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข ฐานะร่ำรวย มั่นคง ดั่งคำเรียกที่ว่า ตะแบก หมายถึง การแบกรับไว้ไม่ให้ตกต่ำ [6]
5. ขอนดอก เป็นชื่อเรียกแก่ไม้ตะแบกที่มีลักษณะผุผัง มีสีน้ำตาลอมดำ ประขาว มีโพรงอากาศ มีกลิ่นหอม คล้ายกับแก่นกฤษณา เกิดเฉพาะต้นตะแบกที่มีอายุมาก เนื่องจากมีราบางชนิดเข้าไปเติบโตในแก่น แก่นบริเวณนี้ นิยมใช้ทำเป็นยาหรือใช้สกัดน้ำหอม

สรรพคุณตะแบก
ดอก (ต้มดื่ม)
– แก้ท้องเสีย
– ช่วยบำรุงเลือด บำรุงร่างกาย

ดอก (บดใช้ภายนอกหรือต้มอาบ)
– ช่วยรักษาบาดแผล
– ช่วยห้ามเลือด
– แก้โรคผิวหนัง
– รักษาผดผื่นคัน

เปลือก และแก่นลำต้น (ต้มดื่ม)
– บรรเทาอาการไข้หวัด
– แก้มูกเลือด
– ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ท้องร่วง
– แก้โรคบิด
– ช่วยแก้พิษ แก้ลงแดง แก้พิษสารเสพติด

เปลือก และแก่นลำต้น (ต้มน้ำอาบ)
– รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อจากเชื้อรา
– รักษาผดผื่นคัน

ราก
– แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย

ขอนดอกหรือแก่นดำ (ต้มดื่ม)
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– บำรุงปอด
– บำรุงตับ
– ใช้เป็นยาแก้วิงเวียนศรีษะ หน้ามืด ตาลาย
– ช่วยแก้พิษไข้
– ช่วยขับเสมหะ

เพิ่มเติมจาก [3], [4], [5]

การปลูกตะแบก
ตะแบกขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดจากผลแห้งหรือผลที่ปริแตกแล้วมาเพาะ หลังการเพาะ 20 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก และดูแลต่อจนมีอายุได้ 3-4 เดือน หลังเมล็ดงอก หรือ ลำต้นสูงได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร จึงย้ายกล้าลงปลูก

ขอบคุณภาพจาก ThaiGoodView.com

เอกสารอ้างอิง
[1] นพรัตน์ พัฒนเงิน, 2528, การศึกษาทางอนุกรมวิธานของพันธุ์ไม้สกุลตะแบก-
เสลา และอินทนิลในประเทศไทย.
[2] ชลิดา ชะม้อย, 2555, อัตราการย่อยสลายและความหลากหลาย-
ของราบนซากใบตะแบกใหญ่ในป่าดิบแล้ง-
และป่าผสมผลัดใบ ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่.
[3] ยาสมุนไพรพื้นบ้าน ตะแบก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://arit.kpru.ac.th/rlocal/index.php/2014-06-12-08-32-11/48-2014-06-12-08-29-53/herbalmedicine-kamphaeng/1149-lagerstroemia-calyculata-kurz/.
[4] ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ตะแบก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ :
https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/science/10000-5660.html/.
[5] มหาวิยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี, ตะแบก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ :
https://www.rbru.ac.th/db_arts/rbruflower/pdf/Lagerstroemia_floribunda.pdf/.
[6] สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา, ตะแบก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ :
http://rspgmv.phayalae.ac.th/tawxyang-phrrn-mi-laea-kar-suksa-phrrn-mi/tawxyang-phrrn-mi-chephaa-swn/tabaek/.