โกสน และการปลูกโกสน

Last Updated on 24 สิงหาคม 2016 by puechkaset

โกสน (Croton) เป็นไม้ใบประดับที่นิยมปลูกชนิดหนึ่ง เนื่องจากใบมีลวดลายแปลกตา และสีสันสวยงาม มีลำต้น และทรงพุ่มขนาดเล็ก มีใบดก เติบโตได้ดีในที่แจ้ง ทนต่อต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี และไม่ต้องดูแลพิถีพิถันมาก

– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Codiaeum variegatium. Blume.
– ชื่อสามัญ : Croton
– สกุล : Euphorbiaceae

ลักษณะทั่วไป
1. ลำต้น
โกสนเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร และสูงได้มากกว่านี้ ลำต้นมีสีเทา เปลือกลำต้นบาง เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง แตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น แตกกิ่งน้อย แต่ให้ใบดกใหญ่ จนมองเป็นทรงพุ่มหนา

Croton

Croton2

2. ใบ
ใบโกสน ออกเป็นใบเดี่ยว ออกเยื้องกันบนกิ่งใกล้ปลายใบ ใบมีหูใบ มีหลากหลายสี อาทิ สีน้ำตาล สีเหลือง สีแดง สีดำ สีแสด และสีเขียว ซึ่งเป็นลายปะปนกันทั่วใบ ใบมีหลายแบบ ได้แก่
– ใบกว้างยาว หรือใบบายศรี หรือ ใบมะม่วง
– ใบรูปตรี
– ใบกลมกว้าง และสั้น
– ใบแคบยาว
– ใบแคบ ขอดยาว

ชื่อเรียกส่วนต่างๆของใบ
– ปลาใบงอกระดกกลมโค้งมนขึ้น เรียกว่า เป็ด
– ถัดจากเป็ด เป็นบริเวณทีขอบใบชนกัน เรียกว่า จีบ
– ส่วนโคนใบ เรียกว่า สะโพก
– ถัดจากโคนใบต่อกับกิ่ง เรียกว่า ก้านใบ
– เส้นกลางใบ เรียกว่า กระดูก
– คลื่นหรือรอยย่นรอบกระดูก เรียกว่า ย่น
– ขอบกระดูก เรียกว่า รังบวบ
– ปลายใบแหลมยาว เรียกว่า เปีย
– ส่วนที่ติดกับก้านใบ เรียกว่า หูใบ
– ยอดอ่อนที่เป็นใบยังไม่กาง เรียกว่า เขี้ยว หรือ เขี้ยวกระแต

3. ดอก และผล
ดอกโกสนออกเป็นช่อ ภายในมีเกสรตัวเมีย 3 อัน แต่ละอันแยกเป็น 2 แฉก ผลมี 3 ห้อง ภายในมี 3-6 เมล็ด

ลักษณะต้นโกสนที่ดี
– ใบ มีความสม่ำเสมอ สีตรงตามพันธุ์ มีใบใหญ่บ้าง เล็กบ้าง มีเนื้อใบหนา ไม่ทิ้งใบง่าย หากเป็นใบกลมต้องกลมให้มาก หากใบยาว ต้องยาวสม่ำเสมอทั้งต้น ส่วนการแตกใบจะต้องแตกใบถี่ แตกออกจากิ่งรอบทุกด้าน ทำให้มองเป็นทรงพุ่มทึบ
– สีใบ ต้องสดใส ไม่ซีดจาง มีสีสม่ำเสมอ
– ก้านใบ ต้องใหญ่ แข็งแรง ใบที่มีขนาดเท่ากันต้องมีก้านใบยาวเสมอกัน
– หูใบต้องยืด ก้านใบต้องสั้น เรียกว่า หูยาน ก้านสั้น
– ใบมีลักษณะเด่น และแปลกตา
– ลำต้น ตั้งตรง ต้องอวบ สั้น ไม่สูงมาก แตกกิ่งมาก แตกกิ่งไม่ยาวมาก
– หากต้องการลำต้นเดี่ยว ต้องไม่มีกิ่งก้าน ลำต้นตั้งตรง
– หากแตกกิ่ง ต้องแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มกลม และปลายยอดแหลม

การตั้งชื่อโกสน
การตั้งชื่อโกสนมี 2 แบบ คือ
1. การตั้งชื่อแบบตับต่างๆ
• ตับรามเกียรติ์ อาทิ อินทรชิต นิลนนท์ พาลี สุครีพ พระราม พระลักษมณ์ หนุมานเผากรุงลงกา พิเภก เอราวัณ สหัสเดชะ เป็นต้น
• ตับขุนช้างขุนแผน อาทิ ขุนช้างถวายฎีกา ขุนช้างกินเลี้ยง เศรษฐีสุพรรณ เณรแก้ว พลายงาม พลายชุมพล และดาบขุนแผน เป็นต้น
• ตับจังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ กรุงธนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สระบุรี ขอนแก่น เป็นต้น
• ตับผู้ชนะสิบทิศ อาทิ พระเจ้าธรรมาธิราช ผู้ชนะสิบทิศ จะเด็ด เม็งจา มังสินธู สีอ่อง สอพินยา นางตองสา และมณีจักร เป็นต้น
• ตับแหลมประวัติศาสตร์ อาทิ แหลมทอง แหลมเทียน แหลมสิงห์ แหลมทราย แหลมสน แหลมตะลุมพุก เป็นต้น
• ตับวีรสตรี อาทิ พระนางศรีสุริโยทัย และท้าวสุรนารี เป็นต้น
• ตับเบ็ดเตล็ด เป็นตับสั้นๆ และมีตับย่อยแตกออกมาอีก มักเป็นโกสนพันธุ์เก่าๆ ได้แก่
– ตับแขก ประกอบด้วย แขกอินเดีย แขกดำ และเจ้าแขก
– ตับมังกร ประกอบด้วย มังห้าแล็บ มังกรแดง และมังกรเหลือง
– ตับหิมะวัน ประกอบด้วย หิมะวันแดง หิมะวันเหลือง และหิมะวันขาว
– ตับสาเก ประกอบด้วย สาเกขาว สาเกเหลือง และสาเกกระ
– ตับสังข์ทอง ประกอบด้วย พระสังข์ รจนา และเท้าสามล
– ตับอิเหนา ประกอบด้วย บุษบา ประสันตา ปันหยี อิเหนา และจรกา
– ตับราชาธิราช ประกอบด้วย มังกรมณีจักร และสมิงนครอินทร์
– ตับมัทนะพาธา ประกอบด้วย สุเทษณ์ มัทนา และท้าวชัยเสน
– ตับไกรทอง ประกอบด้วย ไกรทอง ตะเภาแก้ว ตะเภาทอง

2. การตั้งชื่อเดี่ยว
เป็นลักษณะการตั้งชื่อของพันธุ์โกสนใหม่ที่มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของพันธุ์ ซึ่งจำนวนต้นหรือลักษณะพันธุ์ยังไม่มีความหลากหลายพอที่จะตั้งให้เป็นตับได้ อาทิ ศรีสง่า ศรียวล ศรีวิชัย เหรียญทอง ขาวเกษม แสงจันทร์ เจ้าโลก ทับทิมทอง สอยดาว สายรุ้ง เป็นต้น (มยุรี นนทปัทมะดุลย์, มมป.)(1)

การปลูก และขยายพันธุ์
การเตรียมดิน
ดินที่ใช้ปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับการปลูกในกระถาง ควรเป็นดินที่เตรียมได้จากดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ โดยใช้อัตราส่วนดินร่วน:ขี้เถ้าแกลบ/แกลบดำ:ขุยมะพร้าว:ปุ๋ยคอก ที่ 1:1:2:1

การปลูก และขยายพันธุ์
โกสนเป็นพืชที่ต้องการแสง หากปลูกในที่ร่มมาก กิ่งจะสั้น ใบจะมีสีจาง ไม่สวยงาม นอกจากนั้น ในช่วงอากาศเย็นมักพบว่า ใบโกสนมีสีสันสวยงามมากกว่าช่วงที่มีอากาศร้อน ดังนั้น โกสนที่ปลูกในภาคเหนือมักจะสวยกว่าโกสนที่ปลูกในภาคกลาง

โกสนสามารถปลูก และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ แต่วิธีที่นิยมที่สุด คือ การปักชำ และการตอนกิ่ง

การปักชำกิ่งเป็นวิธีที่นิยมมาก เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์โกสนได้รวดเร็ว และได้ในปริมาณมาก ด้วยการเพาะชำในถุงเพาะชำหรือในกระถาง โดยใช้ดินผสมในข้างต้น นำกิ่งพันธุ์ ยาว 4-6 นิ้ว ริใบออกให้หมดหรือปล่อยไว้เฉพาะส่วนยอด ปักชำลึก ประมาณ 2-3 นิ้ว ในแนวเอียง 45 องศา ประมาณ 20 วัน กิ่งโกสนจะติดราก และเริ่มแตกยอดใหม่

ส่วนการตอนจะใช้วิธีการตอนเหมือนไม้อื่นๆ วิธีนี้จะได้ต้นพันธุ์ที่สั้น ลำต้นเดี่ยว และไม่ค่อยแตกกิ่ง เนื่องจาก เป็นต้นพันธุ์ของกิ่งจากลำต้น

การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด นั้น ไม่ค่อยพบนัก เนื่องจาก ต้นโกสนมีดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียแยกกันอยู่คนละช่อกัน และช่อดอกมักแทงออกไม่พร้อมกัน ทำให้ไม่มีการผสมเกสรข้ามช่อดอก แต่หากใช้โกสนจำนนมากมารวมกัน ก็อาจสามารถผสมเกสร และให้เมล็ดได้ เพราะจำนวนต้นที่มากทำให้มีโอกาสที่ดอกจะแทงออกพร้อมๆกันจากต้นอื่นๆ ทั้งนี้ อาจต้องช่วยในการผสมเกสรด้วยการนำเกสรตัวผู้มาใส่ในดอกตัวเมีย หากดอกติดผล ผลจะมีขนาดเท่าเมล็ดพริกไท เมล็ดแก่จะมีสีดำ ค่อยเก็บหรือรอให้ร่วง แล้วนำมาเพาะกล้าอีกที

การปลูกนิยมปลูกทั้งในกระถางด้วยการใช้ดินผสมข้างต้น และการปลูกในแปลงหรือสวน ซึ่งอาจเป็นดินทั่วไปที่ไม่ผสมวัสดุอินทรีย์หรือใส่วัสดุอินทรีย์ผสมหรือโรย พรวนบริเวณหน้าดิน

การรดน้ำ ขณะปักชำควรรดวันละครั้ง และเมื่อต้นแตกยอด และใบแล้ว ควรรด 1-2 วัน/ ครั้ง ในปริมาณที่พอชุ่ม ส่วนโกสนที่ใหญ่แล้วอาจรดน้ำเพียง 3-5 วัน/วัน หรือสภาพความชุ่มชื้นของดิน

การใส่ปุ๋ย เมื่อต้นตั้งตัวได้ควรเป็นปุ๋ยคอก และใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย ใส่ทุกๆ 2-3 เดือน

การปลูกโกสนหากต้องการสีใบที่มีสีสดใส ควรปลูกหรือวางกระถางไว้ในที่แจ้ง หากต้องการสีอ่อนหรือสีเขียวมากจะปลูกหรือวางกระถางในที่ร่ม และมีแสงแดดรำไร และในฤดูหนาวสีของใบจะสดใสมากกว่าในฤดูร้อน

กล้าโกสน

ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com

เอกสารอ้างอิง
1. มยุรี นนทปัทมะดุลย์, มมป. โกสน : ราชาแห่งไม้ประดับ. สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.