Last Updated on 4 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
แสมดำ (สะแม๋-ดำ) จัดเป็นไม้เบิกนำป่าชายเลนที่พบได้ตามแนวป่าชายเลนชั้นนอก ซึ่งถือเป็นแนวป่าที่ช่วยดักตะกอนดินสำคัญในระบบนิเวศป่าชายเลน อีกทั้งเป็นแหล่งอาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำ และถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า นอกจากนั้น ยังนำส่วนต่างของแสมดำมาใช้ประโยชน์ อาทิ ยาสมุนไพร การฟอกหนัง และนำเมล็ดมารับประทาน
• วงศ์ : Avicenniaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Avicennia officinalis Linn.
• ชื่อท้องถิ่น : แสมดำ อ่านว่า สะแม๋-ดำ
การแพร่กระจาย
แสมดำ เป็นพืชที่พบกระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบประเทศอบอุ่นที่มีพื้นที่ติดชายทะเล โดยพบทั่วไปตามริมแม่น้ำหรือลำคลองบริเวณชั้นในของป่าชายเลน ซึ่งไล่มาตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงชายทะเลของออสเตรเลีย
แสมดำจัดเป็นพันธุ์ไม้ชั้นแรกของป่าชายเลนหรือที่เรียก ไม้เบิกนำป่าชายเลน ซึ่งพบได้ทั้งในแหล่งดินเลนแข็ง และดินเลนอ่อนบริเวณใกล้ชายทะเล เป็นพืชป่าชายเลนที่เติบโตเร็ว ลำต้นสูงใหญ่ มีระบบรากที่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังหรือแห้งแล้งได้ดี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
แสมดำเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 8-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มหนา และแตกกิ่งตั้งแต่ด้านล่างของลำต้น โคนลำต้นไม่เป็นพูพอน เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทาอมน้ำตาล เปลือกลำต้นมีช่องอากาศโดยทั่ว
รากแสมดำประกอบด้วยรากอาหารที่อยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่ดูดสารอาหารในดิน และน้ำมาเลี้ยงลำต้น โดยรากอาหารแตกแขนงเป็นตาข่ายสายกันหนาแน่น หยั่งลึกลงดินประมาณ 20-50 เซนติเมตร และมีระบบรากอากาศที่โผล่ขึ้นเหนือดิน ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร รากอากาศนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ และหายใจ โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นที่ท่วมโดยรอบโคนต้น นอกจากนั้น คลอโรฟิลล์ที่อยู่บริเวณปลายรากจะทำหน้าที่สังเคราะห์อาหารคล้ายหน้าที่ของใบได้ด้วย ทั้งนี้ ระบบรากของแสมดำทั้ง 2 ชนิด สามารถกรองแยกเกลือกับน้ำ ทำให้เกลือเข้าสู่เซลล์ลำต้นได้น้อยลง
ใบ
ใบแสมดำออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่ง มีก้านใบยาว 0.7 – 1.1 เซนติเมตร แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-9 เซนติเมตร ปลายใบกลม และแผ่กว้าง ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ส่วนใบด้านล่างมีสีจางกว่า และมีขนยาว สีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุม ใบอ่อนมีขนปกคลุม
ดอก
ดอกแสมดำออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งตามง่ามใบ มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอก 7-10 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอกไม่มีก้านดอก ขนาดดอกประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ ฐานกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก ถัดมาเป็นกลีบดอกมีลักษณะเป็นหลอด ประกอบด้วยกลีบดอก จำนวน 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน แต่ละกลีบยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองหรือเหลืองถึงส้ม ถัดมาด้านในเป็นเกสรเพศผู้ จำนวน 4 อัน มีก้านเกสรโผล่ยาวเหนือกลีบดอก ทั้งนี้ ดอกแสมดำจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม-พฤษภาคม
ผล และเมล็ด
ผลของแสมดำมีรูปหัวใจ มีลักษณะเบี้ยว และแบน ปลายผลย่น และเป็นติ่งจะงอยแหลม ขนาดผลกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เปลือกผล และเนื้อผลอ่อนนุ่ม มีขนนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลปกคลุม ผลอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว ผลสุกมีสีเหลือง และปริแตกบริเวณด้านข้างตามแนวยาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม และแบน ทั้งนี้ แสมดำจะติดผลให้เห็นในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคม
ประโยชน์แสมดำ
1. เมล็ดแสมนำมาแกะเอาตาอ่อนออก ก่อนนำไปต้มน้ำให้มีรสจืด ก่อนนำมารับประทานหรือใช้ทำขนมหวานร่วมกับธัญพืชอื่น
2. เปลือก และลำต้นมีความฝาดใช้ต้มฟอกหนัง
3. รากแสมดำแตกรากแขนงออกจำนวนมาก ช่วยทำหน้าที่ในการกรองตะกอนไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล
4. ลำต้นใช้ทำไม้ค้ำยันในการก่อสร้าง ใช้ทำเสาเข็ม เสาบ้าน เสาโป๊ะ รวมถึงใช้เผาเป็นถ่าน
5. ลำต้น และกิ่งนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มอาหาร
6. ลำต้น กิ่ง ใบ และผลใช้เป็นยาเบื่อปลา (ปลาน้ำจืด) โดยนำส่วนต่างๆของต้นแสมดำมาทิ้งแช่ในบ่อปลา หรือนำน้ำต้มเทใส่บ่อเลี้ยงหรือตู้ปลา
7. เป็นแหล่งพักอาศัยหรืออนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เติบโต และมีชีวิตรอดจนพึ่งตัวเองได้
สรรพคุณแสมดำ
ทุกส่วน (ใช้ต้มดื่ม)
– บรรเทาอาการโรคเกี่ยวกับข้อ และกระดูก
– แก้กษัยเส้น
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ปัสสาวะพิการ
– แก้หอบหืด
– แก้ไอกรน
– รักษาฝีในท้อง
– ต้านการอักเสบ
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้ริดสีดวงทวาร
– แก้อาการท้องมาน
– แก้อาการอาเจียน
– แก้อาการแน่นท้อง จุกเสียดท้อง
– แก้อาการท้องเสีย
ทุกส่วน (ใช้ต้มอาบหรือทาภายนอก)
– รักษาโรคผิวหนัง
– แก้ผดผื่นคัน
– รักษาแผล แผลสด หรือ แผลเป็นหนอง
เปลือก และแก่นลำต้น (นำมาต้มดื่ม มีรสเค็ม และเฝื่อน)
– แก้ลมในกระดูก
– แก้กษัยเส้น
– แก่นแสมดำใช้คู่กับแก่นแสมสานสำหรับทำเป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี
– ในประเทศอินเดียใช้เปลือกทำยาบำรุงกำหนัด และบรรเทาอาการปวดฟัน
เปลือก และแก่นลำต้น (ใช้ภายนอก)
– ในประเทศอินเดียนำแก่นมาใช้สำหรับแก้พิษงู
– ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียนำแก่นมาใช้เป็นยาทำหมัน
ผล และเมล็ด
– ในประเทศอินเดียนำเมล็ดอ่อนมาตำพอกรักษาฝี
– แก้กษัยเส้น
ที่มา : (1), (2), (3)
ขอบคุณภาพจาก biogang.net/, www.samunpri.com
เอกสารอ้างอิง
(1) สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน. 2549. พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในประเทศไทย.
(2) สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย 2526. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย.
(3) นิรัตน์ จินตนา. 2527. สมุนไพรจากป่าไม้ชายเลน.