แมงลัก/ใบแมงลัก(Hairy Basil) สรรพคุณ และการปลูกแมงลัก

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

แมงลัก (Hairy Basil) จัดเป็นพืชผักสมุนไพรที่ให้กลิ่นฉุน และมีรสเย็น ที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจำนวนมาก ซึ่งนิยมใช้ประกอบอาหารเพื่อให้อาหารมีกลิ่นน่ารับประทาน อีกทั้ง เป็นผักสมุนไพรที่ใช้เพื่อการดับกลิ่นคาวของอาหารได้ดี นอกจากนั้น น้ำมันหอมระเหยจากใบแมงลักยังถูกใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์น้ำหอมอีกจำนวนมาก

แมงลัก เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกับกระเพรา และโหระพา ที่เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประโยชน์ที่ได้จากใบแล้ว เมล็ดแมงลักยังเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มาก อาทิ ใช้ผสมในน้ำเชื่อม และขนมหวาน รวมถึงใช้เมือกสกัดผสมในอาหารเพื่อให้เกิดความหนืดของอาหาร

• วงศ์ : Labiatae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocinum canum . Sim.
• ชื่อพ้อง : O. americanum Linn.
• ชื่ออังกฤษ :
– Labiatae
– Hairy Basil
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– แมงลัก
– มังลัก
– ขาวมังลัก
อีสาน
– ผักอี่ตู่
เหนือ
– กอมก้อขาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
แมงลัก เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี ลำต้นสูงประมาณ 30-50 ซม. ลำต้น และกิ่งมีรูปค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่าง เปลือกลำต้น และกิ่งมีสีเขียวอ่อน และค่อนข้างบาง ส่วนราก มีระบบรากเป็นรากแก้ว และรากฝอย รากสามารถหยั่งลึกได้มากกว่า 30 ซม.

แมงลัก

ใบแมงลัก
ใบแมงลัก แทงออกเป็นใบเดี่ยว และออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน โดยพบใบแทงออกทั่งบนลำต้น และกิ่ง ใบมีสีเขียวสด มีก้านใบยาวประมาณ 2.5 ซม. รูปร่างของใบมีรูปวงรีหรือรูปหอก ใบยาวประมาณ 2.5-5 ซม. กว้างประมาณ 1-2.5 ซม. ปลายใบค่อนข้างแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ และมีขนอ่อน และสั้นปกคลุมทั่วใบ ภายในใบมีต่อมที่ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจำนวนมาก

ดอก
ดอกแมงลัก จะออกดอกเป็นช่อ มีช่อดอกยาวประมาณ 5-15 ซม. แบ่งเป็นข้อๆ ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 2.5 ซม. โดยมีดอกออกเป็นกระชุกชิดกัน กระจุกละประมาณ 3 ดอก และออกบริเวณข้อ ข้อละประมาณ 2 กระจุก โดยดอกประกอบด้วยใบประดับรูปวงรี ยาวประมาณ 2-3 มม. ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะแบ่งออกเป็น 2 แฉก และถัดมาจะเป็นกลีบดอกสีขาว ที่เชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 4-6 มม. ส่วนปลายบานออกเป็นรูประฆัง ส่วนภายในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 4 อัน ที่มี 2 อันสั้น และ 2 อันยาว ส่วนด้านล่างเป็นเกสรตัวเมีย และมีรังไข่รูป 4 พู

ดอกแมงลัก

เมล็ดแมงลัก
เมล็ดแมงลัก ขณะอ่อนจะมีสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว น้ำตาล เทา จนสุดท้ายเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อเมล็ดแก่ มีรูปร่างค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยม แบน และป้อมสั้น โดยปลายเมล็ดเมล็ดทั้งสองด้านมน และหากใช้แว่นขยายส่องดูจะมีเมือกสีขาวหุ้มเมล็ดไว้ ส่วนขนาดของเมล็ดนั้น จะกว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 2 มม. และหนาประมาณ 0.8 มม.มีน้ำหนักประมาณ 1.25 มก./เมล็ด และเมื่อนำเมล็ดมาแช่น้ำจะทำให้เมล็ดพองตัวได้ถึง 5 มม. เลยทีเดียว

ประโยชน์แมงลัก
ใบ และยอดอ่อน
1. ใช้ประกอบอาหารจำพวกต้มแกงหรือห่อหมก ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม และดับกลิ่นคาว
2. ใช้รับประทานเป็นผักสด ที่นิยม ได้แก่ รับประทานกับก๋วยเตี๋ยว ลาบ น้ำตก และซุปหน่อไม้ เป็นต้น
3. นำใบมาตากแห้ง 5-7 แดด แล้วค่อยนำมาชงเป็นชาดื่ม
4. ใบแมงลักนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และน้ำหอม รวมถึงใช้ในด้านความงามต่างๆ

น้ำมันหอมระเหยจากแมงลักที่จำหน่ายในท้องตลาด แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
1. ชนิดที่มี methyl cinnamate เป็นองค์ประกอบหลัก
2. ชนิดที่มี d-camphor เป็นองค์ประกอบหลัก
3. ชนิดที่มี polyuronide เป็นองค์ประกอบหลัก

เมล็ดแมงลัก
1. ใช้โรยหน้าไอศรีมหรือขนมหวาน
2. เมือกสกัดใช้ผสมกับอาหารเพื่อเพิ่มความหนืด และการพองตัวของอาหาร เนื่องจากเมือกสามารถพองตัวได้กว่า 45 เท่า เมื่อถูกความร้อน
3. เมือกสกัดใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง น้ำหอม และยารักษาโรค

เมล็ดแมงลัก

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ด
– ความชื้น : 10.3-14.1% ที่มีน้อยเพราะเมล็ดมีเยื่อหุ้มสีขาวปกคลุมรอบเมล็ด
– โปรตีน : 15.5-17.87%
– คาร์โบไฮเดรต : 55.66%
– ไขมัน : 18.3-19.60%
– ใยอาหาร : 80%
– เถ้า : 4.4-6.87%

สาระสำคัญที่พบ
ใบแมงลัก
– β-caryophyllen
– β-cardinene
– 1,8-cineol
– Citral
– Borneol
– Eugenol
– Geranail
– Hept-5-en-2-one
– 6-methyl
– Limonene
– Linalool
– Camphene
– Mucilage
– Myrcene oil
– D-Glucose
– Rosmarinic Acid
– Lithos permic acid
– Vanillic acid
– Coumaric acid
– Cirsimaritin
– Circilineol
– Isothymusin
– Isothymonin
– Apigenin

เมล็ด
– D-Arabinnose
– L- Arabinnose
– D-Galactose
– D-Glucose
– D-Manose
– L-Rhamnose
– D-Xylose Galacturonic acid
– D-galacturonic acid
– D-Manuronic acid
– Pentosans
– Camphon
– Myrcene
– Essential oils

ที่มา : สถิระ หิรัญ, (2544)(1): ปฐม จูจันทร์, (2544)(2)

เมล็ด และเมือกแมงลัก
เมล็ดแมงลักเมื่อสัมผัสกับน้ำ เมือกที่หุ้มอยู่ด้านนอกจะพองออกทันที เมือกมีลักษณะสีขาว คล้ายวุ้น และค่อนข้างโปร่งแสง ซึ่งเกิดจากน้ำเข้าไปแทรกตัวจนทำให้เส้นใยพองตัว ระยะการพองตัวประมาณ 10 นาที-1 ชั่วโมง หากแช่น้ำนานกว่า 12 ชั่วโมง เมือกที่หุ้มจะเริ่มเปื่อยยุ่ย และลอกออกจากผิวเมล็ด ทั้งนี้ เมล็ดแมงลัก  เมล็ด สามารถดูดซับน้ำได้มากถึง 0.035 ซีซี และขยายตัวออกจนเพิ่มปริมาตรได้มากกว่า 45 เท่า

เมือก ที่หุ้มเมล็ดแมงลักจะเป็นสารจำพวกพอลิยูโรไนด์ ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติที่อยู่ในรูปของเกลืออินทรีย์ต่างๆ เช่น เกลือของแคลเซียม และโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งจะรวมกับองค์ประกอบของน้ำตาล (เพนโตสหรือเฮกโซส) และ uronic acid ที่เชื่อมต่อด้วยพันธะกลูโคไซด์ โดย uronic acid ที่พบเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็น กรดกลูคูโรนิค และ กรดกาแลคตูโรนิค

วิธีแยกเมือกจากเมล็ดแมงลัก
การแยกเมือกจากเมล็ดแมงลักทำได้โดย นำเมล็ดแมงลักเข้าเครื่องตีไข่หรือปั่น พร้อมผสมน้ำลงไป จากนั้น ปั่นด้วยเครื่องจนน้ำกลายเป็นเมือกหนืด แล้วค่อยนำมากรองแยกเอาเฉพาะน้ำเมือกออก และนำน้ำเมือกไประเหยด้วยน้ำร้อนหรือเตาเอา จนได้ผงเมือกแมงลักสีขาวนวล ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ต้องบดเมล็ดเนื่องจากว่า เมือกเมล็ดแมงลักจะหุ้มอยู่ด้านนอก ส่วนด้านในจะมีเมือกบ้างเล็กน้อย ดังนั้น เพียงแค่นำเมล็ดมาแช่น้ำก็ทำให้เมือกขยายตัว และแยกออกได้ง่าย

สรรพคุณแมงลัก
เมล็ดแมงลัก
– ใช้ต้มน้ำดื่มหรือรับประทานสำหรับเป็นยาระบายอ่อนๆ เพราะเมล็ดประกอบด้วยเมือกลื่นที่ช่วยในการขับถ่าย ทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัว และอุจจาระเคลื่อนตัวได้ดี
– ช่วยลดอาการท้องผูกจากคุณสมบัติของเมือกในเมล็ดที่กล่าวข้างต้น
– เมือกในเมล็ดช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร และช่วยให้เกิดการย่อยอาหารอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น
– เมล็ดแมงลักคามีแคลเซียมสูง ช่วยเสริมการสร้างกระดูก และฟัน ป้องกันโรคกระดูกเสื่อม
– เมล็ดมีขนาดเล็ก แต่มีเส้นใยสูงมาก ช่วยเป็นยาระบาย ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
– เมือกเมล็ด ช่วยลดอาการแสบในกระเพาะอาหาร และลดการเป็นโรคกระเพาะอาหาร
– ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และลดน้ำหนักได้ดี

ใบแมงลัก
– ใบแมงลักมีธาตุเหล็กสูง ช่วยในการบำรุงเลือด ช่วยเปลี่ยนถ่ายออกซิเจน และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
– ใบแมงลักคามีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยทำให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินเอได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการบำรุงผิวหนัง และบำรุงสายตา
– กรดของสารประกอบฟีนอลลิกในใบแมงลัก ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยให้ผิวพรรณแลดูอ่อนกว่าวัย รวมถึงฤทธิ์อย่างอื่นๆอีกมากมาย
– ใช้ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการเจ็บคอ ลดอาการไอ ขับเสมหะ และแก้หลอดลมอักเสบ
– ใบใช้ต้มน้ำดื่มรักษาอาการไข้หวัด
– ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยลดอาการท้องผูก
– ช่วยลดอาการ และป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
– ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
– ลดอาการลำไส้อักเสบ
– ช่วยลดอาการแสบท้อง
– ลดอาการแผลในกระเพาะอาหาร
– รักษากลากน้ำนมบริเวณใบหน้าเด็ก โดยนำใบแมงลักประมาณ 1 กำมือ มาบดหรือตำผสมกับน้ำเล็กน้อย แล้วนำไปทาบริเวณที่เกิดกลากน้ำนม ต่อเนื่อง อาทิตย์ หลังจากนั้น รอยกลากจะค่อยๆจางลง และหายเป็นปกติ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
1. การศึกษาผลของการรับประทานเมล็ดแมงลักที่มีต่อระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยให้เมล็ดแมงลักปริมาณ 30 กรัม เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ผู้ป่วยสามารถทนต่อระดับการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
2. การศึกษาให้ผู้พักฟื้นหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และนิ่วในไตรับประทานเมล็ดแมงลักที่มีต่อภาวะท้องผูก เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับ พบว่า กลุ่มผู้ที่รับประทานเมล็ดแมงลักมีอาการท้องผูกน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน
3. การศึกษาการรับประทานเมล็ดแมงลักที่มีผลต่อปริมาณโคเลสเตอรอลชนิด HDL ที่ช่วยป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พบว่า พบที่รับประทานเมล็ดแมงลักจะมีปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดนี้มากกว่าขึ้นกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบก่อนรับประทาน
4. การศึกษาการให้เมล็ดแมงลักปริมาณ 2 ช้อนชา โดยผสมกับน้ำ 240 ซีซี มีผลทำให้การระบายอุจจาระเป็นปกเมื่อเทียบกับการให้สาร psyllium 2 ช้อนชา

5. การศึกษาทดสอบสารสกัดจากใบแมงลักในประเทศอินเดียต่อฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน พบว่า สารสกัดใบแมงลักมีประสิทธิภาพเป็นสารต้านออกซิเดชันได้

ข้อเสนอแนะ
1. การใช้เมล็ดแมงลักเพื่อให้เกิดสีในอาหารไม่เป็นที่นิยม เนื่องจาก อาหารที่ผสมสีจากเมล็ดแมงลักจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยอาหารจะเปลี่ยนเป็นสีดำมากขึ้น ทำให้อาหารไม่น่ารับประทาน
2. การรับประทานเมล็ดแมงลักแห้ง จำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการขาดน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง และกระหายน้ำ เนื่องจาก เมล็ดจะดูดซับน้ำในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น การรับประทานเมล็ดแมงลักจะต้องให้สัมผัสกับน้ำจนพองตัวเสียก่อนก่อนจะรับประทาน

การปลูกแมงลัก
รอเพิ่มข้อมูล

กล้าแมงลัก

เอกสารอ้างอิง
1. สถิระ หิรัญ, 2544. การพัฒนาสูตรบะหมี่สดเสริมเยื่อเมือกเมล็ดแมงลัก.
2. ปฐม จูจันทร์, 2544. ประสิทธิภาพยาทากันยุงในรูปแบบเจลจากน้ำมันหอมระเหยแมงลักและน้ำมันหอมระเหยผิวมะกรูด.